https://www.youtube.com/watch?v=y_Vc91ltd6s&app=desktop
เสวนาเริ่มนาทีที่ 10.20
Streamed live 12 hours ago
เมื่อถ่านใกล้มอด ก็ต้องเปลี่ยนถ่านใหม่เพื่อคงความร้อน
รัฐธรรมนูญครั้งนี้ก็ชัดเจนว่ามีเป้าหมายเพื่อต่ออำนาจที่กำลังใกล้หมดลงของ คสช. แล้ว
การลงคะแนนเสียงประชามติจะได้เกิดขึ้นไหม แล้วจะเกิดขึ้นอย่างไร ภายใต้บรรยากาศแบบนี้
ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ขอเชิญชวนทุกท่านเข้าร่วมงานเสวนา
"ประชามติในระยะเปลี่ยนถ่าน"
ในวันพฤหัสบดีที่ 7 เมษายน ที่ห้องประกอบ หุตะสิงห์
ตึกเอนกประสงค์ ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เวลา 13.30-16.00
วิทยากรโดย
สดศรี สัตยธรรม อดีตกรรมการการเลือกตั้ง
อาจารย์ ปูนเทพ ศิรินุพงษ์ นิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์
ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ เว็ปไซต์ประชามติ
ooo
ที่มา ประชาไท
Thu, 2016-04-07
7 เม.ย. 2559 ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ (NDM) จัดงานเสวนา ‘ประชามติในระยะเปลี่ยนถ่าน’ ที่ตึกอเนกประสงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยในงานมีวิทยากร ได้แก่ ปูนเทพ ศิรินุพงษ์ จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ จากกลุ่มประชามติ และรังสิมันต์ โรม จาก NDM
ปูนเทพ อธิบายถึงหลักเกณฑ์ในการทำประชามติในทางสากลของคณะกรรมการยุโรปเพื่อประชาธิปไตยผ่านกฎหมาย หรือคณะกรรมการเวนิส ซึ่งเป็นองค์กรที่ปรึกษาทางวิชาการให้แก่ยุโรปว่า ประกอบด้วยหลักเกณฑ์ 4 ประการ
หนึ่ง-ต้องเป็นหลักการออกเสียงโดยทั่วไป หมายถึง ทุกคนต้องมีสิทธิในการลงประชามติหากจะจำกัดสิทธิก็ต้องมีเหตุผลที่เพียงพอ ขณะที่การเพิกถอนสิทธิจะทำได้ก็ต้องจำกัดอย่างยิ่งและต้องมีคำอธิบายที่สมเหตุสมผลและต้องมีคำสั่งศาลในการจำกัดสิทธิเป็นรายกรณี
สอง-การลงประชามติต้องเป็นไปอย่างเสมอภาค หมายถึง หนึ่งคน หนึ่งคะแนนเท่ากัน และยังหมายถึงความเสมอภาคในโอกาส แปลว่า ผู้ที่เห็นด้วยและคัดค้านจะต้องมีสิทธิเสมอภาคกันในการแสดงความคิดเห็นและรณรงค์ พื้นที่ของรัฐต้องถูกจัดแบ่งแก่คนทั้งสองฝ่ายเท่ากัน เจ้าหน้าที่รัฐต้องวางตัวเป็นกลาง งบประมาณและพื้นที่ข่าวของรัฐต้องแบ่งให้ทั้งสองฝ่ายเท่ากัน
สาม-การออกเสียงต้องเป็นไปโดยเสรี ต้องรับรองเสรีภาพของประชาชนที่จะก่อรูปความคิดเห็นของตนเองขึ้นมาว่าเขาอยากลงคะแนนอย่างไร เจ้าหน้าที่รัฐต้องไม่เข้าไปจำกัดหรือกดดันประชาชน ขณะที่ตัวคำถามต้องชัดเจนไม่ทำให้เข้าใจผิดและไม่ชี้นำคำตอบ
