วันศุกร์, กรกฎาคม 12, 2567

สรุปประชุมกรรมาธิการความมั่นคงฯ กรณีธนาคารของไทยถูกใช้เป็นเครื่องมือในการเข้าถึงระบบการเงินของรัฐบาลเมียนมา - 11 กรกฎาคม 2567


Rangsiman Rome - รังสิมันต์ โรม
10 hours ago
·
[สรุปประชุมกรรมาธิการความมั่นคงฯ กรณีธนาคารของไทยถูกใช้เป็นเครื่องมือในการเข้าถึงระบบการเงินของรัฐบาลเมียนมา - 11 กรกฎาคม 2567]
ความเป็นมา
ในปีก่อนหน้า (2566) นาย Tom Andrews เผยแพร่รายงานฉบับหนึ่งที่เปิดโปงช่องทาง ที่รัฐบาลเมียนมาใช้ระบบธนาคารของสิงคโปร์ในการจัดซื้ออาวุธ
หลังจากรายงานฉบับดังกล่าวรัฐบาลสิงคโปร์มีการจัดการอย่างจริงจัง มีการยกระดับนโยบายของรัฐบาล และการร่วมมือกับภาคส่นต่างๆ อย่างทั่วถึง
ในวันที่ 26 มิถุนายน 2567 มีการเผยแพร่รายงานพิเศษของสำนักข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชน (UN OHCHR) อ้างว่าธนาคารในประเทศไทยเป็นผู้ให้บริการทางการเงินแก่รัฐบาลทหารเมียนมา ในการทำธุรกรรมเกี่ยวกับการจัดซื้ออาวุธ เพื่อนำมาใช้ในการทำสงครามกลางเมืองในเมียนมา
ยอดการจัดซื้ออาวุธและการใช้บริการธุรกรรมระหว่างปี 2022 และ 2023 ผ่านระบบธนาคารต่างประเทศปรับตัวลดลง เช่นยอดการใช้บริการธุรกรรม | สิงคโปร์ ลดลง 85% จาก 260 เหลือ 40 ล้าน USD | รัสเซีย ลดลง 80% จาก 25 เหลือ 5 ล้าน USD
ในทางกลับกันยอดห่วงโซ่อุปทานในการจัดซื้ออาวุธ และการใช้บริการงานธุรกรรมของกองทัพเมียนมาจากประเทศไทย ในระหว่างปี 2022-2023 เพิ่มขึ้น 100% จาก 60 เป็น 120 ล้าน USD
ธนาคารที่มีรายชื่อปรากฏในรายงาน ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการซื้ออาวุธให้กองทัพเผด็จการเมียนมา ประกอบด้วย
- ธนาคารไทยพาณิชย์
- ธนาคารกสิกรไทย
- ธนาคารกรุงเทพ
- ธนาคารกรุงไทย
- ธนาคารทหารไทยธนชาติ
ลักษณะการทำธุรกรรมผ่านบริษัทนอมินีที่จดทะเบียนในประเทศไทย ซึ่งในรายงานระบุว่า ปลายทางแล้วเงินเหล่านี้ถูกนำไปซื้ออากาศยานต่างๆ ซึ่งถูกนำไปใช้โจมตี โรงเรียน วัด และ โรงพยาบาล ในพื้นที่ของกลุ่มต่อต้าน บางบริษัทขายน้ำมันเครื่องบินเจ็ท
ทำให้ธนาคารของประเทศไทยกลายเป็นผู้อำนวยความสะดวกอันกับ 1 ของรัฐบาลทหารเมียนมาในการเข้าถึงระบบการเงินในปี 2023 และคาดว่าปัจจุบันเราก็ยังคงมีส่วนเกี่ยวข้องอยู่
หัวข้อประชุมกรรมาธิการ
แนวทางป้องกันไม่ให้ธนาคารของไทยกลายเป็นตัวกลางทางการเงินของรัฐบาลทหารเมียนมา
ผู้เข้าร่วมชี้แจง
Tom Andrews (ผู้เขียนรายงานพิเศษ)
กระทรวงต่างประเทศ
ธนาคารแห่งประเทศไทย
ปปง.
สมาคมธนาคารประเทศไทย
ธนาคารไทยพาณิชย์
ธนาคารกสิกรไทย
ธนาคารกรุงเทพ
ธนาคารกรุงไทย
ธนาคารทหารไทยธนชาติ
ประเด็นของผู้เข้าชี้แจง
หน่วยงานชี้แจงว่ารายงานฉบับดังกล่าวเป็นเพียงเอกสารที่นำมาใช้ในการพิจารณาของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน ยังไม่มีการรับรอง หรือมีมติใดๆที่ก่อให้เกิดควาผูกพันต่อประเทศไทย และไม่มีหลักฐานที่ผูกมัดว่ารัฐบาลไทยมีส่วนเกี่ยวข้อง
ผู้มาชี้แจงทุกหน่วยงาน ยอมรับร่วมกันว่า ก่อนหน้านี้ไม่เคยทราบมาก่อนว่าระบบการเงินของไทยเข้าไปเกี่ยวข้องกับรัฐบาลเมียนมา และยอมรับตรงกันว่าไม่อยากให้ระบบการเงินการธนาคารของประเทศเข้าไปเกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรมที่จะนำไปสู่การซื้ออาวุธ และกิจกรรมที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน
ตัวแทนธนาคาร ยืนยันว่าได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ในการตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้าในลักษณะเข้มงวด (EDD) ตามกฎหมายฟอกเงินของปปง. และระเบียบกฎเกณฑ์ของธปท. แต่ปัจจุบันก็ยังไม่มีคำสั่งใดๆออกมาให้ธนาคารปฏิบัติจากหน่วยงานที่กำกับดูแล
ธปท.ชี้แจงว่า การกำกับดูแลตามกฎหมายฟอกเงินของไทย และสิงคโปร์มีความแตกต่างกัน ธปท.ไม่มีอำนาจตามกฎหมายฟอกเงิน จึงต้องทำงานร่วมกับปปง. ทำให้ ธปท. ไม่มีอำนาจสั่งธนาคารตามกฎหมายฟอกเงินได้
ปปง. ชี้แจงว่าตามกฎหมายฟอกเงิน ไม่ได้มีวัตถุประสงค์ในเรื่องของสิทธิมนุษยชน ดังนั้นการให้ปปง.เข้ามาดูแลในเรื่องนี้ จำเป็นต้องมีการมอบหมายจากรัฐบาล
.
คำถาม/ ความเห็น / ข้อโต้แย้งของคณะกรรมาธิการ
เสนอให้ เริ่มต้นจากตรวจสอบบริษัทที่ถูกอ้างในรายงาน UN เมื่อปี 2566 จำนวน 254 บริษัท ที่เดิมเคยทำธุรกรรมผ่านสิงคโปร์ และอีก 2 บริษัทไทย ที่รายงานได้อ้างเพิ่มเติมในปี 2567 และเสนอให้หามาตรการเพื่อหยุดการให้บริการทางการเงิน ในกรณีที่พบว่าบริษัทเหล่านี้เปลี่ยนมาทำธุรกรรมผ่านประเทศไทย
ในรายงานฉบับ 2566 ได้ชี้ว่ามีการคว่ำบาตรธนาคารของเมียนมาอย่าง MFTB และ MICB และ K Bank ก็ได้ปฏิบัติตามการคว่ำบาตร จนทำให้ธุรกรรมที่ทำผ่านK Bank ลดลงจาก 35 ล้าน USD เหลือ 5 ล้าน USD แต่ยอดของธนาคารอื่นกลับไม่ลดลงแบบเดียวกัน จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการตรวจสอบว่า ธนาคารของประเทศไทยได้ปฏิบัติตามมาตรการคว่ำบาตรหรือไม่
ที่ผ่านมาเคยมีบริษัทต่างชาติถอนการลงทุนในเมียนมา เนื่องจากผิดจรรยาบรรณของบริษัท ที่กำหนดให้บริษัทไม่สามารถค้าขายกับผู้ที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน จึงมีการตั้งข้อสังเกตว่า ธนาคารของไทย ได้มีจรรยาบรรณในการประกอบธุรกิจ ที่ยึดหลักสิทธิมนุษยชนหรือไม่
เสนอให้ ธนาคารเป็นเจ้าภาพในการตรวจสอบ โดยสามารถเชิญคุณ Tom Andrews และหน่วยงานในเมียนมา องค์กรระหว่างประเทศ มาให้คำปรึกษา ในการค้นหาข้อเท็จจริง
เสนอให้มีการตรวจสอบช่องว่างของกฎเกณฑ์ปัจจุบัน เพราะถ้าหากธนาคารอ้างว่าได้ทำตามกฎเกณฑ์อย่างครบถ้วนแล้ว แปลว่ากฎเกณฑ์ปัจจุบันกำลังมีปัญหา
เสนอให้ศึกษาประสบการณ์ของสิงคโปร์ ในการแก้ปัญหาว่าดำเนินการอย่างไรบ้าง
มีข้อกังวลว่าการที่ธนาคารของประเทศไทยยังมีบทบาทในการอำนวยความสะดวกให้แก่รัฐบาลเมียนมาต่อไป อาจกระทบต่อภาพลักษณ์ของไทย และกระทบต่อการลงสมัครสมาชิกคณะมนตรีสหประชาชาติในปีหน้า
ความคืบหน้าที่กมธ.ติดตาม
กต.จะชี้แจงความคืบหน้าในการตรวจสอบ และมาตรการรับมือกลับมาภายใน 30 วัน
สมาคมธนาคาร จะชี้แจงความคืบหน้า และมาตรการรับมือเฉพาะหน้ากลับมาภายใน 30 วัน
ปปง. และธปท. จะชี้แจงความคืบหน้าในตรวจสอบข้อเท็จจริงจากรายงาน โดยเฉพาะบริษัทที่ถูกอ้างถึงจำนวน 254 บริษัทเดิม และอีก 2 บริษัทเพิ่มเติม และมาตรการรับมือ กลับมาภายใน 30 วัน

Rangsiman Rome - รังสิมันต์ โรม
รายงานเรื่อง
‘Banking on the Death Trade: How Banks and Governments Enable the Military Junta in Myanmar’
- https://www.ohchr.org/.../session56/a-hrc-56-crp-7.pdf
.....

https://www.facebook.com/rangsimanrome/posts/pfbid0gLu37LVV2fWjkJHim8TjJBRb9gFDaGVWJqia7311usvsjv8CjkpYq1ER6ofprqT1l