วันอาทิตย์, พฤษภาคม 07, 2560

อุบาทการณ์ ‘เห็บกระโดด’ กับ 'อำนาจนิยม' ตัวตนรูปองค์ของ คสช.

เห็นพูดกันมากช่วงนี้ ขาลง ของประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้ารัฐบาล คสช. จึงมีอุบาทการณ์ เห็บกระโดด เกิดขึ้นอีกครั้ง

เมื่อ กษิต ภิรมย์ อดีต รมว.ต่างประเทศยุค ราบ ๑๑ ที่ไปร่วมปิดสนามบินสุวรรณภูมิแล้วบอกว่า “อาหารดี ดนตรีเพราะ” ออกมาวิจารณ์กลาโหมโจ่งแจ้ง

ไม่แน่ใจว่าเขาพูดตามจิตสำนึก ละอายหรือไม่ หลังจากได้เห็นกร๊าฟฟิคของ ‘Ispace Thailand’ ที่นำรายงานของบีบีซีมาเปิด “๙ โครงการ คสช. ช้อปอาวุธ” ตั้งแต่ปี ๕๘ เป็นต้นมา ฟาดงบประมาณแผ่นดินเข้าไปราว ๓๘,๕๔๙ ล้านบาทเบาะๆ

“การจัดซื้อจัดจ้างของกลาโหมต้องเปิดเผยร้อยเปอร์เซ็นต์ เราจะมาปิดหูปิดตาประชาชนไม่ได้” เขาบอกกับ นสพ.ไทยโพสต์ ที่กระโดดไปก่อนหน้าแล้ว

สัญญานของการกระโดดอีกราย มาจาก คำนูณ สิทธิสมาน อดีตคนสำคัญ พธม. พันธมิตรเสื้อเหลืองต่อต้านทักษิณ ที่ได้ดิบได้ดีมาเป็นโฆษกวิป สปท. สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปเพื่อ คสช.

เขาทำนายเชิงแนะแนวต่อรัฐบาลประยุทธ์เรื่องเกี่ยวกับ พรบ. ควบคุมสื่อว่า “รัฐบาลจะรับฟังข้อท้วงติงจากนี้ (ของกลุ่ม ๓๐ ตัวแทนสื่อที่) ควบเสนอร่างประกบกับร่างของ สปท....ที่กำหนดให้มีสภาวิชาชีพฯ แต่ให้สื่อควบคุมกันเอง โดยไม่มีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปมีตำแหน่ง”

คำนูณคำนวณแล้วสาระตะว่ารัฐบาลประยุทธ์จะรับฟังข้อท้วงติง และอะลุ่มอะล่วย “เพราะรัฐบาลคงไม่อยากเป็นศัตรูกับสื่อในตอนนี้อย่างแน่นอน


โดยที่ นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้ออกมาย้ำยันว่า “เปิดกว้าง และพร้อมที่จะรับฟังความคิดเห็นของทุกภาคส่วน เพื่อให้ได้ข้อยุติที่เป็นผลดีต่อส่วนรวม

โดยรัฐบาลจะต้องหารือร่วมกับสื่อมวลชน เพราะเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่แท้จริง


เช่นเดียวกับพลอากาศเอกคณิต สุวรรณเนตร ประธานกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านสื่อสารมวลชน ของ สปท. ก็บอกว่า

กมธ.ได้ถอยตามเสียงท้วงติงขององค์กรสื่อมามากแล้ว ทั้งเรื่องการเปลี่ยนรูปแบบจากใบประกอบวิชาชีพ มาเป็นใบรับรองที่ออกโดยผู้ประกอบการของของสื่อนั้นๆ ขณะที่บทลงโทษที่มีถึงขั้นจำคุก กมธ.ก็ได้ตัดออกไป

มิหนำซ้ำได้แรงดันจากนายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ที่กษิต ภิรมย์เคยสังกัด เกิดมีความองอาจสมชื่อที่ออกมาแสดงความเห็นแย้งทั่นรองฝ่ายกฎหมาย วิษณุ เครืองาม ซึ่งตีกันไว้ว่าการคุยกับตัวแทนสื่อ ๓๐ คน เยอะไปอาจคุยไม่รู้เรื่อง

