วันเสาร์, พฤษภาคม 09, 2558

มาดู!! องค์กร(ไม่) อิสระใหม่ในร่างรัฐธรรมนูญ คสช.



BY CHAIYAPORN YUANRANGSAN
ON MAY 6, 2015
Ispace Thailand

เป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างต่อเนื่องหลังจากกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ได้นำเสนอร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2558 เข้าสู่การอภิปรายของสภาปฏิรูปแห่งชาติ และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญที่มีการยุบรวม ตั้งใหม่ และให้อำนาจองค์กรอิสระเหล่านี้ในการถ่วงดุลทางการเมือง บทความนี้จะขอนำเสนอประเด็นที่มา ขอบข่ายอำนาจหน้าที่ ขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญดังกล่าว

1.สภาตรวจสอบภาคพลเมือง

1.1 ที่มา ตามบทบัญญัติมาตรา 71ให้มีสภาตรวจสอบภาคพลเมืองประจำจังหวัดขึ้น โดยให้มีจำนวนสมาชิกไม่ เกิน 50 คน ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดนั้นๆ โดยสัดส่วนที่มานั้นกำหนดว่าให้มาจากสมัชชาพลเมืองจำนวนหนึ่งในสี่ มาจากผู้แทนองค์การเอกชนไม่เกินหนึ่งในสี่ ส่วนสองในสี่นั้นมาจากพลเมืองทั่วไปผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง

1.2 อำนาจหน้าที่ สภาตรวจสอบภาคพลเมองมีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐภายในขอบเขตจังหวัดของตน โดยเฉพาะในประเด็นการเลือกตั้งภายในจังหวัด และการทุจริต เป็นต้น

2.สมัชชาพลเมือง

2.1 ที่มา ตามบทบัญญัติในมาตรา 215 วรรค 3 ให้มีการจัดตั้งสมัชชาพลเมืองขึ้น ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกที่มาจากหลายองค์กรในแต่ละท้องที่ เพื่อติดตามการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ

2.2 อำนาจหน้าที่ สมัชชาพลเมืองเป็นเสมือนกลุ่มเครือข่ายภาคประชาชน มากกว่าจะเป็นองค์กรอิสระที่มีภารกิจ หรืออำนาจหน้าที่อย่างชัดเจน อย่างไรก็ตามในบทบัญญัติว่าด้วยแนวทางการปฏิรูปด้านการปกครองส่วนท้องถิ่น รวมทั้งในองค์กรอิสระหลายองค์กรต่างมีบทบัญญัติว่าจะต้องเชิญตัวแทนจากสมัชชาพลเมืองเข้าร่วมพิจารณาด้วย

3.สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ

3.1 ที่มา ตามบทบัญญัติในมาตรา 74 วรรค 8 ให้มีการจัดตั้งสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติขึ้น โดยที่มาของผู้ที่จะดำรงตำแหน่งสมาชิกสมัชชาคุณธรรมแห่งชาตินั้นให้เป็นไปตามที่กฏหมายว่าด้วยสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติบัญญัติ

3.2 อำนาจหน้าที่ สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติมีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบคุณธรรม จริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยมาตรฐานคุณธรรม จริยธรรมทางการเมืองนั้น ให้เป็นไปตามมาตรฐานที่สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติบัญญัติ ในลักษณะของประมวลจริยธรรม ทั้งนี้ยังมีอำนาจหน้าที่ในการไต่สวนการกระทำความผิดของเจ้าหน้าที่รัฐหรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งหากผลออกมาเป็นที่ปรากฏชัดว่ามีการกระทำความผิด ให้สมัชชาคุณธรรมแห่งชาตินั้นยื่นเรื่องต่อรัฐสภา สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา คณะรัฐมนตรี หรือสภาท้องถิ่น ตามแต่กรณีเพื่อทำการถอดถอนต่อไป

4.คณะกรรมการประเมินผลแห่งชาติ

4.1 ที่มา ตามบทบัญญัติในมาตรา 77 วรรค 2 องค์ประกอบ และที่มาของคณะกรรมการประเมินผลแห่งชาตินั้นให้เป็นไปตามที่กฏหมายว่าด้วยคณะกรรมการประเมินผลแห่งชาติบัญญัติ

4.2 อำนาจหน้าที่ ให้คณะกรรมการประเมินผลห่งชาติทำหน้าที่ประเมินการทำงานในแต่ละปีขององค์กรอิสระต่างๆเช่น คณะกรรมการการเลือกตั้ง สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศและคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปแห่งชาติ เป็นต้น และให้นำเสนอผลการประเมินนั้นออกสู่สาธารณะ

