วันเสาร์, กุมภาพันธ์ 06, 2559

สื่อฝรั่งเค้าว่า คนไทยแก่หง่อมลงไปทุกวัน เฝ้ารอประชาธิปไตย...




คลับคล้ายคลับคลา ไม่น่าจะใช่ แต่เอ๊ะไหงชักถี่ ที่พวกวิชาการนั่งห้าง คสช. ออกมาค้านร่าง รธน. มีชัย กันเอิกเกริก

ก็มี สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ คำนูณ สิทธิสมาน แก้วสรร อติโพธิ์ ปริญญา เทวานฤมิตรกุล และกรณ์ จาติกวนิช

โอเค ‘คำนูณกับกรณ์’ สองคนนี่เป็นนัก ‘การเมือง’ ไม่ใช่นักวิชาการแท้ๆ แต่ในไตแลนเดีย สองสิ่งนั้นมันมีเส้นแบ่งเฉียบบางและก้ำกึ่งกันอยู่

เราเลยสองจิตสองใจ จะฟันธงดีไหมว่า ‘เห็บกำลังกระโดด’ กันอีกแล้ว รอบใหม่

เริ่มที่ ศจ. สมบัติ ณ กปปส. ให้สัมภาษณ์มติชนทีวี “ผมว่าสิ้นหวัง ไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายท่อ”

นักวิชาการค่ายนิด้าผู้นี้บอกว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ถอยหลังกว่าที่แล้วๆ มา เขารับไม่ได้ที่กำหนดไว้ให้คนนอกเข้าไปเป็นนายกรัฐมนตรีได้ อีกทั้งมีผู้ร่างคนหนึ่งบอกตนว่าเขาต้องการให้มีรัฐบาลที่ไม่เข้มแข็ง นี่ก็เป็นการตั้งโจทย์ผิด

แล้วยังมีเรื่องการแก้ไข รธน. ซึ่งดูเหมือนง่ายเพราะกำหนดให้ใช้เสียงกึ่งหนึ่งเท่านั้น ไม่ใชสองในสามอย่างของเดิม แต่ก็ไปติดกับที่วุฒิสภาต้องมีหนึ่งในสาม แถมด้วยพรรคต่างๆ อีก ๑๐ เปอร์เซ็นต์ เหล่านี้รวมความแล้วทำให้ รธน. นี้วางกับดักไว้ให้แก้ไขอะไรแทบจะไม่ได้เลย

ดร.สมบัติยังชี้ถึงร่างฯ ม.๕๐ เรื่องให้รัฐจัดการศึกษาภาคบังคับ ซึ่งหมายความว่าเพียงแค่ ๙ ปี ทั้งที่รัฐธรรมนูญเก่าให้ไว้ ๑๒ ปี นี่แสดงว่าร่างฯ ฉบับนี้ไม่ได้เห็นความสำคัญด้านจัดการศึกษาเท่าใดนัก

(http://www.matichon.co.th/news/25806)




คนต่อมา คำนูณ ณ พันธมิตรฯ ปัจจุบัน สปท. (พวกขับเคลื่อน) เมื่อก่อนก็นักร่างคนหนึ่ง (สังกัด กมธ.) ซัดเรื่องจุดอ่อนในระบบเลือกตั้งที่ให้ใช้บัตรใบเดียวกาได้ทั้ง ส.ส.เขต และบัญชีรายชื่อ ว่าเอื้อเฉพาะพรรคใหญ่ จนพรรคเล็กพรรคน้อย ปลาซิวปลาสร้อยไม่มีทางเกิด เช่นเดียวกับพรรคแบบทางเลือกหลากหลายทุนน้อย

“การบังคับผู้สมัคร ส.ส.ให้ต้องสังกัดพรรคก็จำกัดสิทธิพออยู่แล้ว ยังมาบังคับโดยปริยายให้ผู้ประสงค์จะมีบทบาทในสภาต้องสังกัดแต่พรรคทุนหนาอีก จะยิ่งไม่เป็นการตอกย้ำระบบผูกขาดอำนาจของพรรคการเมือง” เอ๊า เป็นงั้นไป

(http://www.matichon.co.th/news/24878)




