วันเสาร์, ตุลาคม 10, 2558

คลิปงานเสวนาวิชาการ "รัฐธรรมนูญของปวงชนจากหลากหลายมิติ"




https://www.youtube.com/watch?v=dM052BEu1LE&feature=youtu.be

New Democracy Movement

Streamed live on Oct 9, 2015




วิทยากร 

ประภาส ปิ่นตบแต่ง || วรวิทย์ เจริญเลิศ || ยุกติ มุกดาวิจิตร || เบญจรัตน์ แซ่ฉั่ว || ปูนเทพ ศิรินุพงศ์ ดำเนินรายการโดย คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

จัดโดย

ศูนย์ศึกษาสังคมและวัฒนธรรมร่วมสมัย คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มธ. ร่วมกับ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาสังคม และ หลักสูตรรัฐศาสตรมหาบัณฑิตสาขาวิชาการเมืองและการจัดการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ม.มหิดล

ศุกร์ที่ 9 ตุลาคม 2558

ooo


วงเสวนา “รัฐธรรมนูญของปวงชน” ชี้ชนชั้นนำไม่พร้อมจะเป็นประชาธิปไตย

Sat, 2015-10-10 03:00
ที่มา ประชาไท

นักวิชาการชี้ปัญหาการเมืองไทย เกิดจากความไม่พร้อมจะเป็นประชาธิปไตยในชนชั้นนำ ย้ำรัฐธรรมนูญคือการจัดวางความสัมพันธ์เชิงอำนาจของสังคม ไม่ใช่เรื่องที่จะให้ใครมาออกแบบแทนประชาชน ห่วงผลิตซ้ำความขัดแย้งหนักกว่าเดิม



9 ต.ค. 2558 เวลา 13.00 น. ที่ห้องประชุม ประกอบ หุตะสิงห์ อาคารอเนกประสงค์ 1 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ได้มีการจัดงานเสวนาวิชาการสาธารณะเรื่อง “รัฐธรรมนูญของปวงชนจากหลากหลายมิติ” ภายใต้ความร่วมมือของ ศูนย์ศึกษาสังคมและวัฒนธรรมร่วมสมัย คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ , ศูนย์ศึกษาพัฒนาสังคม คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย , หลักสูตรรัฐศาสตร์บัณฑิตสาขาวิชาการเมืองและการจัดการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล

ในการเสวนาครั้งมีวิทยากรประกอบด้วย ประภาส ปิ่นตบแต่ง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย , วรวิทย์ เจริญเลิศ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ , ยุกติ มุกดาวิจิตร คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ , เบญจรัตน์ แซ่ฉั่ว สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล และ ปูนเทพ ศิรินุพงศ์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดำเนินการเสวนาโดย คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

การกระจายอำนาจ รัฐธรรมนูญ เป้าหมายและวิธีการ



วรวิทย์ เริ่มต้นด้วยการกล่าวถึงที่มาของวิกฤตปัญหาความขัดแย้งในปัจจุบันว่า มีที่มาจากการพัฒนาทางด้านอุตสหากรรม การเปลี่ยนแปลงประเทศเข้าสู่สภาวะสมัยใหม่ ซึ่งเป็นผลมาจากการดำเนินนโยบายตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติมากว่าครึ่งศตวรรษ ขณะที่มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น แต่ด้านการเมืองกลับไม่ได้มีการกระจายอำนาจออกไปอย่างที่ควรจะเป็น ประเทศไทยยังมีมีลักษณะของรัฐรวมศูนย์อยู่ ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมาประเทศไทยเผชิญกับปัญหาจากความเจริญที่กระจุกตัว การกระจายรายได้ที่ไม่เป็นธรรม และไร้ซึ่งการกระจายอำนาจอย่างจริงจัง พร้อมกันการต้องเป็นเหยื่อของชนบทจากการพัฒนา มีการแย้งชิงทรัพยากรเข้าสู่กระบวนการพัฒนาส่วนกลาง

