ที่มา มติชนออนไลน์
ความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน คือ สิทธิขั้นพื้นฐานที่ทุกคนควรได้รับ แต่สถานการณ์บางช่วงของสังคมก็ลดทอนสิ่งนี้ไปเพื่อเป้าหมายอื่น จนทำให้ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ถูก "ละเมิด"
เหตุนี้จึงเกิดหน้าที่ของนักสิทธิมนุษยชน บุคคลที่คอยย้ำเตือนสังคมยามก้าวพลาด
"อย่าลืมความเป็นมนุษย์ที่เราทุกคนมีเหมือนๆ กัน" คือสิ่งที่นักสิทธิมนุษยชนทั่วโลกตะโกนบอก
ความเห็นและความเชื่อที่แตกต่างไม่อาจจำแนกมนุษย์ให้มีคุณค่ามากน้อยต่างกันได้
หนึ่งในนักสิทธิมนุษยชนที่มีบทบาทมากที่สุดของสังคมไทย ชำนาญ จันทร์เรืองอาจารย์พิเศษคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสมาชิกประจำมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ผู้ขับเคลื่อน พ.ร.บ.เชียงใหม่มหานคร เมื่อปี 2555 เรียกร้องการปกครองแบบกระจายอำนาจ ให้จังหวัดจัดการตนเอง ร่วมแสดงความคิดเห็นท่ามกลางสถานการณ์การเมืองยามนี้
สำหรับงานด้านสิทธิมนุษยชน อาจารย์ชำนาญทำงานร่วมกับองค์กรแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เรื่อยมา กระทั่งได้รับเลือกเป็นประธานเมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา
ผ่านช่วงเดือนที่หลายคนเกิดคำถามด้านสิทธิมนุษยชนในจุดพลิกผันทางการเมืองไทย หลังรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 เพิ่งคลอดออกมา คำถาม ข้อวิพากษ์วิจารณ์ การแสดงความคิดเห็นลอยมาตามสายลมไม่หยุดหย่อน อาจารย์ชำนาญร่วมแสดงความคิดเห็นในนามนักวิชาการคนหนึ่ง ในฐานะนักสิทธิมนุษยชนผู้คร่ำหวอด
มองผ่านรัฐธรรมนูญแล้ว นักวิชาการด้านสิทธิมนุษยชนคนนี้เห็นอะไร? สถานการณ์สิทธิมนุษยชนในบ้านเมืองเป็นอย่างไร? และอะไรคือโอกาสของนักสิทธิมนุษยชน?
คำตอบอยู่ในบรรทัดถัดไป
@ เรามาถึงจุดเว้นวรรคการเลือกตั้งอย่างวันนี้ได้อย่างไร?
ทุกคนมีส่วนร่วม เพราะว่า 1.ฝ่ายที่มาจากการเลือกตั้งใช้อำนาจเกิน จนมองข้ามเสียงที่เลือกเข้ามา มีการผ่านกฎหมายนิรโทษกรรมตอนตี 4 ความพยายามดึงดันในสิ่งต่างๆ ไม่ฟังเสียงคัดค้าน 2.การยึดอำนาจ โดยในทางวิชาการทั่วไปคงไม่มีใครเห็นด้วย แต่เขาอาจจะทำ ด้วยความที่ คสช.มองว่าจำเป็นที่จะต้องเกิดขึ้น เพื่อป้องกันเหตุร้ายที่จะเกิดขึ้น จึงเกิดคำถามว่าจะเกิดขึ้นจริงหรือเปล่า? แค่ไหน? อย่างไร? เหมือนตอนที่ทำการยึดอำนาจ 19 กันยายน 2549 เป็นการคาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ อย่างไร
แต่เมื่อเกิดขึ้นมาถึงปัจจุบันแล้ว ผมก็ต้องใช้คำว่า ไม่อาจหวนคืนกลับไปได้ ล่วงเลยมากไกล 2-3 เดือนแล้ว ก็มีหน้าที่จะต้องเดินต่อไปข้างหน้า ทำให้ดีที่สุด อย่างไรก็แล้วแต่ ต้องมีการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นสิ่งที่แสดงถึงเสียงหรือสิทธิของประชาชนที่พึงมี พึงได้ พึงแสดงออก ในนานาอารยประเทศทั้งหลายทั่วไป มาช่วยกันคิดกรอบกติกาว่าควรจะไปอย่างไร
@ รู้สึกอย่างไรบ้างหลังจากได้เห็นรัฐธรรมนูญ 2557?