ถึงทีแก้วสรร ณ ไทยสปริง (ตรงข้ามอาหรับ) นักต้านระบอบทักษิณตัวเอ้ อดีตนักปราบคอรัปชั่นสังกัด คตส. บ้าง เขาว่าร่างฯ มีชัยนี้ ‘ถอยหลังเข้าคลอง’ เลย ๒๕๔๐ ไปไกลลิบ

เรื่องหลักประกันสิทธิพื้นฐานของปวงชนชาวไทย น่ะ “ให้ประชาชนกลับไปเป็นราษฎร ไม่มีสิทธิอะไรในประโยชน์ส่วนรวมเลย เหลือแต่สิทธิส่วนตัวในเขตรั้วบ้านเท่านั้น”

อย่างนี้ แก้วสรรพี่ขวัญสรวงบอกว่า “รับไม่ได้” เพราะ “มันกระทบไปถึงรากฐานความคิดเสรีชน” และถ้าไม่แก้ไขตรงนี้ “ผมก็โหวตไม่รับแน่นอน” ปัดโธ่ “ทุกวันนี้รัฐมันเฮงซวยมากอยู่แล้ว ไปฝากอนาคตไว้ทั้งหมดทำไม”

(http://www.matichon.co.th/news/27455)




ส่วนปริญญา ณ มธ. ยุครั้วแดงกำแพงเหลือง (อย่าง จปร.) ที่เสรีภาพทุกตารางนิ้งเป็นแค่คำคมหะรูหะรา วิเคราะห์เจาะแจะบ้างว่า “ระบบเลือกตั้งแบบนายมีชัย ทำให้พรรคใหญ่ได้จำนวนที่นั่ง ส.ส.น้อยลง” จนการตั้งรัฐบาลจะต้อง ‘ผสมดะ’

แต่ทั่นรองอธิการฯ ฝ่ายกิจกรรมนักศึกษาก็ตัดสินใจไม่ถูกว่าดีไหม รู้แต่ว่าใจตน ‘ปิ๊ง’ กับบัตรเลือกตั้งใบเดียว เพราะเห็นว่าจะทำให้ประชาชนใช้สิทธิได้เท่าเทียมกัน แต่ก็นั่นแหละ “เห็นว่าร่างรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นแนวทางของนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ดีกว่านายมีชัย” เพราะมีชัยยังไม่คืนสิทธิเลือกตั้งให้

ปริญญาเอ่ยถึงการได้มาของ ส.ว. ยึดโยงกับประชาชนน้อยลง สวนทางกับพัฒนาการของทั่วโลก แล้วยังวุฒิสภาถูกตัดอำนาจถอดถอนนักการเมืองออกไป ขณะที่ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจครอบจักรวาล และให้ศาลมาเป็นผู้สรรหาไม่บังควร น่าจะทำหน้าที่ด้านตุลาการอย่างเดียว

“เมื่อประชาธิปไตยมีปัญหาก็ควรแก้ด้วยวิถีทางประชาธิปไตย ไม่ใช่ใช้วิธีการอื่น หากจะต้องมีการห้ามทัพชั่วคราวเพื่อไม่ให้คนตีกัน ก็ควรจะเป็นการชั่วคราว”

ปริญญาอ้างถึงช่วงเวลาที่ตนเป็นนักศึกษาตอนปี ๒๕๓๔ ที่นายมีชัยเป็นประธานยกร่าง รธน. อันทำให้เกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ “หวังว่าจะไม่เกิดอย่างนั้นซ้ำรอยอีก”

(http://www.matichon.co.th/news/26229)

ทีเด็ดกว่าใครต้องยกให้นักขับเคลื่อนอีกคนที่ชื่อ พล.อ.ธวัชชัย สมุทรสาคร คนนี้เคยออกมาโป้กล่าวหากลุ่มนักศึกษาดาวดินว่ามีต่างชาติหนุนหลัง แล้วยังยกเมฆว่าความไม่สงบภาคใต้เพราะมีกลุ่มการเมืองปั่นอยู่เบื้องหลัง





พล.อ.ธวัชชัยเสนอให้ยืดอำนาจ คสช. ออกไปหลังเลือกตั้งแล้วอีก ๕ ปี เพื่อให้เป็นผู้แต่งตั้งวุฒิสมาชิก และคอยกำกับดูแลรัฐบาลใหม่ ให้อยู่ในกรอบการปฏิรูปประเทศ ๒๐ ปีในแนวของ คสช. โดยกำหนดให้ คสช.เป็นดั่งคณะโปลิสบิวโร แบบพรรคคอมมิวนิสต์จีน

