วันอังคาร, กรกฎาคม 16, 2567

แอมเนสตี้จับตา “คดีตากใบ” พื้นที่สามจังหวัดที่มีกฎหมายพิเศษมากมาย แต่ไร้ความยุติธรรม ก่อนครบ 20 ปี คดีจะหมดอายุความ 25 ต.ค. นี้ สิ่งที่น่าจับตามองไม่ใช่แค่เทคนิคทางกฎหมายของจำเลยเท่านั้น แต่กระบวนการยุติธรรมทั้งระบบจะไม่เอื้อให้ประชาชนได้รับความเป็นธรรมสักเท่าไร



จับตา 20 ปี “คดีตากใบ” เส้นทางความยุติธรรม ก่อนคดีหมดอายุความ 25 ต.ค. นี้

15 กรกฎาคม 2567
ประชาไท

แอมเนสตี้จับตา “คดีตากใบ” พื้นที่สามจังหวัดที่มีกฎหมายพิเศษมากมาย แต่ไร้ความยุติธรรม ก่อนครบ 20 ปี คดีจะหมดอายุความ 25 ต.ค. นี้ สิ่งที่น่าจับตามองไม่ใช่แค่เทคนิคทางกฎหมายของจำเลยเท่านั้น แต่กระบวนการยุติธรรมทั้งระบบจะไม่เอื้อให้ประชาชนได้รับความเป็นธรรมสักเท่าไร

15 ก.ค. 2567 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย รายงานว่า เป็นเวลาเกือบ 20 ปีแล้ว ที่ปัญหาความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้เข้ามาอยู่ในความรับรู้ของคนไทย ซึ่งหนึ่งในเหตุการณ์ความรุนแรงอันน่าสลดใจในพื้นที่ปลายด้ามขวาน ก็คือ “เหตุการณ์ตากใบ” หรือเหตุการณ์สลายการชุมนุมหน้า สภ. ตากใบ เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 ซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐได้ใช้ความรุนแรงในการสลายการชุมนุม พร้อมจับกุมผู้ชุมนุมราว 1,300 คน โดยมัดมือไพล่หลัง สั่งให้ผู้ชุมนุมนอนทับกันหลายชั้นบนรถบรรทุก ก่อนจะนำตัวไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร ที่ จ.ปัตตานี ห่างออกไปกว่าร้อยกิโลเมตร จนทำให้มีผู้เสียชีวิต บาดเจ็บ และทุพลภาพจากเหตุการณ์นี้เป็นจำนวนมาก

“มันมีสำนวนฝรั่งที่บอกว่า No justice, no peace หากปราศจากซึ่งความยุติธรรมก็ไม่มีสันติภาพ ถ้าคดีตากใบทำให้เห็นได้ จะทำให้เห็นถึงความสนใจของนโยบายของรัฐต่อประชาชนที่รัฐเรียกเต็มปากว่าเป็นประชาชนของตัวเอง”

“เราต้องการที่จะให้คดีนี้มันอายุความสะดุดหยุดลง ซึ่งมันจะเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อศาลประทับฟ้อง และจำเลยมาศาล มีอีกหลายขั้นเลยกว่าจะไปถึงตรงนั้น”

เหตุการณ์ตากใบไม่เพียงแต่สะท้อนภาพความรุนแรงและการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยรัฐเท่านั้น แต่ยังแสดงให้เห็นว่า ประชาชนในพื้นที่แห่งนี้ไม่เคยได้รับความเป็นธรรม เพราะมีการสรุปสาเหตุการเสียชีวิตของผู้ชุมนุมว่า “ขาดอากาศหายใจ”

