วันศุกร์, ตุลาคม 02, 2558

"บีบีซีไทย- BBC Thai" แฉเบื้องหลังการถ่ายทำภาพทั่นผู้นำจับมือโอบามา UN-70





บีบีซีเผยข้อมูลอีกด้าน เบื้องหลัง "บิ๊กตู่"จับมือ"โอบามา" แต่สมศักดิ์ เจียมฯ ท้วง

ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 02 ตุลาคม พ.ศ. 2558

2 ต.ค. 58 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า "บีบีซีไทย- BBC Thai" ได้เผยแพร่บทความของ Outside contributor (ผู้สื่อข่าวนอกกองบรรณาธิการ) หัวข้อ "การประชุมยูเอ็นเริ่มจากในบ้าน" วิพากษ์วิจารณ์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เกี่ยวกับการเดินทางไปร่วมประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติสมัยที่ 70 ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ตั้งแต่วันที่ 23 ก.ย. 58 ที่ผ่านมา โดยสรุปว่า

พล.อ.ประยุทธ์ พยายามสร้างความชอบธรรมจากการได้รับเลือกให้นั่งเป็นประธานกลุ่ม 77 ว่าได้รับการยอมรับจากนานาชาติ ซึ่งที่แท้จริงการได้ตำแหน่งดังกล่าวเป็นผลของการปฏิบัติการทางการทูตที่ดำเนินการมาระยะเวลาหนึ่งแล้ว นอกจากนี้การเข้ารับรางวัลจากสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ ก็ไม่ใช่ผลงานของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ แต่เป็นผลสืบเนื่องมาจากการที่ประเทศไทยส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีดิจิตอลเพื่อบรรลุเป้าหมายในการพัฒนาในช่วงกว่าทศวรรษที่ผ่านมา

ส่วนภาพการจับมือระหว่างพล.อ.ประยุทธ์กับประธานาธิบดีบารัคโอบามาของสหรัฐฯก็เป็นหนึ่งในความพยายามของเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลไทยที่ต้องการแสดงให้เห็นว่าสหรัฐฯ ไม่ได้แสดงความรังเกียจ พล.อ.ประยุทธ์ แต่อย่างใด จึงมีความพยายามในการหาโอกาสให้พลเอกประยุทธ์ ได้สัมผัสมือกับประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาแม้เพียงผ่านๆ ก็ยังดี หลังจากการเจรจาต่อรองอยู่เป็นเวลานาน ทางสหรัฐฯจึงยินยอมให้ประธานาธิบีดของสหรัฐฯมาสัมผัสมือกับพลเอกประยุทธ์ได้ ภายใต้ข้อตกลงว่า ต้องไม่มีการเผยแพร่ภาพดังกล่าวอย่างเป็นทางการ ช่างภาพที่ติดตามนายกรัฐมนตรีจึงไม่ได้รับอนุญาตให้ถ่ายภาพดังกล่าว จึงปรากฏเฉพาะแต่ภาพจากเจ้าหน้าที่ติดตามซึ่งถ่ายจากโทรศัพท์มือถือเผยแพร่ในโซเซียลมีเดียเท่านั้น

นอกจากนี้ภาพของคนไทย 2 กลุ่มที่ออกมาประท้วงและสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ที่หน้าอาคารสำนักงานใหญ่สหประชาชาติ ก็สะท้อนให้เห็นว่าสังคมไทยยังห่างไกลจากความปรองดองสมานฉันท์เนื่องจากนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี และเจ้าหน้าที่ของรัฐบาล มีโอกาสได้พบปะกับกลุ่มผู้สนับสนุนอย่างเป็นกันเอง แต่กลับไม่ได้มีความพยายามที่จะพบปะกับกลุ่มผู้ประท้วงแต่อย่างใด


อ้างอิงที่มา บีบีซีไทย

อย่างไรก็ตาม นายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อดีตอาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ได้แสดงความเห็นต่อบทความชิ้นนี้ว่า

ผมเห็นด้วยเต็มที่อยู่แล้ว ที่จะวิพากษ์วิจารณ์ คสช. รวมถึงการที่พวกเขาพยายามจะอ้างเรื่องต่างประเทศมาสนับสนุนความชอบธรรมของตน (โดยส่วนตัว ผมเห็นว่า ทั้ง คสช. ที่พยายามอ้าง และฝ่ายที่ยกเรื่องต่างประเทศมาคัดค้าน ล้วนให้ความสำคัญเกินจริง กับเรื่องต่างประเทศ โดยไม่เข้าใจปริบทวงกว้างของโลกเท่าที่ควร)