เขาแจงว่านายวิษณุไม่ควรกังวล “ปัญหาไม่ได้อยู่ที่จำนวนองค์กรสื่อมากหรือน้อย แต่ขึ้นอยู่กับวิสัยทัศน์และแนวคิดมากกว่า

ถ้ารัฐบาลติดยึดกับอำนาจนิยมที่นิยมอำนาจเข้าควบคุม ครอบงำ แทรกแซง ก็คงคุยกันไม่รู้เรื่อง จึงหวังว่ารัฐบาลจะใช้แนวคิดเสรีไร้อคติใดๆ ในการร่วมหาทางออก”


ทั่นรอง หน. ปชป. ไม่น่าทำเซ่อ ไม่รู้เหรอว่ารัฐบาล คสช. เขาไม่ได้ยึดติดกับอำนาจนิยมหรอกนะ  อำนาจนิยมมันคือตัวตนรูปองค์ของพวกเขาอยู่แล้ว ทำอย่างไรก็ไม่มีทางหลุด

ไหนๆ ก็จะเป็นพรรคที่มีหวังสูงหลังเลือกตั้งคราวหน้า ถ้าไม่ใช่โมเดล ราบ ๑๑ ก็จะได้รับเกียรติรองบาทนายกฯ คนนอก รู้จักเงี่ยฟังเสียงนกเสียงกาเสียบ้างว่า

คสช. หาใช่ย่อยในกระบวนการครองเมือง นอกจากจะรวบรัดจัดสรรงบประมาณเฉลี่ยเกลี่ยได้ครบทุกมณฑลกองทัพแล้ว ยังรวบยอดกำกับบงการแทบจะทุกภาคส่วนทางการบริหาร

จากรายงานของไทยพับลิก้าปูดให้เห็นว่าตลอดสามปีที่ผ่านมา คสช. เป็นรัฐบาลที่ตั้งคณะกรรมการต่างๆ เข้าไปควบคุมงานบริหารจัดการประเทศมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ ๓๔๒ คณะ

อีกทั้งตัวนายกและรองต่างๆ เข้าไปนั่งเป็นประธานอยู่ถึง ๑๓๙ หน่วย “ด้วยจำนวนคณะที่ค่อนข้างมาก หากเฉลี่ย เดือน มีวันทำงาน ๑๘ วัน (หักวันเสาร์-อาทิตย์ วันหยุดราชการประจำปี ๒๕๖๐ และการประชุมคณะรัฐมนตรี)

ถ้าวันหนึ่งประชุมได้วันละ ครั้ง ช่วงเช้า-บ่าย นายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีสามารถประชุมได้สูงสุด ๓๖ ครั้ง (หรือคณะกรรมการ) ต่อเดือน” เก่งไหมล่ะ ภายใน ๓๐ สิบวันนี่นะ

ไม่เพียงเท่านั้น thaipublica.org แยกแยะให้เห็นชัดๆ ว่า คสช.แต่ละคนวิเศษขนาดไหน bionic men แทบทุกคน

หากต้องประชุมคณะกรรมการเดือนละครั้ง จะส่งผลให้ พล.อ.ประยุทธ์ และพล.อ.ประวิตร ต้องใช้เวลา ๘๙% ของเดือน เพื่อประชุมคณะกรรมการที่ตนนั่งเป็นประธานฯ หรือรองประธานฯ ให้ครบ


รองฯ คนอื่นๆ ก็ไม่ได้น้อยหน้าเท่าไรนัก แต่ละคนแยกธาตุไปประชุมคณะกรรมการกัน ๖๐ กว่า ๕๐ กว่าเปอร์เซ็นต์ อย่างต่ำที่สุด ๓๑% เป็นสถิติของพล.อ. ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ที่กำกับอยู่ ๑๑ องค์การ

ลองดูให้ดีดี เรื่องค่าตอบแทนเอย การให้เวลากับงานประจำเอย มันสร้างประสิทธิภาพของการปฏิบัติงานคุ้มกับงบประมาณที่เสียไป ในสัดส่วนที่ห่างไกลกันแค่ไหน