“สิ่งที่ยังคาใจก็คือการเสียชีวิตเพราะขาดอากาศหายใจ ผมขอถามว่า คนที่เสียชีวิตมีไหมที่ไม่ขาดอากาศหายใจ จริงๆ แล้วการกระทำของเจ้าหน้าที่โดยตรง ที่ทำให้ 85 ศพ เสียชีวิตวันนั้น กี่เปอร์เซ็นต์ที่โดนยิง เพราะว่าพี่ชายของผม ถ้าไม่เอาศพกลับ ไม่รู้เลยว่ามีร่องรอยถูกยิง 2 ที่ แล้วก็คนในหมู่บ้านนั้น เสียชีวิต 4 คน ทุกคนคอหักหมดเลย โดนอะไรเราก็ไม่รู้เหมือนกัน แต่ว่าศพที่เอากลับ ลูบอาบน้ำศพ ลูบแรงๆ ก็ไม่ได้เลย เพราะว่าบวม จำหน้าก็ไม่ได้ แต่ว่าพี่ชายผมจำได้เพราะมีแหวนติดนิ้วอยู่” แบมะ (นามสมมติ) ผู้ซึ่งสูญเสียพี่ชายคนโตในเหตุการณ์ตากใบเล่า

อูเซ็ง ดอเลาะ ทนายความจากมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม

และจนกระทั่งทุกวันนี้ยังไม่มีเจ้าหน้าที่รัฐคนใดต้องรับผิดชอบต่อความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ดังกล่าว

“เมื่อเกิดเหตุการณ์การเสียชีวิต โดยเจ้าหน้าที่ หรือมีการทำให้เสียชีวิตใดๆ ก็ตาม ความที่เป็นคดีอาญา มันเป็นอำนาจหน้าที่ของพนักงานสอบสวนที่จะรับหน้าที่ตรงนี้ ในการที่จะรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อที่จะเอาคนผิดมาลงโทษให้ได้ แต่ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่เองกลับเพิกเฉย ปล่อยปละละเลย เข้าใจว่าส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะผู้ที่ก่อเหตุเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูง เป็นข้าราชการระดับสูง” อูเซ็ง ดอเลาะ ทนายความจากมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม เล่าย้อนถึงสถานการณ์ความยุติธรรมหลังเกิดเหตุการณ์ตากใบ

ระยะเวลาเกือบ 20 ปี ไม่เคยเพียงพอที่จะทำให้ผู้ได้รับผลกระทบลบลืมเรื่องราวในวันนั้นออกไปจากความทรงจำ ขณะที่เวลาค่อยๆ เคลื่อนผ่านไป ก็แทบจะดับความหวังของพวกเขา เพราะเมื่อไหร่ที่คดีนี้มีอายุครบ 20 ปี ก็เท่ากับว่า ‘คดีหมดอายุความ’ และความยุติธรรมก็จะหายไปกับสายลม

“ในส่วนของชาวบ้านเอง ที่ทำได้ก็คือการรำลึกถึงเหตุการณ์เท่านั้น แต่เมื่อแอมเนสตี้ลงพื้นที่ไปเมื่อปีที่แล้ว ทุกคนเห็นว่าระยะเวลามันใกล้แล้วนะ ชาวบ้านก็เลยเกิดการตื่นตัว แล้วก็ เอาวะ เมื่อมีช่องทางก็ลองดู เพราะว่าเป็นโอกาสสุดท้ายแล้วที่จะสู้เรื่องนี้” อูเซ็ง เล่า

และนั่นก็คือจุดเริ่มต้นของการที่ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ตากใบลุกขึ้นมาฟ้องคดีเจ้าหน้าที่รัฐด้วยตัวเอง

กฎหมายพิเศษมากมาย แต่ไร้ความยุติธรรม

20 ปี ไม่ใช่แค่ตัวเลขอายุความคดีตากใบ แต่ยังเป็นอายุของกฎอัยการศึก กฎหมายพิเศษที่ประกาศใช้ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่เพียงเท่านั้น ยังซ้อนทับด้วย พ.ร.ก. ฉุกเฉิน และ พ.ร.บ. ความมั่นคง และก่อนหน้านั้นยังมีกฎหมายมาตรา 44 ที่เพิ่งยกเลิกไป

