วันจันทร์, มีนาคม 09, 2558

ไม่ให้เสียของ ต่อท่ออำนาจ



ที่มา ไทยรัฐออนไลน์
โดย ไทยรัฐฉบับพิมพ์ 
8 มี.ค. 2558

เหล่าสปช.-ดาหน้าแจงสภาขับเคลื่อนปชป.-พท.แท็กทีมถล่ม กมธ.ยกร่างฯต่อท่ออำนาจ ตั้ง 2 องค์กรสานต่อปฏิรูป “นิพิฏฐ์” เย้ยแค่ สปช.-สนช. แปลงร่าง เตือนคสช.ระวังพัง “อ๋อย” จวกย้อนยุคเผด็จการไปไกล เปิดสาร พท.ชำแหละ รธน.ฉบับ “เรือแป๊ะ” นายกฯคนนอกมาแน่ ส.ว.ลากตั้งปล้นอำนาจประชาชนต้องปฏิวัติถึงฉีกรัฐธรรมนูญได้ แต่โพลเอาคนนอกฝ่าวิกฤติ ไม่เอา ส.ว.สรรหา “เทียนฉาย” ปัดไม่คิด ต่อท่ออำนาจ ต้องทำเพื่อไม่ให้ปฏิรูปเสียของสายทหารโต้มีแต่นักการเมืองที่ไม่พอใจ รับอยากเข้าไปนั่งสภาขับเคลื่อนฯสานงานต่อ สนช.ร่นวันเชือดอดีต 38 ส.ว.เร็วขึ้น “ปานเทพ” โยน “บิ๊กตู่” ชี้ขาดต่ออายุ ป.ป.ช. โฆษกรัฐบาลปัดนายกฯคุกคามสื่อ แค่ “สไตล์” ตรงไปตรงมา

หลังคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ตีตก ข้อเสนอนายเจษฎ์ โทณะวณิก กมธ.ยกร่างฯ ให้เว้นวรรคทางการเมืองแม่น้ำ 5 สาย พร้อมมีมติกำหนดให้มีสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ และคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปแห่งชาติ เพื่อเดินหน้าปฏิรูปให้บรรลุผล จนถูกหลายฝ่ายวิจารณ์ว่าเป็นการต่อท่ออำนาจ

“เทียนฉาย” ปัด สปช.ต่อท่ออำนาจ

เมื่อวันที่ 7 มี.ค. นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวถึงกรณีคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญกำหนดให้มีสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ จำนวน 120 คน โดยมีที่มาจาก สปช. 60 คน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) 30 คน และผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเชี่ยวชาญในการปฏิรูปด้านต่างๆ 30 คน ว่า ถือเป็นหลักการที่ใช้ได้ ไม่ได้เป็นการแปลงร่าง สปช.ให้อยู่ทำหน้าที่ต่อ เพราะมี สปช.เพียง 60 คนที่ไปทำหน้าที่ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศต่อ เนื่องจากไม่สามารถทำเรื่องปฏิรูปให้เสร็จได้ภายใน 1 ปี จึงต้องมีกลไกมาให้คำแนะนำ หรือกำกับรัฐบาลใหม่ที่จะมาดำเนินการเรื่อง ปฏิรูปต่อไป ซึ่งสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศไม่ได้ มีอำนาจอะไรมากมาย มีหน้าที่เพียงแค่การให้คำแนะนำ ปรึกษา เรื่องการปฏิรูปประเทศแก่รัฐบาลชุดใหม่เท่านั้น จึงไม่ใช่การเปิดช่องให้ สปช.มาสืบทอดอำนาจต่อ แต่เป็นเพียงการสานงานต่อเรื่องการปฏิรูป

อ้างต้องทำไม่ให้ปฏิรูปเสียของ

นายเทียนฉายกล่าวต่อว่า เหตุผลที่ต้องใช้สปช.เข้าไปเป็นสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ เพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง การปฏิรูปจะได้ไม่เสียของ หากใช้คณะกรรมการชุดใหม่มาทำจะไม่เกิดความต่อเนื่อง เกรงจะมีปัญหาเหมือนตอนยกร่างรัฐธรรมนูญปี 50 ที่ระบุว่าให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกกฎหมายลูกประกอบรัฐธรรมนูญหลายฉบับ แต่ สุดท้ายก็ไม่สามารถทำได้ ส่วนการเขียนบทเฉพาะกาลให้ สปช.และ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ชุดปัจจุบัน สิ้นสุดอายุลงในวันเปิดประชุมรัฐสภาครั้งแรก จากเดิมที่กำหนดให้พ้นวาระหลังจากรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ประกาศใช้นั้น ยังไม่สามารถพูดอะไรได้ เพราะยังไม่ทราบรายละเอียด

