เราเคยคิดว่าการเกิดมาอยู่ในกลุ่มประชากรที่เรียกว่า “คนรุ่นใหม่” ในยุคนี้ เป็นเรื่องน่าน้อยใจอยู่เหมือนกัน
เพราะแม้ว่าผู้ใหญ่จะชอบพูดถึงเราในฐานะ “อนาคตของชาติ” หรืออนาคตของอะไรก็แล้วแต่ สุดท้ายในยุค “สังคมผู้สูงอายุ” เรามักเป็นเพียงไม้ประดับในสังคมซึ่งเต็มไปด้วยผู้ใหญ่ยุค baby boomers ที่ยังคงทำตัวใช้ชีวิตเป็นจุดศูนย์กลางของสังคม
——
คนยุค baby boomers คุ้นชินกับการใช้ชีวิตเป็นจุดศูนย์กลางและการเป็นผู้กำหนดขาขึ้นขาลงของประเทศมาโดยตลอด (โปรดอ่าน Why baby boomers are the most selfish generation in history) ภาพความเคลื่อนไหวของ “ขบวนการคนหนุ่มสาว” ในอดีตอย่างยุค 14 ตุลา ก็เกิดขึ้นได้ในยุคที่ประเทศมีประชากร “วัยรุ่น” มากอย่างที่ไม่เคยมีก่อน พอคนกลุ่มนี้เข้าสู่วัยทำงานก็ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ เหตุการณ์พฤษภาฯ 35 ก็เป็นภาพของ baby boomers ในวัยทำงาน พวกเขาเคยผลักดันรัฐธรรมนูญฉบับปี40 ที่มีความเป็นประชาธิปไตยมากที่สุดเท่าที่ประเทศไทยเคยมีมา แต่ต่อมาก็ออกมาไล่ทักษิณ สนับสนุนรัฐประหารปี 49 เป็นคนกลุ่มหลักในการชุมนุมทั้งเสื้อเหลือง-กปปส. และเสื้อแดง หากเราลองดูหนังสือพิมพ์ฉบับเก่าๆย้อนไปในรอบ 20 ปี คนที่เคยโลดแล่นในอดีต ก็แทบจะเป็นคนกลุ่มเดิมๆที่ยังมีปากมีเสียงอยู่ตอนนี้ไม่เปลี่ยนแปลง ทั้งสุเทพ ชวน ทักษิณ สมคิด ฯลฯ จะเปลี่ยนไปก็แค่บทบาทและสถานะเท่านั้น
คนรุ่นใหม่นอกจากจะมีจำนวนน้อยกว่าคุณลุงคุณป้าแล้ว เราเป็นคนรุ่นที่ต้องโตมาพร้อมกับปัญหาที่ผู้ใหญ่สร้างทิ้งไว้เต็มไปหมด โตมากับโครงสร้างเศรษฐกิจที่มีปัญหาการกระจายรายได้และความเหลื่อมล้ำอย่างรุนแรง เมื่อก่อนจบป.ตรีมา มีเงินผ่อนบ้านผ่อนรถเลี้ยงลูกกันได้ แต่เพราะปัญหารายได้โตไม่ทันค่าครองชีพที่สะสมมานาน ทุกวันนี้จบป.ตรีมาจะหาเงินต้นมาเริ่มผ่อนคอนโดเล็กๆในกรุงเทพก่อนอายุ 35 ได้มั้ยยังไม่แน่ใจเลย
เราเรียนหนังสือจากระบบการศึกษาไทยในยุคที่ดังทั่วโลกเรื่องความล้มเหลว (เพราะระบบที่ผู้ใหญ่สร้างไว้มันแย่ ไม่ใช่เพราะเราเกิดมาโง่หรือไม่ตั้งใจเรียน) โตมาในสังคมที่เต็มไปด้วยเส้นสาย โอกาสในชีวิตมักมาจากการเกิดถูกที่ถูกเวลาถูกครอบครัว โตมาพร้อมกับการเห็นระบบยุติธรรมที่บิดเบี้ยว คนจนก็ติดคุกกันไป คนรวยทำผิดก็แค่ออกสื่อขอความเห็นใจ ส่วนเรื่องการเมืองไม่ต้องพูดถึงว่าทุกวันนี้เราจัดอยู่ในประเทศที่การเมืองเต็มไปด้วยความป่าเถื่อน ชอบข่มขู่ใช้กำลัง คนมีความรู้และกล้าพูดความจริงกลายเป็นภัยต่อความมั่นคง คิดไม่เหมือนคนมีอำนาจก็ติดคุกได้ จะยัดข้อหาหรือจะตีความกฎหมายเพื่อจับคนคิดต่างเข้าคุกอย่างไรก็ได้
