ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 06 มีนาคม พ.ศ. 2558
มติชนสุดสัปดาห์ 27 กุมภาพันธ์ - 5 มีนาคม 2558
"เสรีภาพ ก็คือ สิทธิที่จะบอกว่าเราไม่ต้องการได้ยินอะไร"
จอร์จ ออร์เวล
นักเขียนชาวอังกฤษ
เค้าลางของ "พายุ" ในการเมืองไทยเริ่มก่อตัวขึ้นแล้ว...
งานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ ครั้งที่ 70 เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา กำลังส่งสัญญาณถึงบทบาทของขบวนนิสิตนักศึกษากับการเมืองไทยครั้งใหม่
หลายคนอาจจะคิดว่าขบวนนิสิตนักศึกษาไทยห่างหายไปจากสังคมนาน จนบางคนถึงกับรู้สึกว่า ขบวนนิสิตนักศึกษาไทยสิ้นสุดบทบาทในการเมืองไปแล้ว
ซึ่งว่าที่จริงอาจจะต้องยอมรับว่า ขบวนการเมืองทุกขบวนมียุคสมัยของตนเอง และขับเคลื่อนภายใต้บริบทสังคมการเมืองในแต่ละช่วงเวลาที่แตกต่างกัน
ดังนั้น จึงไม่จำเป็นว่าขบวนนิสิตนักศึกษาในปัจจุบันจะต้องเหมือนกับขบวนในยุค 14 ตุลาคม 2516 และยุค 6 ตุลาคม 2519
ซึ่งก็หมายความว่าขบวนนักศึกษาในยุคดิจิตอลก็มีบริบทการเคลื่อนไหวเป็นของตนเอง
และยิ่งหลังจากการรัฐประหารพฤษภาคม 2557 แล้ว ลักษณะของการเคลื่อนไหวของกลุ่มนิสิตนักศึกษามีความน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง
ไม่ว่าจะเป็นการรับประทานแซนด์วิชในที่สาธารณะ
หรือการอ่านหนังสือเรื่อง "1984" ของ จอร์จ ออร์เวล
หรือการชู "3 นิ้ว" เหมือนในภาพยนตร์เรื่อง The Hunger Game ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการแสดงออกทางการเมือง
แต่ว่าที่จริง ความน่าสนใจไม่ได้เกิดจากเพียงการประท้วงในรูปแบบใหม่ๆ ที่ทำให้สังคมตะวันตกหรือผู้สื่อข่าวต่างประเทศต้องให้ความสนใจเท่านั้น
แต่ปัญหาของการเป็นข่าวส่วนหนึ่งเกิดจากท่าทีของรัฐบาลทหารที่ "รับไม่ได้" กับการแสดงออกดังกล่าว จนนำไปสู่การจับกุมและเรียกรายงานตัว...
ลม "พายุการเมือง" ลูกใหม่ค่อยๆ เริ่มก่อตัวขึ้นอย่างชัดเจน
ความพยายามในการควบคุมการแสดงออกในที่สาธารณะของรัฐบาลไทยทำให้การประท้วงของนักศึกษาในรูปแบบใหม่มีความหมายขึ้น
ดังจะเห็นได้จากรายงานของสื่อต่างประเทศที่กล่าวว่า การรับประทานแซนด์วิชในที่สาธารณะกลายเป็นความผิดทางกฎหมาย...
การอ่านหนังสือเรื่อง 1984 ก็กลายเป็นความผิดกฎหมาย...
