วันอาทิตย์, พฤษภาคม 28, 2560

จดหมายถึงเพื่อนนักโทษทางความคิด





จดหมายถึงเพื่อนนักโทษทางความคิด

วิกฤตการเมืองที่ยืดเยื้อยาวนานนับทศวรรษ และการกลับมาของระบอบเผด็จการโบราณ ได้สร้างมรดกชิ้นหนึ่งไว้ให้กับเรา นั่นคือ การคุมขังนักโทษการเมือง นักโทษทางความคิด กล่าวในแง่จำนวนแล้ว อาจจะมากที่สุดในประวัติศาสตร์ด้วยซ้ำ

คงเป็นเรื่องยากไม่น้อยที่จะบอกว่า สภาพนักโทษที่เป็นอยู่ตอนนี้เป็นอย่างไร เราอาจจะเริ่มคิดเรื่องนี้ ได้จากชีวิตนักโทษทางการเมือง 2 คน

คนแรก

“คำพลอย นะมี” นักโทษคดีเผาศาลากลาง ในปี 2553 ซึ่งถูกคุมขังฟรี นานกว่า 3 ปี ในเรือนจำกลางจังหวัดอุบลราชธานี ก่อนที่เขาจะได้รับอิสรภาพ เนื่องจากศาลมีคำสั่งยกฟ้อง

ระหว่างถูกจองจำ คำพลอยไม่เคยได้รับสิทธิประกันตัว เมื่อเข้าไปอยู่ในคุก ร่างกายที่เคยแข็งแรง กำยำ ก็เริ่มมีอาการอ่อนล้าและร่างกายที่ป่วยอยู่แล้ว ก็เสื่อมทรามลงทุกวัน หลายคนอาจจะจินตนาการไปไม่ถึงว่า เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เรือนจำต่างจังหวัด หรือแม้กระทั่งเรือนจำที่เพิ่งเปิดทำการใหม่เอี่ยมเมื่อปีนี้ อย่างเรือนจำชั่วคราว (พุทธมนฑล) นั้นมีสภาพย่ำแย่เพียงใด

วันหนึ่ง คำพลอยสลบล้มลง อันเป็นผลจากอาการช็อก เขาหลับไปก่อนจะตื่นขึ้นมา และพบว่าร่างกายของเขาไม่สามารถขยับได้ แพทย์ได้เข้ามาตรวจร่างกายของเขา จนได้ข้อสรุปว่า “คำพลอยเป็นอัมพาตครึ่งท่อนด้านซ้าย”

ประโยคสำคัญว่า “ความยุติธรรมที่ล่าช้า คือความอยุติธรรม” ดูจะแจ่มชัดขึ้น ในห้วงสำนึกของคำพลอยมากที่สุด ทุกวันนี้เขายังยืนยันที่จะต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมให้กับคนอีกเป็นจำนวนมาก แม้ร่างกายจะพิการไปแล้วก็ตาม

คนต่อมา

ตลอดหนึ่งปี หลังการรัฐประหาร ที่มีการเรียกบุคคลเข้าค่ายทหารอย่างน้อยจำนวน 751 คน มีการดำเนินนโยบายอันขาดการมีส่วนร่วมที่สร้างผลกระทบต่อชุมชนมากกว่า 100 ชุมชน และมีประชาชนได้รับผลกระทบกว่าหนึ่งพันครัวเรือน มีการใช้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือ “กฎหมายหมิ่นกษัตริย์ฯ” กฎหมายความมั่นคง การละเมิดคำสั่ง คสช. ส่งพลเรือนขึ้นดำเนินคดีในศาลทหาร อย่างน้อย 700 คน

สรรเสริญ ศรีอุ่นเรือน เป็นหนึ่งในนั้น สรรเสริญมีอาชีพขับแท็กซี่และเคยเป็นแกนนำนปก.รุ่น 2 เขาถูกจับและถูกบีบให้รับสารภาพจากคดีก่อการร้าย ระหว่างการสืบสวน เขาเผชิญกับการขู่ ตะคอก ตบหน้า ชกที่บริเวณลิ้นปี่และชายโครง รวมถึงเหยียบบริเวณลำตัว

ถึงกระนั้น สิ่งที่สรรเสริญเลือกคือ การไม่ยอมรับสารภาพว่าเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ปาระเบิดที่ศาลอาญารัชดา และนำมาสู่การจับกุมคนเสื้อแดงครั้งใหญ่อีกครั้ง ครั้งนี้เจ้าหน้าที่ใช้ไฟฟ้าช็อตที่บริเวณต้นขา เขาถูกช็อต ประมาณ 30-40 ครั้ง และตำรวจได้แจ้งข้อกล่าวหาร้ายแรง อาทิ “ร่วมกันพยายามฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อน”