เขากล่าวต่อไปถึงต้นต่อของปัญหาสำคัญของการที่ประชาธิปไตยไม่สามารถพัฒนาได้คือ การที่ประเทศไทยไม่มีการกระจายอำนาจอย่างแท้จริง แม้ในรัฐธรรมนูญฉบับก่อนหน้าจะมีการเขียนเรื่องการกระจายอำนาจเอาไว้ แต่ก็เป็นแต่เพียงการกระจายตำแหน่งออกไปเท่านั้น รูปแบบรัฐยังคงเป็นรัฐรวมศูนย์ ไม่ได้มีการกระจายการตัดสินใจลงไปยังท้องถิ่น

ขณะเดียวกันกับปัจจุบันที่กำลังมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ครั้งที่ 2 เขาเห็นว่ากระแสความต้องการรัฐธรรมนูญที่มีอยู่ หากเป็นแต่เพียงความต้องการให้มีการเลือกตั้งเกิดขึ้นเพียงอย่างเดียวอาจจะนำไปสู่ปัญหาอีกครั้ง หากไม่มีการแก้ไขปัญหาเรื่องการกระจายอำนาจที่ดีเสียก่อน

เขาเห็นว่า การเลือกตั้งคือการมีส่วนร่วมอย่างหนึ่ง แต่สิ่งที่จะสามารถทำให้ประชาธิปไตยมีความเข็มแข้ง คือการทำให้ประชาชนสามารถเคลื่อนไหวขับเคลื่อนประเด็นของตัวเอง สามารถแก้ไขปัญหาของตัวเอง และสามารถตัดสินใจในเรื่องต่างๆ ที่จะเข้ามากระทบกับวิถีชีวิตของพวกเขา

“เรากำลังบอกตัวเองว่าต้องเป็นประชาธิปไตยแบบสมบูรณ์แบบ นั่นคือเป้าหมายทุกคนก็พูดอย่างนี้ แต่ถามว่าวิธีการที่คุณจะไปถึงเป้าหมายมันสอดคล้องหรือไม่ วิธีการที่จะเป็นประชาธิปไตย ประชาชนต้องเข้าไปมีส่วนร่วมตั้งแต่แรก ไม่ใช่คุณไปทำกันเองแล้วดึงเอาประชาชนมาประกอบ มันไม่ใช่"

เขากล่าวถึงสถานการณ์ปัจจุบันว่า ไม่มีทางเป็นไปได้เลยที่จะมีการปฏิรูปเกิดขึ้น โดยที่ประเทศไม่เป็นประชาธิปไตย และสุดท้ายหนทางที่ประเทศไทยกำลังเดินไปสู่คือ การผลิตความขัดแย้งครั้งใหม่ ที่อาจจะมีความรุนแรงมากกว่าเดิม

วัฒนธรรมการร่างรัฐธรรมนูญแบบฉี่ไม่สุด



"มันมีวัฒนธรรมในการร่างรัฐธรรมนูญแบบฉี่ไม่สุด คือขยักเอาไว้ก่อน แล้วก็อ้างเหตุผลความไม่พร้อมของประชาชน"

ประภาส กล่าวเริ่มต้นการอธิบายถึง วัฒนธรรมการร่างธรรมนูญของประเทศไทย หลังจากการยึดอำนาจ โดยระบุว่าตลอดช่วงประวัติศาสตร์การเมืองไทย ทุกครั้งที่มีการยึดอำนาจ มักจะมีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ โดยที่คนร่างมักยืนอยู่บนวิธีคิดว่าประชาชนยังไม่พร้อมที่จะเป็นประชาธิปไตย ยกตัวอย่างเช่นรัฐธรรมนูญปี 2520 ที่มีลักษณะของการพัฒนาประชาธิปไตย 3 ขั้น คือมีการกำหนดช่วงเวลาของการพัฒนาประชาธิปไตย ช่วงแรกอาจจะยังไม่มีประชาธิปไตย ช่วงต่อมาก็จะให้มีการเลือกตั้ง ผสมกับการลากตั้ง แล้วจึงจะปล่อยให้มีการเลือกตั้ง และคืนประชาธิปไตยให้ประชาชน

