วันจันทร์, พฤษภาคม 01, 2560

บีบีซีไทยพาไปดู 1 วัน ของอาชีพฟรีแลนซ์ หนึ่งในแรงงานนอกระบบไทย ปัจจุบันมีอยู่กว่า 21 ล้านคน ตามเทรนด์โลก Gig Economy





ฟรีแลนซ์ : ชีวิตอิสระของแรงงานนอกระบบ?


ธันยพร บัวทอง
ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย


ผู้ประกอบอาชีพอิสระหรือที่เรียกว่าฟรีแลนซ์ (Freelance) เป็นส่วนหนึ่งของแรงงานนอกระบบที่ปัจจุบันมีอยู่กว่า 21 ล้านคน งานที่ผู้ทำถือได้ว่าอยู่ในสภาพเป็นนายตัวเองไม่ว่าจะด้วยความตั้งใจหรือจำยอม มีเงื่อนไขที่ทำให้ชีวิตมี "อิสระ" จริงแท้แค่ไหน บีบีซีไทยชวนคุยกับผู้ประกอบอาชีพอิสระรุ่นใหม่สองคน

ค้นหาแนวทางของตัวเอง

ความต้องการก้าวหน้าในอาชีพสายงานศิลปะและกราฟิกดีไซน์ เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ นักรบ มูลมานัส นักออกแบบกราฟิกอิสระ และศิลปินสไตล์คอลลาจ วัย 27 ปี เลือกหันหลังให้กับการทำงานในออฟฟิศที่เคยทำอยู่ 1 ปี ออกมารับงานอิสระฟรีแลนซ์ เพราะเริ่มรู้สึกว่างานที่ทำในออฟฟิศไม่ตรงกับความก้าวหน้าของอาชีพที่ตัวเองต้องการ

"การออกมาเป็นฟรีแลนซ์ ต้องหาแนวทางของตัวเองให้เจอ ทั้งคนทำงานในออฟฟิศและคนที่ออกมานอกระบบต้องรู้จักตัวเองไม่ต่างกันว่าเหมาะกับการทำงานแบบไหน"

คำถามที่ถูกถามบ่อยครั้งคือดูแลวินัยอย่างไร เมื่อ "เป็นนายตัวเอง" ไม่ต้องทำตามเงื่อนไขที่เคร่งครัดของนายจ้าง นักรบบอกว่า เขาใช้วิธีจดรายละเอียดของชิ้นงานในแต่ละวัน รวมถึงวันกำหนดส่งลงในตารางเวลาทำงาน ซึ่งกว่าจะจัดชั่วโมงการทำงานได้ลงตัวและควบคุมตัวเองได้ระดับหนึ่ง เขา "หลุดโค้ง หลุดเบรกเยอะมาก แล้วกลับมาสู่งานไม่ได้"



WASAWAT LUKHARANG/BBC THAI
นักรบ มองว่าการเป็นฟรีแลนซ์ตอบโจทย์ทิศทางการทำงานเชิงศิลปะมากกว่า


"ต้องแบ่งสเปซในการทำงานและแบ่งเวลาในการทำงานเอง สมมติว่าผมนั่งทำงานอยู่บ้านมีปัญหาอยู่เหมือนกัน อย่างเรื่องควบคุมตัวเองไม่ได้ เพราะเราคิดว่าที่บ้านเป็นสเปซของการพักผ่อน"

เมื่อเจ็บป่วย นักรบยอมเดินเข้าโรงพยาบาลเอกชน แทนที่จะใช้บัตรทอง ที่เขาเคยลองใช้บริการแล้วพบว่าต้องแลกกับการเสียเวลาทำงานไปทั้งวัน

นักรบไม่ปฏิเสธว่า ณ วันนี้ เขาเปิดใจยอมรับการกลับเข้าไปเป็นแรงงานในระบบ หลังจากทำงานอิสระมา 4 ปี เพราะยังมองถึงความมั่นคงในชีวิต และการวางแผนชีวิตหลังวัย 30 ปี เช่น การมีบ้าน หรือมีความมั่นคงทางการเงิน เพียงแต่ว่านายจ้างที่เขาจะทำงานด้วยนั้นต้องมีเงื่อนไขการทำงานที่ตอบโจทย์ในสิ่งที่เขาต้องการมากขึ้น

