วันพุธ, เมษายน 13, 2559

“เชื่อ ‘กฏแห่งกรรม’ ทำให้คนไทยยอมถูกกดขี่” อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล บอกกับเดอะการ์เดียน




“เชื่อ ‘กฏแห่งกรรม’ ทำให้คนไทยยอมถูกกดขี่” อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล บอกกับเดอะการ์เดียน

ผู้กำกับหนังชื่อก้องโลกและนักสร้างภาพยนตร์ชาวไทยที่ได้รับรางวัลการประกวดเมืองคานน์ถึงสามครั้งโดยเฉพาะหนังเรื่อง ‘ลุงบุญมีระลึกชาติได้’ นั้นคว้ารางวัลสูงสุด Palme d’ Or ในปี ๒๕๕๓ เขาเดินทางไปอังกฤษเพื่อร่วมนิทรรศการผลงานสร้างหนังของเขาที่ ‘เทตโมเดิร์น’ ในกรุงลอนดอน เป็นเวลา ๓ วัน

บทความเรื่อง ‘Apichatpong Weerasethakul: 'My country is run by superstition' โดยแอนดรูว์ พุลเวอร์ ใน The Guardian เขียนถึงอภิชาติพงศ์และงานของเขาไว้อย่างครอบกว้าง ทั้งในด้านฝีมือและผลสะท้อนของงานศิลปะภาพยนตร์ที่เขาผลิต





“ในอุ้งมือของคุณวีระเศรษฐกุล วัฒนธรรมไทยปรากฏออกมาอย่างต่อเนื่องในทางที่รอบรู้ล้ำลึก แต่ก็เหลวไหลไปพร้อมๆ กัน มันทั้งลี้ลับหากว่าทึนทึก โดดเด่นดั่งวีรบุรุษ ทว่ากลับธรรมดาเสียจนคุณค่าถูกซ่อนไว้





ภาพยนตร์และตัวละครที่เขาสร้าง ความสนใจในเรื่องตายแล้วเกิดใหม่ ทำให้งานของเขามีรสชาติไม่เหมือนใคร เปิดช่องให้เขาเสกสรรจินตภาพแห่งลำดับตอนได้อย่างประหลาด อย่างเช่นบทพูดของลิงในเรื่อง ‘Tropical Malady’ (สัตว์ประหลาด) เพศสัมพันธ์ของเจ้าหญิงปลาในเรื่อง ‘Uncle Boonmee’ (Who Can Recall His Past Lives)”





เขาเผยว่า นั่นเป็นพลังทางสังคมอันขันแข็งในบ้านเมืองเรา “ผู้คนเชื่อในสิ่งเหล่านี้ และมันผลักดันแนวคิดเกี่ยวกับวิถีชีวิตของประชาชน





(ความเชื่อใน) กฏแห่งกรรมทำให้ยินยอมต่อการกดขี่ นี่แหละเป็นวิธีปกครองประเทศ” อภิชาติพงศ์เผยความรู้สึก “ประเทศถูกบริหารด้วยโชคลางเสียนี่”

บทความของแอนดรูว์ชี้อีกว่า “ประเด็นนี้สำหรับคุณวีระเศรษฐกุลไม่ใช่เรื่องปกติทางวิจิตรศิลป์ หลังการรัฐประหาร ๒๕๕๗ มันคือความจำเป็นเร่งด่วนทางการเมือง เขาชี้ให้เห็นว่ากองทัพบกมี ‘หมอดูของตนเอง’ ประจำองค์กร เสียงเขาเหมือนดั่งว่าไม่สบายใจนักกับสภาพการณ์เช่นนั้น...

คุณวีระเศรษฐกุลอยู่ในฐานะที่โชคดีพอตัว หนังของเขาซึ่งน้อยคนเข้าใจถ่องแท้ไม่ใช่ประเภทยอดฮืต และไม่ต้องพึ่งทุนในการสร้างจากอุตสาหกรรมหนังไทยรายใหญ่ แต่เขาก็กลายเป็นเสียงค้านที่มีความหมายในช่วงเวลาแห่งความยากลำบากของชาติ”

อภิชาติพงศ์บอกกับแอนดรูว์ว่า ‘Cemetery of the Splendour’ (รักที่ขอนแก่น) หนังเรื่องล่าสุดของเขาไม่ถูกเซ็นเซอร์ “ผมไม่ยอมส่งให้คณะกรรมการตรวจ ไม่ใช่ว่าถูกแบน แต่มีเรื่องอื่นๆ ที่ถูกห้าม”





“หากมองย้อนหลังไปดูว่ามีเนื้อหาเกี่ยวกับทหารและกองทัพอยู่มากมายในหนังของเขา” บทความกล่าวอีกตอน “การนำเสนอกลับกลายเป็นสิ่งที่ถูกต้อง หนัง Cemetery of Splendour เป็นการเจาะลึกถึงบาดแผลที่กองทัพทำต่อประเทศไทยตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา”

นอกเหนือจากนั้นอภิชาติพงศ์ยังบ่นให้ฟังถึงระบบราชการไทย “เมื่อผมไปแจ้งความตำรวจว่าของหายหรือไปทำใบขับขี่ใหม่ ผมจะถูกถามว่าอาชีพอะไร พอบอกว่าเป็นคนสร้างหนัง ก็ถูกย้อนถามว่าอะไรนะ แล้วเขาก็ใสลงไปว่า ‘อาชีพอิสระ’

ในประเทศไทยการเป็นศิลปินหรือคนทำหนังไม่ได้ถือว่าเป็นอาชีพ โธ่เอ๋ย ต้องให้เวลาอีกเท่าไร คุณคงได้รู้ว่าเขาก้าวไปถึงไหนแล้วละ”