แต่เฉพาะกรณีบทความของ"Outside Contributor" นี้ ผมบอกตรงๆว่า อ่านด้วยความรู้สึกชอบกลๆ (ตั้งแต่การเป็น "นิรนาม" ของ outside contributor ซึ่งชอบกลในแง่ของการที่ บีบีซี นำมาเผยแพร่ คือถ้าคนเขียนมีตัวตน มี credential น่าเชื่อถือ ทำไมต้องใช้ชื่อ "นิรนาม" อย่างน้อย ทำไมไม่มีคำอธิบายว่า คนเขียนเป็นใคร จึงสามารถรู้เรื่อง "วงใน" - เช่นที่ผมจะกล่าวต่อไป - ได้ จะให้คนอ่าน รู้สึกเชื่อได้อย่างไรว่า ที่คนเขียนๆมา น่าเชื่อจริง?)

โดยเฉพาะย่อหน้านี้

"เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลพยายามอย่างมากที่จะทำให้ประชาชนในประเทศเห็นว่ารัฐบาลสหรัฐฯนั้นไม่ได้แสดงความรังเกียจเดียดฉันท์พลเอกประยุทธ์ซึ่งเป็นผู้นำการรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลพลเรือนจากการเลือกตั้งเมื่อปีที่แล้วโดยการพยายามจัดการให้พลเอกประยุทธ์ได้มีโอกาสสัมผัสมือกับประธานาธิบดี บารัค โอบามาของสหรัฐฯ แม้เพียงผ่านๆ ก็ยังดี หลังจากเจรจาต่อรองกันอยู่นานฝ่ายสหรัฐฯ ยินยอมให้ประธานาธิบดีโอบามาเดินมาทักทายและสัมผัสมือพลเอกประยุทธ์ได้ แต่ก็บนเงื่อนไขว่าจะไม่มีการเผยแพร่เรื่องนี้อย่างเป็นทางการ ช่างภาพที่ติดตามนายกรัฐมนตรีไม่ได้รับอนุญาตให้ถ่ายภาพ จึงปรากฏเฉพาะแต่ภาพจากเจ้าหน้าที่ติดตามซึ่งถ่ายจากโทรศัพท์มือถือเผยแพร่ในโซเซียลมีเดียเท่านั้น"

ก่อนอื่นผมเชื่อว่า มีความเป็นไปได้ ที่จะมีการ "เจรจา" เรื่องให้โอบามาจับมือประยุทธ์ (ผมรู้ว่า เรื่องแบบนี้ มีการทำกัน - แต่ก็มีความเป็นไปได้เช่นกันว่า อาจจะเป็นเรื่อง "แอ๊คซิเดนท์" หรือไม่ก็ เป็นเรื่อง ประยุทธ์ พยายามไป "ดักรอ" หรืออะไรก็ได้) ประเด็นคือ คนเขียนรู้ได้อย่างไร? ปกติเรื่องการเจรจาพวกนี้ มันต้องทำระหว่าง จนท. ไทย กับ จนท. อเมริกัน (สต๊าฟโอบาม่า) ผู้เขียนเป็นใครในสองพวกนี้หรือ? หรือผู้เขียนรู้จักใคร มีแหล่งข่าวในสองพวกนี้? และที่สำคัญ ถ้าการ "เจรจาต่อรองกันอยู่นาน" เป็นแบบที่ผู้เขียนว่าจริงๆ ว่า "บนเงื่อนไขว่าจะไม่มีการเผยแพร่เรื่องนี้อย่างเป็นทางการ" ถึงขนาดว่า "ช่างภาพที่ติดตามนายกรัฐมนตรีไม่ได้รับอนุญาตให้ถ่ายภาพ" จริงๆ ทำไม "จึงปรากฏเฉพาะแต่ภาพจากเจ้าหน้าที่ติดตาม ซึ่งถ่ายจากโทรศัพท์มือถือเผยแพร่ในโซเซียลมีเดียเท่านั้น" คือถ้าเขาไม่ยอมให้เป็นทางการ ไม่ยอมกระทั่งให้ช่างภาพประจำตัวประยุทธ์ถ่ายภาพ ทำไมจึงให้ จนท. ติดตามถ่ายด้วยมือถือ แล้วมาแพร่ทางโซเชียลมีเดียได้อีก? #มันไม่เม้กเซ้นซ์น่ะ (เช่นถ้าเขาเจรจากันอยู่นานแล้วบอกว่า no picture แล้วอันนี้ ไม่เป็นการ "ผิดสัญญา" ของ จนท ประยุทธ์หรือ? อาจจะเป็นไปได้ แต่ก็ยังชอบกล เวลา จนท. ประยุทธ์ ยกมือถือถ่าย จนท. ฝ่ายอเมริกัน ไม่รู้จักยกมือห้ามหรือ? ประเภท "บอกแล้วไงว่า no picture" อะไรทำนองนั้น... คือข้อความย่อหน้านี้ทั้งหมดมันไม่เม้กเซ้นซ์ และฟังดูชอบกลจริงๆ