โต้มีแต่นักการเมืองไม่พอใจ

พล.ท.นาวิน ดำริกาญจน์ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า อย่ามองกันด้านเดียวว่าการมีองค์กรดังกล่าวขึ้นมา เพื่อเป็นการต่อท่ออำนาจ เพราะถ้าไม่มีบทเฉพาะกาลไว้พอเลือกตั้งก็ไม่เคยมีใครสานต่อ มีตัวอย่างกรณีรัฐธรรมนูญปี 50 มาแล้ว จริงๆ เรามาทำแค่ชั่วประเดี๋ยวประด๋าว เพียงวางโครงสร้างเพื่อให้การปฏิรูปเดินต่อได้เท่านั้น พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญก็ยังไม่เห็น การแต่งตั้งประธานอนุกรรมาธิการที่เข้ามาเขียน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญในเรื่องนี้ก็ยังไม่ทำ ถ้าเห็นข้อกำหนดราย– ละเอียดชัดเจนแล้วค่อยมาติงว่าต่อท่ออำนาจหรือไม่ แต่อย่าไปคิดด้านเดียว ตนก็เหนื่อยเหมือนกันไม่ว่าจะเขียนมาตราใดถูกด่าหมด ได้แต่ก้อนหิน เท่าที่ดูประชาชนก็เข้าใจ มีแต่นักการเมืองเท่านั้นที่ออกมาติติง

อยากสานต่อนั่งสภาขับเคลื่อนฯ

พล.ท.นาวินกล่าวต่อว่า ยอมรับว่าถูกนัก การเมืองด่า เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้สร้างกลไกที่ทำให้นักการเมืองที่มีพฤติกรรมแบบในอดีตทำงานยากในอนาคต ถามว่าส่วนตัวอยากเข้าไปสานงานในสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศไหม ซึ่งใช่ว่าใครอยากเป็นแล้วจะได้เป็นเสมอไป ต้องดูตัว พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญด้วย ว่ารายละเอียดการสรรหา คุณสมบัติที่มา วาระการดำรงตำแหน่ง เหมาะสมกับบุคคลนั้นไหม ถ้าถามตนก็อยากสานต่องานที่ทำมาเองกับมือให้จบ อยากเห็นประโยชน์ที่เราใส่เข้าไปให้ประชาชน บรรลุผลิดอกออกผลอย่างจริงจัง

ต้องเฟ้นคนไม่อิงแอบการเมือง

นายวันชัย สอนศิริ โฆษกวิป สปช. กล่าวว่า ต้องยอมรับกันก่อนว่าการปฏิรูปประเทศไม่สามารถเสร็จสิ้นได้ในรัฐบาลนี้ทั้งหมด จึงเห็นด้วยที่ต้องมีคณะกรรมการชุดนี้มาสานงาน ไม่เช่นนั้นการปฏิรูปจะล้มเหลว คอยแต่จะนับหนึ่งใหม่ไปเรื่อย ที่สำคัญกระบวนการกลั่นกรองต้องหาบุคคลที่สังคมยอมรับ ไม่อิงแอบการเมือง ส่วนจะได้ทำหน้าที่กี่ยุคกี่สมัย หรือต้องให้เว้นวรรคทางการเมืองหรือไม่นั้น ส่วนตัวเห็นว่าไม่ควรให้เว้นวรรคคณะกรรมการชุดนี้ เพราะมีหน้าที่เพียงทำข้อเสนอด้านการปฏิรูปประเทศ ไม่ได้มีอำนาจทางการเมือง และไม่น่าเกี่ยวข้อง หรือมีบทบาทกับการใช้อำนาจรัฐ

แค่ถ่วงดุลไม่ใช่สืบทอดอำนาจ

นายเกรียงไกร ภูมิเหล่าแจ้ง สปช. กล่าวว่า ที่ผ่านมานักการเมืองระดับชาติ หรือพรรคการเมืองไม่ว่าพรรคไหน เมื่อเข้ามาเป็นรัฐบาลมักใช้อำนาจหน้าที่แสวงหาอำนาจ เอื้อประโยชน์ให้ตัวเองและ พวกพ้อง การกำหนดให้มีสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศและคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปแห่งชาติ จึงถือเป็นเรื่องดีที่จะมีองค์กรใหม่มาทำหน้าที่ปฏิรูปต่อให้สำเร็จ ตามที่ คสช.ตั้งเป้าหมายไว้ ถือเป็นองค์กรถ่วงดุลอำนาจหนึ่ง ไม่ใช่การสืบทอดอำนาจอย่างที่เข้าใจ เชื่อว่าใน สปช.และ สนช.ยังมีคนดีๆที่มีความรู้ความสามารถ เป็นกลางและเป็นธรรมเข้ามาทำหน้าที่นี้ได้ แต่ขอให้กรรมการที่คัดสรรเลือกคนดีจริง มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ต่อสังคมเท่านั้น

นัดฟังรายงานชุดยกร่าง รธน.

ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภาว่า นายเทียนฉาย มีคำสั่งนัดประชุม สปช. วันที่ 9-10 มี.ค. เพื่อพิจารณารับทราบรายงานความคืบหน้าของ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ รายงานของ กมธ.ปฏิรูปการศึกษาและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เรื่อง ยุทธศาสตร์การปฏิรูปการศึกษาและการพัฒนามนุษย์ รายงานของ กมธ. การปฏิรูปทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง การปฏิรูประบบการผังเมืองและการใช้พื้นที่ (การปฏิรูปโครงสร้างองค์กร) นอกจากนี้ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ จะรายงานความคืบหน้าของ กมธ.ยกร่างฯด้วย

