วันพฤหัสบดี, เมษายน 14, 2559

‘สงกรานต์’ไม่ใช่ปีใหม่ไทย ‘สาดน้ำ’ไม่ได้มาจากอินเดีย



บรรยากาศการสาดน้ำในสิบสองปันนา (ภาพ www.sxfj.org/html/398.html)


ที่มา มติชนออนไลน์
โดย วจนา วรรลยางกูร

13 เม.ย. 59

สงกรานต์=ปีใหม่ไทย?

ประเพณีสงกรานต์ตามความเข้าใจของคนไทยส่วนใหญ่คือวันขึ้นปีใหม่ไทย เป็นประเพณีอันเป็นเอกลักษณ์ของชาติ ซึ่งเป็นความเข้าใจจากข้อมูลในหนังสือเรียนและการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวที่มองข้ามข้อมูลหลักฐานและการศึกษาวัฒนธรรมของประเทศเพื่อนบ้าน

แท้จริงแล้วสงกรานต์เป็นวัฒนธรรมร่วมรากอุษาคเนย์ ไทย กัมพูชา พม่า ลาว และยังพบในบางกลุ่มชนในเขตจีนตอนใต้

คณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ นำโดย ผศ.พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ ร่วมกับคณะศิลปศาสตร์ ม.มหิดล และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ จึงจัดเสวนา “สาดน้ำสงกรานต์ วัฒนธรรมร่วมรากเอเชีย” เพื่อเสริมการเรียนรู้ให้สังคมที่ต้องทำความเข้าใจ

ขึ้นปีใหม่ไทย เดือนอ้าย



สุจิตต์ วงษ์เทศ


“คนไทยชอบคิดว่าตัวเองเป็นเจ้าของแล้วคนอื่นเอาไป”

สุจิตต์ วงษ์เทศ นักเขียนด้านประวัติศาสตร์ กล่าวเริ่มต้นและบอกว่าทั้งหมดนี้เป็นวัฒนธรรมร่วมของอุษาคเนย์ การสาดน้ำไม่มีในอินเดีย ส่วนที่ว่ามาจากการสาดสีของอินเดียนั้นก็คนละประเพณี คนละความหมาย แต่คนไทยไม่ศึกษาประเทศเพื่อนบ้านและต้นอารยธรรม

“สงกรานต์เป็นของอินเดีย คำว่าสงกรานต์เป็นศัพท์บาลีสันสกฤต เป็นพิธีเคลื่อนย้ายราศีจากมีนไปราศีเมษ อินเดียมีสงกรานต์ทุกเดือน แต่เฉพาะราศีมีนเข้าราศีเมษ เรียกว่า ‘มหาสงกรานต์’ บางกลุ่มอาจเรียก ‘ปีใหม่แขก’ แต่ไม่ใช่ปีใหม่ไทย?

คนไทยและอุษาคเนย์นับถือจันทรคติ มีปีนักษัตร ที่รับมาจากเปอร์เซียโดยผ่านมาทางจีน แต่อินเดียไม่มีปีนักษัตรและสงกรานต์นับโดยสุริยคติ

“การที่ครูไปสอนว่านักษัตรเปลี่ยนช่วงสงกรานต์นั้นจึงไม่ใช่ แต่ปีนักษัตรเปลี่ยนตั้งแต่เดือนอ้ายแล้ว (เดือน 1 ตามปฏิทินสุริยคติของสากลอยู่ราวเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม) ซึ่งเป็นปีใหม่ของอุษาคเนย์หรือปีใหม่ไทยของแท้ เดือนอ้ายเป็นปีใหม่ร่วมในอุษาคเนย์ ที่บอกว่าสงกรานต์เป็นปีใหม่ไทยจึงไม่ถูกต้อง ถูกสร้างขึ้นมาเพราะทั้งประชาชนทั้งอยุธยาและสุโขทัยไม่รู้จักสงกรานต์ สงกรานต์เป็นประเพณีพราหมณ์ทำในราชสำนัก เมื่อลาลูแบร์ ทูตฝรั่งเศส เฝ้าสมเด็จพระนารายณ์ก็บันทึกว่า ประชาชนขึ้นปีใหม่เดือนอ้าย แต่ราชสำนักขึ้นปีใหม่เดือนห้า คือ สงกรานต์ แต่ประเทศไทยไม่มีประวัติศาสตร์สังคมจึงไม่สนใจ

