ดูจะเป็นนิมิตหมายอันดีสำหรับวิถีประชาธิปไตย เมื่อผู้มีแนวทางการเมืองหลากหลาย ๑๑๗ คน กับ ๑๖ องค์กร ร่วมกันลงนามคำแถลงเรียกร้อง ให้การทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในวันที่ ๗ สิงหาคมนี้ เกิดความชอบธรรมตามหลักสากล ๕ ประการ
ขอรวบรัดแบบเซี้ยวๆ สั้นๆ (ตัดทอนมาจากข่าวมติชน http://www.matichon.co.th/news/218361) ดังนี้
๑.เปิดให้ทุกฝ่ายถลกแถลงแสดงความคิดเห็น (ขอไม่ใส่ ‘สร้างสรรค์’ อ่านแล้วเอียน)
๒.(ให้ คสช.) เสนอทางเลือกชัดเจนว่ากระบวนการต่อไปจะเป็นอย่างไร หากร่างฯ ไม่ผ่าน
๓.กรณีร่างฯ ไม่ผ่าน (กลุ่มนี้) เสนอให้จัดทำรัฐธรรมนูญใหม่โดยกระบวนการที่เป็น ‘ฉันทามติ’
๔.เรียกร้องให้ทุกฝ่ายยอมรับในผลของประชามติ (โดยมีข้อแม้ว่า) ถ้า ๓ ข้อข้างต้นได้รับการสนองตอบ
๕.รัฐธรรมนูญใหม่ (เชื่อว่าหมายถึงฉบับที่เสนอให้ร่างใหม่ ‘สไตล์ ๔๐’ เมื่อประชามติไม่ผ่าน ไม่ใช่ฉบับ ‘มีชัย’ ที่หลังเย็นไปแล้ว) ขอให้กำหนดเรื่องการคุ้มครองศักดิ์ศรีมนุษย์ การตรวจสอบถ่วงดุล การปฏิรูป และการกระจายอำนาจ
ข้อห้านี่เป็นหลักการที่ผู้ร่าง รธน. ฉบับมีชัยนั่งยันว่าไม่ได้ขาดหายไป แต่กล้อมแกล้มบอกทำนองว่า ‘ละไว้ในฐานที่เข้าใจ’ และจัดว่าเป็นนะหน้าทองหรือกอเอี๊ยแปะหน้าผากของกลุ่มประชาสังคมทีเดียว
ก็ดีแหละ ในเมื่อผู้ร่วมลงนามมีระดับ heavyweight ขาใหญ่มากมาย ตั้งแต่ โคทม อารียา อนุสรณ์ ธรรมใจ ชำนาญ จันทร์เรือง สุรชาติ บำรุงสุข สมชาย หอมลออ จอน อึ๊งภากรณ์ ประสาร มฤคพิทักษ์ ประภาศ ปิ่นตบแต่ง สุณัย ผาสุก ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ และ ฯลฯ ยกเอาแต่ชื่อที่ชาวบ้านอย่างเราๆ คุ้นเท่านั้นแหละ
ข้อสำคัญนักการเมืองพรรคเพื่อไทยยกกันมาเกือบทั้งกระบิ (ไม่ต้องเอ่ยชื่อก็ได้ ‘ไอดอล’ ทั้งนั้น) ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ก็มาหลายคนอยู่ รวมทั้งหล่อใหญ่ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่โหมโรงไว้แล้วว่าจะแสดงจุดยืนแน่นอน ๑๐ วันก่อน ‘เสียงแตก’ (วุ้ย แบบบทช่างหยดย้อย)
อ้อ มีอีกสองคนที่ชื่อคุ้นตา สมศักดิ์ ปริศนานันทกุล (ชาติไทย) กับหมอ สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ (รายนี้เห็นเม้าท์กันทางไซเบอร์ว่า ‘heat up’ เมื่องบฯ ‘สิทธิชุมชน’ หดหู่
ตานี้มาถึงถ้อยคำของนายอนุสรณ์ ธรรมใจ รองประธานมูลนิธิปรีดี พนมยงค์ ที่ว่า “จึงเสนอว่าถ้าวันที่ ๗ สิงหาคม รัฐทำให้มั่นใจไม่ได้ว่าเป็นการลงประชามติที่มีความหมาย
ก็ขอเรียกร้องให้เลื่อนการลงประชามติ จนกว่าจะมั่นใจได้ว่ามีประชาธิปไตยในกระบวนการลงประชามติและให้เสียงของประชาชนมีความหมาย”
อย่างที่เม้นต์ไว้ตอนต้นนั่นละ ประเด็นนี้หลังเย็นไปแล้ว ข้อสำคัญใครล่ะจะเป็นคนจัดการให้กระบวนการลงประชามติ ‘มีความหมาย’ ใช่ กกต. ไหม