5.สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ

5.1 ที่มา ตามบทบัญญัติในมาตรา 279 ให้มีการจัดตั้งสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศขึ้นโดยมีสมาชิกไม่เกิน 120 คน มีที่มาจากการแต่งตั้งโดยมีสัดส่วนดังนี้ มาจากสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติจำนวน 60 คน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติจำนวน 30 คน และผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเชี่ยวชาญการปฏิรูปในด้านต่างๆ 30 คน

5.2 อำนาจหน้าที่ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศมีอำนาจหน้าที่ในการสรรหาคณะกรรมการยุทธศาสตร์แห่งชาติขึ้นดำรงตำแหน่ง รวมทั้งดำเนินการเสนอแนวทางการปฏิรูป ติดตาม และขับเคลื่อนการปฏิรูป รวมทั้งมีอำนาจในการตราพระราชบัญญัติขึ้นแล้วนำเสนอต่อวุฒิสภาเพื่อตราเป็นกฏหมายต่อไป

6.คณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปแห่งชาติ

6.1 ที่มา ตามบทบัญญัติในมาตรา 279 ให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปแห่งชาติขึ้น ใหดมีสมาชิกจำนวนไม่เกิน 50 คนมีที่มาจากการสรรหาโดยสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ

6.2 อำนาจหน้าที่ ให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปแห่งชาตินั้นมีอำนาจหน้าที่ในการนำเสนอแนวทางการปฏิรูปประเทศในลักษณะนโยบายต่อคณะรัฐมนตรี รวมทั้งติดตาม ประเมินผล และขับเคลื่อนการปฏิรูปร่วมกับสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ

7.คณะกรรมการดำเนินการแต่งตั้งข้าราชการโดยระบบคุณธรรม

7.1 ที่มา ตามบทบัญญัติในมาตรา 207 ให้มีคณะกรรมการดำเนินการแต่งตั้งข้าราชการฯ ขึ้น โดยประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 7 คนมาจากการสรรหาของวุฒิสภา ผ่านสัดส่วนดังต่อไปนี้ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้รับเลือกจากคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนจำนวน 2 คน ผู้เคยดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงหรือเทียบเท่าตำแหน่งปลัดกระทรวงจำนวน 3 คน ประธานกรรมการจริยธรรมของทุกกระทรวงจำนวน 2 คน

7.2 อำนาจหน้าที่ คณะกรรมการดำเนินการแต่งตั้งข้าราชการฯ มำอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาการย้าย การโอน หรือการเลื่อนข้าราชการ โดยจัดทำรายชื่อบุคคลที่คณะกรรมการเห็นสมควรแล้วนะเสนอต่อนายกรัฐมนตรี

8.องค์การคุ้มครองผู้บริโภค

8.1 ที่มา ตามบทบัญญัติในมาตรา 60 ว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคนั้นกำหนดให้มีการตั้งองค์การเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ขึ้นโดยเป็นองค์กรอิสระ มิใช่องค์กรของรัฐ มีสมาชิกจากตัวแทนผู้บริโภคทั่วไป

8.2 อำนาจหน้าที่ องค์การคุ้มครองผู้บริโภคมีอำนาจหน้าที่ในการเสนอความคิดเห็น ประกอบการพิจารณามาตรการของหน่วยงานรัฐต่างๆที่เกี่ยวข้องในกรณีการบังคับใช้กฏและกฏหมาย รวมทั้งทำหน้าที่ติดตามตรวจสอบการดำเนินงานขององค์กรที่เกี่ยวข้องอื่นๆ

9.ผู้ทรงคุณวุฒิอิสระ

9.1 ที่มา ตามบทบัญญัติในมาตรา 303 เมื่อครบทุก 5 ปีหลังมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้มี คณะผู้ทรงคุณวุฒิอิสระ ขึ้นโดยมีที่มาจากการสรรหาโดย สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา คณะรัฐมนตรี ศาลฎีกา ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครองสูงสุด และองค์กรตามรัฐธรรมนูญซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ฝ่ายละหนึ่งคนรวมกันเป็น คณะผู้ทรงคุณวุฒิอิสระ

9.2 อำนาจหน้าที่ คณะผู้ทรงคุณวุฒิอิสระมีอำนาจหน้าที่ในการประเมินผลการบังคับใช้รัฐธรรมนูญ และหากคณะผู้ทรงคุณวุฒิอิสระมีความเห็นสมควรจะปรับแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้นำเสนอร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมนั้นเสนอต่อ คณะรัฐมนตรี วุฒิสภา และสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาตามกระบวนการต่อไป