“ปีใหม่ไทยตรงกับเดือนอ้าย (เดือน 1) หลังลอยกระทง (เดือน 12) ที่มีการขอขมาแม่น้ำ ให้น้ำลดลงเร็วๆ พอน้ำลดแล้วเกี่ยวข้าวเดือนยี่ เดือนสี่ก็เก็บข้าวขึ้นยุ้ง เดือนห้าแล้งหมด พอว่างแล้วก็ไปขุดกระดูกบรรพชนมาทำศพใหม่ เอาเครื่องมือทำมาหากินมาซ่อม นัดหมายทำพิธีเลี้ยงผีบรรพชน เลี้ยงผีลอบผีไซ มีการละเล่นแข่งวัวควาย ทำกันเป็นเดือนเพราะแล้งเป็นเดือน ต่อเนื่องถึงเดือนหกจุดบั้งไฟขอฝน ถ้าฝนยังไม่ตกก็ขออีกจนกว่าฝนจะตก ในพิธีเลี้ยงผีบรรพชนจะมีการรดน้ำกระดูก ซึ่งการรดน้ำเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในความเชื่อทั้งโลก”

พิธีกรรมตามศาสนาผี

สำหรับประเพณีเลี้ยงผีบรรพชน สุจิตต์อธิบายว่า เป็นประเพณีพื้นเมืองที่เกิดมา 2-3 พันปีแล้ว เป็นการเอากระดูกล้างน้ำแล้วสาดขึ้นหลังคา ขับไล่สิ่งชั่วร้าย คล้ายพิธีศพครั้งที่ 2 แต่เมื่อรับพุทธศาสนาเข้ามาก็ปรับเปลี่ยนเป็นการชักบังสุกุล ส่วนการรดน้ำขอขมา รดน้ำกระดูก รดน้ำผู้เฒ่าผู้แก่ พอเข้าเป็นพุทธศาสนาก็เป็นการสรงน้ำพระ เป็นการปรับเปลี่ยนระหว่างศาสนาผีและศาสนาพุทธ



การเข้าทรงแม่สี ผีบรรพชน การละเล่นในวันสงกรานต์ของชุมชนลุ่มน้ำเจ้าพระยา อย่างเดียวกับประเพณีเข้าทรงแม่สีในกัมพูชา หรืออาจรับแบบแผนมาจากกัมพูชา (ภาพที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เมื่อ 24 มีนาคม 2547)


“เราไม่ยอมรับศาสนาผีหาว่าป่าเถื่อน ทำให้เราไม่เข้าใจ ทั้งที่จริงแล้วไทยนับถือ ‘ศาสนาไทย’ คือศาสนาผีที่เอาจีวรมาหุ้ม แต่เนื้อในเป็นผี เช่น การนับถือศาลหลักเมือง ศาลสี่เสาที่มาจากศาลเพียงตา ศาลพ่อปู่ ผลที่สุดคือ พุทธแท้ๆ มีแค่ในพระไตรปิฎกที่ไม่มีใครปฏิบัติ เรานับถือศาสนาไทยที่ปรับตัวมาจนเราลืมแล้วว่าปรับอะไรไปบ้าง”

ส่วนการก่อพระทรายนั้น สุจิตต์บอกว่า เป็นเรื่องพระพุทธศาสนา วัดทำด้วยอิฐปูน ต้องเตรียมทรายไว้ให้พระบูรณปฏิสังขรณ์ จึงหาทรายให้พระก่ออิฐถือปูนช่วงหน้าแล้ง แต่ก่อนพระทำงานบูรณะวัดเอง

“แล้วถามว่าสงกรานต์ที่เป็นประเพณีในศาสนาผีเกี่ยวข้องกับพุทธศาสนาได้อย่างไร ให้สังเกตว่า ประเพณีในกฎมณเฑียรบาลไม่มีการทำในวัดเลย เพราะเป็นพิธีผี ไม่เกี่ยวกับทางพุทธศาสนา แต่การศึกษาไทยตัดเรื่องศาสนาผีออกหมด เอาแต่ศาสนาพุทธ ทั้งที่ศาสนาพุทธในไทยถูกผีครอบมาตั้งแต่แรก แต่ปฏิเสธความจริง มองพุทธในไทยไม่ออก ทำให้รังเกียจแม่ชี ทั้งที่ผู้หญิงเป็นผู้เข้าทรงผีบรรพชน แต่พุทธศาสนายึดพื้นที่ทางศาสนามาไว้กับผู้ชาย ไม่ยอมรับความเป็นนักบวชของแม่ชี ดูถูกศาสนาของบรรพชนตั้งแต่ก่อนประวัติศาสตร์”

ปีใหม่ไทย สมัยจอมพล ป.