สี่-หลักการออกเสียงโดยลับเพื่อรับรองการออกเสียงโดยเสรี ต้องไม่มีใครรู้ว่าประชาชนเลือกลงคะแนนอย่างไร
ปูนเทพ กล่าวเพิ่มเติมว่า คณะกรรมการเวนิสยังได้เสนอด้วยว่าเพื่อให้เป็นตามหลักเกณฑ์การทำประชามติที่ดีทั้งสี่ข้อข้างต้น จำเป็นต้องวางกลไกเสริมอะไรบ้าง
หนึ่ง-ต้องมีการรับรองสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน
“ประชามติที่เป็นประชาธิปไตยเกิดไม่ได้ถ้าขาดสิทธิขั้นพื้นฐานโดยเฉพาะสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ชุมนุม การเดินทางในประเทศ เป็นต้น เหล่านี้ต้องมีขณะทำประชามติ ไม่ใช่แค่วันไปกาเท่านั้นเสรีภาพเหล่านี้จึงต้องมีและรับรอง”
สอง-กฎหมายประชามติต้องออกล่วงหน้าอย่างน้อย 1 ปี เพื่อให้เป็นกติกากลางที่ทุกคนยอมรับและไม่ถูกมองว่าเอื้อประโยชน์ต่อประชามติครั้งใดครั้งหนึ่งโดยเฉพาะและไม่ควรมีการแก้ไขกฎหมายประชามติระหว่างหนึ่งปีก่อนการลงประชามติ
สาม-การประกันเชิงกระบวนการ หมายถึง ต้องมีองค์กรจัดการการทำประชามติที่เป็นกลาง
สี่-ต้องให้มีการสังเกตการณ์ประชามติ ทั้งจากองค์กรในประเทศและต่างประเทศร่วมสังเกตการณ์ ตั้งแต่ระหว่างกระบวนการจนถึงวันลงประชามติว่าเป็นการทำประชามติที่มีเสรีภาพเสมอภาคจริงหรือไม่เจ้าหน้าที่รัฐเป็นกลางหรือไม่ มีการนับคะแนนโปร่งใสหรือเปล่ าและต้องมีระบบการโต้แย้งคัดค้านที่มีประสิทธิภาพ เป็นต้น
ห้า-งบประมาณที่ใช้ในการทำประชามติต้องมีความชัดเจนโปร่งใสและต้องกระจายให้ทุกฝ่ายอย่างเท่าเทียมกัน
เมื่อนำหลักเกณฑ์สากลนี้มาเทียบกับประเทศไทยเวลานี้ ปูนเทพเรียกการทำประชามติที่กำลังจะเกิดนี้ว่า เป็นการทำประชามติแบบมัดมือ-ปิดปาก,ปิดตาและเป่าหู หรือตะคอกประชาชน
“มัดมือ-ปิดปากคืออะไร ใน พ.ร.บ.ประชามติ มาตรา 62 เป็นตัวอย่างของความไม่แน่นอนของผู้ที่ต้องการรณรงค์คัดค้าน เพราะคำว่า ที่ผิดไปจากข้อเท็จจริงคืออะไร วิจารณ์รัฐธรรมนูญได้ไหม ถ้าประธานร่างบอกว่าเพิ่มพูนสิทธิ ผมบอกไม่จริง อย่างนี้ผิดจากข้อเท็จจริงหรือเปล่า หรือ ส.ว.ที่มาจากสรรหาเขาบอกเป็นเรื่องจำเป็น ผมบอกว่าไม่จำเป็น ผิดข้อเท็จจริงไหม เราจะเห็นฝ่ายที่ไม่เห็นชอบอยู่บนความไม่แน่นอนตลอดเวลาเพราะเสี่ยงถูกฟ้อง ขณะที่ฝ่ายสนับสนุนมีพื้นที่อิสรเสรีในการเผยแพร่ข้อมูล”
