ภาพจาก มติชน |
Fri, 2014-08-15 12:21
จาตุรนต์ ฉายแสง
ตอนที่ 1 เพิ่มโทษย้อนหลัง
จากกรณีที่พบว่าคุณสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ หนึ่งในตัวเก็งรัฐมนตรีของคสช.มีลักษณะต้องห้าม ไม่สามารถเป็นรัฐมนตรีได้เนื่องจากรัฐธรรมนูญชั่วคราว มาตรา 8 กำหนดว่าการ "เคยเป็นผู้ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง" เป็นลักษณะต้องห้ามสำหรับการเป็นสนช. รัฐมนตรีและสปช.นั้น ผมได้แสดงความเห็นไปแล้วว่าเป็นการเพิ่มโทษย้อนหลังและไม่เป็นธรรมต่อคุณสมคิด
เรื่องนี้ยังมีประเด็นที่ขยายความกันได้อีกพอสมควร เพราะอาจจะมีนัยทางการเมืองไปถึงอนาคตข้างหน้าได้ด้วย
ทำไมจึงว่าเป็นการเพิ่มโทษย้อนหลัง ?
คุณสมคิดเป็นนักการเมืองคนหนึ่งในคณะกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยที่ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นเวลา 5 ปี ตั้งแต่ตอนที่มีการยุบพรรคไทยรักไทยเมื่อเดือนพฤษภาคม 2550 ตลอดเวลา 5 ปีนั้นนักการเมืองทั้ง 111 คนไม่มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง ไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ไม่สามารถเป็นสมาชิกรัฐสภา รัฐมนตรีหรือนายกรัฐมนตรี
ที่เป็นเช่นนี้เพราะรัฐธรรมนูญในอดีตกำหนดว่า "การอยู่ระหว่างการถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง" เป็นลักษณะต้องห้ามสำหรับการดำรงตำแหน่งทางการเมืองเหล่านั้น
เมื่อครบ 5 ปีนักการเมืองเหล่านั้นก็กลับมามีสิทธิเลือกตั้งตามปรกติ บรรดาสิทธิต่างๆที่ถูกเพิกถอนตามไปด้วยก็กลับคืนมาด้วยเช่นกัน
แต่รัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับล่าสุด เกิดมามีบทบัญญัติกำหนดว่าการ "เคยถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง" เป็นลักษณะต้องห้ามสำหรับสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และข้อความอย่างเดียวกันนี้ก็ถูกกำหนดให้เป็นลักษณะต้องห้ามสำหรับรัฐมนตรีและสมาชิกสภาปฏิรูปฯด้วย
เท่ากับว่านักการเมืองที่เคยถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งทั้งหลาย และรับโทษครบตามกำหนดไปแล้ว ปัจจุบันก็ยังมีสิทธิเลือกตั้งอยู่ (แต่ไม่มีการเลือกตั้ง) แต่กลับมีลักษณะต้องห้ามสำหรับการดำรงตำแหน่งต่างๆเหมือนกับยังอยู่ระหว่างการถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ซึ่งก็คือถูกเพิ่มโทษจากเดิมนั่นเอง
การเพิ่มโทษเช่นนี้มากำหนดขึ้นใหม่ หลังเหตุการณ์ที่เป็นเหตุให้เกิดการลงโทษและหลังการลงโทษ มีการรับโทษจบสิ้นไปแล้วด้วย จึงเป็นการออกกฎหมายย้อนหลังในทางเป็นโทษ ไม่เป็นธรรมต่อผู้ได้รับโทษ
ตอนที่ 2 ไม่เป็นธรรมซ้ำสอง
