วันจันทร์, พฤษภาคม 15, 2560

ไทยอยู่ตรงไหนในเส้นทางสายไหมใหม่? - พรรณิการ์ วานิช





ไทยอยู่ตรงไหนในเส้นทางสายไหมใหม่?

15 พฤษภาคม 2560
ที่มา Voice TV

โดย พรรณิการ์ วานิช
นักข่าวและพิธีกร iASEAN/ Tonight Thailand/ Voice World Wide

จีนเปิดตัวสุดยอดอภิมหาเมกะโปรเจ็คแห่งยุค เส้นทางสายไหมใหม่ เชื่อมจีนเข้ากับยุโรปและแอฟริกาผ่านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมและสื่อสาร แต่โครงการนี้ไม่ผ่านไทย ทั้งที่เราเคยถูกวางตัวให้เป็นส่วนหนึ่งของระบบรางรถไฟความเร็วสูงเชื่อมจีน-อาเซียน แล้วตอนนี้ ไทยอยู่ตรงไหนในเส้นทางสายไหมใหม่?

เส้นทางสายไหม เป็นหนึ่งในเส้นทางการค้าและสานสัมพันธ์อารยธรรมหลักของโลกจากจีน อินเดีย ตะวันออกกลาง และยุโรปเข้าด้วยกัน ผ่านการเดินทางของพ่อค้า นักบวช ศิลปิน และแรงงาน ในระยะทางกว่า 6,000 กิโลเมตร เส้นทางเก่าแก่นี้เคยสร้างความร่ำรวยทั้งทางศิลปวัฒนธรรมและเงินทองให้กับจีนมาตั้งแต่ 2,000 กว่าปีที่แล้ว และตอนนี้ เส้นทางสายไหมกำลังถูกปลุกให้มีชีวิตอีกครั้ง ไม่ใช่แค่เพื่อเงินทอง แต่รวมถึงอิทธิพลทางการเมืองของจีนในฐานะมหาอำนาจเอกของโลก

เส้นทางสายไหมใหม่คืออะไร?


การรื้อฟื้นเส้นทางสายไหมใหม่เป็นโครงการใหญ่ของจีนที่ถูกพูดถึงมาตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1990 แต่การผลักดันอย่างจริงจังเกิดขึ้นในปี 2013 เมื่อนายสีจิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ขึ้นสู่อำนาจ หนึ่งในนโยบายแรกๆที่เขาพูดถึง ก็คือ "อี๋ไต้อีลู่" หรือ "One Belt One Road" (OBOR) ซึ่งเป็นการสถาปนาระเบียงเศรษฐกิจขนาดยักษ์ 2 แห่ง

1. เส้นทางสายไหมทางบก เดินตามรอยเส้นทางสายไหมเก่า เชื่อมจีนกับยุโรปผ่านเอเชียกลางโดยรถไฟและถนน

2. เส้นทางสายไหมทางทะเล เชื่อมจีนเข้ากับอาเซียนและแอฟริกา ตะวันออกกลาง ก่อนจะวกขึ้นยุโรป โดยใช้เรือเดินสมุทร

นอกจากการสร้างท่าเรือน้ำลึกและระบบราง จีนยังเสนอสร้างท่อส่งน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และระบบโทรคมนาคมในเส้นทางนี้ด้วย โดยจีนประกาศว่าจะมีการลุงทุนสูงถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์ หรือ 35 ล้านล้านบาทในโครงการนี้ จนถูกนำไปเทียบกับ Marshall Plan หรือการลงทุนขนาดใหญ่ที่สหรัฐฯอัดฉีดเม็ดเงินเพื่อช่วยเหลือพันธมิตรในยุโรปหลังจบสงครามโลกครั้งที่สอง เสริมสร้างความแข็งแกร่งของฝ่ายตนเองและสถาปนาระบบการค้าเสรีที่กลายเป็นระเบียบเศรษฐกิจของโลกมานานหลายทศวรรษ ครั้งนี้ จีนก็กำลังเกินตามรอยเดียวกัน ใช้เงินมหาศาลพัฒนาประเทศพันธมิตร และก่อกำเนิดระเบียบเศรษฐกิจใหม่ที่มีจีนเป็นศูนย์กลาง หรือหากมองย้อนกลับไปในอดีตไกลกว่ายุคสงครามโลก อาจเรียกได้ว่าจีนไม่ต่างจากอังกฤษและยุโรปยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ที่ต้องใช้อาณานิคมเป็นตลาดระบายสินค้าเพื่อแก้ปัญหาซัพพลายล้นเกินในประเทศ