น้ำหนักอันมหาศาลของกฎหมายพิเศษ กดทับประชาชนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ขณะเดียวกันก็ให้อำนาจและอภิสิทธิ์กับเจ้าหน้าที่รัฐเกินขอบเขต จนทำให้ประชาชนไม่สามารถแจ้งความเอาผิดเจ้าหน้าที่รัฐได้

“มันมีวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดของเจ้าหน้าที่อยู่ คือเรารู้กันแหละ มันมีเสียงอื้ออึงอยู่ตลอดว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนเยอะแยะ มีการซ้อมทรมาน วิสามัญฆาตกรรม ต่างๆ นานา แต่ว่าไม่มีกรณีไหนเลยที่เจ้าหน้าที่ถูกลงโทษและเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม แล้วก็คนที่ถูกละเมิดได้รับความเป็นธรรมจริงๆ ในขณะเดียวกัน คนที่ออกมาพูดความจริง คนที่ออกมาเปิดโปงการละเมิดสิทธิมนุษยชนก็โดนคดีอยู่ตลอด โดนคุกคามอยู่ตลอด” ชนาธิป ตติยการุณวงศ์ นักวิจัยแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าว


ซาฮารี เจ๊ะหลง

ซาฮารี เจ๊ะหลง ตัวแทนภาคประชาสังคมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นอีกคนหนึ่งที่ต้องเผชิญกับการถูกคุกคามและการดำเนินคดีในข้อหาต่างๆ จากการพยายามตีแผ่ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในพื้นที่

“ผมเองอยู่ในพื้นที่ก็ทำสื่อด้วย ในฐานะคนทำสื่อก็ถูกคุกคาม เราทำเรื่องคนหายก็ถูกเรียกตัวเข้าไปสอบในค่ายทหาร จนกระทั่งปัจจุบันก็ยังถูกดำเนินคดีจากการทำสื่อ จากการทำกิจกรรมด้านมนุษยธรรมในพื้นที่ ก็ถือว่าพัฒนาขึ้นจากการเรียกไปสอบในค่าย ทำให้สูญหาย หรือการวิสามัญ ก็มาสู่การใช้กฎหมายเข้ามาเล่นงาน”

จากความกลัวสู่ความหวัง

“คดีตากใบ ทำไมถึงเพิ่งฟ้อง มันเป็นความกลัวของชาวบ้าน ในขณะที่อำนาจรัฐที่มีอยู่ก็พยายามทำให้ประชาชนลืมเรื่องนี้ไป ถ้าพูดตรงๆ ก็คือความผิดพลาดจากนโยบายของรัฐ รัฐไม่ยอมรับความผิดพลาดของตัวเอง ซ้ำยังกดทับไม่ให้ประชาชนจำได้ว่านี่คือความผิดพลาดของเขา” ซาฮารี กล่าวถึงสาเหตุที่ชาวบ้านปล่อยให้เวลาผ่านไปเนิ่นนาน ก่อนตัดสินใจฟ้องคดี

หากย้อนไปเมื่อปีที่แล้ว จากการลงพื้นที่ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ในปี 2566 ที่ได้พูดคุยกับชาวบ้านตากใบถึงการใกล้จะหมดอายุความของคดีตากใบ ก็ทำให้ชาวบ้านตื่นตัว และลุกขึ้นสู้เพื่อความเป็นธรรมอีกครั้ง

“อีก 3 เดือน ก็จะครบรอบ 20 ปี เหตุการณ์ตากใบ เราจึงรวมตัว พูดคุยกันว่าเราจะให้มันจบโดยไม่เดินเรื่องอะไรเลยเหรอ หรือเราจะลองสู้เพื่อความยุติธรรมให้เกิดขึ้นกับคนที่เสียชีวิตแล้ว” แบมะ กล่าว