ขณะที่ตัวเขาเองยืนยันต่อผู้สื่อข่าวประชาไทท่านหนึ่งว่า เขาไม่ใช่พวกก่อวินาศกรรม ไม่ใช่พวกวางระเบิด “ผมไม่ใช่คนแบบนั้น จะให้ผมยอมรับได้อย่างไร .. ผมพูดได้เท่าที่ผมคิดและผมกระทำ (ต่อต้านการรัฐประหาร) ผมไม่สามารถยอมรับสิ่งที่ผมไม่ได้ทำได้ เขาซ้อมจนผมชนะเขา”

เมื่อไม่นานมานี้ ศาลทหารอนุญาตให้ปล่อยตัวสรรเสริญเป็นการชั่วคราว หลังถูกขังไปราว 2 ปี 2 เดือน ขณะที่จากการสืบพยานโจทก์ทั้ง 7 ปากที่ผ่านมา ไม่มีพยานคนใดยันยืนได้ว่า สรรเสริญกระทำความผิดตามข้อกล่าวหา

คำถามที่ตามมาคือ อะไรเป็นสิ่งที่ทำให้คำพลอยและสรรเสริญ ยึดมั่นว่าสัจธรรมจะชนะความไม่เป็นธรรม เราอาจจะเริ่มตอบคำถามนี้ได้จากชีวิตของนักโทษทางความคิดในอดีต

ยุคสมัยซึ่งเป็น “ไอดอล” ของรัฐบาล คสช. อย่างระบอบสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในต้นพุทธศตวรรษ 2500 อันเต็มไปด้วยการกดปราบนักคิด นักเขียน ประชาชนเป็นไปอย่างกว้างขวาง เป็นเรื่องที่น่าประหลาดใจที่ เหล่านักโทษจำนวนมากยังสามารถสร้างสรรค์งานเขียนที่มีพลังสูงจนถึงปัจจุบัน

เพลงแสงดาวแห่งศรัทธา ของจิตร คือหนึ่งในหลักฐานนั้น ที่สะท้อนภาพของความหวังและความฝัน หลังการต่อสู้ของประชาชนได้ชัยชนะอย่างแท้จริง

เราอาจจะบอกได้ว่าในยามที่ “ทมิฬมาร ครองเมืองด้วยควันปืน” “แต่คนย่อมเป็นคน ในสายธารอันเหยียดยาว” สมบัติขั้นต่ำที่สุดของมนุษย์ในยามไร้อิสรภาพ น่าจะหมายถึง “ความหวัง” ใช่หรือไม่

คำถามคือ เราซึ่งยังอยู่ในคุกที่กว้างใหญ่กว่าเรือนจำ ตราบเท่าที่ยังไม่ถูกจับไปขังรวมกันทั้งหมดนี้ ยังจะสามารถทำอะไรได้บ้าง เพื่อส่งต่อ “ความหวัง” ให้แก่กันและกัน

ท่ามกลางเพดานเสรีภาพที่หดต่ำลงรายวัน ผู้บริสุทธิ์ในคุกเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ การปล่อยให้เพื่อนโดดเดี่ยว อาจจะไม่สำคัญเท่ากับการโดดเดี่ยวตัวเองออกจากสภาวการณ์ของการทำร้ายกันซึ่งหน้า โดยทิ้งแม้กระทั่งสัญชาติญานพื้นฐานของเราเอง

บางทีการเริ่มเขียนถึงเพื่อนเราอาจจะเป็นก้าวแรก หรือก้าวเล็กๆหนึ่ง เพื่อที่ว่าเราจะบอกกับอำนาจเถื่อนนั้นว่า “เรายังมีความหวัง คุณทำร้ายเราได้ แต่คุณไม่สามารถทำร้ายความหวังเราได้”

เราจะส่งต่อความหวังกันต่อไป ด้วยการเขียนจดหมาย มิใช่เพื่อคำนามธรรมใหญ่โต อย่าง ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน ประชาชน ฯลฯ หากแต่เป็นการเขียนจดหมายเพื่อส่งต่อความหวังจากสำนึกของเราสู่ความคิดเพื่อนเราอีกจำนวนมากในสังคม

ที่มา FB

จดหมายถึงนักโทษทางความคิด