“กกต. ก็พยายามตีกรอบให้จำกัดไปอีก ใครจะรณรงค์ต้องมาลงทะเบียนและใช้พื้นที่ของ กกต. เท่านั้น ถ้าไปใช้พื้นที่อื่นเขาไม่ได้บอกว่าผิด แต่ไม่รับรองความปลอดภัยว่าจะผิดหรือไม่ผิด ทั้งที่ควรยอมรับพื้นที่เสรีอื่นๆ กกต.เป็นพื้นที่เสริมที่ทำให้ทุกฝ่ายเข้ามาคุยกันแต่ กกต. กลับจำกัดกรอบในการวิพากษ์วิจารณ์”
นอกจากนั้นปูนเทพตั้งข้อสังเกตว่า ระหว่างการทำประชามติจะต้องรับรองสิทธิเสรีภาพของประชาชนแต่ตอนนี้กลับมีปัญหามากมาย พร้อมกับยกตัวอย่างมาตรา 7 ใน พ.ร.บ.ประชามติ ที่ว่า บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและรณรงค์เกี่ยวกับการออกเสียงโดยสุจริตและไม่ขัดต่อกฎหมาย คำถามคือใครเป็นผู้ตีความคำว่า โดยสุจริตและไม่ขัดต่อกฎหมาย กกต.หรือศาล แล้วคำว่าไม่ขัดกฎหมายคือกฎหมายอะไร หมายถึงกฎหมายประชามติ คำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ออกมาก่อนหน้านี้ และรัฐธรรมนูญชั่วคราวขณะที่ยังมีคำสั่งห้ามการชุมนุมอยู่ มาตรา 7 จึงเป็นเพียงการแปลงสภาพให้เหมือนมีเสรีภาพแต่กลับมีกฎหมายที่จำกัดเสรีภาพเต็มไปหมด ไม่ได้รับรองเสรีภาพจริงๆ เป็นการมัดมือและปิดปากผู้ที่ต้องการรณรงค์ไม่เห็นชอบ
“ปิดตาคืออะไร การจะยอมรับประชามติโดยเสรีต้องให้ประชาชนรู้ว่ารับหรือไม่รับจะเกิดอะไรต่อไป แต่ปัจจุบันฝ่าย ‘รับ’ รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ฝ่าย ‘ไม่รับ’ ไม่รู้เลยว่าจะเกิดอะไรขึ้น”
อีกทั้งเนื้อหารัฐธรรมนูญก็มีหลายประเด็นที่ให้อำนาจคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญเขียนกฎหมายลูกต่อในระดับพระราชบัญญัติภายหลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้แล้วซึ่งเท่ากับว่าผู้ที่รับร่างก็ยังไม่รู้ว่าเมื่อรับไปแล้วจะเป็นอย่างไรต่อเหมือนรับโดยเซ็นเช็คเปล่าให้ กรธ.ทั้งที่บางประเด็นถ้าอยู่ในร่างรัฐธรรมนูญ ประชาชนอาจจะไม่รับร่างก็ได้ นี่คือ การปิดตา
“การเป่าหูหรือตะคอกนั้น ขณะรณรงค์ประชามติในทางหนึ่งก็พูดว่า ‘รับสิจะได้เลือกตั้ง เปลี่ยนผ่านสู่ระบอบปกติ ถ้าไม่รับ บ้านเมืองก็ไม่สงบ’ คำถามคือ จะเป็นอย่างนั้นจริงไหม รับแล้วจะเลือกตั้งเร็วหรือเปล่า ยังมีกำหนดเวลาอีกมากกว่าจะเลือกตั้งและเข้าสู่ระบอบปกติจริงหรือเปล่า ก็ยังมีอำนาจ คสช.ในช่วงเปลี่ยนผ่านอีกเหมือนกัน แม้รัฐธรรมนูญจะผ่านก็ไม่ได้เข้าสู่ระบอบปกติเพราะยังมีการแปลงสภาพที่อยู่ในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญฉบับนี้”
“ประชามติครั้งนี้จึงไม่ฟรี ไม่แฟร์ อ้างความชอบธรรมไม่ได้ ถ้าคุณไม่ยอมเปิดพื้นที่สาธารณะ ก็เป็นประชามติที่มัดมือปิดตาปิดปากคนให้ไปลงคะแนนเท่านั้น” ปูนเทพสรุป