สำหรับการลุกขึ้นสู้เพื่อคืนความยุติธรรมให้ผู้เสียชีวิตและผู้สูญเสียทุกคน ชาวบ้านได้รับความร่วมมือจากมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม และมูลนิธิผสานวัฒนธรรม โดยมีการพบปะพูดคุยเพื่อเก็บข้อมูลจากชาวบ้านอีกครั้ง และมีผู้แจ้งความประสงค์ที่จะร่วมฟ้องคดีด้วยประมาณ 48 คน ประกอบด้วยญาติผู้เสียชีวิตและผู้เสียหายที่ได้รับบาดเจ็บจากการสลายการชุมนุม จากนั้นจึงยื่นฟ้องไปเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2567

“ชั้นนี้เป็นสิ่งที่เราเรียกว่าไต่สวนมูลฟ้อง เนื่องจากประชาชนฟ้องเอง ปกติคดีที่มีคนตาย ประชาชนไม่ต้องฟ้องเองนะ เจ้าหน้าที่ตำรวจจะทำสำนวนคดีและส่งฟ้อง ซึ่งไต่สวนมูลฟ้อง กำหนดอายุความ 20 ปี มันกระเถิบเข้ามาเร็วมากแล้ว ด้วยความยากของการฟ้องคดี เราต้องการที่จะให้คดีนี้มันอายุความสะดุดหยุดลง ซึ่งมันจะเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อศาลประทับฟ้อง และจำเลยมาศาล มีอีกหลายขั้นเลยกว่าจะไปถึงตรงนั้น”


พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม

พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม เริ่มกล่าวถึงเส้นทางสู่ความยุติธรรม ที่ทั้งยาวไกลและเต็มไปด้วยอุปสรรค เพราะจำเลยทั้ง 9 คน ต่างก็งัดสารพัดกลยุทธ์ทางกฎหมาย เพื่อชะลอให้การพิพากษาช้าที่สุด จนกระทั่งหมดอายุความไปเอง

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าจับตามองไม่ใช่แค่เทคนิคทางกฎหมายของจำเลยเท่านั้น แต่ดูเหมือนกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบจะไม่เอื้อให้คนตัวเล็กตัวน้อยได้รับความเป็นธรรมสักเท่าไร พรเพ็ญเล่าว่า

“ถ้ามีคนตายโดยผิดธรรมชาติ มันจะมี 2 สำนวน คือสำนวนไต่สวนการตาย และสำนวนที่เกี่ยวข้องกับใครทำให้ตาย เพราะมันเป็นอาญาแผ่นดิน ทีนี้ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เราก็แทบจะไม่รู้ความคืบหน้าของคดี แต่พอชาวบ้านจะฟ้องเองขึ้นมา ตำรวจก็รีบทำสำนวนขึ้นมา ในระยะเวลาเดียวกับที่ทีมทนายกำลังรวบรวมพยานหลักฐาน ในความเข้าใจของชาวบ้าน ในระยะเวลา 20 ปี ไม่เคยมีใครเรียกพวกเขาไปสอบปากคำเลย แล้วพอเขาลุกขึ้นมาจะดำเนินคดี ตำรวจเรียกไปสถานีตำรวจ ชาวบ้านก็รู้สึกว่าตัวเองถูกข่มขู่คุกคาม ตำรวจอ้างว่าเรียกมาสอบสวนในฐานะพยาน ก็เลยทำให้ชาวบ้านบางส่วนก็มีถอนไปบ้าง บางส่วนก็รู้สึกว่าต้องอาศัยความกล้ามากเป็นพิเศษ เพราะว่าถูกคุกคามต่อเนื่อง”

