วันพฤหัสบดี, พฤษภาคม 14, 2558

จับสัญญาณกระเพื่อม



โดย ทีมข่าวการเมือง
13 พ.ค. 2558

แทบจะทุกองค์กร ครบทุกสาขาอาชีพ

ผู้พิพากษา 427 คน ล่ารายชื่อคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญที่ให้เพิ่มสัดส่วนคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) จากตัวแทนฝ่ายการเมือง จากเดิมมีอยู่ 2 คน เป็นอย่างน้อย 1 ใน 3

ข้าราชการตำรวจที่ไม่เอาด้วยกับการปฏิรูปโครงสร้างอำนาจหน้าที่ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ที่เขียนล็อกไว้ในรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะการแยกงานสอบสวนให้เป็นอิสระจาก สตช.

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ต่อต้านรัฐธรรมนูญใหม่ในประเด็นการควบรวม กสม.กับผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็น “ผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิของประชาชน”

นักเลือกตั้งอาชีพขวางลำ ส.ส.แบบ “โอเพ่นลิสต์” ปมเปิดช่องนายกรัฐมนตรีคนนอก และ ส.ว.ลากตั้ง

ล่าสุดถึงคิวของปลัดอำเภอ กำนัน และผู้ใหญ่บ้านทั่วประเทศ เคลื่อนไหวเรียกร้องให้ยกเลิกร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 82 (3) มาตรา 284 (5) และมาตรา 285 เนื่องจากทั้ง 3 มาตรา จะทำให้ไม่มีข้าราชการ

ส่วนภูมิภาคและข้าราชการฝ่ายปกครอง ซึ่งรวมถึงกำนันและผู้ใหญ่บ้านที่เป็นรากฐานและคอยอำนวยความสะดวกให้ประชาชนอย่างเท่าเทียมแทนรัฐบาลกลาง

ผู้พิพากษา ตำรวจ เอ็นจีโอ องค์กรอิสระ นักการเมือง ปลัดอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ฯลฯ

แนวต้านรัฐธรรมนูญ “โมเดลแรก” เรียงหน้ากระดานออกมาทุกทิศทุกทาง สะท้อนแรงเสียดทานจากภายนอกที่พุ่งเข้าใส่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ

นับวันจะยิ่งทวีคูณ เจ้าภาพ “จองกฐิน” เรียงเป็นตับ

แต่ที่ต้องจับตา เพราะมีผลต่อสถานการณ์พลิกคว่ำพลิกหงายในสภา ก็อยู่ที่คิวของคนในด้วยกันเองอย่างนายดิเรก ถึงฝั่ง รองประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) พูดดังๆออกอากาศ ถ้า “36 อรหันต์ทองคำ” ไม่ยอมทบทวน รื้อเงื่อนปมที่เป็นปัญหา

มีสิทธิเจอเกมโหวตคว่ำร่างรัฐธรรมนูญใน สปช.

สถานการณ์ทั้งภายนอกภายในเต็มไปด้วยแรงเสียดทานแฝงอยู่เต็มไปหมด

นั่นก็ทำให้เบอร์หนึ่งในการคุมเกมความมั่นคงตามสถานะอย่าง “บิ๊กโด่ง” พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหม ในฐานะผู้บัญชาการทหารบก ต้องออกจากมุมมาคุมเชิง

เบรกจังหวะการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐธรรมนูญ

โดยเฉพาะพุ่งเป้าไปที่นักเลือกตั้งอาชีพ ซึ่งมีศักยภาพมากที่สุดในการเปิดเกมป่วน ห้ามเปิดเวทีวิพากษ์กติกาใหม่กันอย่างโจ๋งครึ่ม

ป้องกันจังหวะแฝงเหลี่ยมปลุกเร้ากระแสต้านกันในที

คสช.รีบเดินยุทธศาสตร์คุมเกมรัฐธรรมนูญ บล็อกแรงกระเพื่อมแต่หัววัน

นั่นก็เพราะจุดอื่น ก็กำลังเข้าสู่สถานการณ์ที่เสี่ยงกับแรงกระเพื่อมทางอำนาจ

กับปรากฏการณ์แปร่งๆที่อยู่ๆก็มี “ม็อบขาสั้น” กลุ่มนักเรียนมัธยมศึกษาจากโรงเรียนดังย่านพัฒนาการ กิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ด้วยการใส่หน้ากากนายกรัฐมนตรี

บุกไปขับไล่ พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รมว.ศึกษาธิการ ในฐานะอดีตผู้บัญชาการทหารเรือ และหนึ่งในทีม คสช. ด้วยเหตุที่อ้างว่า นโยบายการปฏิรูปการศึกษาของ รมว.ศึกษาธิการ ไม่มีความชัดเจน

มันก็น่าเอะใจ ถ้าไม่มีใคร “ให้ท้าย” เด็กที่ไหนจะหาญกล้าท้าอำนาจพิเศษท็อปบูต

นั่นไม่เท่ากับว่า มาในจังหวะบังเอิญรับกับกระแสปรับ ครม.พอดิบพอดี

และก็เผชิญสัญญาณไม่สู้ดีเหมือนกัน กับคิวของ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รมว.คมนาคม ในฐานะอดีตผู้บัญชาการทหารอากาศ และหนึ่งในทีม คสช.