การชู 3 นิ้วเหมือนในภาพยนตร์ก็กลายเป็นความผิดทางกฎหมายไม่แตกต่างกัน
ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเช่นนี้ทำให้เกิดภาพลักษณ์ว่าความผิดทางกฎหมายของการแสดงออกในที่สาธารณะในระบอบการปกครองของทหารหลังจากรัฐประหารที่กรุงเทพฯ ในปี 2557 ไม่ใช่แค่เพียงเรื่องของการละเมิดสิทธิเสรีภาพเท่านั้น หากแต่ยังถูกทำให้กลายเป็น "เรื่องตลก" ในสายตาของโลกตะวันตกอีกด้วย
และในขณะเดียวกันก็ทำให้รัฐบาลทหารกลายเป็น "ตัวตลก" ในเวทีระหว่างประเทศไปด้วย
การเมืองในสภาพเช่นนี้ยังถูกสำทับด้วยเรื่องการจับกุมแกนนำนักศึกษาหรือกลุ่มพลเมืองโต้กลับ ที่เปิดการเรียกร้องให้การเมืองไทยกลับสู่การเลือกตั้งภายใต้กิจกรรมในหัวข้อ "เลือกตั้งที่ลัก"
คงปฏิเสธไม่ได้ว่า การจับกุมครั้งนี้กลับยิ่งทำให้ภาพลักษณ์ของรัฐบาลทหารไทยตกต่ำลงมากขึ้นไปอีก
แม้ผู้นำทหารบางส่วนจะเชื่อว่าการกระทำเช่นนี้คือการ "กระชับอำนาจ" ก็ตาม
ในสถานการณ์เช่นนี้ รัฐบาลยังถูกถาโถมจากพายุลูกสำคัญ ได้แก่ สภาวการณ์ทางเศรษฐกิจของไทย ที่เห็นได้ชัดเจนว่าหลังจากการรัฐประหาร 2557 แล้ว เศรษฐกิจทรุดตัวลงอย่างมาก
และพิสูจน์ว่าการยึดอำนาจไม่ใช่ปัจจัยเชิงบวกที่จะทำให้เกิดการขับเคลื่อนในการเมืองไทยได้แต่อย่างใด
หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า การรัฐประหารไม่ใช่ปัจจัยที่จะใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศอย่างที่คนบางกลุ่มคาดหวัง
เช่นตัวอย่างของรายงานข่าวหนังสือพิมพ์ที่บ่งบอกถึงอาการดังกล่าวว่า "เอกชนโต้เศรษฐกิจยังไม่ฟื้น" (มติชนรายวัน, 8 กุมภาพันธ์ 2558, น.1)
น่ากังวลว่า เงื่อนไขทางเศรษฐกิจเช่นนี้จะกลายเป็น "ตัวเร่ง" ให้ความรู้สึกที่อยากเห็นการเมืองไทยกลับสู่ภาวะปกติเร็วขึ้นหรือไม่
นอกจากนี้ พายุลมแรงที่ถาโถมกระแทกรัฐนาวาทหารอย่างมีนัยสำคัญก็คือ แรงกดดันทางการเมืองจากต่างประเทศ ซึ่งเห็นได้ชัดเจนว่าในสภาวะปัจจุบัน การแสดงท่าทีของรัฐบาลตะวันตกที่อยากเห็นระบอบประชาธิปไตยกลับคืนสู่ประเทศไทยโดยเร็วมีมากขึ้น
รัฐบาลทหารของไทยอาจจะโชคดีที่พวกเขาไม่ต้องเผชิญกับการกดดันโดยตรงเช่นที่รัฐบาลทหารของเมียนมาร์ต้องเผชิญมาแล้วหลังจากการรัฐประหารในเดือนสิงหาคม 2531 การแซงก์ชั่นทางเศรษฐกิจจากรัฐบาลประชาธิปไตยของประเทศตะวันตกทำให้การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศตกอยู่ในภาวะชะงักงันเป็นอย่างยิ่ง
รัฐบาลทหารไทยหลังรัฐประหารพฤษภาคม 2557 อาจจะโชคดีกว่าในกรณีนี้
