พล.ท.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ แจ้งว่า “นายกรัฐมนตรีตอบรับคำเชิญของผู้นำสหรัฐอเมริกาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
แต่ต้องรอกำหนดวันอย่างเป็นทางการอีกครั้ง”
นับเป็นครั้งที่สามในชีวิตการเป็นนายกรัฐมนตรีของ
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ได้เดินทางไปสหรัฐ ซึ่งคราวนี้สำมะคัญเพราะจะได้เจอทรั้มพ์โดยตรง
ตามคำเชิญของประธานาธิบดีอเมริกันคนใหม่ที่รอดมาได้ครบ ๑๐๐ วัน
ท่ามกลางความอื้อฉาวต่างๆ นานา โดยเฉพาะประเด็นที่ว่ารัสเซียช่วยให้ชนะเลือกตั้ง
ที่ยังคาราคาซังสอบสวนกันอยู่กระทั่งบัดนี้
ว่าไปแล้วนายกฯ ของไทยที่มาจากการยึดอำนาจคนนี้ได้ไปอเมริกาบ่อยกว่าใครๆ
นี่อยู่มายังไม่ครบสามปีดี ไปอเมริกาแล้วสามหน
หนแรกอาศัยใบบุญสหประชาชาติได้ไปร่วมประชุมสมัชชาใหญ่ที่นิวยอร์ค
หนสองติดสอยห้อยตามกลุ่มประเทศอาเซียน ตามคำเชิญประธานาธิบดีโอบาม่าไปซัมมิตที่ซันนี่แลนด์
แคลิฟอร์เนีย
หนนี้ข่าวว่านายทรั้มพ์ต่อสายถึงโดยตรง
ที่จริงก่อนหน้านี้ไม่กี่วันทูตกลินน์ เดวี่ส์ เข้าพบแจ้งล่วงหน้าไว้แล้ว หลังจากที่ทรั้มพ์โทรก็เป็นข่าวของโฆษณาชวนเชื่อ
‘สายทหาร’ ทำยังกับว่าประธานาธิบดีสหรัฐมาปรึกษาทั่นผู้นัมพ์ไทยคนเดียว
ทั้งที่ สุณัย ผาสุก เจ้าหน้าที่ฮิวแมนไร้ท์ว้อทช์ ประจำประเทศไทย
ตั้งข้อสังเกตุไว้ว่า “กฎหมายอเมริกาห้ามหัวหน้าคณะรัฐประหารไปเยือนแบบทวิภาคี
ที่ผ่านมาประยุทธ์ต้องโหนเดินทางพ่วงไปกับผู้นำอาเซียน” (Sunai @sunaibkk)
แต่ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับประธานาธิบดีที่ชื่อ ดอแนลด์
ทรั้มพ์ ผู้ซึ่งทำอะไร ‘ฝืน’ และ ‘ไม่ทำ’ อะไรหลายอย่างที่เป็นธรรมเนียมปฏิบัติของการเป็นประธานาธิบดีอเมริกัน
แม้จะไม่มีกฎหมายกำหนดไว้ก็ตาม เช่นการไม่ยอมเปิดเผยสถานะการเสียภาษี
วันรุ่งขึ้นถึงได้แจ่มแจ้งว่าทรั้มพ์โทรหาสามคน
และชวนให้ไปเยือนสหรัฐเหมือนกัน ไม่มีอะไรพิเศษไปกว่าต้องการจะบอกว่า หากเกิดวิกฤต
‘Pyongyang
Nuclear Crisis’ ทำนอง ‘Cuban Missile Crisis’ ละก็ ยูจะยืนอยู่ตรงไหน
ประธานาธิบดีอเมริกันต่อสายคุยกับประธานาธิบดีโรดริโก
ดูแตร์เต ของฟิลิปปินส์ก่อนหน้าการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งล่าสุดที่มะนิลาเมื่อ
๒๘ เมษายน และได้ชวนประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ไปเยือนอเมริกาไว้ด้วย
ครั้งนี้โทรถึงหัวหน้ารัฐบาลไทยและนายกรัฐมนตรี ลี เซียนลุง
ของสิงคโปร์ในเวลาไล่เรียกัน “ตามที่ทำเนียบขาวเปิดเผยว่าผู้นำสหรัฐฯ
ต้องการความร่วมมือจากผู้นำกลุ่มประเทศอาเซียน
ในการใช้กระบวนการทางการทูตและเศรษฐกิจกดดันเกาหลีเหนือ และเชิญผู้นำของทั้งสองประเทศเดินทางไปเยือนวอชิงตัน”
ประธานาธิบดีทรั้มพ์คงจะไม่ใส่ใจรายงานการละเมิดสิทธิมนุษยชนของไทย
