วันอังคาร, กรกฎาคม 19, 2559

'สมศักดิ์ เจียม' เรสประเด็นตุรกี ทำอย่างไร ถ้าผู้นำ "ที่มาจากการเลือกตั้ง" เป็นอำนาจนิยม?





อีตา Erdoğan ("แอร์ดอน")* ประธานาธิบดีตุรกีนี่ ออกไปทาง "ท่านผู้นำ" ของเรา (ประยุทธ์) เลยนะครับ .... แม้เขาจะ "มาจากการเลือกตั้ง" ก็ตาม

ผมพอเข้าใจอยู่ที่มิตรสหายหลายคนเปรียบเทียบเหตุการณ์ในตุรกีกับไทย (รวมทั้งล่าสุดที่มีการ "กวาดล้าง" ผู้พิพาษา ทหาร ฯลฯ ที่มีการเอามาเปรียบเทียบกันว่า ไทยเราต้องทำการกวาดล้างพวกสนับสนุนรัฐประหารแบบนี้)

ในบางระดับที่มีการเปรียบเทียบกันก็โอเคนะ เราหลีกเลี่ยงเรื่องการเปรียบเทียบสิ่งต่างๆไม่ได้

แต่ประเด็นตุรกี ที่จริงมันเรสปัญหาใหญ่อันหนึ่งที่สำคัญมากๆ คือ

ทำอย่างไร ถ้าผู้นำ "ที่มาจากการเลือกตั้ง" เป็นอำนาจนิยม?

ผมจะไม่ขออธิบายละเอียดในที่นี้ว่า นายแอร์ดอนเป็นอำนาจนิยมอย่างไรบ้าง เพราะจะยาว.. มีอยู่ประเด็นหนึ่งที่อยากเอ่ยถึงเท่านั้น คือเรื่องทิศทางทำให้รัฐมีลักษณะเป็นรัฐศาสนามากขึ้น .. #นายแอร์ดอนนี่มีทิศทางทำให้ตุรกีมีลักษณะเป็นรัฐอิสลามมากขึ้นจริง และ "มวลชน" ที่ออกมาต้านการรัฐประหารครั้งนี้ ก็มีองค์ประกอบนี้เป็นองค์ประกอบสำคัญด้วย #คือทำในนามอิสลาม ... อืม ไม่ได้คิดจะเปรียบเทียบซีเรียสมาก แต่เรื่องนี้ก็น่าคิดเช่นกัน กรณีที่ฝ่ายนำและมวลชนเสื้อแดงจำนวนมาก พยายาม "เล่นไพ่ธรรมกาย" หรือ "ศาสนาประจำชาติ" น่ะ

ปัญหาที่ว่านี้ "จะทำอย่างไร ถ้าผู้นำที่มาจากการเลือกตั้ง มีลักษณะอำนาจนิยม?" เป็นปัญหาใหญ่มาก เพราะ #ประเทศที่ไม่ใช่ตะวันตกที่ใช้ระบอบเลือกตั้ง #มีแนวโน้มจริงๆที่จะลงเอยแบบนี้ เราไม่ต้องดูอื่นไกล รัฐบาลเกือบทุกประเทศในอาเซียนนี่แหละ ที่ "มาจากการเลือกตั้ง" ล้วนมีลักษณะอำนาจนิยมทั้งนั้น (เขมร, มาเลย์, สิงคโปร์, อินโด, ฟิลิปินส์)

หรือถ้าจะขยายประเด็นออกไป

"จะต่อสู้กับรัฐบาลอำนาจนิยมที่มาจากการเลือกตั้งอย่างไร โดยไม่ใช้การรัฐประหารของทหาร?"

(อันที่จริง ปัญหา "การรัฐประหารของทหาร" ในสภาพที่รัฐบาลเป็นอำนาจนิยม ก็เป็นอะไรที่มีปัญหาเหมือนกัน ตอนที่มีข่าวรัฐประหารตุรกีชั่วโมงแรกๆ "มิตรสหายบางท่าน" ถึงกับตั้งข้อสงสัยว่า หรือรัฐประหารครั้งนี้ จะเป็น "รัฐประหารประชาธิปไตย" .. ทำนองโปรตุเกสปี 1974 อะไรแบบนั้นหรือเปล่า)

"ปัญหาทักษิณ" ก่อนรัฐประหาร 2549 ส่วนหนึ่งก็เป็นปัญหาลักษณะนี้ โดยส่วนตัวผมไม่คิดว่า ถ้าเปรียบเทียบแล้ว สิ่งที่เรียกว่า "ระบอบทักษิณ" เป็นอะไรที่ถึงระดับหลายประเทศที่ยกตัวอย่างมา ไม่ว่าตุรกี หรือเขมร หรืออินโด .. แต่ว่า ทิศทางที่ว่า รัฐบาล "ที่มาจากการเลือกตั้ง" รวมถึงรัฐบาลทักษิณเอง มีแนวโน้มอำนาจนิยม เป็นเทรนด์ที่เป็นจริงแน่

แน่นอน กรณีไทย มันมี "อีกปัญหาหนึ่ง" ซ้อนขึ้นมา คือ มันมี #อำนาจนิยมที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งดำรงอยู่พร้อมๆกันไปด้วย ....

.........

ผมจะโพสต์ประเด็นนี้ในกรณีไทยอีกในกระทู้อื่นๆ เฉพาะกระทู้นี้ ต้องการแค่ "ติง" ประเด็นตุรกี ให้หลายคนที่อาจจะไม่ตระหนักให้คิด

(แม้แต่เรื่องการปลดผู้พิพากษา ฯลฯ อันที่จริง ก็มีความเป็นไปได้ที่ ไม่เกี่ยวกับเรื่องรัฐประหาร มากเท่ากับการที่นายแอร์ดอน อาศัยข้ออ้างเรื่องรัฐประหารครั้งนี้ ดำเนินการรวบอำนาจมากขึ้นไปอีก กวาดล้างคนที่จะคัดค้านเขา)

..........

*หมายเหตุ: การอ่านชื่อ Erdoğan

ที่ผ่านมา ผม"อ่าน"ว่า "แอร์โดกาน" ไม่ใช่ผมไม่รู้ว่า สื่อตะวันตกอย่าง "บีบีซี" และอื่นๆ อ่านไปทาง "แอร์ดูวาน" หรือ "แอร์ดวน" แต่บังเอิญ วันแรกที่มีข่าวรัฐประหาร ผมฟังโปรเฟสเซอร์คนนึ่งที่เป็นตุรกี (แต่สอนในสหรัฐ) อ่าน "แอร์โดกาน" ผมเลยคิดว่า เขาเป็นคนตุรกี น่าจะรู้วิธีอ่าน แต่ผมเพิ่งเช็ค ตามภาษาตุรกี ต้องอ่านไปทาง "แอร์ดอน" (ตัว ğ ไม่ออกเสียง)

ดู-ฟัง การออกเสียง ที่นี่ https://goo.gl/4m48Sp


Somsak Jeamteerasakul