พูดง่ายๆ ก็คือ "Unfinished รัฐประหาร 2549" คือ พยายามจะทำให้สำเร็จลุล่วง ความเห็นของหลายๆ ฝ่ายที่ยึดอำนาจคราวที่แล้วคิดว่ายังทำไม่เสร็จ ก็เลยทำให้เกิดรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 ขึ้นมา ผมคิดว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่แปลกๆ อาจจะระแวงนักการเมืองมาก จริงอยู่เราควรระแวงนักการเมือง ควรจะให้บทเรียนนักการเมือง แต่ไม่ควรจะลืมสิทธิเบื้องต้นของประชาชนทั่วๆ ไป และความเชี่ยวชาญในการบริหารบ้านเมืองหรือสังคมโลกควรจะทำโดยเร็ว แล้วขยายสิทธิอำนาจของประชาชนให้มาก ช่วงนี้อาจจะถือว่าชะงักงันไปบ้าง
ผมดีใจ ตอนแรกการปฏิรูป 11 ประเด็น ไม่มีเรื่องการปกครองท้องถิ่น แต่ฉบับนี้มีมาตรา 27 (4) มีเรื่องการปกครองท้องถิ่นขึ้นมา แม้ว่าที่ผ่านมา 2-3 สัปดาห์หลังมีแนวโน้มที่จะลดทอนอำนาจท้องถิ่นมาก แต่มีเวลาที่ได้พูดคุยกันถกเถียงเสนอประเด็นให้ข้อมูลข้อเท็จจริง ผมยกตัวอย่างที่เกาหลีใต้ เขาจะมีสงครามเกาหลีใต้-เกาหลีเหนือ 50 ปี แล้วยังไม่เลิก แต่การบริหารราชการส่วนภูมิภาคก็ยังมั่นคง
ผมพยายามยกข้อดีเหล่านี้ในเอกสารต่างๆ ที่เขาขอมา รู้สึกว่าเขาจะฟัง ไม่อย่างนั้นคงไม่มี (4) เรื่องการปกครองส่วนท้องถิ่นขึ้นมา ก็ดีใจที่มีการพูดถึงเรื่องนี้บ้าง
@ เรื่องของสิทธิมนุษยชนมีรับรองในรัฐธรรมนูญมากน้อยแค่ไหน?
เขาเขียนไว้ในมาตรา 4 ความเป็นมนุษย์ พันธกรณีระหว่างประเทศ เพราะว่าเราผูกพันกับ ICCPR สิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองที่เราจะต้องให้การรับรองไว้ แต่มีมาตรา 47 ที่มาคานไว้ โดยทั่วไปก็ต้องเดินตามนั้น เพราะว่าเราเป็นรัฐขึ้นกับสหประชาชาติ ต้องผูกพันไว้
หลายส่วนหลายอย่างในตัวเนื้อหารัฐธรรมนูญสามารถอ้างได้ แต่ในทางปฏิบัติมีการพูดถึงเรื่องการควบคุมต่างๆ ในช่วงหลัง การจำกัดสิทธิเสรีภาพบางอย่าง คิดว่าอาจจะเกินความจำเป็นไปบ้าง เช่น สิทธิสื่อมวลชนที่ผ่านมา ประชาชนก็มีวิจารณญาณเปรียบเทียบได้ว่าอะไรถูกอะไรควร หลายอย่างที่ คสช.ทำหลายคนชอบ แต่ก็มีหลายคนไม่ชอบ มีข้อถกเถียงกันว่าเป็นผลพวงของผลไม้พิษแล้วไม่ได้สักอย่าง ตรงนี้ผมไม่เห็นด้วย เพียงแต่ว่าบางอย่างอาจจะได้ในบางครั้งบางคราว แต่ในภาพรวมสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกต้องมีต่อไป
@ มีมาตราไหนที่นักสิทธิมนุษยชนกังวลเป็นพิเศษไหม?