สนช.ลุยฟังเสียงชาวนราธิวาส

วันเดียวกันที่ จ.นราธิวาส นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พร้อมสมาชิก สนช. กว่า 20 คน อาทิ นายกล้านรงค์ จันทิก พล.อ.อ.อาคม กาญจนหิรัญ พล.อ.อ.ธงชัย แฉล้มเขตร ลงพื้นที่พบประชาชนที่ตลาดกลางการเกษตรเพื่อการส่งออก อ.ยี่งอ ด่านศุลกากรตากใบ และสุไหงโก-ลก รวมถึงโครงการก่อสร้างสะพานที่ แม่น้ำตากใบ ตามโครงการ สนช.พบประชาชนครั้งที่ 2 ที่ จ.นราธิวาส เพื่อรับฟังปัญหาของประชาชนในพื้นที่ เรื่องการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ และการแก้ไขปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยนายพีระศักดิ์กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศอยู่ในภาวะไม่ปกติ มี คสช. ครม. สนช. สปช. และ กมธ.ยกร่างฯ เป็นแม่น้ำทั้ง 5 สาย ที่จะรวมกันเป็นแม่น้ำสายเดียวในการปฏิรูปประเทศ

เร่งเข็น ก.ม.ช่วงบ้านเมืองไม่ปกติ

นายพีระศักดิ์กล่าวอีกว่า ขณะนี้อยู่ในช่วงโรดแม็ประยะที่สอง ในฐานะที่ สนช.เป็นแม่น้ำสายหนึ่ง มีภารกิจต้องรับฟังความคิดเห็นและปัญหาของประชาชน จึงต้องลงพื้นที่รับฟังปัญหาคนในทุก พื้นที่ เพื่อนำปัญหาไปสู่การแก้ไขไปประกอบการพิจารณากฎหมาย ในภาวะ 1 ปี มีการเสนอกฎหมายจาก ครม.สูงมาก หากเป็นสถานการณ์ปกติอาจจะล่าช้า หรือไม่สามารถออกได้ แต่ช่วงนี้เป็นสถานการณ์ไม่ปกติ การออกกฎหมายจะง่ายและรวดเร็วขึ้น จึงเป็นโอกาสหากคนในพื้นที่ต้องการเสนอกฎหมายใดเพื่อช่วยแก้ปัญหา สามารถเสนอต่อ สนช.ได้

ดักคอแค่ สปช.–สนช.แปลงร่าง

ด้านนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า เคยวิเคราะห์มาก่อนหน้านี้แล้วว่า เมื่อ สปช. สนช. ทำหน้าที่เสร็จแล้ว คนเหล่านี้จะแปลงร่างเป็น 2 ส่วน คือ 1.ส่วนใหญ่ไปเป็น ส.ว.สรรหา ด้วยวิธีเลือกตั้งทางอ้อม ซึ่งเป็นได้ไม่หมด 2.จึงต้องตั้งองค์กรอะไรก็แล้วแต่จะตั้งชื่อ เพื่อรองรับคนเหล่านี้ แต่ที่ชัดเจนคือการเขียนอำนาจหน้าที่สภาขับเคลื่อนฯนี้น่าเกลียดมาก เพราะหลักการในระบอบประชาธิปไตยทั่วโลกไม่มีใครเขียนเพื่อรองรับอำนาจตัวเองหลังการร่างกติกาใหม่

ระบุสืบทอดอำนาจชัดเจน

นายนิพิฏฐ์กล่าวต่อว่า ไม่ปฏิเสธเรื่องการปฏิรูปต้องทำต่อให้เสร็จ เป็นหลักคิดที่ถูกต้อง และต้องเป็นพลวัตร แต่ควรให้มีการเลือกตั้งให้ได้รัฐบาลใหม่ก่อน แล้วค่อยทำการสรรหาสมาชิกสภาขับเคลื่อนฯนี้ หากเขียนเช่นนี้ที่สุดจะเกิดปัญหาการไม่ยอมรับ และเกิดความขัดแย้งซ้ำขึ้นอีก เพราะที่มาต่างกัน คนมาจากประชาชนกับ สปช.หรือ สนช.ที่แต่งตั้งมา เหตุใดจึงไม่เอาคนใหม่ๆ เข้ามาทำหน้าที่นี้บ้าง นอก จากนี้ กมธ.ยกร่างฯและ สปช.ที่จะอยู่ทำหน้าที่ต่อหลังจากรัฐธรรมนูญใหม่ใช้ไปแล้ว 7 เดือน ยังไม่เพียงพออีกหรือในการสานต่อการปฏิรูป ตนไม่ขัดขวางการปฏิรูป แต่การเขียนอย่างนี้ถือว่าทำเพื่อสืบทอดอำนาจชัดเจน