นักการเมืองที่ถูกเพิกถอนสิทธิด้วยเหตุที่พรรคการเมืองถูกยุบมี 2 รุ่นใหญ่ๆด้วยกัน ทั้ง 2 รุ่นได้รับความไม่เป็นธรรมทั้งในลักษณะเดียวกันและต่างกัน รุ่นแรกคือพวก 111 ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งทั้งๆที่ขณะเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้ถูกยุบพรรค กฎหมายกำหนดโทษไว้เพียงว่ากรรมการบริหารพรรคไม่สามารถไปเป็นผู้ก่อตั้งพรรคใหม่และไม่สามารถไปเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมืองอื่นได้ภายในเวลาที่กำหนด แต่ไม่ได้กำหนดว่าจะต้องถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งด้วย
การกำหนดให้กรรมการบริหารพรรคการเมืองที่ถูกยุบ ต้องถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งไปด้วยเกิดจากคำสั่งของคณะปฏิรูปที่มีขึ้นหลังการรัฐประหารปี 49 แล้วคณะตุลาการรัฐธรรมนูญที่คณะรัฐประหารตั้งขึ้นได้วินิจฉัยด้วยเสียงส่วนใหญ่ว่า สามารถนำมาใช้ย้อนหลังไปลงโทษกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยได้ ทั้งๆที่ขัดต่อหลักนิติธรรมอย่างยิ่ง
ส่วนรุ่นที่ 2 คือพวกนักการเมือง 109 คน พวกนี้ไม่ได้ถูกลงโทษในลักษณะใช้กฎหมายย้อนหลัง เนื่องจากในรัฐธรรมนูญปี 50 ได้บัญญัติเรื่องการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคการเมืองที่ถูกยุบไว้ในรัฐธรรมนูญด้วยเลย แต่ความไม่เป็นธรรมทีี่ได้รับเช่นเดียวกับรุ่นแรกก็คือการถูกลงโทษเป็นหมู่คณะทั้งๆที่ตนเองไม่ได้กระทำความผิด แต่เป็นการถูกลงโทษจากการที่เป็นส่วนหนึ่งขององค์กร ซ้ำร้ายผู้ที่ถูกลงโทษส่วนใหญ่ไม่ได้รับโอกาสในการสู้คดีเป็นรายบุคคล เหล่านี้ล้วนขัดหลักนิติธรรมทั้งสิ้น
นอกจากนี้ หากพิจารณาในรายละเอียดที่ปรากฏในเวลาต่อมาก็จะยิ่งพบความไม่เป็นธรรมชัดเจนยิ่งขึ้น
พรรคไทยรักไทยถูกยุบไป เพราะคณะตุลาการฟังได้ว่า มีผู้บริหารระดับสูงของพรรคเป็นตัวการในการจ้างให้มีการเปลี่ยนแปลงเอกสารและจ้างให้มีคนลงสมัครรับเลือกตั้ง แต่ต่อมาจากการดำเนินคดีจนถึงบัดนี้ ยังไม่มีการลงโทษใครได้เลยแม้แต่คนเดียว
กรณีของพรรคชาติไทยยิ่งชัดเจนมากขึ้นไปอีก กรรมการบริหารพรรคได้ใบแดง เพราะกกต.เชื่อว่าให้เงินหัวคะแนน จึงให้ใบแดง ต่อมาศาลรัฐธรรมนูญก็เห็นว่า เมื่อกกกต.ให้ใบแดงแล้วจึงไม่จำเป็นต้องพิจารณาประเด็นนี้อีก เมื่อกรรมการบริหารทำผิดกฎหมายก็สามารถยุบพรรคได้เลย เมื่อยุบพรรคแล้ว กรรมการบริหารทั้งหมดก็ถูกเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้งตามไปด้วยโดยอัตโนมัติ
ต่อมามีการสอบสวนดำเนินคดีผู้ต้องหา ผลสรุปออกมาว่าการจ่ายเงินนั้นเป็นการชำระหนี้ตามปรกติ ให้คืนเงินผู้ต้องหาไป หมายความว่า กรณีของพรรคชาติไทยไม่มีผู้ใดกระทำผิดกฎหมายเลยแม้แต่คนเดียว
แต่นักการเมืองหลายคน หลายตระกูลถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง เป็นอะไรก็ไม่ได้กันคนละ 5 ปีไปแล้ว
บัดนี้รัฐธรรมนูญชั่วคราวกำหนดบทลงโทษนักการเมืองเหล่านี้ รวมทั้งนักการเมืองคนอื่นๆที่ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งซ้ำอีกครั้งหนึ่ง ด้วยการกำหนดว่าการเคยถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นลักษณะต้องห้ามสำหรับการดำรงตำแหน่งต่างๆ
