วันเสาร์, มีนาคม 07, 2558

สื่อนอกวิพากษ์หนัก สภานิติบัญญัติรัฐประหาร 'ปั่น' กฏหมาย

ภาพประกอบบทความของ The Diplomat
อ่านข่าวนายพล คสช. รมว. ต่างประเทศไปเจนีวา แล้วใจแป้ว

ในเมื่อรายงานข่าวต่างประเทศ (อย่างน้อยสองแหล่ง) ที่ปรากฏในวันรุ่งขึ้น มันตรงกันข้ามกับที่รองนายกฯ ของรัฐบาลคณะรัฐประหารจ้อเอาไว้บนเวทีนานาชาติอย่างสิ้นเชิง

ท่านรองฯ บอกว่า “ให้ความสำคัญ..อย่างมาก” แล้วได้ขนาดนี้ ถ้าท่าน ไม่ ให้ความสำคัญอย่างมากบ้างล่ะ จะเป็นอย่างไร
ข่าวว่าพลเอกธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร “พบหารือกับข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ผู้อำนวยการใหญ่องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน และรักษาการผู้อำนวยการใหญ่สำนักงานสหประชาชาติ...

โดยตนได้กล่าวถ้อยแถลงต่อที่ประชุม ยืนยันประเทศไทยให้ความสำคัญกับเรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นอย่างมาก เพื่อทำให้ประเทศมั่นคง ประชาชนอยู่อย่างสุขสบาย

ต้องลองมาดูสิว่า สำนักข่าวต่างประเทศ เขาเห็นกันอย่างไร

รายแรก The Diplomat วารสารออนไลน์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศสำหรับภาคพื้นเอเซีย-แปซิฟิค มีสำนักงานกลางอยู่ในกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ตีพิมพ์บทความโดย   เรื่อง 'Thailand's Big Step Backwards' บอกว่า

“เสรีภาพในการแสดงออกได้ถูกจำกัดอย่างน่าตื่นกลัว นับแต่ยึดอำนาจเป็นต้นมา

นักวิชาการที่เห็นต่างและสมาชิกพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้าม ได้ถูกเรียกตัวไป ปรับทัศนคติ ในค่ายทหาร (พร้อมด้วย) การข่มขู่ทางจิตวิทยา การกักกันตัว แม้กระทั่งจับกุมคุมขัง

หลายต่อหลายคนที่อาจหาญแสดงความเห็นคัดค้านคณะทหารผู้ปกครอง ต้องถูกยกเลิกหนังสือเดินทาง บีบบังคับให้ต้องไปขอลี้ภัยอาศัยในต่างประเทศ

การสอดแนมจ้องมองบนโซเชียลมีเดีย เซ็นเซอร์สื่อ และจำนวนที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในการฟ้องร้องและดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นกษัตริย์ ทำให้ทั้งผู้ที่เป็นคนไทยและที่ไม่ใช่คนไทย ตกอยู่ในภาวะหวาดกลัวและเงียบงัน

การปฏิรูปรัฐธรรมนูญและด้านอื่นๆ แสดงถึงสัญญานของการถอยกลับไปสู่ยุคอำนาจนิยม ด้วยความเป็นไปได้ว่ารัฐบาลจะไม่ผ่านการเลือกตั้ง นายกรัฐมนตรีมาจากการแต่งตั้ง เครือข่ายการเมืองไม่เป็นประชาธิปไตย โถมลึกเข้าไปสู่การยึดกุมอำนาจไว้ที่ส่วนกลาง ในอุ้งมือของกลุ่มอำมาตย์โบราณ คณะทหาร ข้าราชการ และองค์กรภายในสถาบันกษัตริย์...

สำหรับผู้ที่ได้รับการศึกษาในสาขาศิลป์เสรี (Liberal Arts) และปรัชญาตะวันตก จะมีความเห็นแย้งต่อข้ออ้างของคณะทหารกับอำมาตย์ดั้งเดิมที่จะคงอำนาจล้นหลาม (Absolute) เอาไว้ต่อไป...

ข้อสอง คณะทหารกล่าวอ้างถึงการ คืนความสุขให้ประเทศไทยนั้นเชื่อถืออะไรไม่ได้ การให้ ความสุข ในลักษณะนี้อยู่ในกรอบนิยามของการให้ความสำคัญแก่พวกพ้องและวงศาคณาญาติเป็นหลัก (paternalistic) ไม่มีการทำประชามติเพื่อถามประชาชนว่าพวกเขาต้องการอะไรจริงๆ

และในขณะที่การคอรัปชั่นยังคงลุกลามไม่หยุดยั้ง กลับไม่มีใครตั้งข้อสงสัยกับระบบเส้นสายที่เกาะกินบ่อนทำลายแก่นหัวใจของระบอบประชาธิปไตยไปจนใกล้สิ้นซากเลยแม้แต่น้อย เครือข่ายเส้นสายที่นับถือผู้หลักผู้ใหญ่ประดุจดังบิดา (Patronage) อันมีสถาบันกษัตริย์ตั้งอยู่บนยอดสูงสุด ซึ่งมักหลุดรอดพ้นอำนาจแห่งกฏหมาย สามารถมีความเลวร้ายได้ไม่น้อยไปกว่าคอรัปชั่น...

