ที่มา ไทยโพสต์
15 พ.ค. 2558
เมื่อวันที่ 15พ.ค.58 รศ.พิเชษฐ เมาลานนท์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยญี่ปุ่นร่วมสมัย มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวถึงข้อมูลคดีแพรวาที่ศาลฎีกาไทยได้มีคำสั่งไม่รับฎีกา โดยวันต่อมามีสื่อมวลชนญี่ปุ่นได้นำไปทำเป็นข่าวเชิงวิพากษ์กระบวนการยุติธรรมไทยในภาพลบต่อระบบศาลและอัยการของไทย ว่าโจทย์ใหญ่ในสายตาญี่ปุ่นคือ คดีนี้มีคนตาย9ราย แล้วเหตุใดศาลฎีกาไทยจึงยืนตามศาลอุทธรณ์ ให้จำคุกจำเลยเพียง 2ปี และยังรอลงอาญาอีก4ปี ที่มีผลให้จำเลยไม่ต้องรับโทษใดๆ เพียงไม่ให้ขับรถจนอายุ25ปี โดยข่าวที่ญี่ปุ่นไม่ได้กล่าวเรื่องศาลไทย สั่งให้จำเลยบำเพ็ญสาธารณประโยชน์
รศ.พิเชษฐ กล่าวว่า นั่นคือสามัญสำนึกของพวกเขา เพราะศาลญี่ปุ่นมักตัดสินคดีอุบัติเหตุจราจรอย่างเข้มงวด โดยถือกันว่าคดีจราจรคือปัญหาร้ายแรงต่อสังคม ขณะสังคมอื่นๆ ศาลอาจมีจิตสำนึกที่ต่างไป ซึ่งในภาษาวิชาการเรียกกันว่า เป็นปัญหาว่าด้วย “Judicial Mentality”(จิตสำนึกของศาลในด้านสังคม) นักข่าวญี่ปุ่นยังไม่สนใจในปัจจัยที่ว่าจำเลยคดีนี้คือผู้เยาว์ และกระทำผิดครั้งแรก กฎหมายไทยจึงให้กรอบลงโทษไว้ต่ำ ซ้ำนักข่าวญี่ปุ่นก็ยังไม่สนใจด้วยว่า นี่คือคดีที่เหยื่อไม่อุทธรณ์ ศาลฎีกาไทยจึงต้องตัดสินไปตามข้ออุทธรณ์ของจำเลยเท่านั้น
รศ.พิเชษฐ กล่าวว่า เนื้อหาของนักข่าวญี่ปุ่นรายงานว่า นี่คือคดีที่เกิดเมื่อเดือนธันวาคม 2010 ซึ่งถ้าพิจารณาจากนามสกุล คนไทยย่อมรู้ว่าจำเลยเกิดในตระกูล“คนดัง”อันเป็นญาติกับผู้บริหารนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งหลังอุบัติเหตุ รูปจำเลยที่ยืนพูดมือถือ หลังพิงกำแพงทางด่วน ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ในสังคมไทย
นอกจากนี้สำนักข่าวญี่ปุ่นเขียนว่า ศาลเด็กและเยาวชนกลางไทย ตัดสินในปี 2012ว่าจำเลยขับรถประมาท เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายและบาดเจ็บ แต่ศาลไทยก็ลงโทษเพียง2ปีและรอลงอาญา3ปี บรรดาญาติมิตรของเหยื่อ ได้ยื่นอุทธรณ์เพราะเห็นพ้องกันว่าเป็นโทษที่เบาไป แต่สิ่งที่ศาลอุทธรณ์ของไทยให้ความยุติธรรม ก็เพียงแต่ขยายเวลารอลงอาญาจาก3 ปีเป็น4ปีเท่านั้น ถึงกระนั้น ฝ่ายจำเลยก็ยังเห็นว่าเป็นโทษที่“หนักไป”ต่อพวกเขา
สำนักข่าวญี่ปุ่นเขียนทิ้งท้ายรายงานไว้ว่า ถ้าคนใหญ่คนโตที่เมืองไทย หรือลูกเต้าเหล่าผู้มีอำนาจขับรถไปชนคนตาย คนเหล่านั้นก็มักไม่ต้องได้รับโทษอาญาในความจริง เช่น เมื่อปี 2012มีหนุ่มวัย 27หลานชายผู้ก่อตั้งกระทิงแดง(เครื่องดื่มบำรุงกำลัง) ขับเฟอร์รารี่ไปชนพลตำรวจตาย ขณะที่ตำรวจนั้นกำลังขี่มอเตอร์ไซด์ลาดตระเวน และหนุ่มนั้นยังขับหนี ซึ่งมีข้อสงสัยไม่น้อยว่าจะเป็นคดีเมาแล้วขับ แต่อัยการไทยกลับไม่ฟ้องคดี แม้จะผ่านมาราว3ปีแล้วก็ตาม
รศ.พิเชษฐ สรุปว่า กระบวนการยุติธรรมไทยอาจทำให้ชาวต่างชาติทำใจรับได้ยาก เพราะเขาดูเพียงที่ผลว่าจำเลยถูกลงโทษหนักเพียงใด โดยไม่คำนึงถึงข้อจำกัดใดๆ ในกฎหมาย คดีแพรวาอาจเป็นอีกเหตุหนึ่ง ซึ่งคนญี่ปุ่นอาจหวาดกลัวไม่มาเที่ยวหรือทำงานที่เมืองไทย เพราะอาจตายได้ฟรีๆ โดยที่กระบวนการยุติธรรมไทยไร้พลังจะบังคับใช้กฎหมายในสายตาพวกเขา นั่นคือภาพลบเชิงในจิตวิทยา ซึ่งหาได้พิจารณาจากเหตุผล แต่เราก็ห้ามใครไม่ให้เข้าใจผิดไม่ได้ โดยเฉพาะคนต่างชาติ ซึ่งหากพวกเขาเห็นภาพลบ ก็ย่อมยากที่จะเห็นภาพที่บวก