วันเสาร์, กรกฎาคม 13, 2567

มีเงินเสกได้ : วุฒิการศึกษาเก๊ ปริญญาปลอม กลายเป็นประเด็นให้ถกเถียงกันอีกแล้ว ต้นตอความปลอม เพราะสังคมยึดติดดีกรี ยศถาบรรดาศักดิ์



มีเงินเสกได้ มหาวิทยาลัยห้องแถว จัดให้ใบปริญญา ชุบตัวเศรษฐี-นักการเมืองไทย

12 ก.ค. 2567
ไทยรัฐออนไลน์

วุฒิการศึกษาเก๊ ปริญญาปลอม มหาวิทยาลัยห้องแถว กลายเป็นประเด็นให้ถกเถียงกันอีกแล้ว ถึงที่มาการได้มาของใบปริญญา จะปริญญาตรี ปริญญาโท ปริญญาเอก หรือคำนำหน้านามแสดงวิทยฐานะ อาจเป็นไปได้ว่าสังคมไทยยังคงมีทัศนคติแบบเดิมๆ วัดค่าของคนด้วยสิ่งนี้ เพียงแค่กระดาษแผ่นเดียวหาได้ง่ายๆ ยิ่งจบเมืองนอกยิ่งดูดี หากมีเงิน ก็เสกได้จริงหรือ?

น่าจะจริงอย่างที่ "จอร์จ กอลลิน" กรรมการบริหารสภาตรวจสอบและรับรองสถาบันอุดมศึกษาของสหรัฐฯ เคยแสดงความกังวล เพราะพบว่าธุรกิจปั๊มใบปริญญาปลอมในสหรัฐฯ เติบโตขึ้นต่อเนื่อง มีรายได้มหาศาลจากการขายวุฒิการศึกษาแบบทางลัด ให้กับลูกค้าทั่วโลกที่พร้อมจะจ่ายเงินซื้อในราคาแพง เพียงแค่ลงทุนตั้งเว็บไซต์เท่านั้น ใครจะเรียนหลักสูตรปริญญาเอกทางไกล ก็สำเร็จการศึกษาเพียงแค่อาทิตย์เดียว



ใบปริญญา ซื้อมาได้อย่างไร จัดให้ทั้งไทย-เทศ

แล้วกระบวนการซื้อใบปริญญาเป็นอย่างไร? “ผศ.ดร.สิงห์ สิงห์ขจร” คณบดีคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา บอกว่า เมื่อ 20 ปีก่อน ใบปริญญาของมหาวิทยาลัยในสหรัฐฯ เป็นที่ชื่นชมของสังคมไทย ช่วยการันตีเข้าทำงานในบริษัทชั้นนำได้ ทำให้คนไทยพากันไปเรียน นำมาสู่ช่องโหว่ของการซื้อ-ขายวุฒิในสถาบันต่างๆ ซึ่งสมัยก่อนระบบการตรวจสอบแหล่งที่มาของวุฒิทำได้ยาก เพราะไม่มีอินเทอร์เน็ตเหมือนทุกวันนี้

ก่อนมาปรากฏภายหลังที่นิยมซื้อกันบางส่วนเป็นมหา'ลัยห้องแถว อยู่ในย่านที่ไม่น่าจะมีสถาบันการศึกษาขนาดใหญ่ ส่วนใหญ่มักใช้คำว่าสถาบัน (College) บางแห่งเปิดถูกกฎหมาย แต่ไม่ได้รับการยอมรับคุณวุฒิจากประเทศนั้น ส่วนการซื้อวุฒิผ่านมหาวิทยาลัย มักเป็นมหาวิทยาลัยเล็กๆ ใช้ชื่อใกล้เคียงมหาวิทยาลัยดัง กระทั่ง 10 ปีที่ผ่านมา เริ่มเสนอขายแบบแพ็กเกจให้เลือก มีใบปริญญาพร้อมทรานสคริปต์ หรือใบปริญญาตรี ทรานสคริปต์ และชุดครุย หากจ่ายเพิ่ม จะได้ของที่ระลึก เป็นสมุด ปากกา ธงสถาบัน เสื้อกีฬา ไปถ่ายในสตูดิโอกับใบปริญญาปลอมๆ