ต่อข้ออ้างในเรื่องความไม่พร้อมของประชาชน เมื่อมองมายังปัจจุบัน เขาเห็นว่า ความไม่พร้อมของประชาชน มีความซับซ้อนมากขึ้น ขณะที่มีการโยงความไม่พร้อมเข้ากับการทุจริตคอร์รัปชัน และซื้อเสียงในระบบเลือกตั้ง แต่ในอีกมุมหนึ่งประภาสเห็นว่าบทเรียนปัจจุบันคือ ประชาธิปไตยของไทยไม่ได้เหมือนเดิมอีกต่อไป จากเดิมที่มีการสู้กันระหว่างกลุ่มเผด็จการ กับกลุ่มประชาธิปไตย แต่หลังจากปี 2540 การต่อสู้กันมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น เมื่อมีการลุกขึ้นมาของคนเล็กคนน้อย คนด้อยอำนาจในสังคม ที่ลุกขึ้นมาเรียกร้องความต้องการของตัวเอง และต่อสู้กับโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ของรัฐที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตของพวกเขา มีการเรียกร้องอำนาจในการเข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการนโยบายสาธารณะต่างๆ

อย่างไรก็ตามภายหลังจากการยึดอำนาจโดย คสช . และด้วยข้ออ้างความไม่พร้อมของประชาชน ที่ไม่ได้มองถึงความซับซ้อนที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ประภาสเห็นว่าผลของการยึดอำนาจครั้งนี้ส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อคนอย่างกว้างขวาง จากเดิมที่มองว่าเป็นผลกระทบในเรื่องสิทธิเสรีภาพแต่เพียงเท่านั้น แต่สำหรับครั้งนี้ส่งผลกระทบที่ลึกมาก เพราะมีการปิดกั้นการเรียกร้องต่อรัฐบาล ถึงที่สุดแล้วนี้คือการลดทอนพื้นที่ทางการต่อรอง และพื้นที่ในการสร้างอำนาจของคนจน

“เพราะฉะนั้นถ้าเราพูดถึงเรื่องการร่างรัฐธรรมนูญ ถ้าเรามองว่ามันคือการจัดความสัมพันธ์ทางอำนาจ มันคงไม่ใช่เรื่องของรัฐธรรมนูญเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ยกตัวอย่างเช่นการออกกฎหมายชุมนุม ก็ทำให้ชาวบ้านเคลื่อนไหวยากลำบากมาก ผมอยากจะชี้ให้เห็นว่าเรากำลังอยู่ท่ามกลางการร่างรัฐธรรมนูญที่มีการจัดวางความสัมพันธ์ทางอำนาจ ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องการจัดการเรื่องคอร์รัปชัน แต่สิ่งซึ่งมันเคยขยายขึ้นมาคือการเมืองที่มองเห็นหัวคนจน มันได้หายไปท่ามกลางการจัดความสัมพันธ์ทางอำนาจครั้งนี้”

ประภาส กล่าวต่อไปว่า ปัญหาการหดหายไปของพื้นที่ต่อรองของคนจนได้เกิดขึ้นแล้ว แม้เราจะยังไม่มีรัฐธรรมนูญใหม่ก็ตาม เนื่องจากเราอยู่สภาวะที่มีการรวบอำนาจ ในการบริหารจัดการ การตัดสินใจโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ไว้ที่คนกลุ่มเดียว โดยที่พื้นที่ออกเสียงของชาวบ้านกลับถูกกลบหาย ฉะนั้นหายนะได้เกิดขึ้นกับคนจนแล้ว