ประเทศไทยไม่อาจที่จะอ้างอิงว่ายึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยได้ หากไม่มีการปรับความเข้าใจและให้ความเคารพต่อหลักการอิสรภาพส่วนบุคคลและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น...

สิ่งอันน่ารำคาญใจที่สุดเหนืออื่นใดอยู่ที่การไร้ซึ่งความกล้าหาญทางจริยธรรมของบรรดาปัญญาชนสายหลัก เหล่าอำมาตย์ และชนชั้นกลาง พวกเลือกที่จะสงบปากสงบคำ เซ็นเซอร์ตัวเอง หากกฏหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพพระมหากษัตริย์ยังไม่ได้รับการปรับแก้ ประเทศไทยไม่มีทางแม้แต่ก้าวไปสู่ความทันสมัยได้ นับประสาอะไรกับประชาธิปไตย...

ส่วนบทความอีกชิ้นหนึ่งซึ่งตีพิมพ์โดยสำนักข่าวรอยเตอร์ จากข้อเขียนของ Amy Sawitta Lefevre โดยมี Aukkarapon Niyomyat กับ Panarat Thepgumpanat ร่วมรายงาน และมี Andrew R.C. Marshall กับ Nick Macfie บรรณาธิการ 

กล่าวถึงสภานิติบัญญัติของคณะรัฐประหาร ปั่น กฏหมายต่างๆ ออกมา (สไตล์ปั่นไอติม) ทำให้ทั่วโลกเต็มไปด้วยความกังขาในเจตนา และ (โดยเฉพาะ) ฝีมือ
ข้อความวิพากษ์สภานิติบัญญัติหนักหน่วงบนโลกไซเบอร์

รายงานเรื่อง 'Law unto Itself : Thai Junta Fuels Doubt by Churning Out Legislation' ตั้งข้อสังเกตุว่าสมาชิกส่วนใหญ่ของสภานิติบัญญัติ ๒๒๐ คน มีประสบการณ์น้อยมาก หรือไม่มีเลยในด้านการบัญญัติกฏหมาย แต่ทั้งที่ประชุมกันแค่อาทิตย์ละสองครั้ง สภาแห่งนี้ออกกฏหมายมา ๖๐ ฉบับภายใน ๕ เดือนที่ผ่านมา...

กฏหมายบางฉบับออกแบบมาเพื่อให้คณะรัฐประหารกุมอำนาจกระชับมือยิ่งขึ้น ก่อนจะมีการเลือกตั้งในปีหน้า กฏหมายที่จำกัดการชุมนุมสาธารณะ และให้อำนาจทหารควบคุมตัวพลเรือนได้โดยไม่ต้องตั้งข้อหา นั้นออกมาอย่างพิเรนทร์ยิ่งนัก

“พวกเขาไม่ควรออกกฏหมายมาทั้งที่ตัวเองยังไม่เข้าใจกฏหมายนั้น” ศรีสุวรรณ จรรยา ผู้นำองค์กรปกป้องรัฐธรรมนูญบอกรอยเตอร์

“เชื่อว่าจะต้องเกิดความขัดแย้งกันในหมู่กฏหมายที่ออกมาเหล่านี้” วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ผู้บรรยายคณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ให้ความเห็น “รวมทั้งเสียงโวยวายในหมู่ผู้สนับสนุนรัฐประหารด้วยกันเอง”

“ที่เราเป็นห่วงอย่างยิ่งโดยเฉพาะกฏหมายว่าด้วยความเป็นส่วนตัวในโลกออนไลน์ ซึ่งจะเป็นปัญหารบกวนต่อบริษัทที่มาทำธุรกิจในประเทศไทย” ตัวแทนหอการค้าอเมริกันในประเทศไทยคนหนึ่งกล่าว

กลุ่มสิทธิมนุษยชนชี้ให้เห็นว่ากฏหมายบางฉบับละเมิดสิทธิพื้นฐานของคนเสียด้วย ตัวอย่างชุดกฏหมายว่าด้วย เศรษฐกิจดิจิทอล อนุญาตให้รัฐสอดแนมประชาชนได้โดยไม่ต้องร้องขอต่อศาล

“เราได้กฏหมายจำนวนมากมายโดยขาดคุณภาพ และกฏหมายเหล่านั้นไม่ต้องตามความต้องการของสาธารณะชน” สามารถ แก้วมีชัย สมาชิกพรรคเพื่อไทยของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ (ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี) กล่าวกับรอยเตอร์

และ สนช. ก็ไม่ต้องกระมิดกระเมี้ยนเลยว่ารับคำสั่งมาจากใคร พีระศักดิ์ (พอจิต รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ) บอกกับรอยเตอร์เต็มปากเต็มคำ

“กฏหมายส่วนมากที่เรานำมาแก้ไข ก็เพราะว่า คสช. ชี้แนะ”