“ขนาดสำนวนคดีที่เสียชีวิต ไม่ใช่แค่คนเดียว 85 ศพ ที่เสียชีวิต สำนวนคดีไม่รู้ไปไหน มันหมายความว่ารัฐไทยไม่มีความจริงใจในการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง จริงๆ แล้วสำนวนคดีนี้ เวลาเกิดเหตุต้องมีอยู่ แต่ว่าโยนไปโยนมา สภ. ตากใบบอกว่าให้ สภ. หนองจิก สภ. หนองจิกบอกว่าให้อัยการ อัยการบอกว่าให้ … โยนไปโยนมา ทำให้ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ เสียชีวิต พิการ รู้สึกว่าไม่สบายใจ ยังค้างคาใจอยู่ว่าทำไมคนร้ายที่ทำความผิดยังลอยนวลอยู่” แบมะ เสริม

นอกจากตำรวจซึ่งเป็นต้นน้ำของกระบวนการยุติธรรมแล้ว อัยการก็เป็นอีกฝ่ายหนึ่งที่มีความผิดปกติ เพราะหลังจากที่ตำรวจไม่ฟ้องคดี ญาติของผู้เสียชีวิตได้ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่อสำนักงานอัยการสูงสุด ให้พิจารณาฟ้องสำนวนคดีของพนักงานสอบสวน ปรากฏว่าสำนักงานอัยการสูงสุดมีหนังสือแจ้งมาว่าให้ประชาชนยุติการร้องขอความเป็นธรรม

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าฝ่ายโจทก์จะเตรียมพร้อมในการพิจารณาคดี แต่เมื่อถึงชั้นศาล กลับพบความผิดปกติหลายอย่างเช่นกัน อูเซ็ง เล่าว่า

“ในเรื่องคำร้องขอเลื่อนคดี ไม่มีผู้ใดยื่นคำร้อง ทางจำเลยที่ไม่มาเอง หรือแต่งตั้งทนายเข้ามาแล้ว ไม่มีการยื่นคำร้องขอเลื่อนคดี เข้าใจว่าทุกคนพร้อมที่จะไต่สวน แต่มันกลายเป็นว่าการเลื่อนคดีเกิดจากมุมมองของผู้พิพากษาเอง ซึ่งเป็นห่วง เป็นกังวล อ้างว่าคดีนี้เป็นคดีที่สำคัญ แล้วก็เป็นคดีที่ได้รับการติดตามจากหลายฝ่าย เป็นคดีที่ทุกคนให้ความสนใจ ก็เลยเป็นกังวลว่า ถ้ากระบวนการไต่สวนผ่านไปแล้ว สำนวนพอไปถึงศาลสูงมันจะมีปัญหา ก็เลยต้องตีกลับ”

“ทั้งที่จริงแล้ว ศาลสามารถเปิดห้องพิจารณาแล้วก็ไต่สวนให้จบไปวันนั้นเลยก็ได้นะ แล้วก็ประทับรับฟ้องไปเลยได้ โดยเงื่อนไขของกฎหมายไม่มีข้อจำกัดเลยว่าจำเลยมาศาลไหม คนนั้นมีทนายไม่มีทนาย เพราะว่านี่คือขั้นตอนไต่สวน ทุกอย่างเป็นดุลยพินิจของศาล แต่เราก็พบว่า ศาลอยู่ๆ ก็มีการพักพิจารณาคดี ก็เดินออกไปคุยกัน แล้วก็กลับเข้ามาพิจารณา กว่าเราจะได้ไต่สวนก็ประมาณบ่ายแล้ว มันก็ทำให้เวลาล่วงเลยมา” พรเพ็ญ กล่าวเสริม

นอกจากนี้ อูเซ็งยังกล่าวด้วยว่า ในส่วนของศาล คดีสำคัญ อย่างคดีความมั่นคงและคดีที่มีอัตราโทษสูง จำเป็นต้องมีองค์คณะในการพิจารณาคดี 3 คน สองคนเป็นผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน กับองค์คณะที่อยู่ในศาลเดียวกัน แล้วก็อีกคนหนึ่งเป็นศาลที่มาจากอธิบดีหรือรองอธิบดี และต้องมีศาลอุทธรณ์ ภาค 9 มาร่วมพิจารณาด้วย ซึ่งก็ต้องติดตามกันต่อไปถึงความเป็นอิสระและความน่าเชื่อถือของศาล ที่หากศาลมีทั้งสองอย่างนี้ ความยุติธรรมที่มีต่อประชาชนก็อาจจะอยู่ไม่ไกล


