17 ก.ค. 2558
ไทยรัฐออนไลน์
สถานการณ์ส่งออกหดตัวและติดลบ ต่อเนื่อง กำลังซื้อในประเทศตก เอกชนชะลอการลงทุน ทำให้นาทีนี้เศรษฐกิจไทย ตกอยู่ในภาวะอันตราย และซึมยาวอย่างต่อเนื่อง
นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณของทีดีอาร์ไอ หรือสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ตั้งข้อสังเกต หากสถานการณ์ภัยแล้งยังซ้ำเติมประเทศไทย ลากยาวไปจนถึงปลายปี มีโอกาสสูงที่ปีนี้เศรษฐกิจไทยจะเข้าสู่ภาวะเงินฝืด
ถ้าคำว่า “เงินเฟ้อ” (Inflation) หมายถึง ภาวะทางเศรษฐกิจที่ปริมาณเงินหมุนเวียนในประเทศมีมากเกิน จนทำให้เงินเสื่อมค่า หรือหมายถึง การที่ภาวะสินค้าราคาแพงขึ้น จนใช้เงินจำนวนเท่าเก่าซื้อไม่ได้
คำว่า “เงินฝืด” (Deflation) จะตรงกันข้ามกับเงินเฟ้อ กล่าวคือ หมายถึง ภาวะเศรษฐกิจที่ปริมาณเงินหมุนเวียนในประเทศมีน้อยเกินไป การใช้จ่ายลดลง เกิดภาวะฝืดเคือง หรือเงินตึงตัว ส่งผลให้เกิดปัญหาเรื่องสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจ
อาจารย์นิพนธ์บอกว่า ปัญหาภัยแล้งขณะนี้มีผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ ในแง่ทำให้จีดีพีของประเทศหดตัวลงในด้านมูลค่า
เมื่อใดที่จีดีพีหดตัว สิ่งที่ตามมา มักจะเกิดภาวะเงินฝืดในระดับครัวเรือนรากหญ้า ซึ่งคนกลุ่มรากหญ้าของประเทศ นอกจากจะเป็นกลุ่มที่มีมากที่สุด ยังเป็นผู้บริโภครายใหญ่สุดของประเทศอีกด้วย
เมื่อคนกลุ่มนี้มีรายได้ลด ทำให้พลอยมีเงินในกระเป๋าลดลง และลดการบริโภคลงเป็นเงาตามไปด้วย ผลที่ตามมา ก็คือ พลอยฉุดให้ภาคการค้าและการผลิตของประเทศตกต่ำลงตาม
อย่างไรก็ตาม อ.นิพนธ์ ยังให้ความหวังไว้ว่า ภาวะเงินฝืดจะทำให้ เศรษฐกิจถดถอย เท่านั้น ยังไม่ถึงขั้นเศรษฐกิจชะงักงัน ซึ่งเป็นระดับที่หนักหนาสาหัสกว่า
กิตติชัย มิตรเจริญ หรือ “ซัน” พนักงานขายตู้เซฟสำหรับเก็บทรัพย์สิน และเซฟเก็บปืน ของบริษัท โปรดักซ์ เวิลด์ เซฟตี้ จำกัด ภายในห้างคริสตัล พลัส พีทีที ถ.ชัยพฤกษ์ บอกว่า ไม่ต้องใช้ความรู้ระดับปรมาจารย์ทางเศรษฐศาสตร์มาอธิบาย แค่สังเกตบรรยากาศโดยรอบห้างที่เขาขายตู้เซฟ ก็ประจักษ์แจ้งแล้ว
“ลองดูสิครับ พนักงานขายของแต่ละร้านค้า มีเวลาหยอกล้อกันเล่น บางคนก็ออกมาเดินคุยโทรศัพท์นอกร้านกันแบบชิลๆ ถ้ามีลูกค้าในร้าน ใครเขาจะกล้าทำแบบนี้ มีหวังโดนผู้จัดการไล่ออก”
ซันบอกว่า ช่วงต้นปีที่ผ่านมา ตู้เซฟในร้านของเขายังพอขายได้บ้าง กล่าวคือ มียอดขายเฉลี่ยเดือนละประมาณ 20 กว่าตู้ขนาดของตู้ที่ขายได้ โดยมากเป็นเซฟขนาดเล็ก ซึ่งมีราคาใบละ 7,000-15,000 บาท แต่ระยะ 1-2 เดือนที่ผ่านมานี้ ยอดขายเปลี่ยนไปอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน
“บางวันตั้งแต่เปิดร้านมาตอนเช้า จนถึงปิดร้าน ทั้งวันไม่มีลูกค้าเข้าร้านเลยสักคนเดียว ถ้าเป็นช่วงเสาร์-อาทิตย์ อาจจะมีลูกค้าเดินเข้ามาในร้านสัก 4-5 ราย แต่ไม่มีสักรายเดียวที่ตัดสินใจซื้อ ส่วนมากแค่เข้ามาถามสเปก ถามราคา แล้วขอแค็ตตาล็อกไปดู”
ซันบอกว่า เต็มที่เลยทุกวันนี้ เขาขายตู้เซฟทุกยี่ห้อรวมกันได้เฉลี่ยเดือนละไม่เกิน 10 ใบ เซฟที่ยังพอขายได้ คือ เซฟ ยี่ห้อ Godrej จากอินเดีย เพราะมีราคาถูกสุด ส่วนเซฟยี่ห้อดัง อย่าง Chubb ของอังกฤษ ซึ่งมีราคาสูงกว่าเซฟหลายยี่ห้อ นานหลายเดือนจึงจะขายได้สักใบ เช่นเดียวกับตู้เซฟเก็บปืนยาว ยี่ห้อ World Safes ซึ่งมีราคาใบละ 30,000-50,000 บาท เฉลี่ยนาน 2 เดือน จึงจะขายได้สักใบ