Tablewares are pictured before the welcoming banquet of the Belt and Road Forum, in Beijing's Great Hall of the People on May 14, 2017. China touted its new Silk Road as 'a project of the century' at a summit highlighting its growing leadership on globalisation, but a North Korean missile test threatened to overshadow the event. / AFP PHOTO / POOL / WU HONG (Photo credit should read WU HONG/AFP/Getty Images)


ทำไปเพื่ออะไร?

มองแวบแรก การตั้ง OBOR อาจะเป็นเรื่องของเศรษฐกิจล้วนๆ ซึ่งก็เป็นความจริงที่ว่ารัฐบาลจีนตัดสินใจลงทุนมหาศาลขนาดนี้ เพื่อรองรับการชะลอตัวของเศรษฐกิจในประเทศซึ่งเริ่มถึงจุดอิ่มตัว การเติบโตน้อยลงอย่างต่อเนื่อง บวกกับภาวะซัพพลายล้นเกิน โดยเฉพาะอสังหาริมทรัพย์ เหล็กกล้าและซีเมนต์ และยังปัญหาการเติบโตแบบไม่ทั่วถึงในภาคตะวันตกของจีนซึ่งเป็นเขตทะเลทราย ทุรกันดาร ทำให้ไม่สามารถพัฒนาเศรษฐกิจให้ทันภาคตะวันออกที่เป็นเมืองท่าอันเจริญรุ่งเรืองได้ การลงทุนมหาศาล เชื่อมต่อฝั่งตะวันตกของจีนอย่างซินเจียง-อุยกูร์เข้ากับเพื่อนบ้านและยุโรป จะเป็นทางออกสำหรับธุรกิจจีนที่กำลังต้องการลูกค้า และยังเป็นการสร้างความเจริญให้กับพื้นที่ทุรกันดารของจีนเองด้วย

แต่นอกจากเหตุผลด้านเศรษฐกิจ ยังมีเหตุผลทางการเมืองอยู่เบื้องหลังอีกไม่น้อย การโปรยเงินลงทุนจำนวนมหาศาลในประเทศกำลังพัฒนา เท่ากับการสร้างเครือข่ายพันธมิตรที่ทำให้ประเทศเหล่านี้ต้องให้ความร่วมมือกับจีนในทุกๆเวที แม้ว่าจีนจะประกาศอยู่เสมอว่าโครงการนี้เป็นของคนทั้งโลก และตั้งอยู่บนเป้าหมายในการมีความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและความมั่นคงทางการเมืองร่วมกันก็ตาม



Pasukan India, Pakistan Saling Tembak di Kashmir, 2 Tewas


ที่สำคัญ โครงการนี้ยังพาดผ่านพื้นที่ "ฮอทสปอต" ทางการเมือง ทั้งในจีนและในภูมิภาคหลายจุด เช่นเขตปกครองตนเองซินเจียง-อุยกูร์ และแคชเมียร์ พื้นที่พิพาทระหว่างอินเดียกับปากีสถาน รวมถึงอัฟกานิสถาน ดินแดนที่ถูกคุกคามโดยกลุ่มติดอาวุธและการก่อการร้าย หากมองในแง่ดี จีนคงหวังว่าการพัฒนาเศรษฐกิจจะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยลดความขัดแย้งทางการเมืองในพื้นที่เหล่านี้ หรือหากมองในแง่ร้าย จีนก็จะสามารถเข้าไปมีบทบาทแทรกแซงปัญหาในพื้นที่เหล่านี้ได้อย่างถนัดมือยิ่งขึ้นโดยมีอิทธิพลทางเศรษฐกิจเป็นตัวหนุนหลัง

ทำอะไรไปแล้วบ้าง?