สุจิตต์กล่าวต่อว่า ในยุคทวารวดีรับสงกรานต์มาจากอินเดีย เป็นปีใหม่แขก สงกรานต์จึงอยู่ในราชสำนักอยุธยาและสุโขทัย แต่ประชาชนไม่รู้จัก ส่วนยุคธนบุรีไม่พบหลักฐานว่ามีสงกรานต์หรือไม่ มาพบหลักฐานเรื่องสงกรานต์ชัดๆ ในนิทานเรื่องแห่เศียรท้าวกบิลพรหม ในจารึกวัดโพธิ์ ภายหลังรัชกาลที่ 3 จึงแพร่ไปโดยผ่านพระ แต่เข้าใจว่าเรื่องนี้แคบอยู่ในกรุงเทพฯ

“จนเมื่อสมัยรัชกาลที่ 5 ประกาศวันขึ้นปีใหม่เป็นวันที่ 1 เมษายน (พ.ศ.2432-2483) ต่อมาสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ประกาศขึ้นปีใหม่ตามสากล 1 มกราคม 2484 แสดงว่ามีความเชื่อว่าวันที่ 1 เมษายน คือ สงกรานต์ไทย ทั้งที่สงกรานต์ยังแคบในกลุ่มเมือง อย่างกรุงเทพฯหรือเชียงใหม่ ตอนที่ผมเข้ากรุงเทพฯในปี 2497 ยังไม่รู้จักเลยว่าเล่นสาดน้ำกันยังไง เพราะเล่นกันแค่รดน้ำตามตรอกซอกซอยหรือคนรู้จัก การสาดน้ำเกิดหลัง 14 ตุลาฯ เมื่อรัฐบาลเอาเรื่องเศรษฐกิจเข้ามา เคยมีอาจารย์ผู้ใหญ่บอกว่าการสาดน้ำมาจากพม่าโดยพบภาพวาดเป็นรูปการสาดน้ำระหว่างชาวพม่ากับฝรั่งขี่ม้าที่เป็นทหารเจ้าอาณานิคม ทั้งหมดคือการต่อรองอำนาจทางการเมืองระหว่างผู้กดขี่และผู้ถูกกดขี่ บางท่านบอกว่าเป็นการผ่อนคลายความตึงเครียด



สงกรานต์ในกรุงมัณฑะที่พม่า เมื่อ พ.ศ.2431 (ภาพจาก The Graphic ฉบับวันที่ 7 มกราคม ค.ศ.1888 หน้า 13)


ประเด็นหลักคืออย่าให้นักเรียนหรือคนไทยเข้าใจว่าสงกรานต์คือปีใหม่ไทย

“ปีใหม่ตามดั้งเดิมที่เห็นได้จากปฏิทินหลวงจะเปลี่ยนนักษัตรที่เดือนอ้าย แต่ความเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าสงกรานต์คือปีใหม่ น่าจะเป็นในยุคจอมพล ป.พิบูลสงคราม ที่ประกาศปีใหม่สากล คนจึงน่าจะเข้าใจว่า สงกรานต์ เดือน 5 คือปีใหม่ไทย โดยลืมว่าปีใหม่ไทยคือเดือนอ้าย เป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อน มาถึงกระทรวงศึกษาธิการ จนคนเชื่อว่าเปลี่ยนปีนักษัตรตอนสงกรานต์ ทั้งที่อินเดียไม่มีนักษัตร” สุจิตต์กล่าว

ส่วนความเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม ดังเช่นที่กระทรวงวัฒนธรรมต้องออกมาปรามสาวๆ นุ่งสั้น หรือการเล่นสาดน้ำแรงๆ นั้น

สุจิตต์ตอบสั้นๆ ว่า

“วัฒนธรรมเป็นเรื่องของประชาชน ให้เขาตัดสินใจเองว่าจะเอาหรือไม่เอา”

เล่นน้ำแบบคนไท



ชาวไทเล่นน้ำในรูปแบบใหม่ในเทศกาลสาดน้ำ (ภาพ http://www.yn.chinanews.com./pub/2013/yunnan_0412/71452.html)