ooo

เรื่องเกี่ยวข้อง...

การประชุมยูเอ็นเริ่มจากในบ้าน

Outside contributor
https://www.facebook.com/BBCThai/posts/1701424233411943:0

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทยได้เสร็จสิ้นภารกิจในการร่วมประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติสมัยที่ 70 แล้วเมื่อตอนค่ำวันอังคารที่ 29 ก.ย. ตามเวลาท้องถิ่นในนครนิวยอร์กโดยการปิดท้ายด้วยสุนทรพจน์ในที่ประชุมใหญ่ที่ดูจะมีคำถามว่าได้ให้อะไรใหม่เกี่ยวกับทิศทางและนโยบายในการพัฒนาประเทศของไทยทั้งในแง่การเมือง เศรษฐกิจ และ สังคมหรือไม่ นอกไปจากการแสดงอาการหมกมุ่นอยู่กับปัญหาภายในประเทศที่ไม่อาจจะข้ามพ้นไปได้ง่ายๆ

ภาพของคนไทย 2 กลุ่มพากันไปประท้วงและสนับสนุนพลเอกประยุทธ์ที่หน้าอาคารสำนักงานใหญ่สหประชาชาติ ก็ไม่ต่างอะไรกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศไทย นายกรัฐมนตรีไม่ได้พยายามจะพบกับผู้ประท้วงแต่ในขณะที่อีกด้านหนึ่ง ทั้งตัวนายกรัฐมนตรีเอง รัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่รัฐบาลกลับพบปะโอภาปราศรัยกับผู้สนับสนุนอย่างเป็นกันเอง นี่ก็สะท้อนให้ชาวโลกเห็นว่า สังคมไทยยังห่างไกลความสมานฉันท์ยิ่งนัก

บรรดาผู้สนับสนุนและเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการข้อมูลของรัฐบาลทั้งฝ่ายปิดลับและเปิดเผยพยายามให้ข่าวว่า พลเอกประยุทธ์ ได้รับเลือกให้นั่งเป็นประธานกลุ่ม 77 ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าประชาคมนานาชาติให้การยอมรับรัฐบาลทหารอย่างไม่มีข้อสงสัย ในความจริงแล้วการดำรงตำแหน่งประธานกลุ่มดังกล่าวเป็นผลของการปฏิบัติการทางการทูตของนักการทูตไทยในกระทรวงต่างประเทศที่ได้ดำเนินการมาระยะหนึ่งแล้ว ประเทศไทยได้มีบทบาทในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่มีสมาชิก 134 ประเทศกลุ่มนี้มานานพอสมควร ทั้งยังเคยเป็นประธานของกลุ่มนี้ในสำนักงานอื่นๆมาแล้ว เช่น ไนโรบี เมื่อปีที่แล้ว และสำนักงานอื่นๆในปีก่อนๆ ทั้งการเป็นประธานในคราวนี้คือการเป็นประธานกลุ่มในสำนักงานนิวยอร์กซึ่งประจำสำนักงานใหญ่สหประชาชาติ ก็ไม่ใช่เป็นสิ่งพิเศษที่จัดไว้ให้พลเอกประยุทธ์หรือว่าเป็นผลงานของนายกรัฐมนตรีไทยคนปัจจุบันแต่อย่างใด