ด้วยเม็ดเงินมหาศาลและการที่เป็นโครงการผูกพันเชื่อมโยงกับหลายประเทศ OBOR ไม่สามารถสร้างเสร็จได้ภายใน 1-2 ปีอย่างแน่นอน และทำให้เกิดข้อกังขาว่าโครงการนี้ปราศจากกรอบการทำงานและกรอบเวลาที่ชัดเจน อย่างไรก็ตาม มีความคืบหน้าในหลายโปรเจ็คที่เป็นประจักษ์พยานว่า OBOR ไม่ใช่โครงการวิมานในอากาศอย่าง TPP

1. ท่าเรือปากีสถาน อภิมหาโปรเจ็คที่เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจจีน-ปากีสถานมูลค่า 46,000 ล้านดอลลาร์ หรือ 1.5 ล้านล้านบาท ท่าเรือน้ำลึกที่เมืองกวาดาร์ของปากีสถานจะเชื่อมต่อกับรางรถไฟและถนนที่ตัดจากเขตปกครองตนเองซินเจียง-อุยกูร์ ทางตะวันตกของจีน กลายเป็นเส้นทางลัดนำสินค้าจากจีนไปยังยุโรปผ่านทางทะเลอาหรับ โครงการนี้ทำให้อินเดียไม่พอใจ OBOR อย่างมาก เพราะพาดผ่านดินแดนที่เป็นข้อพิพาทระหว่างจีนกับปากีสถานอย่างแคชเมียร์




China and Pakistan strengthen economic ties


2. โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในอังกฤษ จีนลงทุน 1 ใน 3 ของการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในซอเมอร์เซ็ตของอังกฤษ โครงการนี้ไม่ได้อยู่ในแผน OBOR แต่แรก แต่ถูกเพิ่มเข้ามาโดยจีน เพื่อเน้นให้เห็นว่าจีนให้ความสำคัญกับการให้ชาติยุโรปเข้ามามีส่วนร่วมใน OBOR และเป็นการโฆษณาว่า OBOR จะสร้างผลประโยชน์ให้กับชาติที่ร่ำรวยเช่นกัน ไม่ใช่เฉพาะประเทศกำลังพัฒนา

3. ทางรถไฟในแอฟริกา จีนเป็นผู้สนับสนุนหลักของโครงการสร้างระบบรางข้ามประเทศสายแรกในแอฟริกา ซึ่งมีมูลค่ากว่า 4,000 ล้านดอลลาร์ หรือ 140,000 ล้านบาท ระยะทาง 749 กิโลเมตร จากจิบูตีถึงกรุงแอดดิสอาบาบาของเอธิโอเปีย รถไฟสายนี้ใช้ระบบราง ตัวรถ และวิศวกรจีนทั้งหมดในการควบคุมการก่อสร้างและการเดินรถ

4. ทางรถไฟในลาว จีนเป็นผู้ลงทุนหลักในการก่อสร้างทางรถไฟเชื่อมจากภาคเหนือของลาวสู่นครหลวงเวียงจันทน์ มูลค่า 6,000 ล้านดอลลาร์ หรือ 200,000 ล้านบาท แม้เส้นทางนี้จะมีระยะสั้นเพียง 418 กิโลเมตร แต่เต็มไปด้วยภูเขา จึงต้องมีการสร้างสะพานและอุโมงค์มากกว่าร้อยละ 60 ของทางทั้งหมด และยังต้องเคลียร์กับระเบิดสมัยสงครามเวียดนามอีกด้วย ทำให้เกิดปัญหาล่าช้าและงบประมาณบานปลายมากพอสมควร




China-Laos Railway Route


ใครได้ประโยชน์?