อภิลักษณ์ เกษมผลกูล คณบดีคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายว่า สงกรานต์เป็นประเพณีในหมู่คนไท-ไทยมาแต่โบราณ สำหรับประเพณีไทใหญ่ ที่เมืองขอน ไทใต้คง มณฑลยูนนานมีพิธีสงกรานต์ มีการเล่นน้ำกันจริงจังเหมือนในไทย คนนำดอกไม้ หมอกก่อสร้อย บางที่ใช้ดอกบู้ มาวางที่โก๊งซ้อนในวัด ในประเพณีปอยซ้อนน้ำของคนไทใต้คงมีข้าวมุ้นซ้อนน้ำ หรือบุญช้อนน้ำ ลักษณะคล้ายขนมเข่ง เสร็จแล้วจะมีรำวง ช่วงบ่ายมีพิธีสรงน้ำพระ แห่พระพุทธรูป เล่นรดน้ำโดยใช้กิ่งหลิวพรมน้ำกันเป็นพิธี แต่เด็กรุ่นใหม่ก็มีการใช้ปืนฉีดน้ำ

“ถ้าเป็นของกลุ่มไตต้องมีทุกกลุ่ม แต่ปรากฏว่ามีไม่ทุกกลุ่ม มีในกลุ่มไตกับไทที่นับถือพุทธ ส่วนกลุ่มที่นับถือผีนั้นไม่มีแม้แต่เรื่องเล่า ประเพณีนี้ไม่มีในคนไททุกกลุ่ม แต่นโยบายของจีนจะสลับให้งบประมาณแก่ชาวไท ชาวม้ง จึงต้องสร้างประเพณีเพื่อให้ได้รับงบประมาณ” อภิลักษณ์กล่าว

สงกรานต์ในจีน
ด้าน ศิริวรรณ วรชัยยุทธ อาจารย์ภาควิชาภาษาจีน คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ประเพณีสงกรานต์จะมีเฉพาะชนกลุ่มน้อยของจีน คนไท คนไต ในมณฑลยูนนานหรือสิบสองปันนา ภาษาจีนเรียกประเพณีนี้ว่า “โพวสุ่ยเจี๋ย” หมายถึงสาดน้ำ ภาษาไทเรียก “ปี๋ ไม่” ออกเสียงคล้ายสำเนียงไทยเหนือ หมายถึงปีใหม่ พิธีจะคล้ายทางล้านนา วันแรกของเทศกาลเรียกว่า “หวั่นม่อ” หรือวันสงกรานต์ล่อง วันที่สองเรียก “หวั่นเหน่า” หรือวันเนา วันที่สามเรียก “หวั่นพ่ายาหวั่นหม่า” หรือในล้านนาคือ วันพญาวัน

“กิจกรรมจะมีการสรงน้ำพระ ฟังเทศน์ ขนทรายเข้าวัด ประพรมน้ำ สาดน้ำ ร้องรำทำเพลง จะเห็นว่ามีกิจกรรมหลากหลาย รวมถึงการจุดบั้งไฟ โยนถุงผ้าเป็นประเพณีเลือกคู่ของหนุ่มสาว ทุกกิจกรรมจะเหมือนงานรื่นเริงประจำปี เทศกาลสาดน้ำของชาวไทสะท้อนความคิดเรื่องการบูชาสายน้ำ โดยเชื่อว่าน้ำเป็นสัญลักษณ์การดำรงชีวิต เป็นตัวกลางระหว่างเทพและผี ซึ่งในประเทศจีนได้ส่งเสริมให้ชนกลุ่มน้อยมีการสืบทอดประเพณี พอมีการบรรจุเป็นนโยบายจะทำให้มีการเห็นคุณค่าทางวัฒนธรรม แต่จะเกิดการลดทอนคุณค่าประเพณีปฏิบัติเป็นการท่องเที่ยวเชิงธุรกิจมากขึ้น เช่น มีการใช้ปืนฉีดน้ำ การสาดน้ำที่รุนแรงมากขึ้นเหมือนของไทย เมืองจีนเมื่อเข้าเป็นมรดกทางวัฒนธรรม ได้รับงบประมาณ ก็จะมีการโปรโมต สาดน้ำได้ทุกวัน ในหมู่บ้านวัฒนธรรมมีการโชว์สาดน้ำเป็นรอบ” ศิริวรรณกล่าว