หวัง คสช.ไม่รับซิกหวั่นพังทั้งยวง

นายนิพิฏฐ์กล่าวว่า กรณีนี้ต้องให้ความเป็นธรรมต่อ คสช. เพราะเป็นเรื่องที่อยากได้ใคร่ดีของ กมธ.ยกร่างฯ สปช. และ สนช. ซึ่งเชื่อว่าที่สุดแล้วคสช.จะไม่รับแนวคิดนี้แน่นอน แต่คาดว่าจะเอาหลักการที่ต้องปฏิรูปต่อให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพราะหลายเรื่องที่ สปช.เสนอ คสช.ก็ไม่เอา แต่หาก คสช.รับสานต่อแนวคิดนี้เชื่อว่าจะเกิดปัญหาขึ้นแน่จากสาเหตุ 1.การไม่ยอมรับตัวบุคคล 2.จะเป็นชนวนเหตุของความขัดแย้งใหม่ ขัดต่อหลักอำนาจพิเศษที่มาขัด จังหวะรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งได้ ต้องไปให้เร็ว ที่สุดไม่เช่นนั้นเกิดปัญหา ส่วนมติ กมธ.ยกร่างฯที่ไม่รับข้อเสนอนายเจษฎ์ โทณะวณิก กมธ.ยกร่างฯ ในฐานะอนุ กมธ.ยกร่างบทเฉพาะกาล ที่เสนอให้แม่น้ำ 5 สาย เว้นวรรคทางการเมือง 2 ปี เป็นสิทธิ ของท่านและถือว่าจบไปในเรื่องนี้ แต่ที่หลายภาคส่วนเสนอแนะเพราะเกรงว่าจะเป็นข้อครหาว่าสืบทอดอำนาจ เป็นเรื่องที่สังคมไทยจะตัดสินซึ่งห้ามความคิดนี้ไม่ได้

“เกียรติ” ชี้เสียเงินเสียเวลา

นายเกียรติ สิทธีอมร รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า กมธ.ยกร่างฯต้องทำความกระจ่างให้ชัดเจนว่าตั้งองค์กรดังกล่าวขึ้นมาเพื่อวัตถุประสงค์อะไร ไม่ให้เกิดความเข้าใจผิดว่าสืบทอดอำนาจ เราพยายามปฏิรูปเพื่อแก้ปัญหาอะไร ปัญหาที่นำไปสู่วิกฤติจริงๆของไทย คือ การไม่ปฏิบัติตามกฎหมายที่มีอยู่ และการใช้อำนาจโดยมิชอบ ต้องถามว่าสภาขับเคลื่อนฯนี้จะช่วยแก้ปัญหาตรงไหนหรือไม่ ถ้าเรายังคิดแก้วิกฤติชาติด้วยการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทุกครั้ง ก็คงยาก ส่วนตัวเห็นว่าสิ่งที่ กมธ.ยกร่างฯทำไปไกลเกิน ไม่ว่าจะเป็นที่มา ส.ส. และ ส.ว. ที่สุดแล้วเรื่องนี้ต้องให้คนเขียนเป็นคนอธิบาย เพราะต้องมีงบประมาณใช้จ่าย หากอำนาจหน้าที่ไม่ชัดเจนก็เสียเงิน เสียเวลา ไม่ได้ผลอะไร เพราะเบื้องต้นยังมองไม่เห็นว่ามีสภาขับเคลื่อนฯมาเพื่อวัตถุประสงค์อะไร เป้าหมายคืออะไร

ตะเพิดมี รธน.แล้วจะอยู่ทำไม

เมื่อถามว่า กมธ.ยกร่างฯมีมติให้ สปช.และ กมธ.ยกร่างฯทำงานต่อไปอีก 7 เดือน จนกว่าเปิดประชุมรัฐสภาครั้งแรกถือเป็นการสืบทอดอำนาจหรือไม่ นายเกียรติตอบว่า ประเด็นอยู่ที่การตั้ง สปช.ขึ้นมา เพื่อให้มาคิดเรื่องปฏิรูป ไม่ได้บอกให้ทำ จึงควรไปคิดว่าทำอย่างไรนโยบายพรรคการเมืองจึงจะไม่ออกนอกลู่นอกทาง แต่กังวลว่าในที่สุดแล้วเราได้อะไรที่ชัดเจนจาก สปช. ที่จะป้องกันไม่ให้เกิดวิกฤติซ้ำขึ้นอีก สังคมไทยอยากเห็นสิ่งที่เป็นรูปธรรม และอยากถาม กมธ.ยกร่างฯว่าอยู่ต่อเพื่อ อะไร ทำไม ในวันที่ได้รัฐธรรมนูญใหม่แล้ว หน้าที่จบแล้ว ถ้ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ออกมาแล้วแก้ไขปัญหาได้จริง คนส่วนใหญ่เห็นชอบแน่

“อ๋อย” สวดย้อนยุคเผด็จการไปไกล

ด้านนายจาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า เท่าที่ดูเนื้อหาร่างแรกของ กมธ.ยกร่างฯ โดยรวมไม่เป็นประชาธิปไตย จำกัดอำนาจประชาชน เห็นชัดเจนว่าประชาชนไม่มีอำนาจเลือกผู้ออกกฎหมายและบริหารประเทศ การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นจึงไม่มีความหมาย เพราะผู้มาจากการเลือกตั้งทำอะไรไม่ได้ ต้องอยู่ภายใต้การกำหนดควบคุมของผู้ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ไม่สามารถออกนโยบายอะไรได้ ที่สำคัญยังเขียนรัฐธรรมนูญไม่ให้มีการแก้ไขได้ ต้องรอวันฉีกทิ้งเท่านั้น เป็นการวางแนวทางรัฐธรรมนูญคล้ายคลึงกับสมัยรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ที่ผ่านมาแล้ว 30 ปี แต่ดูเหมือนจะเลวร้ายกว่าเพราะย้อนหลังไปมากกว่า 30 ปี ซึ่งไม่ใช่รัฐธรรมนูญครึ่งใบ แต่เรียกว่ารัฐธรรมนูญเผด็จการ การตั้งสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศและคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปแห่งชาตินั้น เป็นเพียงการสืบทอดอำนาจให้กับผู้ที่มีส่วนร่วมกับการรัฐประหาร เพื่อกำหนดความเป็นไปของบ้านเมือง โดยไม่ให้ประชาชนมีสิทธิมีเสียง