จริงอยู่ นักการเมืองส่วนใหญ่ถูกจำกัดสิทธิด้วยเหตุอื่นอยู่แล้ว และส่วนใหญ่ก็ไม่ประสงค์จะดำรงตำแหน่งต่างๆเหล่านั้น แต่พิจารณาจากหลักนิติธรรมในการบัญญัติกฎหมายแล้วก็เห็นได้ชัดว่า ไม่เป็นธรรมต่อผู้ที่ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งและรับโทษไปแล้ว แต่กลับต้องมาถูกลงโทษอีก
จึงเรียกได้ว่า ไม่เป็นธรรมซ้ำสอง
ตอนที่ 3 เคยถูกถอดถอนก็เป็นลักษณะต้องห้าม ของแถมชิ้นใหญ่
ลักษณะต้องห้ามอีกอย่างหนึ่งที่ไม่เคยกำหนดมาก่อนคือ การ "เคยถูกถอดถอนออกจากตำแหน่ง" นี่ก็เป็นการเพิ่มโทษย้อนหลังเช่นกัน ในรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา การถอดถอนจากตำแหน่งทำได้โดยวุฒิสภาหรือศาลรัฐธรรมนูญ กระบวนการขั้นต้นมักจะมีการพิจารณาชี้มูลโดยปปช. เมื่อขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามหรือกระทำการที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ บุคคลที่ดำรงตำแหน่งสูงๆก็สามารถถูกถอดถอนได้ เมื่อถูกถอดถอนแล้วยังอาจถูกดำเนินคดีอาญาอีกก็ได้ด้วย
แต่การถูกถอดถอนไม่เป็นเหตุให้ขาดคุณสมบัติที่จะกลับมาดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้อีก ตัวอย่างเช่น กรณีที่ท่านอดีตนายกฯสมัคร ถูกถอดถอนจากตำแหน่งแล้ว ท่านก็ยังมีสิทธิ์กลับมาเป็นนายกฯได้อีก แต่ว่าท่านไม่ได้รับเลือกให้กลับมาเป็นนายกฯ
ท่านนายกฯยิ่งลักษณ์กับรัฐมนตรีร่วมคณะอีกหลายคนที่ถูกถอดถอนไปก่อนการรัฐประหารไม่นานนั้น หากมีการตั้งคณะรัฐมนตรีกันใหม่ก็มีสิทธิ์กลับมาเป็นกันอีก เพียงแต่ว่ายุบสภาไปก่อนแล้ว จึงไม่มีการตั้งครม.ได้อีก
รัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับนี้กำหนดว่าการ "เคยถูกถอดถอนจากตำแหน่ง" เป็นลักษณะต้องห้ามสำหรับการเป็นสนช. รัฐมนตรีและสปช.ด้วย ผู้ที่ถูกถอดถอนจากตำแหน่งก่อนหน้านี้ จึงไม่สามารถดำรงตำแหน่งต่างๆเหล่านั้นได้
นี่ก็คือการเพิ่มโทษย้อนหลังแก่บุคคลเหล่านี้นั่นเอง
เรื่องนี้ ถ้าดูจากจำนวนคนที่เคยถูกถอดถอนก่อนหน้านี้ซึ่งไม่มาก ก็อาจะไม่ใช่เรื่องใหญ่ ยิ่งถ้ามองว่าคนที่ถูกถอดถอนจากตำแหน่งทั้งหลายต่างก็ไม่สนใจจะเป็นสนช.หรือรัฐมนตรีหรือสปช.ในช่วงนี้อยู่แล้ว ก็ยิ่งอาจเห็นเป็นเรื่องเล็ก แต่ถ้าดูจากตำแหน่งและความสำคัญทางการเมืองก็จะพบว่าเรื่องนี้อาจไม่ใช่เรื่องเล็ก
ยิ่งถ้ามองไปข้างหน้า อาจมีคนถูกถอดถอนมากกว่าที่ผ่านมา ถ้าเกิดมีการนำหลักเกณฑ์กติกาแบบนี้ไปใช้ จะมีผลต่อการเมืองไทยอย่างไร และถ้าดูว่าใครอาจถูกถอดถอนได้บ้าง ยิ่งไม่ใช่เรื่องเล็กแน่
การกำหนดให้การ "เคยถูกถอดถอนจากตำแหน่ง" เป็นลักษณะต้องห้าม ดูผิวเผินก็เหมือนเป็นของแถม แต่ดูให้ดีๆจะพบว่านี่คือ ของแถมชิ้นใหญ่ทีเดียวครับ
ตอนที่ 4 ล้างบางฝ่ายเดียว
การที่"การเคยถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง"และ"การเคยถูกถอดถอนจากตำแหน่ง"ถูกกำหนดให้เป็นลักษณะต้องห้ามสำหรับสนช. คณะรัฐมนตรีและสปช. ความจริงแล้วเป็นการเพิ่มโทษย้อนหลังแก่คนจำนวนไม่น้อย แต่ที่ไม่เป็นที่สนใจเท่าใดนักก็เพราะผู้ที่ถูกจำกัดสิทธิเองก็ไม่ได้สนใจจะดำรงตำแหน่งที่ถูกห้ามเหล่านี้ หรือไม่ก็ถูกจำกัดสิทธิ์ด้วยลักษณะต้องห้ามประการอื่นเช่นการเป็นสมาชิกพรรคการเมืองเป็นต้น
