วันศุกร์, กรกฎาคม 21, 2560

คดี ‘ฟัน’ ยิ่งลักษณ์อาจจำต้องยืดเวลาลงดาบออกไป ถ้านายชีพ จุลมนต์ ไม่สามารถจะ ‘ปิดจ๊อบ’ ได้ก่อนวันที่ ๓๐ กันยายน

สำหรับคนทั่วไปที่เรียกตนเองว่า เสื้อแดงหรือแค่เป็น ติ่ง และ อิงขบวนการนั้น เนื่องเพราะเชื่อมั่นต่อระบอบประชาธิปไตยทางการเมือง ที่ให้ความสำคัญแก่เสียงข้างมากจากการเลือกตั้ง มากกว่าการ ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง

หากใช้ผลการตัดสินคดีเกี่ยวเนื่องความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างสองสี เหลือง-แดง ที่บังเอิญมีคำพิพากษาออกมาพร้อมกันในวันเดียว (๒๐ ก.ค.) เป็นเหตุชี้แนะให้พิจารณาตามทฤษฎีสมคบคิด ‘conspiracy theory’ ละก็

การคดีฟ้องเอาผิดต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ข้อหาปล่อยปละละเลยให้เกิดการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว ขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งศาลนัดไต่สวนพยานจำเลยเป็นครั้งสุดท้ายในวันนี้ (๒๑ ก.ค.) และน่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุดก่อนวันที่ ๓๐ กันยายนนี้ (ตามรายงานของ นสพ.ไทยโพสต์)

ผลการตัดสินคดียิ่งลักษณ์ที่จะออกมา คงไม่ต่างไปจากชะตากรรมของนายจตุพร พรหมพันธุ์ อดีตประธาน นปช. หรือแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ และไม่ใช่ในทิศทางเดียวกัน พล.ต.จำลอง ศรีเมือง กับพวกอีก ๘ คน ที่เป็นแกนนำ พธม. หรือ พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
 
จตุพรถูกควบคุมตัวกลับเข้าคุกทันที หลังจากศาลฎีกาพิพากษากลับคำตัดสินของทั้งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ซึ่งยกฟ้องคดีที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรีฟ้องใข้อหาหมิ่นประมาท จากการที่จตุพรปราศรัยเมื่อเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๒ ว่านายอภิสิทธิ์เป็นฆาตกรมือเปื้อนเลือด สั่งทหารยิงฆ่าประชาชน

(ดูรายงานข่าว http://www.prachatai.org/journal/2017/07/72483)

ส่วนคดีที่อัยการโจทก์เป็นผู้ฟ้อง ๙ แกนนำ พธม. เมื่อเดือนธันวาคม ๒๕๕๘ ต่อการจัดชุมนุม ดาวกระจายหลายพื้นที่ ปิดกั้นการจราจรและก่อความเสียหายแก่สถานที่ราชการ ดังเช่น ถนนราชดำเนิน สี่แยกมัฆวานรังสรรค์ ทำเนียบรัฐบาล เป็นต้น เพื่อประท้วงและต่อต้านรัฐบาลของนายสมัคร สุนทรเวช

ศาลอาญาตัดสินว่าโจทก์ไม่มีสิทธิที่จะฟ้องร้องจำเลย ๑-๖ เนื่องจากได้มีการฟ้องร้อง “ความผิดฐานร่วมกันบุกรุกเข้าไปในทำเนียบรัฐบาลและทำให้เสียทรัพย์” และ “ก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๑๕ และมาตรา ๑๑๖” เมื่อปี ๒๕๕๕ และ ๒๕๕๖ ที่เรียกว่าคดี บุกรุกทำเนียบรัฐบาล

โดยที่คำพิพากษาคดีดังกล่าวลงโทษจำคุก ๒ ปี ไม่รอลงอาญาไปแล้ว จึงให้ ระงับ คำฟ้องครั้งนี้ไป

แกนนำพันธมิตรฯ ที่หลุดคดีนี้กันก็คือ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง นายสนธิ ลิ้มทองกุล นายพิภพ ธงไชย นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ นายสมศักดิ์ โกศัยสุข และนายสุริยะใส กตศิลา
 
ส่วนจำเลยอีกสามคน คือนายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ นายอมร อมรรัตนานนท์ และนายเทอดภูมิ ใจดี ไม่เคยโดนฟ้องคดียึดทำเนียบฯ ด้วย ถึงแม้ศาลจะเห็นว่ามีความผิด แต่ศาลพิเคราะห์พฤติการ เจตนา และเหตุผลในการกระทำ (เพื่อล้มรัฐบาลสมัคร ว่างั้นเถอะ)

จึงพิพากษา “เห็นควรให้รอการกำหนดโทษไว้มีกำหนด ปี และให้ยกฟ้องจำเลยที่ - ด้วย” เสียเลย