จีน

แน่นอนว่าโต้โผใหญ่อย่างจีนได้ประโยชน์เต็มๆ รัฐบาลจีนได้ขยายอิทธิพลทางการเมือง และได้ลดความตึงเครียดทางการเมืองภายในจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ นักธุรกิจจีนได้ประโยชน์จากการมีตลาดใหม่มากมายในต่างแดน และได้โอกาสในการส่งเสริมภาพลักษณ์ธุรกิจในฐานะบรรษัทข้ามชาติที่ได้มาตรฐานทัดเทียมสากล คนงานจีนได้งานทำมากขึ้นจากการก่อสร้างขนาดใหญ่ในประเทศ



Chinese President Xi Jinping, his wife Peng Liyuan (R) and Myanmar's State Counsellor Aung San Suu Kyi (L) attend the welcoming banquet for the Belt and Road Forum in Beijing on May 14, 2017. China touted on Sunday its new Silk Road as 'a project of the century' at a summit highlighting its growing leadership on globalisation, but a North Korean missile test threatened to overshadow the event. / AFP PHOTO / POOL / JASON LEE (Photo credit should read JASON LEE/AFP/Getty Images)


ชาติกำลังพัฒนาในเอเชียกลาง-อาเซียน

จีนระบุว่า 65 ประเทศในเอเชีย อาเซียน แอฟริกาเหนือ ยุโรป และตะวันออกกลาง อยุ่ในเส้นทางสายไหมใหม่นี้ ส่วนใหญ่ใน 65 ประเทศนี้เป็นประเทศกำลังพัฒนา หลายประเทศกำลังอยู่ในระหว่างการยกเครื่องโครงสร้างพื้นฐานในประเทศ เช่นลาว เมียนมา รวมถึงประเทศในแอฟริกาและเอเชียกลางอีกหลายประเทศ การลงทุนมหาศาลจากจีนเป็นความเคลื่อนไหวที่ได้จังหวะสอดคล้องกับความต้องการของประเทศเหล่านี้ เพราะเท่ากับมีนายทุนใหญ่มาสนับสนุน โดยอยู่ภายใต้ความเชื่อมั่นที่ว่าผลประโยชน์ที่เกิดกับจีน ย่อมเกิดกับคู่ค้าของจีนด้วย

ยุโรป

แม้ว่ารัฐบาลหลายประเทศในยุโรปจะลังเลที่จะเข้าร่วมการประชุมผู้นำที่จีนจัดขึ้นเพื่อผักดัน OBOR ในระหว่างวันที่ 14-15 พฤษภาคมที่ผ่านมา แต่แม้แต่อังกฤษก็มีโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากจีนภายใต้ชื่อ OBOR แล้ว คือโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฮิงค์ลีย์ พอยท์ ซี ในซอเมอร์เซ็ต ที่จีนลงทุนให้ถึง 1 ใน 3 และเส้นทางรถไฟอี้อู-ลอนดอน ก็เปิดให้บริการขนส่งสินค้าแล้วเช่นกัน นอกจากนี้ เอกชนในยุโรปต่างก็กระตือรือร้นที่จะส่งสินค้าเทคโนโลยีและงานดีไซน์ราคาแพงไปขายในจีนและเอเชียผ่านเส้นทางสายไหมใหม่ โดยเชื่อว่าเส้นทางนี้จะอำนวยประโยชน์ให้ยุโรปมากกว่าจีน เนื่องจากสินค้าจากจีนมายังยุโรปจะเป็นสินค้าอุปโภคบริโภคราคาถูกที่ชิ้นใหญ่ เปลืองพื้นที่ขนส่ง ในขณะที่สินค้าจากยุโรปไปจีนและเอเชียจะเป็นสินค้าขนาดเล็กที่มีมูลค่าสูง เช่นเวชภัณฑ์และสินค้าแบรนด์เนม



China's first freight train to London completes round trip


ใครเสียประโยชน์?