ชนาธิป ตติยการุณวงศ์ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล

คืนความยุติธรรมคือการเยียวยาที่ดีที่สุด

“ตามหลักการระหว่างประเทศที่แอมเนสตี้ทำงาน มันไม่ใช่สิ่งที่แค่ต้องการความกล้าหาญของชาวบ้านหรือคนในพื้นที่ ภาครัฐก็ต้องมีส่วนในการสร้างบรรยากาศที่ปลอดภัย แล้วก็เอื้ออำนวยให้เขาออกมาดำเนินความยุติธรรม หาความยุติธรรมได้ด้วย เรายังไม่เห็นว่ามันมีการคุ้มครองคนที่เขาอยากจะเรียกร้องความยุติธรรมเลย พวกเรื่องเกี่ยวกับการคุ้มครองพยานยังไม่มี เราก็อยากจะเห็นมากขึ้น” ชนาธิป กล่าว

ในฐานะตัวแทนของแอมเนสตี้ ชนาธิป ตติยการุณวงศ์ นักวิจัยประจำประเทศไทย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ได้เสนอแนวทางการเยียวยาประชาชน ตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศเกี่ยวกับสิทธิของการเข้าถึงการเยียวยา ซึ่งมี 3 องค์ประกอบ ดังนี้
  • การเข้าถึงข้อมูลว่าการละเมิดสิทธิมนุษยชนเกิดขึ้นได้อย่างไร เกิดขึ้นแบบไหน ใครเป็นเหยื่อ และใครเป็นผู้กระทำ
  • การเข้าถึงความยุติธรรมจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีการยอมรับว่านี่คือการทำผิดกฎหมาย
  • การชดเชยเยียวยา ไม่ว่าจะเป็นการมอบเงิน การยอมรับผิดอย่างเป็นทางการ หรือความพยายามที่จะรับประกันว่าเหตุการณ์อย่างนี้จะไม่เกิดขึ้นอีก
แอมเนสตี้ยังมี 3 ข้อเรียกร้อง

ต้องมีการคืนความยุติธรรมให้กับคนที่เป็นเหยื่อของเหตุการณ์ตากใบ ในขั้นแรกคือศาลต้องรับฟ้อง และไม่ปล่อยให้คดีหมดอายุความ เพราะการปล่อยให้คดีหมดอายุความไม่ใช่แค่เสียโอกาสในการคืนความยุติธรรมให้กับชาวตากใบ แต่สูญเสียโอกาสในการสร้างแนวทางปฏิบัติในอนาคต เพื่อที่จะให้ภาครัฐดูแลจัดการการชุมนุมได้ดีขึ้นและสอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนมากขึ้น แล้วก็เป็นเหมือนแนวทางให้เหยื่อกลุ่มอื่นๆ ที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนเข้าถึงความยุติธรรมได้ในลักษณะคล้ายๆ กัน

แก้ไขหรือยกเลิกกฎหมายพิเศษ เนื่องจากกฎหมายพิเศษอย่าง พ.ร.ก. ฉุกเฉิน พ.ร.ก. กฎอัยการศึก และ พ.ร.บ. ความมั่นคง เป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้เกิดการลอยนวลพ้นผิดในพื้นที่ เพราะฉะนั้น กฎหมายเหล่านี้ต้องได้รับการแก้ไข หรือยกเลิกทิ้ง ถ้าไม่สามารถแก้ไขได้ ให้สอดคล้องกับหลักสากล

