วันจันทร์, กรกฎาคม 24, 2560

BBC Thai พลิกแฟ้มคดีการเมือง แกนนำเหลือง-แดง-นกหวีด ใครติด ใครหลุด



AFP/GETTY IMAGESคำบรรยายภาพนายจตุพร พรหมพันธุ์ จัดกิจกรรมวางดอกกุหลาบหน้าเรือนกลางพิเศษกรุงเทพ เพื่อให้กำลังใจแนวร่วม นปช.ที่ถูกคุมขังอยู่ภายใน เมื่อวันที่ 17 ก.ย. 2553 แต่วันนี้เขากลับเข้าเรือนจำแห่งนี้เป็นรอบที่ 4
ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย
22 กรกฎาคม 2017


1 วันก่อนหน้านั้น นายจตุพรต้องกลับเข้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพเป็นครั้งที่ 4 ชนิด "ไม่ได้เตรียมตัว" หลังศาลฎีกาพิพากษาจำคุก 1 ปีโดยไม่รอลงอาญา ในคดีหมายเลขดำ อ.1962/2552 ที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นโจทก์ฟ้องฐานหมิ่นประมาท กรณีปราศรัยใส่ความรัฐบาลว่าเป็น "ทรราชฟันน้ำนม" สั่งการคนเสื้อน้ำเงินยิงคนเสื้อแดงในการประชุมอาเซียนปี 2552 จัดฉากสร้างสถานการณ์ทุบรถที่กระทรวงมหาดไทย เป็น "ฆาตกรมือเปื้อนเลือด" และข้อความอื่นๆ ซึ่งล้วนเป็นเท็จ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย

คดีนี้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายืนยกฟ้อง แต่ศาลฎีกากลับคำพิพากษา

แกนนำ นปช. ชี้ว่าเป็น "ข่าวร้าย" และ "เหนือความคาดหมาย" โดยนางธิดา ถาวรเศรษฐ ระบุผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ว่า "ปกติไปศาล แต่ครั้งนี้ไม่ได้ไป และคาดว่าเขาไม่น่าลงคดีนี้"



GETTY IMAGES


นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เพื่อนร่วมอุดมการณ์ ไม่กังวลเรื่องการปรับตัวในเรือนจำของประธาน นปช. เพราะปรับตัว-ปรับใจกันมาตลอด "วันนี้เกิดกับนายจตุพร วันต่อไปอาจเกิดกับคนอื่นอีก"

ขณะที่ นพ.เหวง โตจิราการ ชี้ว่าเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงชะตากรรมของนักสู้เพื่อประชาชนที่มีปลายทางอยู่ 2 อย่างคือชนะกับแพ้ "..ถ้าแพ้ก็มีอยู่ 2 ทางคือตายกับติดคุก ส่วนตัวผมขอเรียนว่าเราอยู่ในขั้นของการไม่ชนะ หรือเรียกว่าแพ้ก็ได้"

นี่ไม่ใช่คดีเดียวที่นายอภิสิทธิ์กับนายจตุพรเป็น "คู่ความ" กัน เพราะอดีตนายกฯ ฟ้องหมิ่นประมาทประธาน นปช. ถึง 3 สำนวน ในจำนวนนี้มี 2 คดีที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วคือ 1. คดีกล่าวหานายอภิสิทธิ์ไม่เคารพและตีตนเสมอองค์พระมหากษัตริย์ (คดีหมายเลขดำที่ อ.404/2552) ศาลฎีกาสั่งจำคุก 6 เดือน และปรับ 50,000 บาท โดยให้รอลงอาญา 2 ปี และให้ลงคำพิพากษาในหนังสือพิมพ์เป็นเวลา 7 วันติดต่อกัน 2. คดีปราศรัยพาดพิงว่านายอภิสิทธิ์สั่งฆ่าประชาชน และหลบเลี่ยงการเกณฑ์ทหาร (คดีหมายเลขดำ อ.1008/2553) ศาลฎีกาพิพากษายืนให้จำคุก 6 เดือน และปรับ 50,000 บาท โดยให้รอลงอาญาไว้ 2 ปี และให้ลงโฆษณาคำพิพากษาในหนังสือพิมพ์รายวันเป็นเวลา 7 วัน



GETTY IMAGES
ปฏิบัติการกระชับพื้นที่การชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงเกิดขึ้นในวันที่ 19 พ.ค. 2553


ส่วนอีกคดีที่ยังรอลุ้นผลคือ คดีปราศรัยกล่าวหานายอภิสิทธิ์ดึงเรื่องประชาชนยื่นถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษนายทักษิณ ชินวัตร และกล่าวหาว่าเป็น "ฆาตกรสั่งฆ่าประชาชน" (คดีหมายเลขดำ อ.4176/2552) ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นให้จำคุก 2 ปีโดยไม่รอลงอาญา ขณะนี้อยู่ระหว่างการฎีกา

นอกจากคดีหมิ่นประมาทที่นายจตุพรตกเป็น "จำเลย" แบบเฉพาะตัว เขากับแกนนำ นปช. ยังต้องเผชิญกับวิบากกรรมในอีกหลายคดี





GETTY IMAGES


แม้อยู่ต่างขั้วการเมือง แต่แกนนำกลุ่ม "พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย" (พธม.) ก็มีสารพัดคดี รวมถึงคดีก่อการร้ายติดตามเป็นเงาตามตัวเหมือนกัน

แต่คดีที่ทำให้นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ในเครือผู้จัดการ และอดีตแกนนำพันธมิตรฯ ติดคุก หาใช่คดีการเมือง แต่เป็นคดีรายงานเท็จกรณีกู้เงินธนาคารกรุงไทย จำนวน 1,078 ล้านบาท (คดีหมายเลขดำ อ.1036/2552) เมื่อศาลฎีกาพิพากษายืนสั่งจำคุก 20 ปี เขาจึงหมดอิสรภาพตั้งแต่ 6 ก.ย. 2559








AFP/GETTY IMAGES
นายสุเทพ เทือกสุบรรณ นำมวลชน กปปส.เคลื่อนขบวนไปรอบกรุงเทพฯ 26 ก.พ. 2557 เพื่อขับไล่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร


แต่สำหรับแกนนำมวลชนที่ชื่อ "คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทย ให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" (กปปส.) ที่ปักหลักชุมนุมนาน 204 วันในช่วงปี 2556-2557 พวกเขาเผชิญคดีเช่นกัน อัยการมีความเห็นสั่งฟ้องคดีกบฎจากการชุมนุมการเมืองปี 2556-2557 ซึ่งมีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ กับพวกรวม 48 คนตกเป็นผู้ถูกกล่าวหา แต่ก็ยังไม่ยื่นฟ้องคดีต่อศาล มีเพียง 1 คดีของแกนนำและนักวิชาการรวม 4 คนที่ได้เริ่มกระบวนการในศาลอาญาไปแล้ว





นี่คือบางส่วนที่อยู่ในแฟ้มคดีการเมือง เมื่อ "แกนนำมวลชน" กลายเป็น "จำเลย" หลังเลือกต่อสู้การเมืองบนท้องถนนในช่วง 12 ปีที่ผ่านมา