สหรัฐฯ

OBOR ของจีน เปรียบเหมือนการรีเซ็ตโลกาภิวัตน์ เวอร์ชั่น 2.0 ในขณะที่นโยบายการค้าระหว่างประเทศล่าสุดของรัฐบาลสหรัฐฯภายใต้การนำของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ กลับเป็น "America Frist" ขับเคลื่อนด้วยการกีดกันการค้า ปกป้องผลประโยชน์ของชาวอเมริกัน ความแตกต่างอย่างหน้ามือเป็นหลังมือนี้ ทำให้สหรัฐฯสูญเสียพันธมิตรและอิทธิพลในการเมืองโลก รวมถึงเสียหน้าอย่างหนัก หากยังเป็นเช่นนี้ต่อไป แน่นอนว่าโลกจะได้เห็นความเสื่อมถอยของมหาอำนาจเอกอย่างสหรัฐฯ และการผงาดขึ้นมาของจีนอย่างเต็มตัว ยังไม่นับว่า TPP เขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก โครงการคานอำนาจจีนของสหรัฐฯ เพิ่งจะล่มไปด้วยน้ำมือของทรัมป์เอง ที่ประกาศถอนตัวจาก TPP ทันทีทีเข้ารับตำแหน่ง

ประชาชนในประเทศที่ร่วม OBOR

แม้ว่ารัฐบาลประเทศที่มีเส้นทางสายไหมใหม่พาดผ่านจะรู้สึกว่าตนเองได้รับประโยชน์จากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานมโหฬารจากจีน เอกชนจะยินดีที่ได้มีตลาดใหม่ เส้นทางการค้าใหม่ แต่ประชาชนในพื้นที่กลายเป็นฝ่ายที่อาจจะเสียประโยชน์ การพัฒนาเส้นทางรถไฟและถนนในซินเจียง-อุยกูร์เพื่อเชื่อมต่อกับท่าเรือน้ำลึกริมทะเลอาหรับในปากีสถาน ทำให้รัฐบาลปราบปรามกลุ่มแบ่งแยกดินแดนหนักหน่วงรุนแรงขึ้น โดยอ้างว่าต้องการรักษาเสถียรภาพในพื้นที่ ไม่ให้โครงการพัฒนาเส้นทางสายไหมใหม่ต้องสะดุด ส่วนการสร้างถนนและทางรถไฟในเอเชียกลาง และประเทศอาเซียนอย่างเมียนมาหรือลาว ก็เสี่ยงต่อการเวนคืนที่ดินและไล่รื้อที่โดยประชาชนไม่ได้รับค่าชดเชยที่เหมาะสม เนื่องจากรัฐบาลมีประวัติด้านการไม่เคารพสิทธิมนุษยชนอยู่แล้ว 




Mountain paaaass. Xinjiang, China. _ As we journey through Xinjiang's ever changing landscapes there were many stops, most photo related, but some for large trucks who happened to be stopped in the middle of the road for no apparent reason


ชาติกำลังพัฒนาที่ตกขบวน

ชาติอื่นๆที่ไม่ได้มีเส้นทางสายไหมใหม่พาดผ่าน จะกลายเป็นประเทศที่เสียเปรียบเพื่อนบ้านอย่างเห็นได้ชัด แม้ว่าจะได้ประโยชน์บ้างจากการพัฒนาทางเศรษฐกิจในภูมิภาคและความเจริญที่กระจายมาจากประเทศเพื่อนบ้าน แต่ก็ไม่ได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ไม่ต่างจากในยุคที่มีการผลักดัน TPP ของสหรัฐฯ ก็มีการคาดการณ์กันว่าประเทศอาเซียนที่ไม่ได้ร่วม TPP จะเสียเปรียบประเทศที่เข้าร่วมอย่างเวียดนามและมาเลเซีย เนื่องจากมหาอำนาจจะหันไปค้าขายกับพันธมิตรที่มีการลงทุนลงแรงร่วมกันไปแล้วมากกว่าประเทศที่เป็นพันธมิตรเพียงหลวมๆนอกโครงการ

แล้วไทยอยู่ตรงไหนในเส้นทางสายไหมใหม่?