ไม่ได้เขียนโดยตรงเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่พูดคลุมไปหมด ในมาตรา 47 ลองดูให้ดี คือคนไประแวงมาตรา 44 ที่เปรียบเทียบเหมือนมาตรา 17 สมัยจอมพลสฤษดิ์กับจอมพลถนอม ซึ่งเป็นเหตุการณ์พิเศษจึงจะใช้แต่มาตรา 47 บรรดาประกาศคำสั่ง คสช.ไม่ว่าจะทำก่อนหรือหลัง ให้สังเกตคำว่า "หลัง" หมายความว่าพอประกาศใช้รัฐธรรมนูญเสร็จ คสช.ก็ยังมีอำนาจเต็มทุกอย่าง แม้จะมีคณะรัฐมนตรีก็ยังมีประกาศได้เหมือนปกติปัจจุบันนี้เลย ละเมิดหรือไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชนก็อาจเกิดขึ้นได้ เพราะอำนาจอยู่ที่ คสช. กลุ่มเดียวหรือคนคนเดียวก็ได้
น่าแปลกตรงที่ว่า 1.รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวบัญญัติไว้ว่า ในกรณีที่ร่างไม่เสร็จตามกำหนดวันเวลาหรือว่าตกไป สภาปฏิรูปไม่รับ หรือไม่ทรงลงพระปรมาภิไธย ต้องยกร่างใหม่ไปเรื่อยๆ ไม่มีกำหนดเวลา ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่าจะเสร็จเมื่อไหร่ 2.ประเด็นสำคัญก็คือ รัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับนี้พิเศษกว่ารัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับอื่นๆ ตรงที่สามารถแก้ไขได้ พอแก้ไขได้ เขาอาจจะแก้ไขไม่ให้มีรัฐธรรมนูญฉบับที่ 20 ก็ได้ หรืออาจจะให้ปรับปรุงฉบับนี้แล้วใช้เลยก็ได้
@ ข้อสังเกตเรื่องการให้อำนาจข้าราชการประจำในการรับตำแหน่งต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญ?
เขาไว้ใจข้าราชการประจำว่าสามารถทำได้ทุกเรื่อง โดยหลักเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว อย่างนั้นจะมีนักการเมืองไว้ทำไม ไม่ว่าจะพรรคการเมือง สมาชิกพรรคการเมือง หรือนักการเมืองก็ตาม เป็นกลุ่มผลประโยชน์ คำว่า "ผลประโยชน์" ภาษารัฐศาสตร์ในทางเป็นกลางมีทั้งบวกทั้งลบ ทั้งคนดีคนไม่ดี ทุกวงการมีทั้งดีทั้งไม่ดี วงการการเมืองอยู่ในที่โล่งมีสายตาจับจ้อง แล้วจิตสำนึกในการสนองตอบต่อความต้องการของประชาชน ราชการจะมีน้อยกว่านักการเมืองเยอะ
ผมไม่ได้ว่านักการเมืองดี แต่ถ้ามองการให้บริการ เช่น การมาอยู่ในท้องถิ่นหรือการร่างกฎหมาย แน่นอน ภาษิตกฎหมายก็บอกแล้ว ชนชั้นใดร่างกฎหมายก็ย่อมเอื้อต่อชนชั้นนั้น ฉะนั้น นำข้าราชการมามีอำนาจทางการเมือง มาร่างกฎหมาย ก็หนีไม่พ้นการเอื้อประโยชน์ อย่างน้อยที่สุดก็รับเงินเดือน 2-3 ทาง แล้วต่อไปกฎหมายบางเรื่องที่ยังค้างการพิจารณาหรือที่ภาคประชาชนเสนออยู่ เชื่อว่าข้าราชการไม่มีทางหยิบขึ้นมา ถึงหยิบมาก็อาจจะแปรจนไม่ตรงกับหลักการเดิมที่เขาต้องการ
@ ข้อเสนอเฉพาะหน้าเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองตอนนี้?
