ที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
คสช.จัดเต็มเพิ่มรายได้คนรัฐยกแพ็กเกจ คลังหนุนเต็มสูบขึ้น "เงินเดือน-ค่าครองชีพ-บำเหน็จบำนาญ" ข้าราชการทั้งพลเรือน ทหาร ตำรวจ ชงแผนทยอยปรับทีละขั้นบัญชี 1-2-3 ชั้นผู้น้อยเฮส้มหล่นกลุ่มแรก คาดใช้งบฯเพิ่มปีละ 4-5 หมื่นล้าน มหาดไทยเสือปืนไวปรับขึ้นเงินเดือน-ค่าตอบแทน ขรก.ท้องถิ่น สศค.ชี้มีผลบวกต่อจีดีพี ยันไม่กระทบลงทุน
หลังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้าบริหารประเทศ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. มีแนวคิดให้ปรับเพิ่มค่าตอบแทนประเภทต่าง ๆ ทั้งเงินเดือน เบี้ยเลี้ยง ค่าทำงานนอกเวลา ฯลฯ แก่ข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐทั้งระบบ เพื่อเพิ่มขวัญกำลังใจและเร่งรัดประสิทธิภาพในการทำงานเพิ่มขึ้น โดยบางมาตรการมีผลในทางปฏิบัติแล้ว บางส่วนอยู่ระหว่างดำเนินการ
เพิ่มบำนาญ-ปรับเงินเดือน อปท.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ คสช.ได้ออกประกาศว่าด้วยเรื่องการเพิ่มเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ (ชคบ.) ให้ผู้มีสิทธิ์ได้รับเบี้ยหวัดหรือบำนาญ เมื่อรวมกับ ชคบ.แล้ว ยังได้รับเงินต่ำกว่าเดือนละ 9,000 บาท ปรับให้ได้รับ ชคบ.เพิ่มเป็น 9,000 บาท/เดือน มีผู้อยู่ในข่ายได้รับ ชคบ.เพิ่ม 70,000 คน ใช้งบฯเพิ่ม 151 ล้านบาท มีผลตั้งแต่ 10 ก.ค. 2557และอนุมัติงบฯค่าใช้จ่ายด้านบุคลากร เพิ่มค่าครองชีพชั่วคราวแก่ข้าราชการตุลาการ และดะโต๊ะยุติธรรม โดยใช้งบฯกลางปี 2557 จำนวน 390 ล้านบาท มีผล 1 ต.ค.นี้เป็นต้นไป
ขณะที่กระทรวงมหาดไทยออกระเบียบว่าด้วยเงินเดือนและค่าตอบแทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) สำหรับผู้บริหารและสมาชิกสภาท้องถิ่น ทั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ใหม่ โดยปรับบัญชีอัตราเงินเดือนและค่าตอบแทนเพิ่ม มีผลตั้งแต่ 1 ต.ค.เป็นต้นไป พร้อมแจ้งประกาศคณะกรรมการกลางข้าราชการองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ก.จ.) คณะกรรมการกลางพนักงานเทศบาล (ก.ท.) และคณะกรรมการกลางพนักงานส่วนตำบล (ก.อบต.) ปรับอัตราเงินเดือนข้าราชการ พนักงานส่วนท้องถิ่น ลูกจ้าง พนักงานจ้างของ อปท.
เปิดแผนอัดฉีดข้าราชการ
ในส่วนของข้าราชการ ขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างศึกษาข้อมูลเพื่อปรับเงินเดือนข้าราชการทั้งระบบด้วย โดยสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ได้หารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องครั้งแรก 24 ก.ค. ได้ข้อสรุป 4 แนวทาง 1)ปรับฐานอัตราเงินเดือนทั้งระบบเพิ่มขึ้น 8% ของฐานเดิม 2)กำหนดเงินเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราว (พชค.) ให้ข้าราชการชั้นผู้น้อย โดยไม่ปรับเพิ่มเงินเดือน จากเดิมกำหนดกรอบ พชค. 1,500 บาท รวมเงินเดือนแล้วไม่ต่ำกว่า 9,000 บาท แต่ไม่สูงกว่า 12,285 บาท ปรับเป็น พชค. 2,000 บาท เมื่อรวมกับเงินเดือนต้องไม่ต่ำกว่า 10,000 บาท หรือไม่สูงกว่า 13,285 บาท 3)ยกฐานอัตราเงินเดือน และเพิ่มเพดานอัตราเงินเดือนให้เหมาะสม 4)ปรับปรุงเงินตอบแทนการทำงานนอกเวลาทำการ และค่าตอบแทนอื่น
