พรุ่งนี้มีงานรำลึก 99 ปี อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ที่ธรรมศาสตร์ ก่อนหน้านี้ดิฉันไม่เคยรู้จักอาจารย์ป๋วยเลย เคยได้ยินเพียงชื่อทั้งชื่อของท่านและชื่อ "หอสมุดป๋วย" ที่ธรรมศาสตร์ รังสิต และด้วยความที่ดิฉันไม่ใช่นักเศรษฐศาสตร์ ยิ่งไม่เคยได้ทราบคุณูปการของอาจารย์ป๋วยที่มีต่อวงการเศรษฐศาสตร์ของไทย
แต่ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ดิฉันมีโอกาสได้ทำวิจัยเกี่ยวกับนักเศรษฐศาสตร์พม่าคนหนึ่ง ศาสตราจารย์หล่ะมยิ้น (Hla Myint) ปัจจุบันอาจารย์พำนักกับหลานชายที่กรุงเทพฯ ท่านมีอายุ 95 ปีแล้ว ทุกครั้งที่ดิฉันไปสัมภาษณ์ท่านที่คอนโดข้างศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ อาจารย์จะเอ่ยขึ้นมาว่าครั้งหนึ่งท่านเคยได้ร่วมเรียนกับอาจารย์ป๋วย ที่ LSE
"Puay was a likable man. He performed very well at LSE. I feel sorry for what happened to him in Thailand" Hla Myint said.
เมื่อกลับมานั่งนึกถึงทั้งอาจารย์หล่ะมยิ้นและอาจารย์ป๋วยแล้ว ดิฉันมองว่าบุคคลทั้งคู่นี้มีชีวิตที่น่าสนใจ มีชีวประวัติที่ใกล้เคียงกัน สอบชิงทุนรัฐบาลไปเรียน LSE ได้เหมือนกัน เรียนจบปริญญาตรีแล้วต่อปริญญาเอกได้เลยทันทีเหมือนกัน มีอาจารย์ที่ปรึกษาที่ LSE คนเดียวกันคือฟรีดริช ฮาเยก (Friedrich Hayek นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลในปี 1974) และแต่งงานกับชาวอังกฤษเหมือนกัน (มาร์กาเร็ตของอาจารย์ป๋วย และโจแอนของอาจารย์หล่ะมยิ้น
แน่นอนว่าชีวิตของผู้ชายทั้งสองนี้ไม่ได้เหมือนกันไปเสียหมด...
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 LSE อพยพไปตั้งอยู่ที่เคมบริดจ์ชั่วคราว เพราะลอนดอนในเวลานั้นถูกระเบิดอย่างหนัก ในขณะที่ "นายเข้ม เย็นยิ่ง" เลือกทำงานลับให้กับเสรีไทย หล่ะมยิ้นใช้ช่วงเวลาที่เคมบริดจ์ทำความรู้จักกับปราชญ์คนสำคัญอย่างเจ.เอส. เฟอร์นิวอลล์ และซึมซับแนวคิดประวัติศาสตร์และเศรษฐศาสตร์มาจากเฟอร์นิวอลล์
เมื่อสำเร็จการศึกษา อาจารย์ป๋วยกลับไปทำงานให้กับกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย หล่ะมยิ้นเลือกที่จะเข้าสู่วงการการศึกษาในทันที เขาได้รับตำแหน่งศาสตราจารย์เมื่อมีอายุเพียง 26 ปี และรับตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยย่างกุ้งตั้งแต่อายุยังไม่ถึง 30 เพราะมหาวิทยาลัยย่างกุ้งในเวลานั้นถูกทำลายอย่างหนัก อาจารย์ชาวต่างชาติเดินทางหลบหนีไปอยู่ที่อื่นเกือบหมด เขาจึงต้องเป็นเสาหลักให้มหาวิทยาลัยฯอย่างหลีกเลี่ยงมิได้
อาจารย์ป๋วยเริ่มชีวิตการเป็น "ครู" ที่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่ออายุ 48 ปี และรับราชการในธรรมศาสตร์จนได้รับตำแหน่งอธิการบดีในปี 2518 (ค.ศ.1975)
อีกสิ่งหนึ่งที่นักเศรษฐศาสตร์ชั้นครูทั้งสองนี้มีเหมือนกันคือชะตากรรมที่ถูกเผด็จการกระทำย่ำยี หล่ะมยิ้นนั้นเดินทางออกจากพม่าด้วยความจำเป็นเพราะเขา "หมดหวัง" กับการศึกษาระดับสูงในมหาวิทยาลัยพม่าที่ตกต่ำลงอย่างยิ่ง (เพราะรัฐบาลสั่งให้รับนักศึกษาเพิ่มขึ้นเพื่อที่จะได้มีเงินมาบำรุงมหาวิทยาลัยเพิ่มขึ้น) และเดินทางไปสอนที่อ๊อกฟอร์ดต่อด้วย LSE หลังนายพลเนวินทำรัฐประหารในปี 1962 ไม่นาน อีกไม่กี่ปีต่อมา มารดาของเขาป่วยใกล้เสียชีวิต แต่เผด็จการเนวินปฏิเสธไม่ยอมออกวีซ่ากลับพม่าให้กับหล่ะมยิ้น โดยอ้างว่าหล่ะมยิ้นเป็นคนต่างชาติ (เพราะเขามีหนังสือเดินทางของอังกฤษ) และพม่าไม่ต้อนรับนักวิชาการ "หัวฝรั่ง"
ส่วนชะตากรรมของอาจารย์ป๋วยนั้น คงไม่ต้องพูดอะไรมาก เพราะหลังเหตุการณ์สังหารหมู่นักศึกษาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 อาจารย์ป๋วยประกาศลาออกจากตำแหน่ง และกลับไปใช้ชีวิตที่ลอนดอนจวบจนถึงแก่กรรม
อย่างไรก็ดี สิ่งที่เกิดขึ้นกับทั้งอาจารย์ป๋วยและอาจารย์หล่ะมยิ้น ผู้ที่มีชีวิตในหลายช่วงคาบเกี่ยวกัน รู้จักกัน เป็นเพื่อนกัน และต้องมาประสบอุบัติภัยทางการเมืองคล้าย ๆ กัน อาจเรียกว่าเป็นโศกนาฎกรรม ทำให้ดิฉันคิดได้ว่าประเทศนี้ไม่ได้ต้องการคนเก่งหรือคนซื่อตรงอะไรหนักหนา เพียงแต่ต้องการคนที่มีความคิดและการแสดงออกโอบรับกับระบอบศักดินาได้มากกว่าอย่างอื่น ทั้งประเทศไทยกับพม่าจึงจมอยู่กับปลักอดีต แบบที่ยากจะฉุดออกมาได้ แต่อย่างน้อยก็เป็นที่น่าชื่นใจว่าบุคคลทั้งสองนี้ในปัจจุบันมีความสำคัญกับทั้งไทยและพม่าในฐานะ "รัฐบุรุษ" และผู้วางพื้นฐานให้กับคณะเศรษฐศาสตร์ ของทั้งธรรมศาสตร์และมหาวิทยาลัยย่างกุ้ง
ขอรำลึกถึงอาจารย์ป๋วย และขอแสดงมุทิตาต่อ "สะยาจี" (อาจารย์ใหญ่) หล่ะมยิ้น มา ณ โอกาสนี้
*ขออนุญาตแทคอาจารย์ Jon Ungphakorn เพื่อเล่าสู่กันฟังด้วยนะคะ*
ที่มา FB Lalita Hanwong