เขาอธิบายต่อไปว่า โลกไปพัฒนาไปสู่สังคมการเมืองใหม่ ไม่มีทางเป็นไปได้ที่จะมีใครบอกว่าเห็นแก่ประโยชน์ของชาติ แล้วออกแบบนโยบายอยู่กลุ่มเดียว โดยที่ไม่มีพื้นที่ให้คนกลุ่มอื่นๆ เข้ามาร่วมต่อรองผลประโยชน์ แม้แต่การอ้างว่าประเทศมีวิกฤติการณ์ หรือมีวิกฤติการณ์จริงก็ไม่ใช่เรื่องของคนเพียงกลุ่มเดียวที่เข้ามาจัดการ

ความไม่พร้อมของชนชั้นนำ และความขัดแย้งในวัฒนธรรมทางการเมือง



“สำหรับผมถ้าถามว่าประชาชนพร้อมหรือเปล่า ประชาชนพร้อมเสมอ ชนชั้นนำต่างหากที่ไม่พร้อม และมันชัดขึ้นทุกวันว่า ชนชนั้นนำไม่พร้อม”

ยุกติเริ่มต้นด้วยการอธิบายถึง ที่มาปัญหาความขัดแย้งในช่วงที่ผ่านมาว่า เกิดจากแนวคิดหรือจินตนาการเกี่ยวกับสังคมไทยที่แตกต่างกันเป็น 2 ขั้ว และเราอยู่กับความแตกต่างนี้มาประมาณ 10 กว่าปี เมื่อเราอยู่ในวัฒนธรรมการเมืองที่แตกต่างกัน ถึงที่สุดแล้วรัฐธรรมนูญที่กำลังจะร่างต้องคำนึงถึงคือความแตกของสองขั้วนี้

เขาอธิบายต่อไปว่า รัฐธรรมนูญเป็นผลของวัฒนธรรมในการต่อรองอำนาจ การเปลี่ยนรัฐธรรมนูญในแต่ละครั้งสะท้อนให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย เมื่อมองมาที่ปัจจุบัน เขาตั้งคำถามว่า คนที่ร่างรัฐธรรมนูญอยู่ในปัจจุบัน รู้หรือไม่ว่าความขัดแย้งคืออะไร คนร่างรัฐธรรมนูญอยู่ตรงไหน และสามารถที่จะถอดตัวเองออกจากความขัดแย้งได้หรือไม่ ซึ่งไม่สามารถทำได้ และเมื่อทำไม่ได้ก็มีทางที่จะร่างรัฐธรรมนูญที่ตอบสนองความต้องการของทุกฝ่ายได้

ยุกติอธิบายต่อไปถึง ความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย โดยระบุว่า ในปี 2529 ประเทศไทยมีคนจนอยู่ร้อยละ 44.9 ในขณะที่ต่อมาในปี 2552 คนจนลดลงเหลือเพียงร้อยละ 8.1 เท่านั้น ซึ่งนี่คือภาพสะท้อนว่าประเทศไทยมีคนที่มีรายได้ปานกลางเพิ่มมากขึ้น กระนั้นก็ตามเมื่อมองดูที่ความเหลื่อมล้ำในสังคม เรามีคนรวยสุดร้อย 20 ซึ่งมีรายได้ร้อยละ 54.4 ของรายได้ประเทศ และมีคนที่จนสุดร้อยละ 20 ซึ่งมีรายได้เพียงร้อยละ 4.6 ของรายได้ประเทศ ซึ่งกลุ่ม 20 เปอร์เซ็นแรกเป็นกลุ่มคนที่มีอำนาจมาก ขณะที่กลุ่มคน 20 เปอร์เซ็นหลังเป็นกลุ่มที่ไร้อำนาจ และถูกไล่ปราบปรามในสถานการณ์ปัจจุบัน

เขาเล่าต่อถึง มายาคติอย่างหนึ่งในสังคมไทย ที่มักจะมีมองเห็นภาพชนบทแบบหยุดนิ่ง ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วเมืองกับชนบทมีความแตกต่างกันน้อยลง แม้ว่าคนจำนวนมากยังอยู่ในภาคเกษตรกรรมแต่รายได้ของคนกลุ่มนี้ไม่ได้มาจากภาคเกษตรกรรมแต่เพียงอย่างเดียว พวกเขามีรายได้มาจากแหล่งอื่นๆ วิถีชีวิตของพวกเขาไม่ได้อยู่ติดกับพื้นที่อีกต่อไป ขณะเดียวในชนบทมีการกระจายความเจริญด้านการศึกษาที่ดีขึ้น มีระบบสาธารณะสุขที่ทั่วถึง การมองชนบทแบบหยุดนิ่งเป็นเพียง ความล้าสมัยของกรอบมุมมองแบบเดิม