สุดใจ แก้วประเสริฐ แม่ค้าขายมะกอกน้ำ มะม่วงดิบ และผลไม้เปรี้ยวตามฤดูกาล คู่กับน้ำปลาหวาน ภายในห้างเดียวกันกับ “ซัน” ชี้มือไปที่ร้านรวงหลายแห่งที่ปิดตัวลง พร้อมกับขึ้นป้าย “ปิดปรับปรุง” อย่างไม่มีกำหนด
เธอว่า ร้านใหญ่ๆหลายแห่งต้องมีภาระค่าเช่า ค่าน้ำ ค่าไฟ รวมแล้วเดือนละ แสนกว่าบาท ยังไม่รวมค่าจ้างพนักงาน และรายจ่ายอื่น ถ้ามีลูกค้าเข้ามาใช้บริการตามสมควรเหมือนเมื่อตอนเพิ่งเปิดห้าง ก็พออยู่ได้ แต่ทุกวันนี้พอเห็นลูกค้าเดินผ่าน ทุกร้านแทบจะวิ่งเข้าไปแย่งกันอุ้มเข้ามาในร้านตัวเอง
“ที่ร้านขายผลไม้ คู่กับพริกกะเกลือ น้ำปลาหวาน หรือกะปิหวาน ชุดละ 50 บาท เมื่อตอนช่วงต้นปีนี้ วันธรรมดามียอดขายประมาณวันละ 7,000-8,000 บาท ช่วงวันเสาร์-อาทิตย์ เคยขายได้ถึงวันละ 15,000 บาท ก็มี”
เธอว่า ผิดกับปัจจุบัน วันธรรมดาเหลือยอดขายเฉลี่ยแค่วันละ 3,000-4,000 บาท วันเสาร์-อาทิตย์ จากเคยขายได้วันละเป็นหมื่น ทุกวันนี้เหลือแค่ 8,000-9,000 บาทเท่านั้น
“ขนาดห้างนี้มีแต่ลูกค้ารวยๆ ขี่รถเก๋งเข้ามาจับจ่ายกันนะ ยอดขายยังฝืดขนาดนี้ ลูกค้าขาประจำหลายคน เมื่อก่อนเคยมาซื้อไปทีคนละ 3-4 ชุด เดี๋ยวนี้ซื้อกันอย่างมากแค่คนละ 2 ชุด ไม่รู้เป็นไง ขนาดคนมีสตางค์ ก็ยังไม่กล้าใช้เงิน”
สุดใจบอกว่า จากสภาพดังกล่าวทำให้ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.ที่ผ่านมา ทางห้างรู้สึกเห็นใจผู้ค้าหลายรายที่ประสบปัญหายอดขายหดหาย จึงแบ่งเบาภาระให้ผู้ค้าภายในห้างด้วยการลดค่าเช่าลง
“ที่ร้านเมื่อก่อน ค่าเช่าวันละ 1,200 บาท เดี๋ยวนี้เหลือเพียงวันละ 500 บาท เรียกว่าต่างฝ่ายต่างเห็นอกเห็นใจ และร่วมกัดฟันสู้ฝ่าฟัน หวังว่าสักวันนึงอะไรๆอาจกลับมาดีเหมือนก่อน”
ภัสสร ประสารภักดิ์ หรือ “จิ๋ม” เจ้าของ ภัสสรฟาร์ม เพาะแมวพันธุ์อเมริกันชอร์ตแฮร์ขาย อยู่ที่ ต.หนองโรง อ.หนองแค จ.สระบุรี เล่าว่า
เมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว ลูกแมวพันธุ์ดังกล่าวอายุเดือนครึ่ง-สองเดือน มีราคาถึงตัวละ 8,000-12,000 บาท ตามระดับความสวยของแมว เธอมีลูกค้าสั่งซื้อทางอินเตอร์เน็ต และไอดีไลน์ 08-6304-8467 ทั้งจากภาคเหนือ อีสาน และภาคใต้ สั่งออเดอร์กันมาไม่ขาดสาย
แต่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในวันนี้ ทำให้ชะตากรรมของ ภัสสรฟาร์ม และของ จิ๋ม เปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ
“เมื่อก่อนถ้าลูกแมวออกมา 10 ตัว เฉลี่ยขายได้ขั้นต่ำตัวละ 4,000-5,000 บาท เราก็เห็นเงินแสนบาทอยู่รำไรแล้ว ไม่เหมือนทุกวันนี้ กว่าจะได้เงินสักแสนบาท รอกันเป็นปียังไม่ได้เลย เพราะคนเริ่มระวังเรื่องค่าใช้จ่ายกับสิ่งฟุ่มเฟือย ทุกวันนี้หลังจากหักรายจ่ายค่าอาหาร ค่าวัคซีน วิตามิน และยำบำรุงให้แมวที่เลี้ยงไว้ 20 ตัว เดือนไหนเหลือกำไรสัก 20,000-30,000 บาท ถือว่าเก่งแล้ว”
“เราถนัดแต่เพาะพันธุ์แมว ไม่เคยทำอาชีพอื่น เลยไม่รู้จะเปลี่ยนไปทำอะไร ได้แต่ก้มหน้าประคองกิจการไป ยอมรับตอนนี้มือแปดด้าน” นักเพาะพันธุ์แมว ทิ้งท้าย