โครงเส้นทางสายไหมใหม่ เมื่อปี 2015 มีแพลนสร้างระเบียงเศรษฐกิจ 6 แห่งใกล้กับทางสายไหม รวมถึงทางรถไฟคุณหมิง-ไทย-สิงคโปร์ แต่โครงการนี้ล้มไป pic.twitter.com/NRyGhpu02W

จากแผนที่ด้านบนจะเห็นว่าเส้นทางสายไหมใหม่ของจีนทั้งทางบกและทางทะเลไม่ได้พาดผ่านไทย เส้นทางสายไหมทางบก ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่แล้ว แต่เส้นทางทางทะเล เฉียดใกล้ไทยโดยผ่านเมือท่าในฮานอยของเวียดนาม ลงใต้ไปยังกัวลาลัมเปอร์และจาการ์ตา ออกศรีลังกาไปอินเดีย แอฟริกา และตะวันออกกลาง เข้าสู่ยุโรปผ่านทางทะเลเมดิเตอร์เรเนียน แต่ตามแผนของจีน นอกเหนือจาก 2 เส้นทางหลัก ยังจะมีระเบียงเศรษฐกิจที่สำคัญเกิดขึ้นรองรับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจจากเส้นทางสายไหมใหม่ถึง 6 จุด และหนึ่งในนั้นก็คือเส้นทางรถไฟความเร็วสูงเชื่อมคุนหมิงทางตอนใต้ของจีน เข้ากับสิงคโปร์ เมืองท่าสำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดยผ่านไทยและมาเลเซีย หรือโครงการ SKRL ซึ่งเคยเป็นหนึ่งในเส้นทางรถไฟดาวรุ่งที่จีนฝากความหวังไว้มากที่สุด



Yunnan-Singapore Link: How China is building a trans-Asia high-speed railway netowrk


อย่างไรก็ตาม ความล่าช้าในโครงการรถไฟความเร็วสูงของไทย อันเนื่องมาจากการที่จีนไม่สามารถล็อบบีรัฐบาลไทยให้รับสัญญาจากทางจีนได้ ทำให้เส้นทางรถไฟความเร็วสูงที่จะทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ของภูมิภาคต้องหยุดชะงักและถูกลดทอนความสำคัญลงไป และจีนหันไปทุ่มเทกับการพัฒนาเส้นทางเรือผ่านฮานอย และเส้นทางบกที่ตัดผ่านเมียนมาเข้าสู่อินเดียเพื่อเชื่อมออกสู่เส้นทางสายไหมทางทะเลมากกว่า

แม้ว่าหากมองในแง่ดี ไทยถือว่าเก่งที่ไม่ยอมโอนอ่อนผ่อนตามมหาอำนาจอย่างจีนเมื่อเผชิญกับสัญญาการค้าการลงทุนที่ตนเองอาจเป็นฝ่ายเสียเปรียบ แต่การที่ไทยไม่ได้ร่วมในเมกะโปรเจ็คล่าสุดของจีน ทั้งที่พยายามสานสัมพันธ์กับจีนมาตลอดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ขณะที่ความสัมพันธ์กับมหาอำนาจอีกฝั่งอย่างสหรัฐฯก็งอนแง่น ทั้งด้วยนโยบาย America First ของทรัมป์ และแผลด้านสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยของไทยเอง ก็ทำให้ประเทศเล็กๆอย่างไทยตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะพลาดขบวนรถไฟทุกขบวน

และกลายเป็นผู้ที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง แต่ถูกทิ้งเสียเอง