ขณะที่ความขัดแย้งที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่ ยุกติมองว่า เป็นความขัดแย้งกับระหว่าง วัฒนธรรมการเมืองอย่างเก่า กับวัฒนธรรมการเมืองอย่างใหม่ กล่าวคือ วัฒนธรรมการเมืองอย่างเก่า เป็นวัฒนธรรมของชนชั้นกลางเก่า ที่มองการเมืองแบบมีคุณธรรม ประชาธิปไตยจำเป็นต้องมีการตรวจสอบดูแล การเลือกตั้งไม่น่าเชื่อถือ ยินยอมให้มีการแทรกแซงจากอำนาจพิเศษเป็นครั้งคราวได้ เห็นว่าการเมืองภาคประชาชนคือ ประชาธิปไตยทางตรง และน่าเชื่อถือกว่าระบบรัฐสภา ในทางกลับกันวัฒนธรรมการเมืองอย่างใหม่ คือการมองเห็นว่าการเลือกตั้งน่าเชื่อถือ มีความต้องการที่จะจำกัดอำนาจของสถาบันประเพณี ไม่เชื่อถือการเมืองที่มีคุณธรรมเพราะไม่สามารถตรวจสอบได้ เห็นว่าทั้งการเมืองท้องถิ่นและการเมืองระดับชาติมีความสำคัญ แต่สำคัญคนละแบบ

เขาเสนอว่า การร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังจะเกิดขึ้น จะทำอย่างไรให้มีการต่อรองอำนาจระหว่างคนทั้งสองกลุ่ม ไม่ใช่เป็นแต่เพียงการร่างของคนกลุ่มเดียว และที่สำคัญจะต้องตอบโจทย์ของสังคมไทยที่มีมาตั้งแต่ 2535 คือไม่ใช่เพียงแค่การจำกัดการโกง แต่ต้องมีการกระจายอำนาจด้วย แต่อย่างไรก็ตามสิ่งที่เราพบเห็นกันอยู่ในปัจจุบันได้สะท้อนให้เห็นว่า ชนชั้นนำยังไม่พร้อมที่จะปล่อยอำนาจให้ประชาชน

ความสัมพันธ์ของสิทธิมนุษยชน กับรัฐธรรมนูญ



เบญจรัตน์ อธิบายถึง สิทธิมนุษยชนในฐานะที่เป็นทั้งเป้าหมายแล้ววิธีการในการร่างรัฐธรรมนูญ โดยระบุว่า เจตจำนงค์ของการร่างรัฐธรรมนูญนั้นต้องเป็นไปเพื่อส่งเสริมหลักสิทธิมนุษยชน ขณะเดียวกันในกระบวนการร่างเพื่อที่จะได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญที่ส่งเสริมสิทธิมนุษยชนนั้น ต้องเคารพในหลักการสิทธิมนุษยชนด้วยเช่นกัน

เธอกล่าวต่อถึงสิ่งที่จะเป็นเครื่องยืนยันได้ว่ารัฐธรรมนูญเคารพหลักการสิทธิมนุษยชนหรือไม่คือ สิทธิเชิงลบ ซึ่งรัฐจะต้องจำกัดอำนาจของตัวเองเพื่อไปส่งเสริมอำนาจของปัจเจก เช่นสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของประชาชน ไม่ใช่รัฐมีอำนาจเข้ามาข่มเหง จะมาสั่งขังประชาชนตามอำเภอใจไม่ได้ ขณะที่สิทธิเชิงบวก จะเป็นการเพิ่มอำนาจรัฐให้สามารถเข้าไปจัดการบางอย่าง เพื่อที่จะส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เช่นการจัดสวัสดิการขั้นเพื่อฐานให้กับประชาชน เพิ่มสิทธิทางเศรษฐกิจ และสิทธิทางสังคม ระบบสาธารณสุข และระบบการศึกษา