และการเป็นประธานนั้นก็อาศัยการเลือกตั้งภายใต้โครงสร้างของกลุ่มที่หมุนเวียนไปตามภูมิภาค ประธานในปีหน้านั้นเป็นโควตาของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ประเทศไทยอาสาเข้ารับตำแหน่งเมื่อหลายเดือนก่อน โดยไม่มีคู่แข่งขันจึงได้รับการคัดเลือกและรับรองให้เป็นประธานในสำนักงานนิวยอร์ก 1 วันก่อนที่พลเอกประยุทธ์จะเดินทางถึงสหรัฐ เครดิตระหว่างประเทศถ้าหากจะมีขึ้นจากกรณีนี้ก็เป็นการสั่งสมมาแต่ในอดีตจากการดำเนินงานทางด้านองค์การระหว่างประเทศของข้าราชการในกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งรัฐบาลทหารไม่ได้แสดงว่าให้ความสนใจมาก่อน ตัวพลเอกประยุทธ์เองก็ไม่ได้แสดงให้เห็นว่ามีความเข้าใจในบทบาทและหน้าที่ของกลุ่ม 77 การเป็นประธานก็อาศัยฝีมือทางการทูตของผู้แทนถาวรประจำสหประชาชาติมากกว่าจะมาจากฝ่ายการเมือง

ประเทศไทยได้รับรางวัลจากสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศและมีพลเอกประยุทธ์ในฐานะหัวหน้ารัฐบาลขึ้นรับรางวัลอันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการที่ประเทศไทยส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีดิจิตอลเพื่อบรรลุเป้าหมายในการพัฒนาในช่วงกว่าทศวรรษที่ผ่านมา ลำพังผลงานของรัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ในห้วง 1 ปีที่ผ่านมาก็ยังไม่มีความโดดเด่นในเรื่องโทรคมนาคมเพียงพอจะได้รับรางวัล มิหนำซ้ำ แนวคิดที่จะใช้ single gateway เพื่อทำการควบคุมการจราจรในระบบดิจิตอลและจำกัดเสรีภาพในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศยังจะทำให้รางวัล ITU Global Sustainable Digital Development Award ที่พลเอกประยุทธ์ได้รับมาหมาดๆนั้นสูญค่าลงไปในทันที

เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลพยายามอย่างมากที่จะทำให้ประชาชนในประเทศเห็นว่า รัฐบาลสหรัฐฯนั้นไม่ได้แสดงความรังเกียจเดียดฉันท์พลเอกประยุทธ์ซึ่งเป็นผู้นำการรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลพลเรือนจากการเลือกตั้งเมื่อปีที่แล้ว โดยการพยายามจัดการให้พลเอกประยุทธ์ได้มีโอกาสสัมผัสมือกับประธานาธิบดี บารัค โอบามาของสหรัฐฯแม้เพียงผ่านๆก็ยังดี หลังจากเจรจาต่อรองกันอยู่นานฝ่ายสหรัฐฯยินยอมให้ประธานาธิบดีโอบามาเดินมาทักทายและสัมผัสมือพลเอกประยุทธ์ได้ แต่ก็บนเงื่อนไขว่าจะไม่มีการเผยแพร่เรื่องนี้อย่างเป็นทางการ ช่างภาพที่ติดตามนายกรัฐมนตรีไม่ได้รับอนุญาตให้ถ่ายภาพ จึงปรากฏเฉพาะแต่ภาพจากเจ้าหน้าที่ติดตามซึ่งถ่ายจากโทรศัพท์มือถือเผยแพร่ในโซเซียลมีเดียเท่านั้น

พลเอกประยุทธ์ได้พบปะหารือแบบทวิภาคีกับผู้นำจากประเทศมหาอำนาจรายเดียวคือ ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ของจีนเท่านั้น ซึ่งก็นับว่าเป็นบุคคลที่มีความคุ้นเคยกันอยู่แล้ว พลเอกประยุทธ์ให้ความสำคัญกับการพบปะผู้นำประเทศที่ไม่เป็นที่รู้จักมากนักในประเทศไทย เช่นประเทศในหมู่เกาะในแปซิฟิกใต้ แคริบเบียนและแอฟริกา เพื่อขอความสนับสนุนในการรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกไม่ถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ซึ่งจะมีการเลือกตั้งในปีหน้าและจนขณะนี้ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ว่า ประเทศไทยได้รับเสียงสนับสนุนเท่าใดแล้ว