การสาดน้ำไม่เกี่ยวกับเทศกาลโฮลีในอินเดีย



กิตติพงศ์ บุญเกิด, ศิริวรรณ วรชัยยุทธ, อภิลักษณ์ เกษมผลกูล


ด้าน ศิริวรรณ วรชัยยุทธ อาจารย์ภาควิชาภาษาจีน คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ประเพณีสงกรานต์จะมีเฉพาะชนกลุ่มน้อยของจีน คนไท คนไต ในมณฑลยูนนานหรือสิบสองปันนา ภาษาจีนเรียกประเพณีนี้ว่า “โพวสุ่ยเจี๋ย” หมายถึงสาดน้ำ ภาษาไทเรียก “ปี๋ ไม่” ออกเสียงคล้ายสำเนียงไทยเหนือ หมายถึงปีใหม่ พิธีจะคล้ายทางล้านนา วันแรกของเทศกาลเรียกว่า “หวั่นม่อ” หรือวันสงกรานต์ล่อง วันที่สองเรียก “หวั่นเหน่า” หรือวันเนา วันที่สามเรียก “หวั่นพ่ายาหวั่นหม่า” หรือในล้านนาคือ วันพญาวัน

“กิจกรรมจะมีการสรงน้ำพระ ฟังเทศน์ ขนทรายเข้าวัด ประพรมน้ำ สาดน้ำ ร้องรำทำเพลง จะเห็นว่ามีกิจกรรมหลากหลาย รวมถึงการจุดบั้งไฟ โยนถุงผ้าเป็นประเพณีเลือกคู่ของหนุ่มสาว ทุกกิจกรรมจะเหมือนงานรื่นเริงประจำปี เทศกาลสาดน้ำของชาวไทสะท้อนความคิดเรื่องการบูชาสายน้ำ โดยเชื่อว่าน้ำเป็นสัญลักษณ์การดำรงชีวิต เป็นตัวกลางระหว่างเทพและผี ซึ่งในประเทศจีนได้ส่งเสริมให้ชนกลุ่มน้อยมีการสืบทอดประเพณี พอมีการบรรจุเป็นนโยบายจะทำให้มีการเห็นคุณค่าทางวัฒนธรรม แต่จะเกิดการลดทอนคุณค่าประเพณีปฏิบัติเป็นการท่องเที่ยวเชิงธุรกิจมากขึ้น เช่น มีการใช้ปืนฉีดน้ำ การสาดน้ำที่รุนแรงมากขึ้นเหมือนของไทย เมืองจีนเมื่อเข้าเป็นมรดกทางวัฒนธรรม ได้รับงบประมาณ ก็จะมีการโปรโมต สาดน้ำได้ทุกวัน ในหมู่บ้านวัฒนธรรมมีการโชว์สาดน้ำเป็นรอบ” ศิริวรรณกล่าว
การสาดน้ำไม่เกี่ยวกับเทศกาลโฮลีในอินเดีย



การสวมกอดแห่งมิตรภาพของนักท่องเที่ยวในเทศกาลฉลองเทศกาลโฮลี ที่เมืองมถุรา รัฐอุตตรประเทศ ภาพโดย วิชญา จาติกวณิช


กิตติพงศ์ บุญเกิด อาจารย์ประจำวิชาภาษาตะวันออก คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ในอินเดียมีเทศกาลใหญ่สำคัญคือ เทศกาลโฮลี มีลักษณะคล้ายสงกรานต์ จึงเป็นธรรมดาที่คนไทยไปเห็นแล้วจะบอกว่านี่คือสงกรานต์ของไทย โฮลีจะอยู่ราวปลายเดือนมีนาคม มีการเผาหุ่นนางโหลิกา และสาดสี บางครั้งมีสีผสมน้ำ นัยยะของเทศกาลโฮลีคือการเปลี่ยนฤดูกาล จึงเอาวันที่เข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ สู่ปฏิทินรอบใหม่ จึงมีคติต้องขจัดความชั่วร้าย มีการเล่นสาดสีในวันปีใหม่