จากนั้นประเทศไทย ก็เริ่มลักลอบขายปริญญาปลอมบนโลกออนไลน์เพิ่มขึ้น และรูปแบบถัดมาสมัครเข้าเป็นนักศึกษาของมหาวิทยาลัย ลงทะเบียนเรียนถูกต้องตามระเบียบ แต่ไม่ต้องเข้าห้องเรียน กรณีนี้ทำได้ไม่ง่าย เพราะหลักสูตรมีรายวิชามาก คนรับทำต้องมีอำนาจในมหาวิทยาลัยระดับสูง สามารถเคลียร์กับผู้สอนให้ออกเกรดให้ครบตลอดหลักสูตร มักทำในระดับปริญญาโท หรือปริญญาเอก เพราะมีรายวิชาบังคับค่อนข้างน้อย เน้นการทำวิทยานิพนธ์ แต่ไม่ใช่ว่าถือเงินมาแล้วก็ซื้อวุฒิกลับบ้านได้ เพราะปัจจุบันหน่วยงานต่างๆ มีระบบตรวจสอบ ทำให้
การปลอมแปลงวุฒิการศึกษาทำได้ยากขึ้น


รับจ้างทำวุฒิปลอม ก็มีมานำเสนอ

ต้นตอความปลอม เพราะสังคมยึดติดดีกรี ยศถาบรรดาศักดิ์

เช่นเดียวกับ "ดร.สิทธิพร เอี่ยมเสน" ผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิตละอออุทิศ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ระบุว่า ใบปริญญาที่เรียนจบมา หลายมหาวิทยาลัยในไทย ต้องทำให้ เพื่อความอยู่รอด และเพื่อเงิน มีการเปิดหลักสูตรบัณฑิตศึกษาเป็นจำนวนมาก ซึ่งผู้ลงทะเบียนเรียนต้องมีเงิน มีความอดทนในการเกาะติดอาจารย์ที่ปรึกษา และปัจจุบันมี ChatGPT วิเคราะห์ข้อมูล นำมาเขียนเปเปอร์ (Paper) ส่งอาจารย์ ได้อย่างง่ายดาย และเป็นที่ยอมรับ หากเป็นต่างประเทศไม่ค่อยยอมรับ เพราะเป็นกระบวนการที่ไม่ทำด้วยตนเอง แตกต่างกับสมัยก่อน ไม่มีอินเทอร์เน็ต ก็ต้องหาข้อมูลในห้องสมุด นำมาสรุปความ เอามาวิเคราะห์ สร้างความภูมิใจให้กับตัวเอง

ปัจจุบันคนเรียนจบ ก็ต้องถามกันว่าจบจากที่ใด บ้านเรายึดติดกับดีกรี ยศถาบรรดาศักดิ์ จนสังคมถดถอยลง ขอให้ได้คำนำหน้านามแสดงวิทยฐานะก็พอแล้ว ทั้งไทย ต่างประเทศได้หมด แล้วตำแหน่งศาสตราจารย์ จากต่างประเทศ ไม่ใช่จะได้ง่ายๆ เท่ากับได้ตำแหน่งรองศาสตราจารย์ และเรียนออนไลน์ เรียนอย่างไรถึงได้เป็นศาสตราจารย์ ต้องไปสอนหนังสือ ทำงานวิจัย มีผลงานเชิงประจักษ์ และผลงานเพื่อสังคม ไม่ใช่ง่ายๆ และการเป็นอาจารย์สอนในต่างประเทศ ก็เริ่มต้นด้วยตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ เหมือนเป็นครูผู้ช่วย แต่เมืองไทย แค่เป็นอาจารย์ก็ได้ แล้วมีผลงานเชิงวิจัย ถึงจะได้เป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์