เย้ยหรือไม่มั่นใจว่าปฏิรูปสำเร็จ

นายสามารถ แก้วมีชัย อดีต ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย กล่าวการเสนอให้มีสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศและคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปแห่งชาติ แสดงว่าการปฏิรูปการเมืองขณะนี้ไม่ประสบความสำเร็จ ถึงต้องมีองค์กรดำเนินการต่อ รวมทั้งไม่ไว้วางใจว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจะให้ความสำคัญในเรื่องนี้ จึงมองว่าเป็นการตั้งองค์กรเพื่อสืบทอดอำนาจตัวเอง เพราะองค์ประกอบของสภาฯนี้ มาจาก สปช. สนช. รวมถึง กมธ.ยกร่างฯ เป็นองค์กรที่ไม่น่าตั้งขึ้น เพราะมีหลายองค์กรอยู่แล้ว ทั้งสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ สมัชชาพลเมือง หากมั่นใจบทหลักของรัฐธรรมนูญว่าจะนำไปสู่การปฏิรูป ก็ไม่มีความจำเป็นต้องมีสภาฯอะไรขึ้นมาอีก

ฟังไม่ขึ้นข้ออ้างขอต่ออายุ

นายสามารถยังกล่าวถึงกรณี สปช. กมธ.ยกร่างฯ จะขอต่ออายุตัวเองไปอีก 7 เดือน โดยอ้างว่าเพื่อจัดทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายอื่นที่จำเป็นให้เสร็จก่อนวันเปิดประชุมรัฐสภาครั้งแรกว่า เท่าที่ติดตามมีการทำกฎหมายลูกควบคู่ไปกับการยกร่างรัฐธรรมนูญ เช่น พ.ร.บ.สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติก็ร่างเสร็จแล้ว ดังนั้นอะไรที่ต้องทำควรเตรียมการร่างไว้แล้วไม่จำเป็นต้องต่ออายุ ทำแบบนี้ทำให้ภาพลักษณ์ สปช. สนช. เสียหาย เหมือนที่ตั้งลูก เมีย ญาติพี่น้องเข้ามาทำงาน ทำให้ถูกมองว่าทุกหน่วยงานอยากสืบทอดอำนาจตัวเองทั้งนั้น

พท.ชำแหละ รธน.ฉบับ “เรือแป๊ะ”

ผู้สื่อข่าวรายงานจากพรรคเพื่อไทยว่า ภายหลังการปฏิวัติ 22 พ.ค.2557 ระยะหนึ่ง พรรคเพื่อไทยได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อติดตามการปฏิรูปของ คสช. รวมทั้งการร่างรัฐธรรมนูญของ กมธ.ยกร่างฯ เบื้องต้นหลังจากมีการสรุปร่างแรกของกมธ.ยกร่างฯออกมาแล้ว ทางพรรคเพื่อไทยเตรียมเปิดเผยสารพรรคเพื่อไทย “วิพากษ์รัฐธรรมนูญ 2558” โดยมี 6 ประเด็นหลัก ประกอบด้วย 1.นายกฯคนนอก เป็นการเปิดช่องให้นายกฯไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ขัดต่อเจตนารมณ์หลักการปกครองระบอบประชาธิปไตย ที่ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย เป็นผู้มีอำนาจสูงสุด เอาอำนาจนอกระบบมาควบคุมอำนาจที่มาจากประชาชน การอ้างว่านายกฯคนนอกจะมาเฉพาะสถานการณ์วิกฤตินั้น นำมาซึ่งปัญหามากมายในการตีความว่าอะไรคือสถานการณ์วิกฤติ อาจเปิดช่องให้มีการสืบทอดอำนาจโดยอ้างเรื่องนี้ ขณะเดียวกันระบบการเลือกตั้งใหม่ ทำให้พรรคการเมืองใหญ่อ่อนแอลง อาจไม่มีพรรคใดได้เสียงข้างมากจัดตั้งรัฐบาลได้ จึงเป็นเงื่อนไขนำคนนอกมาเป็นนายกฯได้โดยง่าย