เช่นเดียวกับที่เขากล่าวชื่นชมประธานาธิบดี อับเดล ฟัตตาห์ เอล-ซิซี
ของอียิปต์ระหว่างเยือนวอชิงตันเมื่อต้นเดือนนี้ ขณะที่ฝ่าเท้าข้างหนึ่งของเขาเหยียบรายงานประจำปีของกระทรวงต่างประเทศสหรัฐสรุปการละเมิดสิทธิมนุษยชนในอียิปต์เอาไว้
แต่ยังมีสมาชิกสภาคองเกรสสหรัฐจำนวนมาก ทั้งในสภาผู้แทนและวุฒิสภา
ที่ใส่ใจกับปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศที่เป็นเป้าการตรวจสอบขององค์การสิทธิมนุษยชนนานาชาติ
ไม่ว่าประธานาธิบดีจะตีหน้าอย่างไร ตราบเท่าที่มีเสียง ‘ยี้’
ต่อผู้นำเผด็จการที่มาเยือน มาตรฐานจริยธรรมในด้านสิทธิมนุษยชนย่อมใช้เป็นเครื่องต่อรองในการเจรจา
ไปสู่การได้เปรียบของสหรัฐมากกว่าฝ่ายอาคันตุกะ
แล้วประเทศไทยมีอะไรดีบ้างไหมในมาตรฐานเช่นว่า
สามปีที่ผ่านมานับแต่การยึดอำนาจโดยคณะทหาร คสช. เรื่องสิทธิมนุษยชนจัดอยู่ในเกรด ‘ต่ำช้า’
เสียเป็นส่วนใหญ่ ไม่เฉพาะการละเมิด ก้าวร้าว เจ้าเล่ห์กลั่นแกล้ง
โดยทหาร-ตำรวจ ต่อพลเรือนผู้เรียกร้องประชาธิปไตย
การล่วงล้ำสิทธิติดตัวแห่งความเป็นมนุษย์ในประเทศไทย เดี๋ยวนี้ได้แพร่หลายในหมู่องค์กรตุลาการและศาลเสียแล้ว
เพียงเพื่อที่จะใช้อำนาจกดขี่ข่มเหงให้ยำเกรงและหวาดกลัวต่อคณะทหารและสถาบันกษัตริย์
การหน่วงเหนี่ยวคุมขัง ไผ่ ดาวดิน อยู่ที่ทัณฑสถานบำบัด จังหวัดขอนแก่น
มาตั้งแต่วันที่ ๒๒ ธ.ค. ๒๕๕๙ โดยที่ศาลปฏิเสธการขอประกันปล่อยตัวชั่วคราวครั้งแล้วครั้งเล่า
ทั้งที่มูลนิธิ ๑๘ พฤษภารำลึก ของเกาหลีใต้ ร้องขอต่อหัวหน้ารัฐประหารไทย
ให้ปล่อยตัวเขาออกไปรับ ‘รางวัลกวางจูเพื่อสิทธิมนุษยชน’ ประจำปี ๒๕๖๐ เป็นความต่ำช้าที่ติดหลัง
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อยู่ตลอดเวลาไม่ว่าเขาจะเดินทางไปแห่งหนใดในโลก
ต่างกับนายจตุภัทร์
บุญภัทรรักษา ที่แม้ว่าจะสูญเสียอิสรภาพ
คาดว่าคงต้องติดคุกเป็นเวลานานเช่นเดียวกับนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข ซึ่งต้องขังมาเป็นเวลาหลายปีแล้วในคดี
๑๑๒ ทำนองเดียวกับไผ่ ยืนกรานความบริสุทธิ์และสิทธิของตน ท้าทายต่อการบังคับใช้กฎหมายอย่างไม่คำนึงถึงความเป็นคนในประเทศไทย
รังสีเหนือเกล้าของไผ่
ดังที่รางวัลกวางจูบรรยายสรรพคุณของเขาไว้ ในความเป็น “ตัวอย่างที่หาได้ยากยิ่งในการต่อสู้เพื่อพิทักษ์ประชาธิปไตยของไทย
และเชิดชูไว้ซึ่งหลักแห่งความเสรีภาพ ความเสมอภาค และสิทธิมนุษยชน”
กลับจะส่องประกายไปทั่วโลก
ตราบเท่าที่มโนคติแห่งศักดิ์ศรีความเป็นคน ยังคงฝังแน่นในจิตสำนึกของมวลมนุษยชาติ
(หมายเหตุ
อ่านเพิ่มเติมสรรพคุณแห่งการเป็นนักสิทธิมนุษยชนรางวัลกวางจู ของไผ่ ดาวดิน
จากบทความของ สุรพศ ทวีศักดิ์ เรื่อง ‘ปล่อยไผ่ไปรับรางวัลกวางจูเพื่อสิทธิมนุษยชน’ ได้ที่
‘ประชาไท’ https://prachatai.com/journal/2017/04/71242)