พวกเขาเผชิญกับเพียงแรงกดดันที่ผ่านการแสดงท่าทีในลักษณะของ "คำพูด" ที่ปรากฏในถ้อยแถลงของรัฐบาลตะวันตก มากกว่าจะเป็นไปในลักษณะของการ "แซงก์ชั่น"
แต่ถึงกระนั้นก็ทำให้ผู้นำทหารที่สวมหมวกนักการเมืองได้รู้สึกอย่างมากว่าเขากำลังเผชิญการต่อต้านรัฐประหารจากรัฐบาลตะวันตก เพราะในความสัมพันธ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น
คำตอบมีแต่เพียงประการเดียวก็คือ "คุยกันใหม่หลังเลือกตั้งที่กรุงเทพฯ"
ท่าทีเช่นนี้ทำให้การฝึกร่วมผสมคอบร้าโกลด์ในปี 2558 ดูจะ "จืดชืด" ลงทันที
เพราะรัฐบาลวอชิงตันไม่ต้องการให้รัฐบาลทหารไทยใช้การฝึกครั้งนี้เป็นเครื่องมือในการสร้างความชอบธรรมให้แก่การรัฐประหาร และการดำรงอยู่ของรัฐบาลทหารในการเมืองไทย
แม้ฝ่ายกองทัพไทยจะพยายามชิงอธิบายกับผู้คนในสังคมไทยว่า รัฐบาลสหรัฐไม่ได้ลดระดับของการฝึกครั้งนี้ลงแต่อย่างใด เป็นแต่เพียงวงรอบของการฝึกสำหรับปี 2558 เป็น "การฝึกเบา" หรือที่ถูกอธิบายว่าเป็น "Light Year"
แต่ก็ไม่มีใครพูดตรงๆ ว่าที่เป็น "ปีเบา" ก็เพราะเป็น "ปีรัฐประหาร"
โจทย์การเมืองที่เกิดขึ้นแก่รัฐบาลทหารไทยในอีกส่วนหนึ่งอาจจะไม่แตกต่างจากการเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยในโลกอาหรับ (หรือ "อาหรับสปริง") ที่อียิปต์ โลกของสังคมออนไลน์โดยเฉพาะสื่อสังคมในรูปแบบต่างๆ ทำให้เรื่องของการ "เซ็นเซอร์" ข่าวของรัฐบาลทหารมีความจำกัดอย่างยิ่ง
ข่าวหลายเรื่องหลายประเด็นถูกเผยแพร่ผ่านระบบข่าวสารในโลกสมัยใหม่
และในการเผยแพร่เช่นนี้เห็นได้ชัดเจนไม่ต่างกับในอาหรับสปริงก็คือ ฝ่ายรัฐที่ถืออำนาจไว้ในมือแทบจะทำอะไรไม่ได้เลยกับโลกข่าวสารชุดใหม่
"สงครามข่าวสาร" ระหว่างผู้เรียกร้องประชาธิปไตยในโลกอาหรับกับรัฐบาลทหาร ไม่ว่าจะเป็นในตูนิเซียหรือในอียิปต์ ให้คำตอบอย่างชัดเจนว่า สุดท้าย รัฐบาลทหารแพ้สงครามข่าวสาร เช่นเดียวกันสงครามข่าวสารในการเมืองไทยปัจจุบันก็ทวีความรุนแรงขึ้น
ในบริบทของการเมืองไทย ผู้นำกองทัพอาจจะเชื่อว่า กลุ่มผู้สนับสนุนรัฐประหารยังมีมากพอสมควรที่จะออกแรงช่วยปกป้องการรัฐประหารที่เกิดขึ้น และพร้อมที่จะเป็น "กระบอกเสียง" ต่อต้านประชาธิปไตย ขณะเดียวกันก็จะเป็นแรงต่อต้านการเรียกร้องของรัฐบาลตะวันตกให้คืนประชาธิปไตยโดยเร็ว
บรรดาผู้นำสายอนุรักษนิยมทั้งในกองทัพและที่เป็นพลเรือนดูจะเชื่ออย่างมั่นใจว่า พวกเขาขับเคลื่อน "สงครามข่าวสาร" ต่อสู้กับทั้งกลุ่มผู้เรียกร้องประชาธิปไตยในสังคมไทย และกับรัฐบาลตะวันตกไปได้พร้อมๆ กัน และการขับเคลื่อนใน "สนามรบข่าวสาร" เช่นนี้ พวกเขาไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงความเป็น "มาตรฐานสากล" ของระบบการเมือง