จากนั้น นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง ได้สั่งการให้กรมบัญชีกลางหาแนวทางที่เหมาะสม แนวทางเบื้องต้น ระยะแรก มี 3 เรื่องสามารถเริ่มได้ในปีงบฯ 2558 ได้แก่ 1)ปรับเงิน พชค. ให้ข้าราชการชั้นผู้น้อย ทั้งพลเรือน ทหาร ตำรวจ 2)ปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐทุกประเภท 8% โดยปรับเพิ่มตามอัตราการเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาผู้บริโภค ซึ่งปีปัจจุบันอยู่ที่ 7.2% 3)ปรับเพิ่มเบี้ยเลี้ยงให้ข้าราชการทหารกองประจำการ
ทยอยปรับตั้งแต่บัญชี 1-3
แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า การปรับเงินเดือนและค่าตอบแทนข้าราชการ ตามแนวทางที่ปลัดคลังให้นโยบายคือ ปรับให้กลุ่มที่มีรายได้น้อยก่อน ด้วยวิธีปรับเงิน พชค. ข้าราชการชั้นผู้น้อยทุกประเภท และทหารกองประจำการ ใช้เงินเพิ่มขึ้นปีละ 2,300 ล้านบาท หรือเดือนละ 190 ล้านบาท
"เฉพาะทหารกองประจำการมี 2.5 แสน นาย ใช้เกณฑ์เดียวกันกับ พชค. แต่ทหารจะเรียกเบี้ยเลี้ยงประจำการ เฉพาะส่วนนี้ใช้งบฯเพิ่ม 1,170 ล้านบาท/ปี หรือเดือนละ 97 ล้านบาท ซึ่งรวมอยู่ใน 2,300 ล้านบาท"
ส่วนการปรับฐานเงินเดือนทั้งระบบ 8% อาจไม่ปรับครั้งเดียว ทำเป็นช่วงเวลา หลายบัญชี แล้วค่อยปรับทีละบัญชีตามความเหมาะสม เช่น ปรับตามบัญชี ก. ก่อน เมื่อเศรษฐกิจดีขึ้นค่อยปรับใช้บัญชี ข. และ ค. ตามลำดับ อย่างไรก็ดี หากปรับเงินเดือน 8% (2 ขั้น) ประเมินว่าต้องใช้งบฯเพิ่ม 3,800 ล้านบาท/เดือน หรือ 45,600 ล้านบาท/ปี นอกจากนี้มีส่วนการปรับเงินบำนาญแก่ผู้รับเบี้ยหวัด บำนาญ จะใช้งบฯเพิ่มเดือนละ 700-800 ล้านบาท
รอ คสช.-ครม.ใหม่ไฟเขียว
ทั้งหมดนี้ต้องรอ คสช. หรือคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบในหลักการก่อน จากนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะดำเนินการในรายละเอียด 1)ก.พ.นำเรื่องเสนอ ครม. เมื่อ ครม.เห็นชอบ จึงตราเป็นพระราชกฤษฎีกาการปรับอัตราเงินเดือนของข้าราชการแต่ละประเภทใช้บังคับ (พลเรือน ทหาร ตำรวจ) 2.กรมบัญชีกลางต้องปรับเงิน ชพค. โดยจัดทำเป็นระเบียบกระทรวงการคลัง, ปรับเงิน ชคบ. โดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา และปรับเงินค่าจ้างให้แก่ลูกจ้าง ทำเป็นหนังสือสั่งการกระทรวงการคลัง
"ในภาพรวมต้องใช้งบฯเพิ่มขึ้นกว่า 4-5 หมื่นล้านบาท แต่คาดว่าข้าราชการชั้นผู้น้อยจะได้ปรับก่อน เพราะตอนปรับเงินเดือนปริญญาตรีเป็น 1.5 หมื่นบาท กลุ่มที่ต่ำกว่าปริญญาตรีไม่ได้ปรับ พชค.ด้วย"
ยันมีเงินจ่าย-งบฯกลางยังเหลือ
แหล่งข่าวกล่าวว่า การขึ้นเงินเดือนรัฐมีงบฯจ่ายได้แน่นอน โดยปีงบฯ 2558 สำนักงบประมาณได้จัดสรรงบฯบุคลากรรวมทั้งสิ้น 6 แสนล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นงบฯสำหรับปรับเพิ่มเงินเดือนไม่เกิน 6% (ปรับตามปกติ) 1.5 หมื่นล้านบาท และจัดสรรไว้ในหมวดงบฯกลางเป็น "เงินเลื่อนเงินเดือนและเงินปรับวุฒิข้าราชการ" อีก 6,500 ล้านบาท
ดังนั้นหาก คสช.อนุมัติปรับขึ้นเงินเดือน ทันช่วงที่มีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบฯรายจ่ายปี 2558 ในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ระหว่าง 15 ส.ค. ถึง 17 ก.ย. นี้ ก็สามารถแปรญัตติเพิ่มงบฯบุคลากรส่วนที่จะใช้ปรับขึ้นเงินเดือนได้ แต่คงได้เพิ่มไม่เพียงพอ เพราะการตัดลดงบฯส่วนอื่นในปีนี้ค่อนข้างลำบาก เนื่องจากจัดสรรไว้ตามความจำเป็นจริง ๆ