กกต. นี่หรือเปล่าที่นายจอน อึ๊งภากรณ์ บอกว่าเป็น ‘ตำรวจจับเท็จ’ “ซึ่งพร้อมที่จะวินิจฉัยและกล่าวโทษเอาเรื่องกับนักวิชาการ สถาบันทางวิชาการ และนักกิจกรรมกลุ่มต่างๆ ที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญ
ทั้งนี้เพื่อการพิจารณาดำเนินคดีกับผู้ถูกกล่าวหาตามมาตรา ๖๑ วรรค ๒ ซึ่งมีโทษจำคุกนานถึงสิบปี”
แต่เอกสารประชาสัมพันธ์ร่างรัฐธรรมนูญของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญนั่นเอง กลับ “พบว่ามีข้อความที่คลาดเคลื่อนจากความจริง รวมทั้งมีเนื้อหาบางส่วนที่อาจทำให้ผู้อ่านเข้าใจผิดได้
ทั้งยังมีลักษณะของการโฆษณาร่างรัฐธรรมนูญเกินความเป็นจริง กลับไม่มีการพิจารณาความผิดตามมาตรา ๖๑ วรรค ๒ แต่ประการใด...
การกำหนดให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญเองเป็นผู้ทำหน้าที่ตัดสินวินิจฉัยเอกสารต่างๆ ว่ามีเนื้อหาผิดกฎหมายหรือไม่ เหมือนกับเป็นการให้นักมวยคู่ชกฝ่ายหนึ่งทำหน้าที่เป็นกรรมการมวยด้วย”
(https://www.facebook.com/jon.ungphakorn/posts/1723419987912103)
“บรรยากาศแห่งความกลัว” ก่อนจะถึงวันลงประชามติ ดังที่ อจ.จอนชี้นั่นต่างหากที่จะต้องรณรงค์ต้านและขัดขวางในฐานะประชาชน โดยมีขาใหญ่ที่อ้างอิงประชาธิปไตยทั้งหลายเป็นแกนนำ
ซ้ำร้าย เจอถ้อยแถลงของนายโคทม อารียา อดีตผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี ที่ “เสนอทางเลือกส่วนตัวว่า
หากประชามติไม่ผ่าน ให้ใช้รัฐธรรรมนูญฉบับที่ ๒๐ นี้เป็นระยะเวลา ๔ ปีเท่ากับรัฐบาลเลือกตั้ง โดยระหว่างนั้นก็ตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญและจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับที่ ๒๑ ซึ่งประชาชนมีส่วนร่วมได้”
อ้าว พูดงี้ได้งัย จะว่าประชดก็ไม่ใช่ ย้อนแย้งนะนี่ ถึงไม่ผ่านก็อยากให้ใช้ไปก่อนสี่ปี โดยมีวุฒิสภาลากตั้งกับนายกฯ คนนอกน่ะหรือ หนักพอๆ กับสุเทือกนั่นแหละ แค่ไม่ได้บอกว่าคำปรารภเลิศหรูเท่านั้น
อย่างนี้ทั่นรองฯ วิษณุ เครืองาม เสียอีก พูดดีกว่า ถ้าไม่ผ่าน ก็แก้รัฐธรรมนูญชั่วคราว เพื่อจัดให้มีการร่างใหม่ “และต้องร่างใหม่โดยเร็ว” “ตามโร้ดแม็พ” กับ “เลือกตั้งภายในปี ๖๐” แน่
ก็ถ้าพวกผู้ลงนามเห็นพ้องกันว่าประชามติคราวนี้ ‘ไม่ใช่พิธีกรรม’ เพื่อรับรองและสร้างความชอบธรรมให้ใคร อีกทั้งควรเป็นไป “อย่างมีความหมาย” ในมาตรฐานสากล อันเปิดให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง ไม่ใช่คอยจิก กัด อย่าง ‘สารวัตรจับเท็จ’ สมชัย ศรีสุทธิยากร ละก็
ในช่วงเวลาอันสั้นก่อนถึงวันประชามติ การรณรงค์ที่ต้องโหมให้หนัก อยู่ที่การออกมาแสดงความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญกันรัวๆ อย่างที่กลุ่มนักศึกษาประชาธิปไตยใหม่ และนักวิชาการกลุ่ม ‘ถึงเวลา..ก้าวออกมา’ กำลังทำกัน