ตอนนี้ต้องรับฟังเสียงสะท้อนมากๆ อย่าฟังความข้างเดียว ต้องฟังความหลายๆ ฝ่าย เพราะแน่นอนอำนาจอยู่ที่องค์กร คสช. สนช. หรือ สปช. แต่ต้องฟังว่า เอา-ไม่เอา หรือเอาบ้างไม่เอาบ้าง ยังดีกว่าไม่ฟังเลย ต้องให้คนมีสิทธิออกเสียง เหมือนกาน้ำต้องมีรูระบาย บางทีเขามองไม่เห็น อย่างที่เขามองว่านักการเมืองท้องถิ่นมีแต่ทุจริตคอร์รัปชั่นต้องทำให้เล็กลง แต่หารู้ไม่ว่า การสนองความต้องการของประชาชนหรือชาวบ้านนั้นทำได้ดีกว่า เราก็ต้องฟัง แต่จะจัดระบบอย่างไร คัดคนสู่ตำแหน่งอย่างไร การเลือกตั้งทำอย่างไร ออกแบบระบบให้ดีให้เหมาะสม
@ แล้วในระยะยาว?
บทเรียนประวัติศาสตร์สอนไว้แล้ว เราต้องนำประวัติศาสตร์บาดแผลทั้งหลายที่เกิดขึ้นมาเป็นบทเรียน ในโลกนี้ไม่ต่างกัน ไทย แอฟริกาใต้ ยุโรป อเมริกา จีน ญี่ปุ่น บทเรียนมีอยู่ในตำรา เมื่ออำนาจอยู่รวมที่ใครคนใดคนหนึ่ง ใช้อำนาจมากเกินไป ไม่ว่ามาจากการเลือกตั้งหรือแต่งตั้งโดยรัฐประหารก็ตาม ก็ทำให้เกิดการฉ้อฉล ต้องมีการดุลและคานอำนาจกัน ออกแบบให้ดี อย่าใช้อำนาจเกินเลยจนคิดว่ามาจากการเลือกตั้งแล้วทำอะไรได้ทุกอย่าง หรือคิดว่าอำนาจอยู่ที่กระบอกปืนแล้วทำได้ทุกอย่าง ไม่จริง ความอดทนของประชาชนมีจำกัด เขาอาจจะรับได้ในระดับหนึ่ง แต่พอเกินขีดที่เขารับได้อะไรจะเกิดขึ้นเราก็ไม่รู้
@ เรื่องการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ มองอย่างไรและควรเป็นอย่างไร?
นี่เป็นสิทธิทางการเมืองธรรมดา ไม่ถึงกับเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน สิทธิมนุษยชนเป็นสิทธิที่ประชาชนพึงมีในการเสนอความเห็น แต่การเสนอความเห็นมีหลายวิธี อาจใช้การมีส่วนร่วมในการร่าง การแสดงความคิดเห็นต่างๆ นานา
ทางที่ดี เพื่อความสง่างามและเป็นที่ยอมรับก็ควรจะทำ ถ้ามั่นใจว่าเป็นของดีก็ควรเปิดลงประชามติ ทำเป็นหลายๆ ประเด็นก็ได้ ไม่จำเป็นจะต้องเป็นประเด็นเดียวว่ารับหรือไม่รับ จะได้ไม่แบ่งเป็น 2 ฝ่าย แบบรัฐธรรมนูญปี 2550
ประชามติอาจทำเป็นหลายประเด็นแต่ไม่ต้องมากนัก สัก 4-5 ประเด็น เช่น นายกรัฐมนตรีควรจะมาจากไหน? ควรมีองค์กรอิสระหรือไม่? จะใช้ระบบศาลเดี่ยวศาลคู่? ควรมีศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่? ที่สวิตเซอร์แลนด์ก็มีประชามติปีละ 3-4 ครั้ง ในแต่ละท้องถิ่น
@ การเดินสายสร้างความปรองดองในตอนนี้?