ส.ว.ลากตั้งปล้นอำนาจประชาชน

2.ที่มา ส.ว. การกำหนดให้ ส.ว.ทั้งหมดมาจาก การสรรหา ทำให้ขาดการมีส่วนร่วมยึดโยงประชาชน การอ้างว่ามาจากการเลือกตั้งทางอ้อม แท้จริงแล้วเป็นการเลือกจากตัวแทนกลุ่มผลประโยชน์ และจากข้าราชการเป็นหลัก เป็นการเอาอำนาจอธิปไตยของประชาชนไปให้กลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ 3.อำนาจ ส.ว. การให้อำนาจ ส.ว.ที่ไม่ได้มาจากประชาชน ตรวจสอบคุณสมบัติและถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชน จะก่อให้เกิดปัญหาและความขัดแย้ง และการให้ ส.ว.เสนอร่าง พ.ร.บ. รวมทั้งร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญได้ เท่ากับ ส.ว.เป็นผู้ใช้อำนาจนิติบัญญัติ ซึ่งเป็นอำนาจอธิปไตยของประชาชนได้เอง กลายเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย ทั้งที่ไม่ได้มาจากประชาชน ซึ่งจะเกิดความไม่สมดุลทางอำนาจบริหาร ตุลาการ นิติบัญญัติ เมื่อเอา ส.ว.มารวมกับเสียงฝ่ายค้านอีกไม่เท่าไหร่ ก็สามารถล้มรัฐบาลได้ สรุปคือ ส.ว.เป็นผู้ที่มีอำนาจสูงสุด ทั้งที่ไม่ได้มาจากประชาชน

ศึกซักฟอกเปิดช่องต่อรองกันนัว

4.แพ้ซักฟอกต้องยุบสภาฯ การกำหนดให้สภาฯต้องสิ้นสุดลงหาก ส.ส.ลงมติไม่ไว้วางใจนายกฯ ใช้ไม่ได้ผลในเชิงการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ แต่จะทำให้พรรคร่วมรัฐบาลมีอำนาจต่อรองเพื่อตำแหน่งและผลประโยชน์ทางการเมืองสูง เป็นการกำหนดที่ผิดหลักสากล เอาฝ่ายนิติบัญญัติไปผูกติดฝ่ายบริหาร อาจส่งผลให้ ส.ส.ลงคะแนนไว้วางใจโดยขัดต่อความต้องการ เพราะไม่อยากให้สภาฯสิ้นสุด ต้องไปเลือกตั้งกันใหม่

วางกับดักเจตนาตอนพรรคใหญ่

5.การเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญใหม่ การใช้ระบบผสมโดยให้คะแนนระบบบัญชีรายชื่อเป็นตัวกำหนดจำนวน ส.ส. จะทำให้เกิดรัฐบาลผสมหลายพรรค ขาดเสถียรภาพ การลดจำนวน ส.ส.เขตเหลือเพียง 250 คน ส่งผลให้เขตเลือกตั้งมีขนาดใหญ่เกินไป ไม่เหมาะกับจำนวนราษฎรในประเทศ เจตนาที่แท้จริงเพียงเพื่อต้องการลดจำนวน ส.ส.ของพรรคที่มีคะแนนนิยมสูง ส่วนการแบ่งที่มาเขตเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อเป็น 6 ภาค ให้เป็นจังหวัดที่มีพื้นที่ติดต่อกัน โดยไม่คำนึงถึงจำนวนประชากร จะทำให้เกิดการลักลั่น เพราะจำนวน ส.ส.ไม่เท่ากันในแต่ละภาค และการกำหนดว่าผู้สมัคร ส.ส.ไม่ต้องสังกัดพรรคการเมือง เป็นการทำลายระบบพรรคการเมืองให้อ่อนแอ ก่อให้เกิดพรรคหรือกลุ่มขนาดเล็กจำนวนมาก และมีอำนาจต่อรองสูง ก่อให้เกิดความไม่มีเสถียรภาพของรัฐบาล

ต้องปฏิวัติถึงฉีกรัฐธรรมนูญได้

และ 6.การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ การกำหนดให้เสียงเห็นชอบในการแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของ 2 สภา เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ยาก เพราะ ส.ว.ทั้งหมดมาจากการสรรหา เมื่อร่วมกับฝ่ายค้านไม่กี่เสียง ก็ทำให้ไม่สามารถแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้เลย และการกำหนดให้การแก้ไขสาระสำคัญของรัฐธรรมนูญต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยก่อนนั้น จะทำให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจสูงและเบ็ดเสร็จ เหล่านี้ส่งผลให้การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแทบเป็นไปไม่ได้ ซึ่งการกำหนดไม่ให้แก้ไขรัฐธรรมนูญที่ไม่สมบูรณ์นี้ หรือแก้ไขได้ยาก จะนำไปสู่การใช้อำนาจนอกระบบมาฉีกรัฐธรรมนูญอีกครั้ง

โพลเอานายกฯคนนอกผ่าวิกฤติ

ขณะที่กรุงเทพโพลเปิดผลสำรวจความคิดเห็นประชาชน “คะแนนนิยมพรรคการเมืองไทย หลังถอดถอนนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จากคดีจำนำข้าว” จากประชาชนทั่วประเทศ 1,099 คน พบว่า คะแนนนิยมพรรคประชาธิปัตย์ อยู่ที่ร้อยละ 20.5 ลดลงจากผลสำรวจเมื่อเดือน ธ.ค.2557 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 27.4 พรรคเพื่อไทย อยู่ที่ร้อยละ 18.5 ลดลงจากครั้งก่อนที่ได้ ร้อยละ 26.9 เมื่อถามความเห็นเรื่องที่มานายกฯคนนอก ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งในภาวะที่ประเทศเกิดวิกฤติ ร้อยละ 59.4 บอกเห็นด้วย เพราะประเทศจะได้สงบ ลดความขัดแย้ง แต่ควรมีกรอบเวลาที่ชัดเจน มีร้อยละ 30 ที่ไม่เห็นด้วย เพราะนายกฯควรมาจากหัวหน้าพรรคการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง เมื่อถามถึงที่มา ส.ว.ทั้ง 200 คน จากการสรรหา ร้อยละ 69.2 ไม่เห็นด้วย ขณะที่ร้อยละ 18.3 เห็นด้วย และร้อยละ 12.5 ไม่แน่ใจ