ภัทรอนงค์ สิรีพิพัฒน์ บรรณาธิการหนังสือวัย 29 ปี เป็นอีกคนที่เลือกเส้นทางอิสระ แม้จะต้องคอยเฟ้นหาช่องทางที่ทำให้ตัวเองมีรายได้เสริมอย่างต่อเนื่อง เช่น งานดูแลหน้าเพจเว็บไซต์ ซึ่งช่วยให้เธอมีรายได้รวมกันไม่ต่างจากการทำงานประจำ การมีสัมพันธ์ที่ดีกับผู้ว่าจ้างและเสนอแนะงานให้ลูกค้า เป็นเคล็ดลับที่ทำให้ภัทรอนงค์ยังคงเดินบนเส้นทางสายนี้ได้



WASAWAT LUKHARANG/BBC THAI
ธุรกิจ Co-Working Space ในกรุงเทพมหานคร ผุดขึ้นเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะทำเลแนวรถไฟฟ้า ซึ่งรองรับแรงงานในรูปแบบใหม่อย่างเช่นในธุรกิจสตาร์ทอัพ หรือฟรีแลนซ์


แม้จะ "บินเดี่ยว" ทำงานตัวคนเดียว แต่ภัทรอนงค์มีระบบระเบียบพอสมควร การรับงานแต่ละครั้ง จะมีการเสนอราคา และสัญญาจ้าง กับระยะเวลาชำระเงินที่ชัดเจน แบ่งจ่ายตอนเริ่มทำงาน และหลังงานเสร็จ หากงานใดมีระยะเวลายาวนาน 3-4 เดือน ก็จะทำสัญญากำหนดให้จ่ายเป็นงวดได้

ในยามเจ็บป่วย ภัทรอนงค์เลือกดูแลตัวเองด้วยการซื้อประกันสุขภาพและประกันอุบัติเหตุ เพราะการเข้าร่วมรับสิทธิประกันสังคมไม่ใช่สิ่งที่เธอต้องการ

ฟรีแลนซ์ที่อยากให้รู้จัก

ผู้ที่ถือเป็นแรงงานนอกระบบในไทยราว 21 ล้านคน อยู่ในกลุ่มงานที่หลากหลาย ทั้งในภาคเกษตร ค้าขาย รับจ้าง รับงานไปทำที่บ้าน ขับจักรยานยนต์รับจ้าง ฯลฯ

แรงงานเหมาช่วงในอุตสาหกรรมเสื้อผ้าเป็นส่วนหนึ่งของแรงงานนอกระบบที่ไร้สัญญา แต่รับงานเป็นครั้งคราว แม้จะทำงานเย็บเสื้อผ้าเหมือนกัน แต่แรงงานนอกระบบเหล่านี้ไม่มีสวัสดิการเช่นที่ลูกจ้างโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าได้รับ

พนิตา ฟองอ่อน วัย 49 ปี รับงานเย็บผ้ามาทำที่บ้านแฟลตเอื้ออาทรมีนบุรี แต่ละสัปดาห์พนิตาต้องส่งงานให้ผู้ว่าจ้าง 2 ครั้ง เฉลี่ยครั้งละ 1,000-2,000 ชิ้น แต่นั่นไม่ใช่ฝีมือเย็บของเธอเพียงคนเดียว พนิตาแบ่งงานกับกลุ่มผู้รับจ้างที่รวมตัวกับเธอราว 10 คน การรับการแบบนี้พนิตามีรายได้เฉลี่ยครั้งละ 700-1,000 บาท ต่อการทำงาน 3 วัน

รายได้ที่ได้รับ ยังไม่ได้หักเงินลงทุนที่พนิตาเสียไปทั้งค่าด้าย ค่าจักรเย็บผ้า ค่าสึกหรอ ค่าซ่อมบำรุง ค่าน้ำ ค่าไฟ ที่ต้องชำระจากการทำงานที่บ้าน



BBC THAI
พนิตา บอกว่าแต่ละเดือนไม่สามารถรู้ล่วงหน้าได้ว่ายอดสั่งงานผ้าจะเข้ามาเท่าใด ขึ้นอยู่กับตลาดเสื้อผ้าในช่วงนั้น บางครั้งรู้ล่วงหน้าแค่ 2-3 วัน