ความปรองดองเกิดขึ้นจากภายในจิตใจ อาจพอได้บ้างชั่วครั้งชั่วคราว แต่พอทำแล้วเหมือนสมัยโรมัน ทำแล้วมีละครสัตว์ มีโชว์ให้คนดู ชั่วครั้งชั่วคราว หน่วยงานที่ทำอย่าง กอ.รมน. ต่างๆ นานาเขาก็ไม่ได้มีความเชี่ยวชาญในด้านนี้
คิดว่าให้ความยุติธรรมดีที่สุด 100 เปอร์เซ็นต์ เป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว แต่ต้องตอบคำถามให้ได้ว่าทุกคนเสมอภาคกัน เสมอหน้ากัน ไม่ได้ถูกเลือกปฏิบัติ แค่นี้ก็ปรองดองแล้ว ถ้าใครจำได้สมัย 2549 รัฐประหารใหม่ๆ คนก็สงสาร ปรากฏว่าพอเกิดวิกฤตการณ์ตามมา มียุบพรรค เกิดการชุมนุมกัน ประเด็นก็กลับมาซ้ำอีก กลายเป็นการผลักคนให้ไปอยู่อีกฝ่าย ภาษาคอมมิวนิสต์สมัยก่อนเขาเรียก "แนวร่วมมุมกลับ" อย่าพยายามผลักคนให้ไปอยู่แนวร่วมมุมกลับ
ถ้าไม่เลือกปฏิบัติจริงๆ ต้องตอบให้ได้ ตอบเลย ไม่ได้เสียหายอะไร ถ้าเชื่อว่าบริสุทธิ์ใจจริง ไม่ได้เข้ามาเพื่อแสวงหาอำนาจ อย่างที่ คสช.บอกว่า เข้ามาเพื่อยุติความขัดแย้งที่จะเกิดขึ้น ให้คนทุกคนเชื่อว่าเข้ามาเพื่อยุติข้อขัดแย้งจริงๆ เรามีเวลาอยู่แล้ว มีรายการทุกวันศุกร์ มีหน่วยงานทุกวันตอน 6 โมงเย็น คนให้โอกาส พร้อมรับฟัง
@ สถานการณ์สิทธิมนุษยชนประเทศไทยในตอนนี้เป็นอย่างไร?
ยังแย่อยู่ เพราะมีคนถูกบังคับสูญหาย กรณีของบิลลี่ กรณีเหมืองที่จังหวัดเลย มีการใช้กำลังทหารเข้าไปติดป้าย เหมือนชาวบ้านถูกรังแก เหมือนทหารไปเลือกอยู่อีกฝ่ายหนึ่ง การบังคับขับไล่ให้อพยพหรือบังคับสูญหาย หรือการถูกเรียกให้ปากคำรายงานตัว ควรจะทำให้น้อยที่สุด ต้องระวัง
ยืนยันว่ามีความคิดเห็นทางการเมืองแตกต่างกันไม่จำเป็นต้องเป็นศัตรู เป็นผู้ร้ายของชาติ หลายคนมีแนวความคิดเห็นดีๆ เขาอาจเห็นตรงข้ามกับเรา ก็รับฟังเอาหรือไม่อีกเรื่องหนึ่ง แต่ไม่ใช่ให้เขาเป็นศัตรูของชาติไปเลย ก็หนักไป
องค์กรสิทธิมนุษยชนต่างประเทศมองว่า Freedom of Expression เป็นสิทธิติดตัวของคน จะมีกฎหมายหรือไม่ก็ต้องให้สิทธิในการแสดงออกความคิดเห็นทางการเมืองอยู่แล้ว เรื่องรูปแบบการปกครองเป็นทัศนคติ เป็นรสนิยมแต่ละประเทศ ชอบอีกแบบหนึ่งก็ไม่ว่ากัน แต่บรรดานักสิทธิมนุษยชนเขาก็มองว่ามีการละเมิดอยู่
@ การละเมิดสิทธิมนุษยชนทั่วโลกส่วนใหญ่เกิดจากการกระทำของรัฐ?
