วันพุธ, กรกฎาคม 06, 2559

แพงไปมั้ย? 132 ล้านกับการหาเสียง(ที่ไม่สำเร็จ)ใน UN





โดย พรรณิการ์ วานิช
นักข่าวและพิธีกร iASEAN/ Tonight Thailand/ Voice World Wide
ที่มา Voice TV

กลายเป็นประเด็นอื้อฉาวไม่เลิกหลังจากไทยแพ้เลือกตั้ง ชวดตำแหน่งสมาชิก UNSC แล้วยังถูกตั้งคำถามว่าใช้เงินฟุ่มเฟือย ตกลงแล้วเงินกว่า 100 ล้านที่ลงทุนไป แพงเกินจริงหรือไม่? และการหาเสียงของประเทศอื่นเขาใช้เงินมากมายอย่างที่กระทรวงต่างประเทศไทยอ้างจริงหรือ?





ความเสียอกเสียใจและเสียหน้าที่ไทยพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ หรือ UNSC เมื่อปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา บานปลายกลายเป็นประเด็น "เสียดายเงิน" เมื่อมีการขุดคุ้ยกันขึ้นมาว่านอกจากรัฐบาลไทยจะลงแรงไปอย่างเสียเปล่าตลอดเวลา 10 ปีที่มีการตั้งเป้าจะลงสมัครสมาชิก UNSC ยังลงทุนเสียเปล่าไปเป็นจำนวนเงินกว่า 600 ล้านบาท ซึ่งแม้จะเป็นตัวเลขไม่เยอะเลยเมื่อเทียบกับงบประมาณแผ่นดินมูลค่านับล้านล้านบาท แต่ก็มากพอจะทำให้สังคมตั้งคำถามว่าเงินจำนวนนี้ถูกนำไปทำอะไร มีประโยชน์แค่ไหน และที่สำคัญก็คือการใช้เงินนี้อย่างไม่ถูกจุดเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ไทยแพ้เลือกตั้งรึเปล่า

ประเด็นนี้ออกจะเป็นเรื่องที่ต้องเห็นใจกระทรวงต่างประเทศ เพราะหากไทยได้ตำแหน่งใน UNSC ก็คงไม่มีใครมาตั้งคำถามกับงบประมาณที่กระทรวงใช้ไป แต่เมื่อแพ้ เงินไม่ว่าจะมากน้อยขนาดไหน ก็กลายเป็นประเด็นขึ้นมาได้ ในฐานะที่ลงทุนไปแล้วไม่ได้ผลตอบแทนกลับมาตามที่ต้องการ อย่างไรก็ตาม การเรียกร้องให้กระทรวงต่างประเทศเปิดเผยรายละเอียดการใช้จ่ายจากงบประมาณก้อนนี้ย่อมเป็นเรื่องที่ทำได้ และควรทำ เพื่อความโปร่งใสสง่างามของผู้เดี่ยวข้องทุกฝ่าย





นายดอน ปรมัตถ์วินัย เจ้ากระทรวงต่างประเทศ ได้ออกมาตอบคำถามชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่าตัวเลข 600 ล้านบาท เป็นตัวเลขโคมลอย ส่วนตัวเลขที่แท้จริง คือ 132 ล้านบาท ซึ่งกระทรวงยังเบิกจ่ายไม่หมดด้วยซ้ำ เหลืออยู่เป็นหลักแสน และการใช้เงินก้อนนี้ก็ใช้ไปกับการทำของชำร่วย ของที่ระลึกแจกประเทศสมาชิก UN เป็นส่วนมาก ของที่ไทยแจกก็เป็น "ของเด็กๆ" เช่นคัฟลิงค์ เข็มกลัด สูงสุดคือพาวเวอร์แบงค์ ในขณะที่ประเทศอื่นบางประเทศถึงกับแจกนาฬิกาโรเล็กซ์เป็นของชำร่วย

อย่างไรก็ตาม ไม่มีหลักฐานใดๆยืนยันว่าเรื่องการแจกนาฬิกาโรเล็กซ์เป็นเรื่องจริง แม้คำพูดของนายดอนจะมีแววว่ากระทบไปถึงคาซักสถาน ประเทศคู่แข่งของไทย ที่แจกนาฬิกาก่อนวันลงมติเลือกสมาชิก UNSC ซึ่งก็ไม่มีข้อมูลแน่ชัดว่านาฬิกาที่มีการแจกกันนั้นเป็นยี่ห้อใด นอกจากการแซวกันเล่นๆว่า "แจกโรเล็กซ์รึเปล่า"

ส่วนเรื่องการใช้จ่ายเงินก้อนนี้ของไทย แม้เจ้ากระทรวงบัวแก้วจะออกมายืนยัน แต่ก็ยังเป็นเพียงการยืนยันด้วยวาจาที่สุดท้ายก็ไม่ได้ความกระจ่างใดๆมากนัก สิ่งที่ภาคประชาชนเรียกร้องต้องการ คือการแสดงบัญชีรายรับรายจ่ายเกี่ยวกับการหาเสียงที่ผ่านมา ซึ่งยังไม่เกิดขึ้น และไม่น่าจะเกิดขึ้น โดยเฉพาะในยุคที่ไทยยังปกครองโดยรัฐบาลทหาร ที่ไม่จำเป็นต้องแสดงความมีธรรมาภิบาลใดๆ