แต่ถ้าไม่มีใครสนใจเรื่องนี้กันเท่าที่ควร ต่อไปอาจกลายเป็นเรื่องใหญ่มากได้และนั่นก็คือการใช้วิธีการนี้เพื่อ "ล้างบางฝ่ายเดียว"
ลองนึกภาพดูว่าจะเกิดอะไรขึ้นถ้าในรัฐธรรมนูญที่จะมีการร่างกันขึ้นใหม่กำหนดให้"การเคยถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง"และ"การเคยถูกถอดถอนจากตำแหน่ง"เป็นลักษณะต้องห้ามสำหรับสส. สว.และรัฐมนตรี
นักการเมืองที่เคยถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งและเคยถูกถอดถอนจากตำแหน่งทั้งหลายก็จะไม่สามารถเป็นสส. สว.หรือรัฐมนตรีได้อีกเลย ไม่นับรวมนักการเมืองที่อาจจะถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งหรือถูกถอดถอนจากตำแหน่งที่จะเกิดเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต
คนเหล่านี้เป็นใครบ้าง
คนเหล่านี้คือนักการเมืองจำนวนหนึ่งที่เคยได้รับใบแดง หรือทำผิดกฎหมายเลือกตั้งแล้วถูกเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้ง ซึ่งก็อาจมีกระจายอยู่ตามพรรคต่างๆ
อีกพวกหนึ่งคือพวกที่ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเพราะพรรคถูกยุบ ที่สำคัญก็หนีไม่พ้นพวก 111 และ 109
พวกที่ถูกถอดถอนจากตำแหน่งก็เช่น ท่านนายกฯยิ่งลักษณ์กับรัฐมนตรีร่วมคณะอีกหลายคน
ที่ยังไม่ทราบชะตากรรมคืออดีตสส. อดีตสว.รวมประมาณ 300 กว่าคน ที่ร่วมกันแก้รัฐธรรมนูญและถูกปปช.สอบอยู่ แต่ยังไม่ทราบว่าจะถูกส่งไปถอดถอนโดยสนช.หรือไม่
ถ้าอดีตสส.และอดีตสว.เหล่านี้ถูกถอดถอน ก็จะมีนักการเมืองที่มีลักษณะต้องห้ามรวมกันหลายร้อยคน ซึ่งก็ช่างบังเอิญเสียจริงที่นักการเมืองเหล่านี้ส่วนใหญ่อยู่ฝ่ายเดียวกันในทางการเมืองมาก่อน
ถ้ากติกาออกมาอย่างนั้นและเหตุการณ์เป็นไปอย่างที่สงสัยจริงๆ ไม่เรียกว่าล้างบางฝ่ายเดียวก็ไม่รู้จะเรียกว่าอะไร
ที่ให้ความเห็นมานี้ไม่ใช่ตีตนไปก่อนไข้แน่ๆ เพราะการกำหนดลักษณะต้องห้ามที่กล่าวข้างต้นก็เกิดขึ้นแล้วอย่างง่ายดาย การจะเกิดเรื่องทำนองเดียวกันนี้ขึ้นอีกในรัฐธรรมนูญใหม่ ในทางเทคนิคแล้วก็ง่ายเหมือนพลิกฝ่ามือ
ที่เป็นห่วงก็คือ การแก้ปัญหาความขัดแย้งในสังคมไทย การปรองดองจะเป็นอย่างไร ถ้ามีการล้างบางฝ่ายเดียวขึ้นจริงๆ
การเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในอนาคตจะมีความหมายอย่างไร หากลงเลือกตั้งกันได้เพียงฝ่ายเดียว
มีคนจำนวนไม่น้อยที่คิดว่า ใครจะทำอะไรก็ปล่อยเขาไปเถอะ สุดท้ายถึงเวลาเลือกตั้งพวกเขาก็แพ้อยู่ดีนั้น
วิเคราะห์มาถึงตรงนี้ ผมอยากจะแนะนำว่าใครที่คิดอย่างนั้นควรคิดใหม่ได้แล้ว บ้านเมืองเป็นของเราทุกคน ต้องช่วยกันติดตามความเป็นไปและใช้สิทธิเสรีภาพเสนอความเห็นเท่าที่จะทำได้ แม้ว่าจะจำกัดอยู่มากก็ตาม
ไม่ใช่รอไปเรื่อยๆ แล้วทุกอย่างจะดีเอง.
หมายเหตุ : รวบรวมจากเฟซบุ๊กนายจาตุรนต์ ฉายแสง มาเรียบเรียงใหม่