แน่นอน เพราะว่ารัฐมีอำนาจอยู่ในมือ คนที่มีอำนาจอยู่ในมือมักจะมีแนวโน้มที่จะใช้อำนาจนั้นเกินกว่ากฎหมายกำหนด ถ้าไม่มีการตรวจสอบควบคุม เขามักจะใช้อำนาจนั้นเกินเสมอ 1.ด้วยความเคยชิน 2.ด้วยความลำพองใจ ยิ่งคนไม่เคยมีอำนาจแล้วมามีอำนาจยิ่งหนักเข้าไปอีก ยิ่งมีทั้งอำนาจมีอาวุธมีปืนอยู่ที่ตัวนั้นทำให้เกิด "Power tends to corrupt and absolute power corrupts absolutely." ได้ยินได้เรียนกันมานานของลอร์ด แอคตัน เขาถึงพยายามแยกการใช้อำนาจในการตรวจสอบถ่วงดุลกัน อย่าให้อำนาจอยู่ที่ใครคนใดคนหนึ่ง
@ มองบทบาทการทำหน้าที่ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ที่ผ่านมาอย่างไร?
บกพร่องตั้งแต่ที่มาแล้ว แต่เดิมรัฐธรรมนูญ 2540 ให้มีองค์กรสิทธิมนุษยชนในการพิจารณา แต่รัฐธรรมนูญ 2550 ให้ 3 ศาลพิจารณาเลือกมา พูดตรงๆ อย่างไม่โกรธกัน หลายคนแทบจะไม่รู้เรื่องสิทธิมนุษยชนด้วยซ้ำไป การดำเนินการออกแถลงการณ์ปกป้องอะไรกลายเป็นฝ่ายเชียร์รัฐบาลมากกว่า ไม่ว่ารัฐบาลไหน อย่าลืมว่าสิทธิมนุษยชนเป็นสิทธิทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น เจ้าหน้าที่ของรัฐ ผู้ต้องหา จำเลย หรือผู้ร้าย ทุกๆ คนต้องได้รับการคุ้มครองเหมือนกันหมด ขึ้นชื่อว่าเป็นมนุษย์ต้องไม่เลือก
คิดว่า ถ้ามีรัฐธรรมนูญใหม่เกิดขึ้น เรื่องคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนต้องทบทวนถึงที่มาและบทบาทอำนาจหน้าที่เป็นอย่างยิ่ง ถือว่าสำคัญมาก ไม่ควรจะให้องค์กรเดิมที่มีตามรัฐธรรมนูญเป็นผู้พิจารณาด้วยซ้ำไป
นี่เป็นโอกาสในวิกฤต หลายคนมองว่าในช่วงนี้นักสิทธิมนุษยชน องค์กรสิทธิมนุษยชน หรือ กสม.ทำงานยาก ผมว่าไม่ยาก นี่เป็นโอกาสที่จะได้ทำผลงานให้ประจักษ์ เป็นโอกาสที่จะได้แสดงผลงานที่จะได้ช่วยเหลือคนตกทุกข์ได้ยาก โอกาสได้ชี้แจงแสดงให้สาธารณชนได้เห็นว่าสิ่งนี้ไม่ถูกต้อง อย่าไปเงียบเฉย คอยระวังภัยตัวเองมากกว่าสิทธิมนุษยชน
ไม่อย่างนั้นก็เป็นนักสิทธิมนุษยชนจอมปลอม