การประชุมสหประชาชาติในปีนี้ดำเนินการภายใต้หัวข้อ สหประชาชาติครบรอบ 70 ปี หนทางสู่สันติภาพ ความมั่นคง และสิทธิมนุษยชน (The United Nation at 70 the road ahead to peace, security and human right) แต่พลเอกประยุทธ์ พยายามหลีกเลี่ยงที่จะพูดถึงปัญหาสำคัญในประเทศไทยเกี่ยวกับการฟื้นฟูประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน ซึ่งได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักหน่วงจากนานาชาติในปัจจุบัน แต่ก็หนีไปไม่พ้น

บัน คีมูน เลขาธิการองค์การสหประชาชาติไม่ลังเลที่จะยกปัญหาเรื่องประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนขึ้นหารือกับพลเอกประยุทธ์ ระหว่างที่มีการพบกันแบบทวิภาคีที่สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ โดยบอกกับพลเอกประยุทธ์ว่าเขาวิตกกังวลเกี่ยวกับพื้นที่ประชาธิปไตยของไทยที่กำลังลดน้อยลงทุกทีและยังขอให้รัฐบาลไทยปกป้องและรักษาสิทธิในการแสดงความคิดเห็นและการชุมนุมของประชาชนที่กำลังมีการจำกัดอย่างมากอยู่ในขณะนี้ด้วย ทั้งสองฝ่ายได้หารือเกี่ยวกับโรดแม๊ปของไทยที่จะนำไปสู่การเลือกตั้งที่ล่าช้าออกไป เพราะเหตุผลที่พลเอกประยุทธ์บอกกับ บัน คีมูน คือร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไม่ผ่านความเห็นชอบของสภาปฏิรูปแห่งชาติซึ่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติคือพลเอกประยุทธ์เองตั้งมากับมือ

บรรดาผู้สนับสนุนรัฐบาลทหารพยายามจะช่วยรักษาหน้าของพลเอกประยุทธ์ในระหว่างที่อยู่ในนิวยอร์คด้วยการระดมคนจำนวนหลายร้อยคนไปชุมนุมหน้าองค์การสหประชาชาติ 3 วันติดต่อกันเพื่อให้กำลังใจและประกาศว่าคนไทยต้องการรัฐบาลทหารมากกว่ารัฐบาลจากการเลือกตั้งหรือระบอบประชาธิปไตยซึ่งเต็มไปด้วยการคอร์รัปชั่น ในขณะที่ฝ่ายต่อต้านหรือกลุ่มเสื้อแดงนั้นมีจำนวนน้อยกว่าและปรากฏตัวเพียงวันเดียวทั้งยังไม่มีโอกาสได้เข้าใกล้ตัวนายกรัฐมนตรี จำเป็นต้องอยู่แต่ในที่ซึ่งทางการสหรัฐจัดสรรไว้ให้ ทั้งการถ่ายทอดการชุมนุมของพวกเขาไปประเทศไทยก็ถูกปิดกั้นโดยรัฐบาล

โดยสรุปแล้วพลเอกประยุทธ์ได้มีโอกาสทำหน้าที่หัวหน้ารัฐบาลไทยในฐานะผู้แทนประเทศไทยเข้าร่วมประชุมสหประชาชาติเพื่อพูดถึงการพัฒนาและการมีส่วนร่วมของไทยในหลายภาคส่วนขององค์การสหประชาชาติโดยเฉพาะการได้ร่วมรับรองเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนฉบับใหม่ วาระปี ค.ศ. 2030 ได้ร่วมประชุมสุดยอดว่าด้วยการรักษาสันติภาพซึ่งประธานาธิบดีโอบามาเป็นประธาน และได้กล่าวสุนทรพจน์ในเวทีเดียวกัน แต่นั่นก็ไม่แน่ว่าได้ช่วยให้พลเอกประยุทธ์โดดเด่นหรือกลายที่ยอมรับนับถือในชุมชนนานาชาติ เพราะนโยบายแห่งการปิดกั้นเสรีภาพ ละเมิดสิทธิมนุษยชนในบ้านยังคงดำเนินอยู่ต่อไป ดังที่นานาชาติได้แสดงความเป็นห่วงและยกเป็นประเด็นขึ้นมาพูดเสมอ

ในภาพ พล.อ.ประยุทธ์พบกับนายแกสตัน บราวน์ นายกรัฐมนตรีแอนติกาและบาร์บูดา


ที่มา 
บีบีซีไทย - BBC Thai