สัญญาณการตอบโต้กับโลกตะวันตก โดยเฉพาะการตอบโต้กับสหรัฐอเมริกาด้วยวลีและคำพูดต่างๆ ที่แสดงออก ตลอดรวมถึงคำชี้แจงของผู้นำไทยที่โต้เถียง จึงถูกตีความได้อย่างตรงไปตรงมาว่า กองทัพจะยังไม่ถอนตัวจากการเมืองไทย
ซึ่งก็เท่ากับคำกล่าวว่า "กองทัพจะคืนประชาธิปไตยให้แก่สังคมไทยโดยเร็ว" กลายเป็นเรื่องที่ไม่มีความน่าเชื่อถือแต่อย่างใดทั้งสิ้น
ดังนั้น เมื่อการเคลื่อนไหวทางการเมืองของขบวนนิสิตนักศึกษาเริ่มเกิดขึ้นจากกรณีฟุตบอลประเพณี และนำไปสู่การจับกุมผู้นำนักศึกษาที่เรียกร้องให้มีการเลือกตั้ง โดยผู้ถูกจับกุมจะถูกส่งขึ้นศาลทหาร ประกอบกับมีความพยายามอย่างมากในการแก้ไขกฎหมายในกรณีของ "ศาลทหาร" ให้มีอำนาจมากขึ้น
ตลอดรวมถึงเริ่มมีการออกคำสั่งให้ผู้นำทางการเมืองบางส่วนไปรายงานตัวกับฝ่ายทหาร และผู้นำทางการเมืองฝ่ายตรงข้ามบางคนถูกส่งตัวขึ้นศาลทหาร
สิ่งที่เกิดขึ้นเช่นนี้ อาจจะทำให้กลุ่มผู้นิยมรัฐประหาร หรือบรรดา "ฮาร์ดคอร์" (หรือภาษาทางรัฐศาสตร์เรียกกลุ่มพวกนี้ว่า "Hardliners") ทั้งหลายสนับสนุนการกระทำดังกล่าวมากขึ้น โดยเรียกร้องว่าการดำเนินการด้วยมาตรการต่างๆ เช่นนี้เป็น "กิจการภายในของรัฐไทย" รัฐบาลไทยไม่จำเป็นต้องนำพากับการแสดงท่าทีคัดค้านของประเทศตะวันตก
เช่นคำกล่าวที่ว่า "เป็นเรื่องของไทย ฝรั่งอย่ายุ่ง" เป็นต้น
และในขณะเดียวกัน พวกเขาก็ดูจะมั่นใจมากขึ้นว่า หากความสัมพันธ์กับตะวันตกมีปัญหาเพราะการยึดอำนาจของทหารในไทยแล้ว พวกเขาก็พร้อมจะหันไปหาจีน
พร้อมๆ กับมีความหวังจากท่าทีของจีนว่า จีนกำลังอ้าแขนต้อนรับผู้นำทหารไทย โดยไม่จำเป็นต้องคิดคำนึงว่าแล้วรัฐบาลจีนจะคาดหวังอะไรจากไทยในความสัมพันธ์ที่กำลังจะเกิดขึ้นเช่นนี้
บางทีผู้นำทหารและพลเรือน ตลอดรวมถึงบรรดา "กองเชียร์" รัฐประหารทั้งหลายน่าจะต้องเรียนรู้จากบทเรียนของเมียนมาร์และลาวให้มากขึ้น
อย่างน้อยที่สุด การตัดสินใจ "เปิดประเทศ" ของรัฐบาลทหารเมียนมาร์เป็นข้อคิดอย่างดียิ่งให้แก่ผู้นำทหารและบรรดานักรัฐประหารนิยมที่เชื่อว่า ถ้าตะวันตกไม่สนับสนุนรัฐประหารในไทยแล้ว รัฐบาลกรุงเทพฯ ก็จะหันไปแสวงหาความสนับสนุนในทางการเมืองจากรัฐบาลจีนมากขึ้น
จนวันนี้ หลายฝ่ายเริ่มจับตามองท่าทีของรัฐบาลทหารที่กรุงเทพฯ เป็นอย่างยิ่งว่า พวกเขากำลังจะพาสังคมไทยไปสู่เส้นทางเดียวกับสังคมการเมืองเมียนมาร์ในยุคหลังรัฐประหาร 2531 ด้วยการปิดประตูตะวันตก และเปิดประตูตะวันออกสู่ปักกิ่งแทนหรือไม่...