ร่างรัฐธรรมนูญฉบับ คสช. ที่จะมีประชามติเร็วๆนี้ในด้านนึงก็เป็นภาพสะท้อนของสังคมที่คนแก่เป็นใหญ่ มันเป็นร่างรัฐธรรมนูญที่ผู้สูงอายุเขียนกันเอง คิดกันไปเองว่าก้าวหน้าทั้งที่ในเชิงเนื้อหาก็ย้อนเวลาไปกว่า 30 ปี กลับสู่ยุคที่ ส.ว.มาจากการสรรหากันเองโดยรัฐข้าราชการ สิทธิเข้าถึงการรักษาสุขภาพย้อนกลับเป็นเรื่องของผู้ยากไร้ ไม่ใช่สวัสดิการของประชาชน เป็นต้น
และที่สำคัญ ไม่รู้ว่าเราจะยังเชื่อตามที่เขาบอกได้อีกมั้ย ที่ว่ารัฐธรรมนูญนี้มุ่งสร้างรัฐข้าราชการขึ้นมาใหม่ แก้คอรัปชั่นด้วยการลดอำนาจนักการเมืองแล้วให้โดนกำกับโดยคนที่ประชาชนไม่ได้เลือก
ประเทศไทยไม่มีนักการเมืองบริหารประเทศมาสองปีแล้ว รัฐข้าราชการทุกวันนี้ก็คอรัปชั่นไม่แพ้กัน อาจแย่กว่าด้วยซ้ำที่เราไปลงคะแนนไล่เขาก็ไม่ได้ ด่าก็ไม่รู้สึกปลอดภัย จะตรวจสอบก็เสี่ยงโดนคุกคามจากการใช้อำนาจบาตรใหญ่โดยเจ้าหน้าที่รัฐกันอีก
ส่วนการบริหารประเทศของรัฐข้าราชการเป็นอย่างไร ประชาชนที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมย่อมประเมินกันได้ไม่ต้องให้ใครมาชี้นำ
——
การเกิดเป็น “คนรุ่นใหม่” ในยุคนี้ ด้านหนึ่งก็ทำให้เราต้องเรียนรู้ว่า จะสร้างความเปลี่ยนแปลงสู่สิ่งที่ดีกว่าก็ต้องอดทนเข้าไว้ ต้องคิดให้ไกลเพราะความเปลี่ยนแปลงมาช้ากว่าแต่ก่อน ในยุคที่คนแก่เป็นใหญ่ ถ้าเราเปลี่ยนความคิดคนแก่ไม่ได้ ก็คงต้องใช้ “เวลา” ยืดหยัดในอุดมการณ์ อดทนอดกลั้นกันต่อไป
และเมื่อเราโตมากับปัญหาที่คนรุ่นก่อนสร้างไว้ เราควรเรียนรู้จากความผิดพลาดของคนรุ่นก่อน ต้องคิดให้รอบคอบถึงผลกระทบที่ตามมาของทุกสิ่งที่เราทำ ต้องตระหนักว่าไม่ควรมี generation ไหนเอาตัวเองเป็นจุดศูนย์กลางเหมือนที่เป็นอยู่ แต่ต้องคิดให้หนักว่าการตัดสินใจใดๆก็ตามของเรา จะส่งผลถึงคนรุ่นต่อไปอย่างไรบ้าง
อย่างน้อยที่สุด หากแก่ตัวไปกลายเป็นพ่อคนแม่คน พอลูกโตขึ้น เราคงไม่วางแผนชีวิตลูกล่วงหน้าไปจนถึงเกษียน
เหมือนที่คนแก่กลุ่มนึงพยายามวางยุทธศาสตร์ชาติล่วงหน้า 20 ปีโดยไม่ถามคนที่จะต้องอยู่บนโลกนี้นานกว่า
พยายามยัดเยียดอนาคตที่ตนเองไม่ได้อยู่
ให้คนรุ่นต่อไปต้องฝืนอยู่กับอนาคตที่ไม่ได้เลือก
ก็เหมือนทุกความล้มเหลวที่คนรุ่นเราต้องโตมาด้วยความอดทนนั่นแหละ..
——
ขอบคุณเสื้อโหวตโนจากมิตรสหายที่ปารีส ถ่ายที่ Peace Palace, The Hague เมืองที่คนไทยรู้จักเพราะเป็นที่ตั้งของศาลโลก และศาลอาญาระหว่างประเทศ องค์กรที่เกิดจากอุดมการณ์และความใฝ่ฝันของคนที่เชื่อว่า ซักวันหนึ่ง คนเราจะมุ่งแก้ปัญหาความขัดแย้งด้วยการเจรจาพูดคุยกันอย่างสันติ และอาชญากรรมโดยรัฐที่กระทำต่อประชาชนจะต้องได้รับการลงโทษไม่ว่าจะคนๆนั้นจะใหญ่แค่ไหนก็ตาม
ขอแสดงความนับถือถึง #ไอ้พวกนักกิจกรรม ทุกท่าน
Prab Laoharojanaphan