10.คณะกรรมการอิสระเสริมสร้างความปรองดองแห่งชาติ

10.1 ที่มา ตามบทบัญญัติในมาตรา 297 ให้มี คณะกรรมการอิสระเสริมสร้างความปรองดองแห่งชาติขึ้น ประกอบด้วยสมาชิกจำนวนไม่เกินสิบห้าคน ซึ่งมาจากการแต่งตั้ง

10.2 อำนาจหน้าที่ คณะกรรมการอิสระเสริมสร้างความปรองดองแห่งชาติ มีอำนาจหน้าที่ในการจะศึกษา วิเคราะห์สาเหตุของความขัดแย้งในสังคมที่เกิดขึ้น เป็นคนกลางในการประสานความเข้าใจระหว่างสองฝ่าย ช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งและความรุนแรง จนกระทั่งเสนอชื่อบุคคลที่ได้สำนึกผิดต่อ คณะกรรมการอิสระเสริมสร้างความปรองดองแห่งชาติเพื่อให้ได้รับการอภัยโทษ ด้วยการตราพระราษกฤษฎีกาอภัยโทษ

11.ผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิมุษยชน

11.1 ที่มา ตามบทบัญญัติในมาตรา 311 ให้มีการยุบรวมองค์กรผู้ตรวจการแผ่นดิน และ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน เข้ารวมกันเป็น องค์กรผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิมนุษยชน โดยมีที่มาจากการสรรหาและแต่งตั้งจากวุฒสภาจำนวน 11 คนรวมเป็นผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิมนุษยชน

11.2 อำนาจหน้าที่ ผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิมนุษยชนมีอำนาจหน้าที่ในการปกป้องสิทธิมนุษยชนของพลเมือง และตรวจสอบการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนไม่ว่าจะจากเจ้าหน้าที่รัฐหรือจากพลเมือง ให้ติดตามการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ รวมถึงทุจริตต่อหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ มีอำนาจในการตรวจสอบบทบัญญัติหรือร่างกฏหมายต่างๆที่อาจจะขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนแล้วจึงยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความต่อไป

12.ศาลปกครองแผนกคดีวินัยการคลัง และ การงบประมาณ

12.1 ที่มา อาศัยความตามมาตรา 244 บัญญัติว่า ให้มีการตั้งศาลปกครองแผนกคดีวินัยการคลัง และการงบประมาณขึ้น ทั้งนี้รายละเอียดที่มาขององค์คณะ ให้เป็นไปตามที่กฏหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธิพิจารณาคดีปกครองบัญญัติ

12.2 อำนาจหน้าที่ ศาลปกครองแผนกคดีวินัยทางการคลัง และ การงบประมาณ มีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาคดีที่เกี่ยวข้องกับวินัยการคลัง และบุคคลผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยหากองค์กรอิสระต่างๆทำการสืบสวนจนพบหลักฐานหรือข้อมูลที่ทำให้เชื่อได้ว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้นกระทำความผิดทางวินัยการคลัง หรือการงบประมาณ ให้ยื่นเรื่องส่งฟ้องต่อศาลปกครองแผนกคดีวินัยทางการคลัง และการงบประมาณ โดยเมื่อพิจารณาถึงที่สุดแล้วหากจำเลยมีความผิดฐานกระทำความผิดทางวินัยการคลัง และการงบประมาณ ศาลอาจมีคำสั่งให้ถอดถอนออกจากตำแหน่งทางการเมือง และระบุโทษจำคุก รวมทั้งสามารถเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลย เพื่อให้เงินนั้นต่อคลังของประเทศด้วย

เหล่านี้เป็นตัวอย่างหนึ่งขององค์กรอิสระทั้งเก่าและใหม่ที่มีรายชื่ออยู่ในร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2558 ตามแนวทางของประธานยกร่างรัฐธรรมนูญที่เชื่อว่าโมเดลนี้จะนำไปสู่การสร้างพลเมืองเป็นใหญ่ หากแต่เมื่อพิจารณาแล้วก็จะเห็นว่าการมีส่วนร่วมของพลเมืองในองค์กรอิสระเหล่านี้นั้นดูจะน้อยเสียจนไม่น่าเชื่อว่าองค์กรเหล่านี้จะยึดโยงและรับใช้ประชาชนได้.