งานครบรอบการเสียชีวิต 51 ปี ของจิตร ภูมิศักดิ์ ที่อนุสาวรีย์จิตร ภูมิศักดิ์ บ้านหนองกุง อ.วาริชภูมิ จ.สกลนคร
บทบรรณาธิการ : 51 ปี “จิตร” สิ้นลม สถานการณ์ไม่เปลี่ยนแปลง
09/05/2017
โดยบูรพา เล็กล้วนงาม
The Isaan Record
ถ้ายังมีชีวิตอยู่ถึงทุกวันนี้เขาคงมีอายุได้ 87 ปี แต่เขาเลือกทางเดินชีวิตโดยกบฏต่อจารีตเดิมของสังคมไทย สิ่งนั้นสร้างตัวตนของเขาขึ้นมาและทำให้เขาต้องจากไปก่อนวัยอันสมควร
วันที่ 5 พ.ค.ที่ผ่านมา มีการจัดงานรำลึกการเสียชีวิตของจิตร ภูมิศักดิ์ หรือ “สหายปรีชา” ที่อนุสาวรีย์จิตร ภูมิศักดิ์ บ้านหนองกุง ตำบลคำบ่อ อำเภอวาริชภูมิ จังหวัดสกลนคร บริเวณใกล้เคียงกับจุดที่จิตรถูกกำนันแหลมแห่งตำบลคำบ่อ อาสาสมัครรักษาดินแดน และทหาร ยิงเสียชีวิตเมื่อปี 2509 ขณะอายุได้ 36 ปี
งานรำลึกจัดขึ้นท่ามกลางอากาศที่ร้อนอบอ้าวมีกิจกรรมต่างๆ มากมาย อาทิ พิธีวางดอกไม้อนุสาวรีย์จิตร ภูมิศักดิ์ การปาฐกถาของอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร การแจกทุนการศึกษา การประกวดส้มตำลีลา (การตำส้มตำพร้อมกับการเต้นประกอบดนตรี) การอ่านบทกวี และการเล่นดนตรีประเดิมด้วยเพลง “จิตรเดียวกัน” แต่น่าสังเกตว่า ในปีนี้ไม่มีศิลปินและนักวิชาการที่มีชื่อเสียงเข้าร่วมงานเหมือนปีก่อนๆ ขณะที่สมาชิกขบวนการประชาธิปไตยใหม่คนหนึ่งก็ถูกขอร้องไม่ให้ขึ้นเวทีเพื่อป้องกันไม่ให้เจ้าหน้าที่รัฐหวาดระแวง
สิ่งที่ได้จากการร่วมงานครบรอบการเสียชีวิต 51 ปีของจิตรคือ การได้ย้อนคิดถึงชีวประวัติและผลงานที่เขาสร้างไว้ อาทิ หนังสือความเป็นมาของคำสยาม ไทย ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ หนังสือโฉมหน้าศักดินาไทย หนังสือศิลปะเพื่อชีวิต ศิลปะเพื่อประชาชน และเพลงแสงดาวแห่งศรัทธาซึ่งเป็นผลงานที่รู้จักกันในวงกว้าง
การแสดงดนตรีในงานรำลึกการเสียชีวิต 51 ปีจิตร ภูมิศักดิ์
ประวัติโดยย่อของสหายปรีชา ขณะเป็นนิสิตคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปี 2496 เขาได้รับตำแหน่งสาราณียากรหนังสือประจำปีของจุฬาฯ และได้เปลี่ยนแปลงเนื้อหาของหนังสือโดยลงบทความสะท้อนปัญหาสังคมและประณามผู้เอารัดเอาเปรียบ ผลจากการกระทำดังกล่าว ทำให้จิตรถูกสอบสวนที่หอประชุมใหญ่จุฬาฯ ระหว่างการสอบสวน เขาถูกนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์จับโยกบก (โยนลงจากเวที) จิตรได้รับบาดเจ็บและต้องพักรักษาตัวหลายวัน และผลจากการสอบสวน เขาถูกพักการเรียน 1 ปีการศึกษา
เมื่อปี 2501 จิตรถูกจับในข้อหากระทำผิดต่อความมั่นคงของรัฐและกระทำการเป็นคอมมิวนิสต์ เขาถูกคุมขังถึงปี 2507 จึงได้รับการปล่อยตัวและพ้นจากข้อหา จิตรถูกคุกคามอยู่หลายครั้งทำให้ในปี 2508 จิตรเดินทางมายังชนบทภาคอีสานเพื่อเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย หรือ พคท. ต่อสู้เพื่อแย่งชิงอำนาจการปกครองและถูกสังหารในปีถัดมา