ที่น่าทึ่งในคำพิพากษา “ไม่ขังคุก” พันธมิตรฯ ครั้งนี้ ศาลอ้างว่า “ข้อมูลที่กลุ่มพันธมิตรฯ ปราศรัยระหว่างการชุมนุมปัจจุบันพบว่ามีมูลความจริงในหลายเรื่อง บางเรื่องมีการดำเนินคดีอาญาต่อกลุ่มบุคคลที่กระทำทำผิด และศาลได้พิพากษาลงโทษแล้ว

ข้อมูลบางเรื่องต้องถือว่าเป็นประโยชน์และให้ความรู้แก่ประชาชน ทำให้ประชาชนตื่นรู้ถึงสิทธิและหน้าที่ของตนเองมากขึ้น สิ่งสำคัญที่สุดคือทำให้ประชาชนมีความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์เพิ่มมากขึ้น

และมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า เครือข่ายระบอบทักษิณมีกลุ่มที่ล่วงละเมิดต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่จริง การกระทำของพวกจำเลยถือว่าเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมและประโยชน์ชาติในระดับหนึ่ง


นี่ถือเป็นคำพิพากษาของศาลอาญาต่อ “ระบอบทักษิณ” ว่าล่วงละเมิดสถาบันกษัตริย์ เลยเชียวละ

ข้อสำคัญศาลอาญาให้ ‘นิยาม’ ระบอบทักษิณไว้ด้วยหรือเปล่า ว่ามันคืออะไร หน้าตาเป็นอย่างไร มันทำอะไรบ้างที่ว่าล่วงละเมิดกษัตริย์

การตัดสินที่มีคุณมีโทษกับคนจำนวนมากได้ขนาดนี้ ใช้สำนวนโวหารมั่วๆ ไม่ได้นะ ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนสากลไม่ยอมรับ และศาลอาญาระหว่างประเทศก็เปิดให้ร้องเรียนได้

หรือว่าศาลอาญาไทยไม่สนว่าศาลระหว่างประเทศเขาจะคิดอย่างไร นายแน่มาก

และศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง แน่ยิ่งกว่า กะฟันระบอบทักษิณให้สิ้นซากก่อนประเทศไทยได้ประชาธิปไตยแบบยุทธศาสตร์ คสช. มีนายกฯ คนนอก ละหรือ

สำหรับคดียิ่งลักษณ์ ดูจากรายละเอียดที่หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์เสนอไว้ (เพราะเป็นสื่อที่กระเหี้ยนกระหือรือที่จะเห็นระบอบทักษิณล่มสลายอย่างมากรายหนึ่ง อีกทั้งที่ผ่านมาโจมตีทักษิณ-ยิ่งลักษณ์ และเครือข่ายอย่างสาดเสีย มาเพลามือหลังจากโดนฟ้อง กระนั้นก็คงยังมีมุขลึกบางอย่างที่ชี้ให้เห็นทิศทางของทฤษฎีสมคบคิดได้)

ชี้ให้เห็นว่ามันขึ้นอยู่กับ ชีพ จุลมนต์ เจ้าของคดี ที่จะไปเป็นประธานศาลฎีกาในวันที่ ๑ ตุลาคมนี้ “จะแจ้งต่อคู่ความคืออัยการและ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ว่าจะนัดฟังคำพิพากษาในวันที่เท่าใด เวลาอะไร หรือไม่


ไทยโพสต์อ้างแหล่งข่าวสายกฎหมายด้วยว่า “หากสุดท้ายการพิจารณาตัดสินคดียังไม่เสร็จก่อน ๓๐ ก.ย. ก็ถือว่าเป็นกรณีเข้าข่ายความจำเป็น ที่อาจต้องมีการเลือกองค์คณะเข้าไปใหม่ได้

อันนี้เขาอธิบายว่ามันให้มีเหตุบังเอิญ นายธนฤกษ์ นิติเศรณี รองประธานศาลฎีกา ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์คณะในคดีรับจำนำข้าวด้วย จะไป “เป็นประธานศาลอุทธรณ์คนใหม่ แทนนายศิริชัย วัฒนโยธิน ที่ขอลาออกจากราชการ” ด้วย

และว่าเหตุแห่งการถอนตัวของผู้พิพากษาองค์คณะในคดีจำนำข้าว ต้องแต่งตั้งคนใหม่แทนเคยมีมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อนายวีระพล ตั้งสุวรรณ ได้เลื่อนมาเป็นประธานศาลฎีกา (คนปัจจุบัน) และนายศิริชัย วัฒนโยธิน ย้ายไปเป็นประธานศาลอุทธรณ์

จะด้วยเหตุอันใดก็สุดแท้แต่ ถ้านายชีพ จุลมนต์ ไม่สามารถจะ ปิดจ๊อบได้ก่อนวันที่ ๓๐ กันยายน ก็จะต้องมีการตั้งองค์คณะผู้พิพากษาคดีจำนำข้าวใหม่ ๒ คน ไปแทนนายชีพกับนายธนฤกษ์

อันจะทำให้คดี ฟัน ยิ่งลักษณ์ก็จำต้องยืดเวลาลงดาบออกไป จนกระทั่งหลังพระราชพิธีประชุมเพลิงในหลวงรัชกาลที่ ๙