ในอีกด้านหนึ่งของการจัดความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจรัฐและประชาชนที่เป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชน เธออธิบายต่อว่า จะต้องมีการเพิ่มอำนาจให้ประชาชน ในการควบคุมตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจรัฐ ซึ่งไม่การปล่อยให้คนไม่กี่คนสามารถใช้อำนาจรัฐได้ แม้จะถูกให้คุณค่าว่ามีคุณธรรมสูงกว่าคนอื่นๆ ก็ไม่สามารถที่จะตัดสินความเป็นไปของประเทศได้

เธอกล่าวต่อถึงกรณีประเทศไทย โดยระบุว่า หลายครั้งหลักสิทธิมนุษยชน ถูกเปิดให้มีการตีความไปโดยไม่สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะในกระบวนการตุลาการ เช่นกรณีที่ต้องตีความความว่า นโยบายของรัฐบาล หรือการออกกฏหมายของรัฐสภา ซึ่งฝ่ายตุลาการของไทยกลับไม่ได้ยึดหลักสิทธิมนุษยชนเป็นแกนกลางในการตีความ

อีกประเด็นหนึ่งที่ต้องคำนึงถึงคือ รัฐธรรมนูญไทย แม้จะเป็นกรอบกฎหมายของไทย แต่ก็ต้องอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมายระหว่างประเทศด้วย ซึ่งรัฐไทยได้เข้าเป็นภาคีกฎหมายสิทธิมนุษยชนหลายฉบับ แต่กฎหมายระหว่างประเทศเหล่านั้นไม่มีสถานะอยู่ในระบบกฎหมายไทย กล่าวคือการเข้าเป็นภาคีกฎหมายระหว่างประเทศนั่นไม่ได้มีผลในเชิงบังคับ รัฐไทยจะต้องออกกฎหมายต่างๆมารับรองหลักการเหล่านั้นเอง ฉะนั้นแม้เราจะเข้าร่วมภาคีแล้ว แต่เรื่องไม่ได้ออกกฎหมายรับรองก็ไม่ได้มีประโยชน์อะไร

ต่อประเด็นเรื่องการยึดหลักสิทธิมนุษยชน ในการร่างรัฐธรรมนูญ เบญจรัตน์เห็นว่า รัฐธรรมนูญจะต้องได้มาจากการมีส่วนร่วมกับประชาชน เพื่อที่จะให้ประชาชนรู้สึกเป็นเจ้าของรัฐธรรมนูญ

"รัฐธรรมนูญไม่ใช่กฎหมายประจำรัฐบาล ที่ยึดอำนาจมาเขียน ร่างขึ้นใหม่ แต่เป็นกฎหมายของประชาชน ที่ออกแบบความสัมพันธ์ทางอำนาจของคนในสังคม ประชาชนต้องมีส่วนร่วมในการร่าง ฉะนั้นรัฐธรรมนูญที่มาจากการละเมิดสิทธิฯ มันก็ไม่มีความหมาย รัฐธรรมนูญที่ไม่ฟังเสียงประชาชน ไม่มีความหมาย และการร่างรัฐธรรมนูญในสภาวะที่ประชาชนไม่มีสิทธิเสียง มันก็ไม่มีความหมาย"

ความเป็นสูงสุดของรัฐธรรมนูญ



ปูนเทพกล่าวถึง กฎหมายรัฐธรรมนูญว่าเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ประเด็นที่น่าคบคิดต่อไปคือ การเป็นกฎหมายสูงรัฐธรรมนูญนั้นหมายความว่าอย่างไร และการที่จะทำให้รัฐธรรมนูญเป็นกฏหมายสูงสุดสามารถทำได้ด้วยวิธีใด ซึ่งที่ผ่านมาอดีตตั้งแต่ พ.ศ. 2475 ประเทศไทยเคยมีรัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายสูงสุดจริงหรือไม่

เขากล่าวต่อไปว่าความเป็นสูงสุดของรัฐธรรมนูญ คือการทำให้กฏหมายสามารถบังคับใช้ได้จริง หากมีปัญหาต่างๆขึ้นมาจะต้องมีผู้ที่มาบังคับใช้กฏหมายได้ ขณะที่รัฐธรรมนูญมีการเขียนเรื่องสิทธิเสรีภาพไว้อย่างสวยหรู หากไม่สามารถบังคับใช้ได้ ก็ไม่มีประโยชน์

การจะทำให้รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดนั้น เขาอธิบายว่า นอกจากจะมีการประกาศว่ารัฐธรรมนูญเป็นกฏหมายสูงสุดของประเทศ กฎหมายอื่นๆจะขัดรัฐธรรมนูญไม่ได้ จะต้องมีกระบวนการตรา การแก้ไขที่ต่างไปจากกฎหมายอื่น มีกลไกในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ซึ่งสิ่งเหล่านี้คือหลักการเบื้องต้น แต่กระบวนการในการนำไปปรับใช้จริงๆ เพื่อที่จะให้เป็นนิติรัฐที่สมบูรณ์นั้น จะต้องมีองค์ประกอบในรัฐธรรมนูญคือ หลักการประชาธิปไตย

ปูนเทพอธิบายต่อไปโดยอ้างอิงงานของ นิธิ เอียวศรีวงศ์ เรื่องรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรม โดยระบุว่าปัญหาที่ผ่านเกิดจากการที่มีคนเห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับลายลักษณ์อักษรนั้น ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรม ฉะนั้นจึงมีความพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับลายลักษณ์อักษรให้สอดคล้องการฉบับวัฒนธรรม เพื่อที่จะเป็นเหตุผลที่คนสามารถยอมรับได้ แต่ขณะเดียวกันการเกิดขึ้นมาของรัฐธรรมนูญนั้น โดยหลักการแล้วเกิดขึ้นมาเพื่อทำลายวัฒนธรรมเก่าที่ไม่ชอบด้วยระบอบประชาธิปไตย

“รัฐธรรมนูญมีสองฟังก์ชัน คือหนึ่งคุณต้องเขียนให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมเพื่อให้คนยอมรับ แต่วัฒนธรรมไหนที่ขัดกับประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญมีหน้าที่ที่จะทำลายตัวนั้น แล้วสร้างวัฒนธรรมใหม่ คือวัฒนธรรมการเคารพรัฐธรรมนูญ นี่เป็นจุดสำคัญ รัฐธรรมนูญถูกออกแบบมาเพื่อพูดถึงอำนาจที่จะมีต่อไป ส่วนอำนาจเดิมที่เคยมีมาก่อนรัฐธรรมนูญ เมื่อรัฐธรรมนูญประกาศใช้ แล้วบอกว่ารัฐธรรมนูญเป็นกฏหมายสูงสุด จะต้องไม่มีพรมแดนใดๆ ที่เหนือไปจากไปจากรัฐธรรมนูญ ไม่มีอำนาจเหนือรัฐธรรมนูญ ไม่มีองค์กรนอกรัฐธรรมนูญ ประเทศที่รัฐธรรมเป็นกฎหมายสูงสุด คุณจะไม่สามารถจิตนาการถึงการที่รัฐธรรมนูญถูกฉีกได้ เพราะอำนาจต่างๆถูกหลอมรวมเข้ามาอยู่ในรัฐธรรมนูญ”

เขากล่าวต่อไปว่า เหตุผลที่หลายๆประเทศรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด และได้รับการยอมรับคือ การมีที่มาจากประชาชน ประชาชนสร้างมันขึ้นมาเอง กล่าวคือมันถูกตราขึ้นโดยตัวแทนของประชาชน และถูกตราโดยกลไกในรัฐธรรมนูญ