ร่นวันลงมติเชือด 38 ส.ว.เร็วขึ้น

อีกเรื่อง นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ โฆษกวิปสนช.กล่าวถึงการพิจารณาคดีถอดถอนอดีต 38 ส.ว. กรณีแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องที่มา ส.ว.โดยมิชอบว่า ได้รับการประสานมาล่าสุดว่า จะขยับวันลงมติถอดถอนคดีดังกล่าวมาเป็นวันที่ 12 มี.ค. จากเดิมคือวันที่ 13 มี.ค. เนื่องจากวันที่ 13 มี.ค. รัฐบาลจะจัดประชุม ครม.สัญจร ที่ประชุม สนช.จึงเลื่อนวันลงมติให้เร็วขึ้น 1 วัน ซึ่งไม่ใช่เรื่องการเร่งรีบ หรือรวบรัดการลงมติแต่อย่างใด เพราะขยับเร็วขึ้นแค่วันเดียวคงไม่มีปัญหาอะไร ส่วนวันแถลงปิดสำนวนคดียังเป็นวันที่ 11 มี.ค.ตามเดิม ส่วนวิธีการลงมติวิป สนช.ได้ข้อสรุปว่า จะใช้วิธีลงมติเป็นรายบุคคล โดยแยกความผิดเป็น 4 ฐานความผิด ประกอบด้วย 1.กรณีการเข้าชื่อเสนอกฎหมายและลงมติในวาระ 3 จำนวน 2 คน 2.กรณีเข้าชื่อเสนอกฎหมายและลงมติในวาระ 1, 2 และ 3 จำนวน 22 คน 3.กรณีการเข้าชื่อเสนอกฎหมายและลงมติในวาระ 1 และ 3 จำนวน 13 คน 4.กรณีการเข้าชื่อเสนอกฎหมายและลงมติวาระ 2 เพื่อให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจของ สนช. และสะดวกต่อการนับคะแนน

แทงกั๊กต่ออายุ 5 เสือ ป.ป.ช.

นพ.เจตน์ยังกล่าวถึงการเสนอต่ออายุกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ว่า หากพิจารณาตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต มองว่า กระบวนการสรรหายังดำเนินการได้ เพราะเรายังใช้กฎหมาย ป.ป.ช.พิจารณาเรื่องถอดถอนได้เลย แต่ถ้าพิจารณาจากเหตุผลความจำเป็นเรื่องความต่อเนื่องในการพิจารณาคดี ตรงนี้ สนช.ไม่มีอำนาจหน้าที่ เพราะกำลังยกร่างรัฐธรรมนูญโดยไม่รู้ว่าหน้าตาจะออกมาเเบบใด ถ้าสรรหากรรมการ ป.ป.ช.ตอนนี้ เกรงว่ารายละเอียดในรัฐธรรมนูญใหม่ จะแตกต่างจากกติกาเดิม ดังนั้น การเว้นวรรคการสรรหาเพื่อรอคอยรัฐธรรมนูญใหม่ น่าจะเป็นวิธีการที่ถูกต้อง และให้เป็นเรื่องที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะพิจารณา

“ปานเทพ” โยนให้ “บิ๊กตู่” ชี้ขาด

นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธาน ป.ป.ช. กล่าวถึงการเสนอต่ออายุกรรมการ ป.ป.ช. 5 คน ที่จะหมดวาระดำรงตำแหน่งภายในปี 2558 ว่า เรื่องนี้ต้องรอการตัดสินใจของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. เป็นผู้ตัดสินใจ เชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์คงกำลังพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไร ขณะนี้ ป.ป.ช.ยังมีคดีที่ต้องดำเนินการต่อจำนวนมาก โดยเฉพาะคดีถอดถอนหลายเรื่องที่กำลังเข้าสู่การพิจารณาของ ป.ป.ช.ตามลำดับ ตลอดจนการแก้ไขกฎหมายต่างๆที่ยังไม่สมบูรณ์

โฆษก รบ.ปัดนายกฯคุกคามสื่อ

วันเดียวกัน ร.อ.นพ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ตำหนิคำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ที่ระบุว่าอยากชกปากนักข่าวที่ถามคำถามผลงานรัฐบาล ว่า นายกฯไม่มีเจตนาคุกคาม ด้วยสไตล์บุคลิกท่านที่เป็นคนตรงไปตรงมา ไม่มีอะไร แค่พยายามชี้ให้เห็นว่าสื่อไม่ได้ฟังรายละเอียดที่ได้ชี้แจงไปแล้ว มีการถามซ้ำใหม่ หลายอย่างนายกฯได้พูดออกไปมากมาย ผ่านหลายช่องทาง บางทีสื่อไม่ได้ฟังต้องมาอธิบายซ้ำ อาจทำให้หงุดหงิดบ้าง แต่นายกฯเข้าใจบทบาทสื่อเป็นอย่างดี และเคารพการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน

สั่งทำ “แท็บลอยด์” แจงผลงาน

ร.อ.นพ.ยงยุทธกล่าวต่อว่า ทีมโฆษกรัฐบาลกำลังปรับแนวทางการประชาสัมพันธ์ของรัฐบาล โดยมี ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ลงมากำกับ เพื่อเพิ่มช่องทางประชาสัมพันธ์ให้มากขึ้น ประชาชนบางส่วนที่ไม่ได้ติดตามข่าวใกล้ชิดจะได้รับรู้ว่ารัฐบาลกำลังทำอะไรให้ โดยนายกฯสั่งไปยังทุกกระทรวงให้จัดทำแอพพลิเคชั่นผ่านหน้าจอโทรทัศน์ และโทรศัพท์มือถือ โดยกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กำลังดำเนินการ และนายกฯยังสั่งทำแท็บลอยด์ เน้นงานรัฐบาลที่เกี่ยวข้องกับประชาชนโดยตรง มีอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์รับไปดำเนินการ ซึ่งนายกฯกำชับให้ใช้ภาษาที่ประชาชนอ่านแล้วเข้าใจง่าย ไม่ใช่ภาษาเทคนิคทางราชการ ซึ่งจะแจกจ่ายประชาชนตามสถานีรถไฟฟ้าและสะพานลอย

สปช.–สปท.ถกปฏิรูปพลังงาน

เมื่อเวลา 13.00 น. ที่โรงแรมเดอะ สุโกศล คณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง สปช. ร่วมกับสถาบันปฏิรูปประเทศไทย (สปท.) จัดสัมมนาและรับฟังความคิดเห็นประเด็นการปฏิรูปพลังงาน โดย น.ส.รสนา โตสิตระกูล กมธ.ปฏิรูปพลังงาน สปช. กล่าวว่า ประเด็นเรื่องสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ของรัฐบาลเป็นสิ่งที่ประชาชนให้ความสนใจมาก ซึ่งรัฐบาลมีความพยายามจะให้มีการพูดคุยกันระหว่างกระทรวงพลังงานกับภาคประชาชนอย่างเปิดเผยต่อสาธารณชนไปแล้ว โดยเมื่อวันที่ 6 มี.ค. รัฐบาลได้เชิญ 2 ฝ่ายมาพูดคุยกันอีกครั้งเพื่อหารือแลกเปลี่ยนข้อมูลความเห็นคิด ข้อเสนอแนะ และการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยมีความคืบหน้าให้ตั้งคณะทำงานขึ้นมา 3 คณะ ซึ่งแนวทางปฏิรูปพลังงาน ควรทำให้เสร็จในรัฐบาลชุดนี้ มิเช่นนั้นแนวทางที่ภาคประชาชนขับเคลื่อนมาจะสูญเปล่า

ชาวสวนยางโวย อ.ส.ย.หยุดรับซื้อ

ที่ จ.พัทลุง นายไพรัช เจ้ยชุม ประธานเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางพาราจังหวัดพัทลุง กล่าวถึงกรณีสถาบันวิจัยยางได้รับการประสานจากองค์การสวนยาง (อ.ส.ย.) ว่า อ.ส.ย.จะหยุดประมูลยางที่ตลาดกลางทุกแห่ง ตั้งแต่วันที่ 9 มี.ค. จะสร้างความเสียหายแก่ชาวสวนยางพาราอย่างมาก โดยเฉพาะ จ.พัทลุง ยังมียางแผ่นรมควันที่ยังไม่ได้นำมาขายต่ออ.ส.ย. ไม่น้อยกว่า 200,000 ตัน ตนและคณะกรรมการเครือข่ายฯจะจัดประชุมหารือปัญหาที่เกิดขึ้น พร้อมทั้งยื่นข้อเสนอไปยัง อ.ส.ย.และรัฐบาล ให้คำตอบโดยเร็ว มิฉะนั้นจะนำรถบรรทุกยางแผ่นไปจอดหน้าศาลากลาง จ.พัทลุง เพื่อให้นายวินัย บัวประดิษฐ์ ผวจ.พัทลุง ช่วยขายยางให้ ส่วนจะมีการเผายางบ้างหรือไม่นั้นจะมีการประชุมกันอีกครั้งหนึ่ง

อีกด้าน ที่หน้า อ.ส.ย.นาบอน จ.นครศรีธรรมราช คณะกรรมการและสมาชิกสหกรณ์จากเครือข่าย ฉวาง เครือข่ายนาบอน เครือข่ายทุ่งสง และเครือข่ายบางขัน กว่า 100 คน แต่งกายชุดดำเรียกร้องให้ อ.ส.ย.รับซื้อยางที่สหกรณ์นำไปขายทั้งหมด โดยนายประเสริฐ ทองเลี่ยมนาค ที่ปรึกษาสหกรณ์นิคมทุ่งสง อ.ทุ่งสง กล่าวว่า การแจ้งหยุดประมูลยางดังกล่าว เป็นไปอย่างกะทันหัน รัฐบาลควรหาทางนำยางไปใช้ในประเทศให้ได้ร้อยละ 60 และส่งออกร้อยละ 40 จะช่วยให้ราคายางสูงขึ้น 80-100 บาทโดยอัตโนมัติ