วันศุกร์, กุมภาพันธ์ 12, 2559

ใครจะถอย? โดย วรศักดิ์ ประยูรศุข




ที่มา มติชนออนไลน์
11 ก.พ. 59

การเมืองมาถึงจุดที่จะต้องเอา-ไม่เอาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่กันอีกแล้ว

คนร่างหน้าเก่า คนไม่เห็นด้วยก็หน้าเก่า แต่น่าสังเกตว่า รอบนี้ คนไม่เห็นด้วยมีมากกว่าเดิม และกล้าเปิดหน้าออกมาค้านมากกว่ารอบที่แล้วอีกด้วย

ถือว่าเป็นงานหนัก ถ้าต้องการจะใช้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จริงๆ

รัฐบาลเอง เริ่มเดินเครื่อง ใช้กลไกต่างๆ ช่วยตีปี๊บประชาสัมพันธ์กันแล้ว

ในทีวี และหน้าหนังสือพิมพ์ จะมีข่าวคราวความล้ำเลิศแซบเว่อร์ของร่างรัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง ครองพื้นที่อยู่

มีนักวิชาการ บุคคลหลากหลายที่มา นักการเมืองประเภทเริงร่าในยามไม่มีเลือกตั้ง ออกมาประสานเสียง ทางช่องนั้นช่องนี้

นั่นคือทางกว้าง เพื่อสร้างความเข้าใจกับผู้สนับสนุน และเพื่อจะไปกลบ หรือหักล้างกับความเห็นจากผู้ที่เห็นต่าง

ส่วนทางลึก เชื่อว่าหน่วยงานราชการหลายแห่งคงทำความเข้าใจกันไปแล้ว

ที่ผ่านมา รัฐบาลหงุดหงิดว่า ข้าราชการเอาแต่เซฟตัวเอง เพราะไม่รู้ว่าสถานการณ์ข้างหน้าจะเป็นยังไง

แต่งานนี้ “เกียร์ว่าง” ไม่ได้เป็นอันขาด

สั่งราชการเข้าเกียร์เดินหน้านั้นสั่งได้ แต่จะทำหรือไม่เป็นอีกเรื่อง

จึงน่าจะเตรียมความคิดไว้ให้มากๆ ว่า เรื่องราวต่างๆ จะไม่เป็นไปอย่างคิดและเล็งผลเอาไว้

เพราะโลกเปลี่ยนไปมาก ประเทศไทยก็เปลี่ยนตามไปเช่นกัน

ชนบทและหัวเมืองของประเทศไทย ไม่ได้เป็นเหมือนยุคผู้ใหญ่ลี ไม่ต้องขี่ม้าบักจ้อนมาประชุมรับนโยบายที่อำเภอหรือจังหวัด แล้วกลับไปตีกลองประชุม

แค่นอนอยู่กับบ้าน มีโทรศัพท์คนละเครื่อง เปิดไลน์ เปิดเฟซบุ๊กไว้ ไม่ต้องเสียเงินเสียทอง

ก็รู้ความเป็นไปทั้งหมด

เรื่องของผู้ใหญ่ลี ลองเปิดเพลงผู้ใหญ่ลีในยูทูบฟังเอาก็แล้วกัน

เป็นเรื่องจริง ที่คนในพื้นที่ห่างไกล อาจไม่ได้อ่านร่างรัฐธรรมนูญ ไม่ได้รู้ละเอียดลึกซึ้งว่ามาตราไหนลิดรอน มาตราไหนสร้างองค์กรมาลอยอยู่เหนืออำนาจทั้งสาม

ตรงไหนที่ว่าได้สิทธิมากขึ้น หรือมาตราไหนเอา “คนดี” มาใช้สิทธิแทนประชาชน

สภาพอย่างนี้เอง ที่คนในเมืองบางส่วน อาจเอาไปหยามเหยียดว่า ไม่ได้อ่าน

ไม่ได้ศึกษา ไม่รู้เรื่อง แล้วจะมาโหวตตัดสินกฎหมายสูงสุดได้ยังไง มีแต่จะให้นักการเมืองชี้นำ

แต่การสื่อสารสมัยใหม่ ระบบการเมืองในท้องถิ่น สร้างการเรียนรู้ สร้างความรับรู้ให้คนในพื้นที่ไกลๆ ได้ไม่ยาก

นี่ยังไม่พูดถึงประสบการณ์จริงที่ชาวบ้านรับมาด้วยตนเอง จากปัญหาราคาพืชผล ภัยแล้ง ปัญหาปากท้อง การปฏิบัติจากเจ้าหน้าที่รัฐในสถานการณ์พิเศษ

เสียงประชามติจากจังหวัดต่างๆ จึงเป็นความเสี่ยงของรัฐบาล แม้แต่ในพื้นที่ที่นิยมรัฐบาล ก็วางใจได้ยาก

เพราะปัญหาเศรษฐกิจแสดงตัวในลักษณะต่างๆ มากขึ้นเรื่อยๆ สร้างผลกระทบไปทั่ว

ฟังดูที่คนในรัฐบาล ออกมาบอกว่า ถ้าประชามติแล้วแพ้สักล้านเสียง ก็เท่ากับว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับของ กรธ.ยังมีดี อาจจะเอาไปปรับแก้ใหม่ แล้วนำมาใช้

จะปรับแก้ให้โหดยิ่งขึ้นอย่างที่ กรธ.ขู่เอาไว้ หรือจะให้ยืดหยุ่นมากกว่าเดิม ยังไม่มีใครพูดถึง

ซึ่งที่จริง สิ่งที่ควรปรับแก้อย่างยิ่ง คือโลกทรรศน์และทัศนคติของคนบางกลุ่มที่มีต่อการเมือง และความเป็นไปของโลกมากกว่า แต่นั่นก็ยากเกินไป

การ “ถอย” ในหัวเลี้ยวหัวต่อนี้ จำเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ ปัญหาคือ จะให้ส่วนใหญ่หรือส่วนน้อยถอยดี ?