วันพฤหัสบดี, ตุลาคม 08, 2558

FCCT จัดวงถกซิงเกิลเกตย์เวย์ ทุกฝ่ายเห็นร่วม 'ผลลบ' ไอซีทีถอนตัวนาทีสุดท้าย




ที่มา ประชาไท

7 ต.ค. 2558 สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (FCCT) จัดเสวนาเรื่องซิงเกิลเกตเวย์ โดยก่อนหน้านี้ กระทรวงเทคโนโลยีการสื่อสารและสารสนเทศ (ไอซีที) จะส่งตัวแทนมา แต่เมื่อทราบว่าเป็นหัวข้อเรื่องซิงเกิลเกตเวย์จึงขอถอนตัวไป ขณะที่ วานนี้ FCCT ระบุในใบแจ้งข่าวว่า รู้สึกผิดหวังที่รัฐบาลไม่สามารถพูดถึงนโยบายที่มีความสำคัญและกำลังเป็นประเด็นอยู่ในขณะนี้ได้

ปริญญา หอมเอนก ประธานและผู้ก่อตั้ง บริษัท เอซิส โปรเฟสชั่นเนล เซ็นเตอร์ จำกัด กล่าวว่า คงเป็นไปไม่ได้ที่จะทำซิงเกิลเกตเวย์ และส่วนตัวไม่สนับสนุนให้ทำ อย่างไรก็ตาม มองว่ารัฐบาลไทยก็ไม่อยู่ในสถานะที่จะทำเช่นนั้น เพราะนโยบายหลังรัฐประหารเน้นไปที่เศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งเป็นเรื่องตรงข้ามกับซิงเกิลเกตเวย์ พร้อมเล่าด้วยว่า ตอนที่เขาอยู่ในปักกิ่ง ประเทศจีน ก็ยังสามารถเข้าใช้งาน เฟซบุ๊กและกูเกิลได้ ทำให้เห็นว่า เทรนด์การใช้ TOR (ซอฟต์แวร์เสรี ที่ช่วยปกปิดตัวตนผู้ใช้และช่วยเข้าเว็บที่ถูกบล็อค) ก็ทำให้การทำซิงเกิลเกตเวย์เป็นไปไม่ได้ด้วย

สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการ กสทช. กล่าวว่า นิยามของซิงเกิลเกตเวย์นั้นยังไม่ชัดเจน ปัจจุบันมีผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการ 17 รายจาก กสทช. โดยใบอนุญาต มีอายุ 15-20 ปี หากจะมีการทำซิงเกิลเกตเวย์ หรือเกตเวย์เดียว อาจหมายถึงได้สองแบบ คือ หนึ่ง หมายถึงการที่ผู้ประกอบการทั้งหมดต้องหยุดให้บริการ ซึ่งก็คงเป็น "ฝันร้าย" และสอง หมายถึงการที่ผู้ประกอบการทั้งหมดต้องมาอยู่ใต้เกตเวย์หนึ่งของรัฐ ก็จะเป็นภาระที่เอกชนต้องจ่ายให้กับเกตเวย์รัฐด้วย

สุภิญญา มองว่า แนวคิดเรื่องซิงเกิลเกตเวย์นั้นมีเพื่อหาทางไปต่อด้านธุรกิจให้กับรัฐวิสาหกิจอย่าง กสท และ ทีโอที ซึ่งคลื่นในมือใกล้หมดสัมปทานในไม่ช้า โดยส่วนตัวไม่ทราบว่าทั้งสองรัฐวิสาหกิจจะรับรู้ถึงแนวคิดนี้ของรัฐบาลมาก่อนหรือไม่ แต่ถ้ารัฐบาลจะทำเช่นนี้จริง จะกระทบต่ออุตสาหกรรมโทรคมนาคมทั้งหมด เพราะเรามีผู้เล่นจำนวนมากแล้ว คงยากจะถอยกลับไปยุคที่มีผู้เล่นไม่กี่ราย

นอกจากนี้ เธอยังมองว่าอีกเหตุผลหนึ่งของการทำซิงเกิลเกตเวย์ก็เพื่อควบคุมการไหลเวียนของข้อมูลข่าวสาร ซึ่งไม่แน่ใจว่าจะทำได้จริง โดยเทียบการทำเช่นนี้เป็นการ "ขี่ช้างจับตั๊กแตน"