เพราะเหตุใดจิตรถึงเลือกวิถีการต่อสู้ดังกล่าว
คำตอบน่าจะมาจากการที่ประเทศไทยในเวลานั้นปกครองด้วยระบอบเผด็จการ ทหารจับกุมคุมขังผู้ที่มีความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่าง ถ้าหากใครจินตนาการย้อนไปถึงสถานการณ์เมื่อกว่าครึ่งศตวรรษที่แล้วไม่ได้ ขอให้นึกถึงสภาพบ้านเมืองช่วง 3 ปีที่ผ่านมาก็ได้
อย่าง กรณีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรัฐประหาร ออกมาแสดงความคิดเห็นไม่เห็นด้วยที่นายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล นิสิตชั้นปีที่ 1 คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ได้รับเลือกเป็นประธานสภานิสิตจุฬาฯ ถือเป็นตัวอย่างล่าสุด เพียงแต่มีส่วนแตกต่างกันตรงที่ผู้ที่เห็นต่างจากรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ได้ถูกประหารชีวิตด้วยอำนาจของนายกรัฐมนตรี ตามธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2502 มาตรา17 อาทิ นายศิลา วงศ์สิน ในข้อหากบฏผีบุญ นายศุภชัย ศรีสติ ผู้นำสภาคนงานแห่งประเทศไทย และ นายครอง จันดาวงศ์ อดีตส.ส.สกลนคร
ในเวลานั้นเมื่อรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร ปกครองประเทศด้วยการสืบทอดอำนาจจากรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์มา (ปี 2501 – 2506) โดยไม่มีการเลือกตั้ง จึงไม่มีช่องทางอื่นใดที่จะแสดงออกทางการเมืองได้ ยกเว้นแต่จะร่วมเคลื่อนไหวในทางลับหรือสู้รบกับรัฐบาลเท่านั้น
ถ้าถามว่า การที่ประชาชนจับอาวุธต่อสู้กับรัฐบาลเข้าข่ายเป็นกบฏหรือไม่ คำตอบตามกฎหมายก็อาจจะบอกว่าเป็นกบฏได้ แต่ถ้ายึดหลักการที่ว่า อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน รัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจต่างหากที่เป็นกบฏต่อประชาชนเสียเองมิใช่หรือ
ข้อสังเกตที่น่าสนใจเกี่ยวกับเหตุการณ์สังหารเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม ปี 2509 ประกาหนึ่งคือ รัฐมีวิธีจัดการกับจิตรนอกจากการล้อมยิงหรือไม่ สมมติว่าเขาทำผิดกฎหมายข้อหาการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์จริง วิธีการที่รัฐต้องดำเนินการคือ จับกุมตัวจิตร หรือ “สหายปรีชา” มาดำเนินคดีตามกฎหมายตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญา เพราะไม่ว่าเจ้าหน้าที่รัฐหรือบุคคลใดก็ไม่มีสิทธิที่จะสังหารบุคคลอื่นด้วยการล้อมยิงเช่นนี้ ทั้งนี้ก่อนศาลจะตัดสินว่าผู้ใดมีความผิด ต้องสันนิษฐานว่าผู้นั้นยังเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่เสมอ