(http://news.voicetv.co.th/thailand/322407.html)

อย่างนี้ต้องเรียกว่าเขาศรัทธามหามิตรใหม่สุดซึ้ง ไม่แน่ทั่นตู่จะพอใจ บ้าจี้ตามไปด้วยไหม

สำหรับรายของกรณ์ ณ ปชป. อดีต รมว.คลังที่ถนัดมากเรื่องเล่นหุ้น เพิ่งโผล่มาวิจารณ์บ้างตอนพูดกับผู้สื่อข่าวสำนักบลูมเบิร์ก ไม่ใช่เรื่องร่าง รธน. ฉบับมีชัย แต่ทั่นรองฯ พรรคราบ ๑๑ จี้จุดตรงที่คณะรัฐประหารเลยละ

“หลักใหญ่ที่คณะทหารประสบความสำเร็จอยู่ที่ช่วง ๒๔ ชั่วโมงแรกเท่านั้น” บลูมเบิร์กอ้างรองฯ โย่งที่พลพรรคของเขาส่วนมาก ‘สนับสนุนการรัฐประหาร’

“แต่พอหลังจากนั้นแล้ว ไม่ได้มีอะไรสำเร็จสักเท่าไหร่” กรณ์ว่า “แต่นั่นแหละ ผมก็ไม่ได้หวังอะไรมากมาย”

(http://www.chicagotribune.com/…/sns-wp-blm-thailand-c0a1d7d…)

ในบทความบลูมเบิร์กนี่เอง ซึ่งส่วนใหญ่พูดถึงว่าประเทศไทยจะไปไม่รอดในทางเศรษฐกิจภายใต้การกุมอำนาจของคณะทหาร

“ขณะที่ไทยฮุนต้าบรรจงใช้เวลาและขั้นตอนในการสร้างความสามัคคีในชาติเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ที่แตกแยกทางการเมืองอย่างหนักนี้ การลงทุนจากต่างประเทศตัดสินด้วยเท้าไปแล้วว่าจะไม่เดินมาที่นี่”

บทความอ้างคำของแอนดรูว์ สต้อทซ์ ซีอีโอของบริษัทวิจัยการลงทุน ผู้เคยเป็นหัวหน้าวิจัยหุ้นของซีแอลเอสเอในประเทศไทย ซึ่งมีสำนักงานกลางอยู่ที่ฮ่องกง ว่า “ความไม่น่าพิศมัยของคณะทหารที่ยึดอำนาจปกครองให้แก่ตนเอง ทำให้การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศหยุดชงัก”

ข้อเขียนยังเสนอความเห็นจากพวงทอง ภควพันธุ์ อาจารย์ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ว่า “ความหลงผิดว่าตัวมีความชอบธรรม และไร้ประสาทสัมผัสต่อความจริง ทำให้คณะทหารฮุนต้าตามัว มองไม่เห็นความเดือดร้อนของประชาชนต่อการทำมาหากินอันฝืดเคือง”

ข้อเขียนเรื่อง “ประเทศไทยแก่หงำเหงือกลงไปทุกวัน รอเมื่อไหร่ประชาธิปไตยจะมาหา ขณะที่คณะทหารฮุนต้าก็เฝ้ารอความรักวิ่งมาชน” เปิดฉากด้วยเนื้อถ้อยที่ว่า

“ประเทศไทยกำลังรอรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ รอการฟื้นฟูประชาธิปไตย รอการสืบราชสันตติวงศ์ รอเศรษฐกิจหายไข้ และรอสายฝนโปรยปรายลงมาอีกหน”

บลูมเบิร์กย้ำปัญหาความเฉื่อยชาทางการบริหารปกครองของไทยโดยฮุนต้าด้วยคำของธันย์ ฤทธิพันธ์ นักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหงวัย ๒๓ ปี กลุ่มประชาธิปไตยใหม่ ที่ว่า “เดี๋ยว เดี๋ยว ช้าก่อน ประเทศนี้ไม่ใช่เจว็ดที่จะติดป้ายว่าอยู่ในระหว่างซ่อมแซม กันง่ายๆ”

“คุณจะมัวแต่รอประชาธิปไตยไม่ได้หรอกนะ”