วันจันทร์, กุมภาพันธ์ 08, 2559

คณิน” ชี้ดูร่าง รธน. ไม่ใช่ดูแค่ “เนื้อหา” แต่ต้องดูตั้งแต่โครงสร้าง-เนื้อหา-คนร่าง ระบุที่บอกฉบับปราบโกงแค่วาทกรรมดราม่าให้สะใจคนดู




“คณิน”อัด“รธน.มีชัย”ชูแก้โกงเป็นวาทกรรมดราม่า ใช้เด็กม.6ร่างก็ได้-แค่เริ่มก็ไม่ปชต.


ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่: 7 ก.พ. 59

“คณิน” ชี้ดูร่าง รธน. ไม่ใช่ดูแค่ “เนื้อหา” แต่ต้องดูตั้งแต่โครงสร้าง-เนื้อหา-คนร่าง ระบุที่บอกฉบับปราบโกงแค่วาทกรรมดราม่าให้สะใจคนดู

เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ นายคณิน บุญสุวรรณ อดีตสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ปี 40 กล่าวว่า การที่จะดูว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับใดฉบับหนึ่งดีหรือไม่ดี เป็นประชาธิปไตยหรือไม่ เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชนมากน้อยแค่ไหน ต้องดูตั้งแต่ที่มาของร่างรัฐธรรมนูญ ปรัชญา สมมุติฐาน และเป้าหมายของร่างรัฐธรรมนูญ โครงสร้างและการจัดหมวดหมู่ในร่างรัฐธรรมนูญ เนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญ และท้ายที่สุดคือกำหนดการเริ่มต้นของการใช้บังคับหรือที่เรียกว่าบทเฉพาะกาล ซึ่งสามารถกล่าวได้ว่าถ้าองค์ประกอบอย่างอื่นดีหมด คือมีความชอบด้วยหลักนิติธรรมแล้ว เนื้อหาเกือบจะไม่ต้องดูเลยก็ได้ มันเป็นอย่างนั้นจริงๆ

นายคณินกล่าวต่อว่า เริ่มตั้งแต่ที่มาต้องดูว่าใครเป็นคนร่าง ผู้ร่างเป็นตัวแทนที่ประชาชนเลือกหรือเปล่า ถ้าไม่ใช่ตัวแทนของประชาชนแล้วมานั่งร่างที่มาของร่างรัฐธรรมนูญก็ไม่ชอบด้วยหลักนิติธรรม ถ้าจะอ้างว่าตัวแทนที่ประชาชนเลือกไม่มีความรู้ด้านกฎหมายก็อ้างไม่ได้ เพราะเป็นคนละเรื่องกันและไม่จำเป็น เพราะนักกฎหมายก็จะรู้แค่เฉพาะเรื่องกฎหมายแต่ไม่รู้เรื่องประชาชน ตรงกันข้ามคนที่ประชาชนเลือกถึงแม้จะไม่รู้เรื่องกฎหมายแต่รู้เรื่องประชาชน

นายคณินกล่าวอีกว่า รัฐธรรมนูญเป็นกติกาประชาชนดังนั้น ตราบใดที่ยังไม่ยอมให้ตัวแทนที่ประชาชนเลือกเข้ามาร่างก็จะประสบความล้มเหลวอย่างนี้ไปตลอด ทั้งนี้ ไม่ว่าเนื้อหาจะดีหรือจะเลวหรือวิเศษวิโสแค่ไหน ที่ กรธ.คุยนักคุยหนาว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นฉบับปราบโกง ก็ต้องถามว่านี่คือเป้าหมายหรือเปล่า ถ้าเป็นเป้าหมายจริงไม่ต้องให้นักกฎหมายระดับนายมีชัยมาร่างหรอก เด็ก ม.6 บางคนยังทำรายงานส่งครูได้ดีกว่านี้ แต่สมมุติว่าเป็นฉบับปราบโกงจริง ทำไมถึงได้วางตัวให้คนที่ประชาชนไม่ได้เลือกมาปราบคนที่ประชาชนเลือก แล้วถ้าคนที่ประชาชนไม่ได้เลือกเข้ามาโกงเสียเองใครจะรับผิดชอบ สรุปแล้วการปราบโกงไม่ใช่เป้าหมายของการร่างรัฐธรรมนูญ เป็นแต่เพียงวาทกรรมดราม่าเพื่อเรียกความสะใจจากคนดูมากกว่า ซึ่งไม่ได้เกิดประโยชน์อะไรกับประเทศชาติและประชาชนเลย มิหนำซ้ำยังอาจนำไปสู่การปะทะคารมเลือกข้างจนนำมาสู่ความขัดแย้งบานปลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อถึงคราวที่จะต้องนำร่างรัฐธรรมนูญไปให้ประชาชนออกเสียงประชามติ