จุดที่จิตร ภูมิศักดิ์ เสียชีวิตที่บ้านหนองกุง
การล้อมปราบคนเสื้อแดงที่ราชดำเนินและราชประสงค์ เมื่อปี 2553 จนมีผู้เสียชีวิตจำนวน 99 คน แสดงให้เห็นได้เป็นอย่างดีว่า กรอบความคิดในการจัดการกับผู้บริสุทธิ์ของเจ้าหน้าที่รัฐยังคงเหมือนเดิม เพียงแต่เปลี่ยนสถานที่จากชายป่าภาคอีสานมาเป็นใจกลางเมืองหลวง เปลี่ยนข้อหาจากคอมมิวนิสต์มาเป็นข้อหาหมิ่นเบื้องสูงด้วยผังล้มเจ้าอันเป็นเท็จ ส่วนผู้กุผังล้มเจ้าก็ได้เป็นโฆษกรัฐบาลคนปัจจุบัน ขณะที่กำนันแหลมได้รางวัลเป็นกำนันแหนบทองคำ ฉะนั้น ตราบใดที่เจ้าหน้าที่รัฐทำผิดแล้วไม่ต้องรับโทษ ตราบนั้นการทำผิดต่อประชาชก็จะยังเกิดขึ้นอยู่ร่ำไป
ข้อสังเกตุอีกประการคือ ข้อกล่าวหาที่รัฐใช้เป็นข้ออ้างปลิดชีพสหายปรีชาในวันนั้นคือมีการกระทำเป็นคอมมิวนิสต์ แต่สภาผู้แทนราษฎรได้ยกเลิกกฎหมายป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ไปแล้วตั้งแต่ปี 2543 ดังนั้น ข้อหาคอมมิวนิสต์จึงไม่ใช่ความผิดในตัวเอง เช่นเดียวกับความผิดฐานฆ่าคนตายหรือลักทรัพย์ แต่เป็นความผิดจากความคิดเห็นที่แตกต่างทางการเมืองเท่านั้น แล้วเหตุใดผู้ที่คิดเห็นแตกต่างกันจึงไม่สามารถอยู่ร่วมกันได้
คำตอบน่าจะเป็นเพราะรัฐบาลจอมพลถนอมได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกาในฐานะประเทศทุนนิยมเพื่อต่อสู้กับ พคท. ที่ได้รับการหนุนหลังจากประเทศจีนที่ปกครองด้วยลัทธิคอมมิวนิสต์ แต่ปัจจุบันผ่านมา 5 ทศวรรษแล้ว รัฐบาลทหารของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับทำสิ่งที่ตรงกันข้ามคือ รัฐบาลไทยเลือกอยู่ข้างรัฐบาลปักกิ่งและตีตัวออกห่างจากทำเนียบขาว สิ่งนี้จึงช่วยให้พออนุมานได้ว่า รัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารไม่มีจุดยืนที่แน่นอน แต่พร้อมจะทำทุกอย่างเพื่อความอยู่รอดของตัวเอง
อีกประการหนึ่งที่น่าไตร่ตรองคือ สมมติว่าจิตรไม่ถูกสังหารในวันนั้น และต่อมา พคท. สามารถทำตามกลยุทธ์ป่าล้อมเมืองจนเอาชนะรัฐบาลไทยและจัดตั้งรัฐบาล พคท. ได้สำเร็จ โฉมหน้าประเทศไทยในเวลานี้จะเป็นอย่างไร จะมีสิทธิเสรีภาพมากกว่าปัจจุบันหรือไม่ หรือว่าจะเป็นอย่างประเทศเพื่อนบ้านที่มีการเลือกตั้ง แต่มีพรรคการเมืองแค่พรรคเดียว หรือ ทั้งระบอบเผด็จการทหารและคอมมิวนิสต์ไม่ใช่คำตอบตราบใดที่ประชาชนไม่มีส่วนร่วมในการปกครอง
อนุสาวรีย์จิตร ภูมิศักดิ์ ตั้งตระหง่าอยู่ ด้านล่างของฐานอนุสาวรีย์สลักคำว่า “คนยังคงยืนเด่นโดยท้าทาย”
ผ่านมาแล้ว 51 ปี ไม่ว่าจิตรจะพยายามสร้างผลงานอะไรไว้ สิ่งนั้นจะไม่มีความหมาย ถ้าคนไทยในพ.ศ.นี้ยังไม่เรียนรู้ว่า ศัตรูของประชาชนยังเป็นคนกลุ่มเดิม และไม่ออกมาร่วมกัน “ยืนเด่นโดยท้าทาย”