“หากอยู่เมืองไทยแล้วเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ ก็ไม่น่าสงสัย แต่ศาสตราจารย์จากต่างประเทศ ไม่ได้ง่าย บางมหาวิทยาลัย ทางอว.ก็ไม่ตีค่าให้ เหมือนมหาวิทยาลัยบางแห่งในไทยก็มี ทำวิจัยก็จ้างคนได้ จ้างทำทุกขั้นตอน แม้กระทั่งตำแหน่งชำนาญการ ก็มีการจ้าง คิดว่าเลิกได้แล้วในการตีค่าคนด้วยวิทยฐานะ อยากเห็นครู อาจารย์เอาใจใส่เด็ก มากกว่าเขียนผลงาน และพบว่า 60-70% เป็นงานวิจัยเคลื่อนที่ ทักษะของนักศึกษาครูลดลง เพราะไม่มีการบ่มเพาะความเป็นครู มีแต่ฉาบฉวยจะหวังแต่แสง หวังให้คนอื่นเห็น หวังให้เจ้านายเห็นเท่านั้น”

การตรวจสอบวุฒิการศึกษาตามปกติ จะดูแค่ดีกรี ไปสอบถามต้นสังกัดสถาบันการศึกษา แต่จบจากต่างประเทศ ก็ค่อนข้างยาก แต่สามารถตรวจสอบได้ และขึ้นอยู่กับอว.รับรอง ซึ่งวุฒิการศึกษาการจบปริญญาเอก ได้กลายเป็นค่านิยมของสังคมไทยไปแล้ว แต่กว่าจะได้ตำแหน่งวิชาการ ได้ตำแหน่งศาสตราจารย์ในไทย ต้องมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ เป็นเรื่องละเอียดอ่อนมาก หลังผ่านการตรวจสอบผลงานว่าไปลอกใครมาหรือไม่ และมีคนร้องเรียน จนหลายคนที่ยื่นเข้าไป ใช้เวลาเป็นปีกว่าจะได้ หากบกพร่องมีปัญหา ก็เท่ากับหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

กรณีมหาวิทยาลัยห้องแถวในสหรัฐฯ อาจมีอยู่ในเมืองใหญ่ๆ มีการตั้งชื่อให้ใกล้เคียงกับมหาวิทยาลัยดังๆ ของรัฐบาลที่ตั้งอยู่ในแต่ละรัฐ และรัฐส่วนใหญ่มีมหาวิทยาลัยใหญ่ 2 แห่ง เน้นสาขาที่มีความต้องการและตามความเชี่ยวชาญของแต่ละมหาวิทยาลัย ส่วนมหาวิทยาลัยห้องแถวที่เปิดสอน เคยให้เกียรติเชื่อใจคนไทยที่มาเรียนว่าจะมีความซื่อสัตย์ แต่ต่อมาพบว่าไปจ้างคนอื่นทำวิจัย จนมาระยะหลังมหาวิทยาลัยห้องแถวบางแห่ง กลับเอาวัฒนธรรมของคนเอเชียมาใช้และหลอกขายปริญญาให้กับคนไทย

“ปฏิเสธไม่ได้เลยว่ามหาวิทยาลัยห้องแถว เป็นแหล่งชุบตัวให้กับเศรษฐีและนักการเมืองของไทย ก็เพื่อจะได้เป็นด็อกเตอร์ นำไปต่อยอดทำประโยชน์อย่างอื่น แลกกับเงิน 5 แสน ถึง 1 ล้านบาทที่จ่ายไป เพราะปกติก็มีองค์ความรู้ในการทำธุรกิจอยู่แล้ว แต่ต้องการวุฒิการศึกษามาประดับ ทำให้มีหน้ามีตาในสังคม เช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยในไทยหลายแห่ง ก็พยายามทำหลักสูตรให้คนจบปริญญาตรีใน 3 ปี แค่มีเงิน ก็ทำได้ทุกอย่าง แต่ก็แปลกใจบางคนจบนอก เป็นศาสตราจารย์ได้อย่างไร”

https://www.thairath.co.th/scoop/theissue/2800278