แต่สามารถใช้งบฯกลาง รายการสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นมาจ่ายได้ เพราะงบฯกลางรายการดังกล่าวในปีงบฯ 2557 ถึงสิ้น ก.ค.ใช้ไปแค่ 1.5 หมื่นล้านบาท จากที่ตั้งไว้ 72,500 ล้านบาท เดือน ส.ค.-ก.ย. อาจใช้อีก 4 หมื่นล้านบาท ส่วนที่เหลือกันไว้เบิกในปีงบฯ 2558 ขณะเดียวกันของปีงบฯ 2558 ก็มีตั้งงบฯรายการนี้ไว้อีก 72,000 ล้านบาท และสามารถอนุมัติให้ใช้เงินคงคลังตามมาตรา 7 แห่ง พ.ร.บ.เงินคงคลังได้ เพียงแต่ต้องตั้งงบฯชดใช้เงินคงคลังในปีงบฯถัดไป
สศค.ชี้ผลบวกต่อจีดีพี
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า จากการวิเคราะห์ของ สศค. ตามตัวเลขที่ปรากฏตามข่าวว่าจะปรับเงินเดือนขึ้น 8% โดยคำนวณจากฐานที่จะมีการปรับขึ้น 6% ปกติทุกปีอยู่แล้ว หากปรับขึ้นทั้งระบบ 1% จะมีผลต่อการขยายตัวด้านเศรษฐกิจ (จีดีพี) 0.03% ปรับขึ้น 2% จะมีผล 0.06%
ส่วนผลกระทบด้านเงินเฟ้อมีน้อย จากปีปัจจุบันคาดว่าเงินเฟ้ออยู่ที่ 2.5% ถ้าขึ้นเงินเดือน 1% เงินเฟ้อจะปรับขึ้นเป็น 2.59% ปรับเงินเดือน 2% เงินเฟ้อเพิ่มเป็น 2.68% อยู่ในระดับบริหารจัดการได้ ตามกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนดไม่เกิน 3%
เป้าหลักไม่หวังกระตุ้นเศรษฐกิจ
ผอ.สศค.ยืนยันว่า หากมีการปรับขึ้นเงินเดือน จะส่งผลดีกับเศรษฐกิจตามไปด้วย นอกจากนี้จะไม่กระทบต่อสัดส่วนงบฯลงทุน เพราะถ้าปรับขึ้น 1% ใช้เงินเพิ่มแค่ 5,800 ล้านบาท
"ไม่ได้ใช้เงินเพิ่มขึ้นมากมาย ถามว่ารายได้จะพอไหม ปีหน้าเศรษฐกิจเติบโตได้ 5% มันไม่มีปัญหา ไม่ได้กระทบอะไร"
ทั้งนี้ สศค.อ้างอิงตัวเลขกรมบัญชีกลางว่า เงินเดือนข้าราชการ ลูกจ้างประจำ ลูกจ้างชั่วคราว และพนักงานราชการ อยู่ที่ 48,450 ล้านบาท/เดือน หรือ 581,400 ล้านบาท/ปี แบ่งเป็น 1)เงินเดือน 43,400 ล้านบาท/เดือน หรือ 520,800 ล้านบาท/ปี 2)ค่าจ้างประจำ 2,700 ล้านบาท/เดือน หรือ 32,400 ล้านบาท/ปี ค่าจ้างชั่วคราว 50 ล้านบาท/เดือน หรือ 600 ล้านบาท/ปี ค่าตอบแทนพนักงานราชการ 2,300 ล้านบาท/เดือน หรือ 27,600 ล้านบาท/ปี
หากปรับขึ้นเงินเดือน 1% จะทำให้รายจ่ายประจำของรัฐเพิ่มขึ้นจากฐานอีก 5,800 ล้านบาท/ปี หรือไตรมาสละ 1,500 ล้านบาท ตกเดือนละ 500 ล้านบาท เพิ่ม 2% หรือเป็น 8% รายจ่ายประจำเพิ่มขึ้น 11,600 ล้านบาท/ปี หรือไตรมาสละ 3,000 ล้านบาท เดือนละ 1,000 ล้านบาท
"การปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการ เป็นเรื่องที่รอมานาน เพราะเคยมีการเสนอมาตั้งแต่สมัยหม่อมเต่า (ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล) เป็นอธิบดีกรมบัญชีกลาง จัดทำบัญชีเงินเดือนไว้ 4 บัญชี แต่ใช้ได้แค่บัญชีเดียว ยังไม่มีการปรับเลย" นายกฤษฎากล่าว
ชี้โอนเงินคนจนต้องใช้เวลา
ส่วนแนวคิดเรื่อง "เงินโอน แก้จน คนขยัน" หรือ Negative Income Tax ที่จะช่วยเหลือคนจนราว 18 ล้านคน สศค.เพิ่งมีการนำเสนองานวิจัย ยังต้องรับฟังความคิดเห็นนำมาวิเคราะห์ กำหนดวิธีการจัดการ ยังเป็นเพียงข้อเสนอหลายแนวทาง ยังต้องคุยกันอีกเยอะ ส่วนการนำมาใช้ต้องใช้เวลา