ช่วงไหนมีเสื้อผ้าให้ต้องเย็บมาก พนิดาและเพื่อนในกลุ่มต้องเร่งมือทำงานเกินเวลาแรงงานทั่วไป "เราทำงานไม่เป็นเวลา 6 โมง ก็ตื่นมาเย็บก่อน อาบน้ำเสร็จก็เย็บต่อ" ณิชาภัทร แก้วมณี อีกหนึ่งแรงงานที่รับงานไปทำที่บ้าน บอกกับบีบีซีไทย

แน่นอนว่าเธอไม่ได้รับค่าล่วงเวลา ไม่มีสวัสดิการ และยังต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนว่าจะมีงานเข้ามามากน้อยเพียงใด

ต้องรู้อะไรบ้างก่อนออกนอกระบบ

  • ฟรีแลนซ์หรือผู้ประกอบอาชีพอิสระ เป็นแรงงานนอกระบบที่ไม่มีนายจ้าง ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน จึงไม่ได้รับสิทธิตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 เช่น วันหยุดพักผ่อนประจำปี ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันมาครบ 1 ปี มีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีไม่น้อยกว่าปีละ 6 วันทำงาน หรือการลาคลอด ลูกจ้าง ซึ่งเป็นหญิงมีครรภ์มีสิทธิลาคลอดก่อนและหลังคลอดครรภ์หนึ่งไม่เกิน 90 วัน
  • สิทธิผู้ประกันตนของผู้ประกอบอาชีพอิสระอยู่ในกลุ่ม มาตรา 40 ของระบบประกันสังคม เมื่อมีการจ่ายสมทบ จะมีเพียงจากตนเอง และรัฐเท่านั้น ต่างจากแรงงานในระบบ ที่มีการสมทบจากนายจ้างอีกส่วน
  • แรงงานนอกระบบ ไม่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ข้อมูลบนเว็บไซต์ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (กลต.) ระบุไว้ว่า กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เป็นสวัสดิการรูปแบบหนึ่งที่นายจ้างให้แก่ลูกจ้าง ทั้ง 2 ฝ่ายร่วมกันจัดตั้งขึ้นด้วยความสมัครใจ เพื่อให้ลูกจ้างมีเงินออมไว้ใช้จ่ายยามเกษียณอายุ ออกจากงาน ทุพพลภาพ หรือเป็นหลักประกันให้แก่ครอบครัวกรณีลูกจ้างเสียชีวิต โดยกองทุนจะมาจากเงินที่ลูกจ้างจ่ายเข้ากองทุนเพื่อตนเองส่วนหนึ่งเรียกว่า "เงินสะสม" ซึ่งกฎหมายกำหนดให้สะสมได้ตั้งแต่ 2-15% ของเงินเดือน และเงินที่นายจ้างจ่ายเข้ากองทุนอีกส่วนหนึ่งที่เรียกว่า "เงินสมทบ" ซึ่งกฎหมายกำหนดให้สมทบในอัตราที่ไม่ต่ำกว่าเงินสะสมของลูกจ้าง
  • การรักษาพยาบาล สามารถใช้สิทธิบัตรทอง ควบคู่สิทธิประกันสังคม มาตรา 40 ที่ต้องสมัครเป็นผู้ประกันตน หรือจ่ายค่ารักษาพยาบาลด้วยตัวเองที่โรงพยาบาลเอกชน หรือการซื้อประกันสุขภาพ


PORNCHAI KITTIWONGSAKUL/AFP/Getty Images

ข้อมูลที่น่าสนใจของแรงงานนอกระบบไทย
21.4 ล้านคน จำนวนแรงงานนอกระบบ

2.2 ล้านคน เป็นผู้ประกันตนมาตรา 40

62.6% มีการศึกษาระดับประถมศึกษา-ต่ำกว่าประถมศึกษา

45-54 ปี ช่วงอายุที่มีประชากรแรงงานนอกระบบมากที่สุด

82% ทำงานมากกว่า 50 ชม./สัปดาห์

ที่มา : สำนักงานสถิติแห่งชาติ, 2558 / เครือข่ายวิชาการเพื่อสังคมเป็นธรรม

รัฐบาลเพิ่มสิทธิประโยชน์สิทธิประกันสังคม แรงงานนอกระบบ

มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 25 เม.ย.ได้เห็นชอบปรับสิทธิประโยชน์ สำหรับผู้สมัครเป็นผู้ประกันตน ตามมาตรา 40 ของ พ.ร.บ.ประกันสังคม ซึ่งก็คือ กลุ่มแรงงานนอกระบบ ดังนี้