ถ้าเป็นเช่นนี้จริง ผู้นำทหารไทยอาจจะไม่ต้องกังวลกับการแก้ตัวสำหรับการฝึกร่วมผสมในปี 2559 เพราะการฝึกร่วมผสมใหญ่ในอนาคตอาจจะเป็นเรื่องทวิภาคีระหว่างกองทัพไทยกับกองทัพจีน
ว่าที่จริงปัญหาที่ผู้นำทหารและบรรดาผู้สนับสนุนพวกเขากำลังเผชิญจากการเมืองภายนอกเช่นนี้ อาจจะเป็นสิ่งที่ไม่ถูกคาดคิดมาก่อน พวกเขาอาจจะยังคิดแบบเดิมๆ ว่า อย่างไรเสีย รัฐบาลตะวันตกพร้อมที่จะ "ตกกระไดพลอยโจน" ไปกับการรัฐประหารที่กรุงเทพฯ
พวกเขาอาจจะเชื่อมากขึ้นอีกหน่อยว่า รัฐบาลตะวันตกอาจจะแสดงท่าทีผ่านคำพูดสัก 2-3 คำเพื่อแสดงจุดยืนทางการเมืองบางอย่าง แล้วรัฐประหารในไทยก็จะถูกกวาดเก็บไว้ใต้พรม โดยไม่ถูกนำมาใช้เป็นปัจจัยที่ประเทศเหล่านั้นจะนำมาพิจารณาในการวัดความสัมพันธ์กับไทยแต่อย่างใด
หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ การยึดอำนาจที่กรุงเทพฯ จะเป็นเพียง "ปัญหาทางการทูตบนแผ่นกระดาษ"
แต่วันนี้ ท่าทีของรัฐบาลตะวันตกต่อปัญหาประชาธิปไตยในการเมืองไทยมีความชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ
อย่างน้อยความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างสหภาพยุโรปกับไทยในปัจจุบัน ก็เป็นหนึ่งในคำตอบที่เป็นรูปธรรมของปัญหาดังกล่าว
และขณะเดียวกันก็ทำให้งานด้านต่างประเทศของไทยที่อยู่ภายใต้การควบคุมของทหารมีความเปราะบางเป็นอย่างยิ่ง
พร้อมๆ กับบทบาทของนักการทูตไทยและกลุ่มผู้สนับสนุนรัฐประหารแสดงออกในการต่อต้านสหรัฐ กลายเป็นเรื่องที่ถูกจับตามองในวงการทูตเป็นอย่างยิ่ง
โดยเฉพาะการเรียกอุปทูตสหรัฐให้ไปชี้แจงในรัฐสภาไทยที่มาจากการรัฐประหาร
ประกอบกับการขยายตัวของการเรียกร้องประชาธิปไตยจากภายในก็เริ่มปรากฏให้เห็นชัดเจนมากขึ้น
พายุลูกนี้แม้จะก่อตัวมานาน แต่ก็เริ่มทวีความเข้มข้นขึ้น
บรรดาฮาร์ดคอร์ในปีกอนุรักษนิยมทั้งหลายอาจจะเชื่อว่า อำนาจปืนยังคุมการเคลื่อนไหวเช่นนี้ได้... อำนาจทหารยังกดการเรียกร้องทางการเมืองได้
แต่หากย้อนกลับไปในอดีตของสถานการณ์ในวันที่ 14 ตุลาคม 2516 ก็พัฒนาในทิศทางที่ดูจะไม่แตกต่างกัน
และบางทีอาจจะต้องยอมรับว่า อำนาจของรัฐบาลทหารในยุค จอมพลถนอม กิตติขจร และ จอมพลประภาส จารุเสถียร อาจจะมีมากกว่าในยุคบูรพาพยัคฆ์ครองการเมืองไทยเสียอีก
แต่แล้วก็ด้วยความเชื่อว่า ปืนจะควบคุมระบบการเมืองได้มิใช่หรือ ที่สุดท้ายแล้วอำนาจรัฐของทหารก็ต้องเผชิญกับความท้าทาย จนล้มลงในปี 2516
ดังนั้น ถ้าเป็นรายงานอากาศก็คงต้องกล่าวสรุปได้แต่เพียงประการเดียวว่า รัฐนาวาของทหารในการเมืองไทยกำลังเผชิญกับคลื่นลมแรงในทะเลประชาธิปไตย ความกดอากาศสูงจากตะวันตกกำลังแผ่ปกคลุมทั่วประเทศ...
เรือแป๊ะควรงดออกจากฝั่ง!