และอันที่จริงแล้วการหาเสียงใน UN โดยเฉพาะตำแหน่งสำคัญอย่างที่นั่งใน UNSC ก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นการหาเสียงที่โปร่งใส อาจจะฟังดูแปลกเมื่อคิดว่านี่คือการเลือกตั้งในองค์กรที่บอกว่าตนเองเชิดชูประชาธิปไตยและความเท่าเทียม แต่ในความเป็นจริงของการเมืองโลก การหาเสียงในระดับระหว่างประเทศที่ไม่มีกฎหมายหรือกกต.มาคอยควบคุม ล้วนขับเคลื่อนไปด้วยการแลกเปลี่ยนต่อรองผลประโยชน์ เรียกง่ายๆก็คือมีการซื้อขายเสียงกันอย่างเปิดเผย โดยเรียกให้สวยหรูว่าการ "ล็อบบี"

หากจะถามว่าประเทศไทยใช้งบไป 132 ล้านบาท กับการทำของชำร่วย เชิญทูตประเทศต่างๆมาไทย ซื้อตั๋วเฟิร์สคลาสสำหรับให้ผู้หลักผู้ใหญ่เดินทางไปล็อบบีประเทศต่างๆ จัดงานเลี้ยง และจ่ายเงินสนับสนุนบางองค์กรให้เขียนเชียร์ไทย แพงไปหรือไม่ คงเป็นเรื่องยากจะประเมินได้ แต่ถ้าจะให้เห็นภาพ ก็คงต้องเอาไปเทียบกับประเทศอื่น ว่าเขาใช้กันไปเท่าไหร่ และใช้กับอะไร


Swedish foreign minister Margot Wallstrsm (L) reacts after Sweden won a seat during the Election of five non-permanent members of the Security Council at the general assembly hall at the United Nations in New York on June 28, 2016. Three European countries and two Asian nations are battling for seats on the UN Security Council in elections that are drawing attention to the refugee crisis and human rights. / AFP / KENA BETANCUR (Photo credit should read KENA BETANCUR/AFP/Getty Images)


นอกจากไทย สวีเดน เป็นอีกประเทศที่ถูกกล่าวหาว่าใช้งบสิ้นเปลืองกับการหาเสียงเพื่อที่นั่งใน UNSC คือ 22 ล้านโครน หรือ 100 ล้านบาท แต่ความแตกต่างก็คือสวีเดนได้ที่นั่งใน UNSC แต่ไทยไม่ได้

ความแตกต่างอีกประการที่สำคัญยิ่งกว่าก็คือ กระทรวงต่างประเทศสวีเดนยินดีที่มีการเรียกร้องให้ตรวจสอบเรื่องนี้ เพื่อแสดงความโปร่งใสของรัฐบาล กระทรวงชี้แจงชัดเจนว่าใช้เงินไปกับอะไรบ้าง เงิน 100 ล้านบาทที่สวีเดนใช้หาเสียง หมดไปกับเงินเดือนข้าราชการกระทรวงต่างประเทศที่ได้รับมอบหมายให้ทำงานหาเสียง UNSC โดยเฉพาะ ค่าที่ปรึกษาทางกฎหมาย ค่าเดินทาง แต่งบ 100 ล้านนี้ยังไม่รวมค่าใช้จ่ายอื่นๆที่ใช้เงินบริจาคจากองค์กรเอกชนของสวีเดน เช่นการนำทูตประเทศต่างๆประจำ UN มาสัมนาที่สวีเดนฟรี แถมยังมีการกินเลี้ยงอย่างหรูหรา จนสร้างกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในประเทศ

สุดท้ายแล้ว แม้ว่าการหาเสียงและการเลือกตั้งใน UNSC จะไม่จำเป็นต้องบริสุทธิ์สะอาด เพราะไม่มีกฎเกณฑ์ใดเข้ามาบังคับประเทศเอกราชที่นั่งอยู่ใน UN ได้ แต่เมื่อเกิดการทวงถามจากประชาชนในประเทศเหล่านั้นเอง ว่ากระบวนการหาเสียงและการได้มาซึ่งตำแหน่งใน UN โปร่งใสแค่ไหน รัฐบาลในประเทศประชาธิปไตยย่อมต้องมีหน้าที่ตอบคำถาม และรับการตรวจสอบจากกระบวนการในประเทศ ไม่สามารถบิดพลิ้วเป็นอื่นได้

สำหรับประเทศไทย แม้ไม่ได้อยู่ในยุคประชาธิปไตยที่การทำงานของรัฐโปร่งใสตรวจสอบได้ แต่หากกระทรวงต่างประเทศจะโชว์บัญชีรายรับรายจ่าย ทำให้เห็นเป็นตัวอย่างว่าเป็นหน่วยงานราชการที่โปร่งใสแม้ในยุคที่ไม่มีใครกล้าตรวจสอบ ก็คงจะเป็นเกียรติเป็นศรี กู้หน้าตาจากการพลาดตำแหน่งใน UNSC ได้ไม่น้อย