ทางเลือกที่ 1 ผู้ประกันตนจ่ายสมทบ 70 บาท รัฐจ่ายสมทบ 30 บาท รวมเป็นเงินสมทบ 100 บาท รับสิทธิประโยชน์คุ้มครอง 3 กรณี โดยเงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อเจ็บป่วยเมื่อนอน รพ.จากเดิมได้รับวันละ 200 บาท ไม่เกิน 30 วันต่อปี เพิ่มให้เป็น 300 บาท ไม่เกิน 30 วันต่อปีเพิ่มเงินค่าทำศพจากเดิม 20,000 บาท เป็น 23,000 บาท

ทางเลือกที่ 2 ผู้ประกันตนจ่ายสมทบ 100 บาท รัฐจ่ายสมทบ 50 บาท รวมเป็นเงินสมทบ 150 บาท ได้รับสิทธิประโยชน์พื้นฐานคุ้มครอง 4 กรณี คือเงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อเจ็บป่วย เงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อทุพพลภาพ เงินค่าทำศพ เงินบำเหน็จชราภาพ (เงินออมกรณีชราภาพ)

และทางเลือกที่ 3 ที่เพิ่งกำหนดขึ้นมาใหม่ ผู้ประกันตนจ่าย 300 บาท รัฐจ่ายสมทบ 150 บาท รวมเป็นเงินสมทบ 450 บาท ได้รับสิทธิประโยชน์พื้นฐานคุ้มครอง 5 กรณี เพิ่มเงินสงเคราะห์บุตรมาเป็นกรณีที่ 5 และการจ่ายเงินทดแทนเมื่อขาดรายได้จากการเจ็บป่วยต้องนอนโรงพยาบาล จะได้รับวันละ 300 บาท ไม่เกิน 90 วันต่อปี

ประยุทธ์สั่งทำ "ฐานข้อมูลกลาง" ช่วยแรงงาน ทั้งในและนอกระบบ

อย่างไรก็ตาม นางสุจิน รุ่งสว่าง ประธานเครือข่ายแรงงานนอกระบบแห่งชาติ กล่าวกับบีบีซีไทยว่า การปรับครั้งนี้ไม่ได้ปรับสิทธิประโยชน์เพิ่ม เพียงแต่เพิ่มช่องทาง ส่วนทางเลือกที่ 3 ที่ให้ผู้ประกันตนจ่าย 300 บาท เป็นจำนวนเงินที่สูง ส่วนตัวมองว่าแรงงานนอกระบบไม่สามารถจ่ายได้ไหวในอัตรานี้

เทรนด์โลก เคลื่อนเศรษฐกิจ Gig economy

สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ ตีพิมพ์บทความเมือเดือนธันวาคม ปี 2559 ระบุถึงข้อมูลทางสถิติที่น่าสนใจของอาชีพอิสระไม่ขึ้นกับองค์กร หรือที่เรียกว่า Gig Economy ที่มีแรงผลักดันจากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ซึ่งเป็นภาพแนวโน้มที่เกิดขึ้นทั่วโลก เช่นเดียวกับในประเทศไทยที่เกิดกระแสในกลุ่มเจนวายที่ต้องการทำงานอิสระหรือฟรีแลนซ์มากขึ้นในช่วงไม่เกิน 5 ปีที่ผ่านมา

สถิติที่น่าสนใจของโลก

  • ปี 2558 มีคนอเมริกัน เกือบ 54 ล้านคนที่ทำงานอิสระหรือมากกว่า 33% ของกำลังแรงงานสหรัฐฯ และจะเพิ่มขึ้นมากกว่าปีที่แล้ว 700,000 คน
  • มีผู้ประมาณการว่า ในอีก 5 ปี ข้างหน้ากว่าครึ่งหนึ่งของประชากรวัยทำงานในอังกฤษจะทำงานในลักษณะ self-employed
  • ในปี 2555-2556 ในสหภาพยุโรปมีอัตราแรงงานอิสระเพิ่มขึ้น 45%

สำหรับประเทศไทย ฟรีแลนซ์ในกลุ่มนิยามข้างต้น ถือเป็นส่วนหนึ่งของแรงงานนอกระบบจำนวน 21.3 ล้านคน จากการสำรวจปีล่าสุดของสำนักงานสถิติแห่งชาติ คิดเป็น 55.6% ของแรงงานที่มีงานทำทั้งประเทศ