“ในบริบทปัจจุบัน โฮลีถูกมองว่าเป็นเทศกาลคืนดี คนเกลียดชังกันกลับมากอดคอกัน แต่วัฒนธรรมฮินดูมีวรรณะ จึงเชื่อว่าโฮลีเข้ามาหลังอิสลามเข้ามา เพราะอิสลามทำลายเรื่องวรรณะ พบหลักฐานภาพที่พูดถึงบทเพลงแห่งฤดูใบไม้ผลิ ภาพในศตวรรษที่ 16 เมื่ออิสลามเข้ามาแล้ว เป็นภาพคนนั่งบนชิงช้ามีคนใช้ปืนฉีดน้ำโบราณทำจากไม้ไผ่ ฉีดน้ำผสมสีใส่เจ้าหญิง เล่นในราชสำนัก ในภาพมีต้นมะม่วงเกี่ยวข้องกับฤดูกาล ช่วงฤดูใบไม้ผลิ

“ทั้งหมดนี้ไม่ใช่สงกรานต์ ตำนานวันโฮลีไม่เกี่ยวกับสงกรานต์ไทย แต่วันสงกรานต์ของไทยตรงกับวันปีใหม่ของอินเดียใต้ที่ใช้ปฏิทินสุริยคติ เรียกว่า ปุตตาณฏุ ปีใหม่ในอินเดียใต้ต่างจากอินเดียเหนือ ไม่สาดน้ำหรือสาดสี แต่บูชาพระ นำผลไม้ใส่ถาดพร้อมกระจกตอนกลางคืน เช้ามาเห็นถาดถือเป็นสิริมงคล นำของไปบูชาพระเจ้า นิยมบูชาพระแม่ บูชาสตรี จึงมีกระจก และเพื่อความเป็นสิริมงคลจะทำ รังโคลี เอาสีผง ดอกไม้ ประดับเป็นรูปทรงเลขาคณิตหรือสัญลักษณ์มงคลประดับที่ประตู รังโคลีทำกันได้ทุกวันเพื่อเป็นสิริมงคล” กิตติพงศ์กล่าว

.....

คอมเมนท์


Songkran Water Festivals: Where do they come from ?
จากรด เป็นสาด
ทำไมสงกรานต์ ต้องสาดน้ำ ?
ผมสงสัยว่า การเล่นสาดน้ำสงกรานต์ เป็นประเพณีใหม่
แพร่หลายไปทั่วไทยประเทศ ในช่วงครึ่งศตวรรษนี้เอง
เมื่อผมเริ่มรู้ความ เริ่มจำความได้ ช่วงทศวรรษ 2490s
ผมอยู่กับพ่อแม่ ที่บ้านโป่ง
บางทีอยู่กับยาย วัดกลาง ปากน้ำ
บางครั้งเข้ามาชุบตัว อยู่บ้านคุณป้า ซอยสารสิน
(เลิกพูดเหน่อ)
ผมคิดว่าผมไม่เห็นคนสาดน้ำกัน โชกโชน
ทั้งที่บ้านโป่ง ที่ปากน้ำ หรือที่ กท.
สมัยเป็นเด็ก ที่แม่น้ำแม่กลอง ใกล้บ้าน มีหาดทรายขึ้น
ก็ไม่เห็นคนลงไปเล่นนัำสงกรานต์
ที่วัดกลาง ก็เห็นมีแต่ก่อเจดีย์ทราย กับเล่นสะบ้า
ที่ กท.ก็ไม่เห็นมีทั้งราชพิธี หรือรัฐพิธีสงกรานต์
ผมมีภาพลางๆ ว่า เชียงใหม่ คนลงไปเล่นที่หาดทรายแม่ปิง
ท่าทางสนุกกับน้ำ กับสาวงามๆ
ผมฝันว่าจะได้ไปเชียงใหม่ สักวัน
ผมสงสัยว่า การเล่นสาดน้ำสงกรานต์
แพร่มาจากเชียงใหม่ สักทศวรรษ 2500s-2510s นี่เอง
(แต่เชียงใหม่ เอามาจากมอญพม่ารามัญ หรือไม่ ไม่ทราบ)
มาพร้อมกับการขยายตัวของทุน ของเมือง ของลัทธิท่องเที่ยว
(กับงานวัดวิสุทธิ์กษัตริย์ ?)
ดังนั้นเมื่อผมพา อ.เบน ไปเล่นน้ำเชียงใหม่ ครั้งแรก 2517/18
จำได้ว่าสนุกสุดๆ เราเคยคิดว่า น่าไปเล่นต่อที่เมืองพม่า
but that was once upon a time, never comes again...
Ck@13Ap2559/2016