ที่เจอปัญหาแผนเงินกู้โครงการมอเตอร์เวย์ 2 เส้นทาง ได้แก่ สายบางปะอิน–สระบุรี–นครราชสีมา วงเงิน 84,600 ล้านบาท และ สายบางใหญ่–บ้านโป่ง–กาญจนบุรี วงเงิน 55,600 ล้านบาท

โดนเบรกจนสะดุดไปในรอบแรก

แล้วก็เป็น ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกฯ หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ที่ออกมายืนยันว่า รัฐบาลไม่มีปัญหาในเรื่องของการจัดหาแหล่ง

เงินทุนในการก่อสร้างมอเตอร์เวย์ 3 สาย เพียงแต่ในขณะนี้ยังไม่มีข้อสรุปว่าจะนำแหล่งทุนจากภาครัฐ หรือเอกชนมาลงทุน เนื่องจากกระทรวงคมนาคมเสนอว่าให้เอกชนเป็นผู้ลงทุน แต่ทางกระทรวงการคลังมองว่ารัฐควรเป็นผู้ลงทุนเอง โดยจะต้องหาข้อสรุปต่อไป

เรื่องของเรื่องมันสะท้อนภาวะ “สนิมเนื้อใน” กลายเป็นคิวหักลำระหว่าง “คลัง” กับ “คมนาคม”

ปาดหน้าแย่งกันเป็นเจ้าภาพ “ตัดเค้ก”.


ทีมข่าวการเมือง

ooo

กมธ.ยกร่างฯ เผย เห็นด้วยกับการทำประชามติ พร้อมเตรียมส่งหนังสือให้ นายกฯ ด้านวิป สปช. เอาด้วย

Wed, 2015-05-13 18:25
ที่มา ประชาไท

โฆษก กมธ. ยกร่างฯ เผยที่ประชุมเห็นควรทำประชามติร่าง รธน. เพราะเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ย้ำถ้าได้ทำต้องส่งเอกสารให้ ปชช. ศึกษาก่อน 90 วัน ด้านวิป สปช. เห็นด้วยกับประชามติทั้งฉบับ

13 พ.ค. 2558 เว็บข่าวรัฐสภา รายงานว่า คำนูณ สิทธิสมาน พร้อมด้วย พลเอกเลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษกกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ แถลงข่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญว่า ที่ประชุมมีมติให้ส่งหนังสือเสนอความเห็นของ กมธ.ยกร่างฯ ที่เห็นตรงกันว่าควรให้มีการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ไปยังพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ภายในวันนี้ (13 พ.ค. 58)

ด้านพลเอกเลิศรัตน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า รัฐธรรมนูญถือเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ จึงควรให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการให้ความเห็นชอบและเพื่อให้สอดคล้องกับ การร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ที่เป็นของทุกคนและฉบับที่ผ่านมาก็เคยทำประชามติ เช่นกัน ทั้งนี้การทำประชามติจะต้องส่งเอกสารให้ประชาชนได้ศึกษาก่อนลงเสียงประชามติ ใน 90 วัน โดยคาดว่าน่าจะมีการทำประชามติหลังวันที่ 6 สิงหาคม ส่วนเงื่อนไขที่ทุกฝ่ายจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ พลเอกเลิศรัตน์ กล่าวว่า มีหลายช่องทางที่จะสามารถดำเนินการและใช้เป็นทางออกในการแก้ปัญหาได้ แต่กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้เป็นผู้เสนอหรือกำหนด เพียงแต่เห็นควรให้มีการทำประชามติเท่านั้น

ขณะเดียวกัน เว็บข่าวรัฐสภา อลงกรณ์ พลบุตร เลขานุการคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติ (วิป สปช.) แถลงข่าวภายหลังการประชุมวิป สปช.เพื่อพิจารณาให้ความเห็นว่าควรมีการออกเสียงลงประชามติร่าง รธน.หรือไม่ว่า จากการหารือร่วมกับคณะกรรมาธิการ 18 คณะและคณะกรรมาธิการวิสามัญ 5 คณะของ สปช. ที่ประชุมได้มีมติเห็นด้วยให้มีการออกเสียงทำประชามติ และเห็นควรให้ทำประชามติทั้งฉบับภายหลัง สปช.ให้ความเห็นชอบ โดยกระบวนการจะต้องรอบครอบ รอบรู้ มีการทำความเข้าใจในสาระของรัฐธรรมนูญให้ประชาชนได้ใช้สิทธิออกเสียงอย่าง เข้าใจในตัวบทบัญญัติของ รธน. ซึ่ง สปช. และ กมธ.ยกร่างฯ พร้อมที่จะเป็นหน่วยงานสำคัญที่ให้ความรู้กับประชาชน ขณะเดียวกันหน่วยงานที่จะดำเนินการจัดทำการออกเสียงประชามติจะต้องวางกติกา กฎเกณฑ์การออกเสียงอย่างโปร่งใส ยอมรับได้