รัฐต้องทบทวนและฟังเสียงประชาชน ภาครัฐต้องกลับมาทบทวนอีกครั้ง และกลับมาฟังเสียงประชาชนว่า คนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์นี้ต้องการการเยียวยาช่วยเหลือเพิ่มเติมไหม เพราะยังมีผู้ได้รับผลกระทบอีกมากที่ต้องการการรักษาอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่แค่การจ่ายเงินชดเชยครั้งเดียวจบ

จะเกิดอะไรขึ้น หากชาวบ้านได้รับความเป็นธรรม

ชัยชนะของชาวบ้านตากใบจะนำไปสู่อะไร และเหตุใดเราจึงควรจับตาและเป็นกำลังใจให้การต่อสู้ของชาวบ้านครั้งนี้ แบมะตอบว่า

“ชาวบ้านก็จะได้รับรู้ว่าการเสียชีวิตของลูกหรือสามีไม่สูญเปล่า และเกิดความยุติธรรมในประเทศไทยและสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า การเสียชีวิตของคน 85 คน มีผู้กระทำความผิดจริง ไม่ใช่เพราะขาดอากาศหายใจ”

“ความจริงชาวบ้านยอมรับการเสียชีวิต เพราะเราหนีการเสียชีวิตไม่พ้น แต่เราต้องการรู้ความจริงของการเสียชีวิตที่ถูกต้อง ไม่ใช่การทำให้เสียชีวิตแต่อ้างว่าขาดอากาศหายใจ แต่ที่จริงแล้วเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่ ต้องการคำขอโทษที่จริงๆ ไม่ใช่แค่ลมปาก” แบมะ กล่าว

ด้านทนายอูเซ็งมองว่า การที่จะฟังคำตอบสุดท้ายว่าจำเลยทั้ง 9 มีความผิด เป็นเรื่องที่อีกยาวไกล แต่เพียงแค่ศาลมีคำสั่งว่าคดีมีมูล ก็เท่ากับว่าคดีของประชาชนชนะไปครึ่งหนึ่งแล้ว

“บทเรียนที่เราได้จากกรณีที่ศาลมีคำสั่งว่ามีมูลนะ คืออย่างน้อยคุณค่าในการมีชีวิตของคน ควรจะได้รับการปฏิบัติอย่างมีคุณค่าแล้วก็เคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เจ้าหน้าที่จะกระทำการใด ต้องมีความระมัดระวังยิ่งขึ้น รวมไปถึงปัจจุบัน สถานการณ์การวิสามัญฆาตกรรมมีกราฟที่สูงมาก ถ้าคำสั่งตรงนี้มันมีผล ก็คิดว่าอัตราการวิสามัญฆาตกรรมก็อาจจะตรวจสอบได้ และความเชื่อมั่นที่มีต่อกระบวนการยุติธรรมก็จะดีขึ้น” อูเซ็ง กล่าว

“มันมีสำนวนฝรั่งที่บอกว่า No justice, no peace หากปราศจากซึ่งความยุติธรรมก็ไม่มีสันติภาพ แต่ว่าพื้นที่บ้านเราก็ยังไม่ค่อยมีความคืบหน้า เพราะว่ายังให้ความเป็นธรรมกับประชาชนไม่ได้ ซึ่งถ้าคดีตากใบทำให้เห็นได้ จะทำให้เห็นถึงความสนใจของนโยบายของรัฐต่อประชาชนที่รัฐเรียกเต็มปากว่าเป็นประชาชนของตัวเอง”

“ประเด็นคือความจริงใจตรงนี้มันเป็นนามธรรม มันจะเห็นเป็นรูปธรรมได้ก็ด้วยการปฏิบัติของรัฐ มันต้องทำให้เห็น อย่างน้อยมันต้องคลี่คลาย แต่ในทางปฏิบัติมันยังมีอุปสรรค ทำให้ยังไม่สามารถทำให้ความยุติธรรมประสบความสำเร็จได้ ผมคิดว่าถ้าแก้ปัญหาเรื่องใหญ่ก็คงยาก” ซาฮารี กล่าวปิดท้าย

https://prachatai.com/journal/2024/07/109934