วันเสาร์, พฤษภาคม 02, 2558

ม.เที่ยงคืนจัด ‘พลเมืองมติ’ หวังสังคมร่วมแสดงความเห็นต่อร่าง รธน.โดยไม่ถูกอำนาจใดคุกคาม


สรุปผลการลงคะแนนพลเมืองมติในครั้งแรกนี้ มีผู้ร่วมลงคะแนนทั้งสิ้น 55 คน โดยมีผู้ลงคะแนนเห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญจำนวน 8 คะแนน คิดเป็น 14.5% และมีผู้ลงคะแนนไม่เห็นด้วย จำนวน 47 คะแนน คิดเป็น 85.5% ในจำนวนนี้มีผู้เห็นควรให้นำรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 กลับมาใช้บังคับจำนวน 34 เสียง และให้ใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 จำนวน 4 เสียง

ที่มา ประชาไท

ม.เที่ยงคืน จัดกิจกรรม “พลเมืองมติ” เปิดให้นักศึกษา อาจารย์ และพลเมืองทั่วไปได้มาร่วมกันลงคะแนนเสียงแสดงความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบต่อร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2558




1 พ.ค. 2558 ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทางมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ร่วมกับศูนย์วิจัยและพัฒนากฎหมาย คณะนิติศาสตร์ ได้จัดกิจกรรม “พลเมืองมติ” ต่อร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2558 โดยเปิดให้นักศึกษา อาจารย์ และพลเมืองทั่วไปได้มาร่วมกันลงคะแนนเสียงแสดงความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับซึ่งได้มีการนำเสนอในที่ประชุมของสภาปฏิรูปแห่งชาติในช่วงปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา

กิจกรรมมีการตั้งคูหาลงคะแนนเสียงในบริเวณชั้น 1 ของคณะนิติศาสตร์ และเปิดให้ลงคะแนนตั้งแต่เวลา 12.00 น. ถึง 15.00 น.โดยให้ผู้ร่วมลงคะแนนได้แสดงความเห็นว่าเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบต่อร่างรัฐธรรมนูญ และถ้าไม่เห็นชอบ เห็นควรให้ใช้รัฐธรรมนูญฉบับใดมาแทน จากนั้นจึงมีการนับและสรุปผลคะแนน

โดยสรุปผลการลงคะแนนพลเมืองมติในครั้งแรกนี้ มีผู้ร่วมลงคะแนนทั้งสิ้น 55 คน โดยมีผู้ลงคะแนนเห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญจำนวน 8 คะแนน คิดเป็น 14.5% และมีผู้ลงคะแนนไม่เห็นด้วย จำนวน 47 คะแนน คิดเป็น 85.5% ในจำนวนนี้มีผู้เห็นควรให้นำรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 กลับมาใช้บังคับจำนวน 34 เสียง และให้ใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 จำนวน 4 เสียง

สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้เป็นตัวแทนกล่าวแถลงว่าการลงคะแนน “พลเมืองมติ” ครั้งนี้ เป็นการจัดขึ้นเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการผลักดันให้เกิดการแสดงความเห็น การแลกเปลี่ยน และวิพากษ์วิจารณ์ต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้อย่างกว้างขวางมากขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมา กระบวนการจัดทำและดำเนินการ รวมทั้งบรรยากาศทางการเมืองไม่เปิดโอกาสให้มีการแสดงความคิดเห็นได้อย่างเสรี

ด้วยตระหนักว่ารัฐธรรมนูญคือกติกาในการกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนกลุ่มต่างๆ ในการต่อรอง แข่งขัน และตัดสินในประเด็นปัญหาอันหลากหลาย ดังนั้นการแสดงความเห็นจากผู้คนต่อร่างรัฐธรรมนูญจึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง

กิจกรรมนี้หวังว่าจะช่วยทำให้แต่ละฝ่ายได้แสดงความเห็นและผลักดันความต้องการในการสร้างกติกาทางสังคมของตนเองออกมาอย่างกว้างขวาง และโดยปราศจากการคุกคามไม่ว่าจะด้วยอำนาจหรืออิทธิพลของฝ่ายใดก็ตาม

สมชายยังระบุด้วยว่าถ้าร่างรัฐธรรมนูญออกมาชัดเจนมากขึ้น ข้อวิพากษ์วิจารณ์ของสังคมคงจะมีมากขึ้น และคนในสังคมควรจะร่วมกันแสดงความเห็นมากขึ้น โดยหวังว่าคณะนิติศาสตร์ในมหาวิทยาลัยต่างๆ อาจจะเป็นเจ้าภาพในการจัดกิจกรรมในลักษณะนี้ให้ขยายวงกว้างขวางออกไป