ประสงค์ เรืองศิริกูลชัย กรรมการบริหารสมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และผู้อำนวยการอาวุโส บริษัท เอ็นทีที คอมมิวนิเคชั่นส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่าขอแสดงความเห็นในนามส่วนตัว โดยเขาชี้ว่า เมื่อพูดถึงซิงเกิลเกตเวย์ผู้ที่เชี่ยวชาญด้านเทคนิค 80% มักนึกถึงซิงเกิลเกตเวย์ในทางกายภาพ คือตัดท่อทั้งหมดมาต่อออกท่อเดียว ซึ่งถ้าทำจริงจะก่อให้เกิดปัญหา redundancy หรือการที่ท่อมีปัญหา ระบบก็จะล่มทั้งหมด เพราะมีท่อเดียว ซึ่งส่วนตัวคิดว่ารัฐบาลจะไม่ทำ เพราะจะกระทบกับนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลและแนวคิดเรื่องศูนย์กลางดิจิทัลของเอเชียของรัฐบาลเองด้วย ซึ่งตรงนี้เขาเสนอเพิ่มเติมว่า รัฐบาลควรจะมีเคเบิลใต้น้ำของตัวเองได้แล้ว เพื่อสร้างทางเลือกในการไม่ต้องไปต่อกับเคเบิลใต้น้ำของสิงคโปร์ โดยเปรียบเทียบคล้ายการขุดคอคอดกระ ที่จะช่วยลดระยะทางและประหยัดต้นทุน

ทั้งนี้ ประสงค์ยกตัวอย่างการทำซิงเกิลเกตเวย์ในประเทศต่างๆ ว่า ในจีน ที่ใช้ Great Firewall นั้นก็ยังต้องมีท่อออกนอกประเทศ 3 ทาง คือที่ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ และกวางโจว เพื่อที่ว่าหากท่อใดท่อหนึ่งล่มก็ยังสามารถต่อออกนอกประเทศได้ ขณะที่ประเทศลาวนั้นก็พยายามทำซิงเกิลเกตเวย์ ภายใต้ชื่อที่แปลได้ว่า "ออกประตูเดียว" มาราว 5 ปีแล้ว แต่ปรากฏว่าตอนนี้ก็ยังไม่สามารถตัดการเชื่อมต่อใดของเอกชนได้เลย เพราะเอกชนไม่ยินยอม จากกรณีนี้จะเห็นว่า ถ้ารัฐบาลไม่มีอำนาจพอก็จะทำไม่ได้

ด้านยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) มองว่า แนวคิดซิงเกิลเกตเวย์เป็นความพยายามหนึ่งของรัฐบาลในการควบคุมเนื้อหาที่อาจเข้าข่ายหมิ่นประมาทกษัตริย์ในอินเทอร์เน็ต โดยชี้ว่าหลังรัฐประหารเป็นต้นมาจะเห็นความพยายามควบคุมอินเทอร์เน็ตผ่านการใช้กฎอัยการศึก การพยายามขอความร่วมมือกับบริษัทโซเชียลเน็ตเวิร์กอย่างไลน์ ความพยายามผ่านกฎหมายความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์

ยิ่งชีพ กล่าวต่อว่า สถานการณ์คดี ม. 112 มีผู้ถูกจับกุมอย่างน้อย 54 ราย โดยจำนวนมากเป็นการกระทำก่อนรัฐประหารแต่ถูกจับภายใต้กฎอัยการศึก โดยมีข้อสังเกตว่า 40 รายเป็นการแสดงความเห็นทางออนไลน์ ส่วน 3 รายเป็นการกระทำในโลกออฟไลน์ แต่มีหลักฐานในโลกออนไลน์

ทั้งนี้ ยิ่งชีพชี้ว่า รัฐบาลมีเครื่องมือทั้งมาตรา 18-20 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ในการเรียกข้อมูลจากผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตเพื่อรวบรวมหลักฐานรวมถึงขอหมายศาลให้มีการปิดกั้นการเข้าถึงเว็บไซต์ต่างๆ ได้ รวมถึงมาตรา 9 ของกฎอัยการศึก ในการเข้าถึงข้อมูลการสื่อสาร ได้โดยไม่ต้องใช้หมายศาล อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน รัฐบาลทหารยังประสบอุปสรรคอยู่บ้าง เพราะเว็บไซต์หลายแห่งของต่างประเทศ เช่น เฟซบุ๊ก ยูทูบ ไม่ให้ความร่วมมือในการให้ข้อมูลผู้ใช้ด้วยนโยบายเรื่องความเป็นส่วนตัว รวมถึงไม่ปิดกั้นการเข้าถึงเนื้อหาในเว็บ ทำให้หากรัฐบาลต้องการบล็อคก็ต้องส่งคำขอไปที่ผู้ให้บริการแต่ละราย ซึ่งกินเวลานาน ขณะที่หากมีซิงเกิลเกตเวย์ การทำงานของรัฐก็จะง่ายขึ้น

ยิ่งชีพ กล่าวเพิ่มเติมว่า โดยสรุปแล้ว หากมีซิงเกิลเกตเวย์ สถานการณ์ด้านคดี 112 ก็คงไม่เปลี่ยนไปมาก เพราะรัฐบาลมีกฎหมายต่างๆ เป็นเครื่องมืออยู่แล้ว แต่เราจะรู้ได้ยากขึนว่าเขาทำอะไรบ้าง