วันพฤหัสบดี, มกราคม 05, 2566

ก.พลังงานอ้างไฟฟ้าแพงเพราะต้นทุนสูง แต่ กฟผ.ซื้อไฟจากลาวเว่อ

“ค่าไฟลดได้ หากคนไทยลดการใช้ไฟ ๕-๑๐ เปอร์เซ็นต์” เลขาฯ รมว.พลังงานพูดเป็นวิชาการ แต่คนทั่วไปฟังแล้วเหมือน กวนทีน ก็แหงละถ้าใช้น้อยลงก็จ่ายน้อยลง เท่ากับว่าราคาถูกน่ะสิ

แต่ไหง กฟผ.ไปต๊ะเขื่อนไซยะบุรี ทำสัญญาซื้อไฟล่วงหน้าจากลาวไว้แล้วไง ตั้งเกือบ ๖ พันล้านหน่วยต่อปี เป็นเวลา ๓๑ ปี ราคาที่ต้องจ่ายขั้นต่ำราว ๑๓,๐๐๐ ล้านบาท จะใช้มากใช้น้อยหรือไม่ใช้ ก็ติดบ่วงเงื่อนงำไปแล้ว

ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล ตอบข้อกังขาของผู้อุปโภค ว่าทำไมขึ้นราคาไฟฟ้าไม่หยุดหย่อน ล่าสุดเมื่อกลางปีที่แล้วขึ้นจากเดิมอีก ๙๓.๔๓ สตางค์ต่อหน่วย เป็น ๔.๗๒ บาทต่อหน่วยสำหรับการใช้ในครัวเรือน กับ ๕.๓๓ บาทสำหรับภาคอุตสาหกรรม

ทั่นเลขาฯ บอกว่ามี ๔ ปัจจัย คือ สงครามยูเครน การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด อัตราแลกเปลี่ยนกับการผันแปรทางเศรษฐกิจ และความพยายามเป็นกลางทางคาร์บอน ช่วยลดปรากฏการณ์โลกร้อน จึงได้ใช้ก๊าซธรรมชาติผลิตไฟฟ้า

ประเทศไทยหันมาใช้พลังงานทดแทน ลดการใช้ถ่านหินผลิตไฟฟ้าลงไปเหลือแค่ ๑๕% และใช้ก๊าซธรรมชาติถึง ๖๐% ฉะนั้นเมื่อราคาก๊าซธรรมชาติที่นำเข้ามาเป็นเชื้อเพลิงสูงขึ้น เนื่องจากรัสเซียก่อสงคราม ทำให้ต้นทุนผลิตไฟฟ้าขึ้นกว่า ๓-๕ เท่าตัว

ข้อหนึ่งที่ทั่นเลขาฯ อ้างแล้วฟังไม่ค่อยขึ้น ก็เรื่องสถานการณ์โควิด ทั้งที่สาธารณสุขไทยคุยว่าเก่งกาจนักหนาในการรับมือการแพร่ระบาดของโควิด จึงได้เปิดประเทศให้นักท่องเที่ยวจากจีน ซึ่งกำลังบักโกรกอีกครั้งกับจำนวนคนตาย เข้าไทยอย่างลอยชาย

ทั่นว่าผลพวงโควิดทำให้เศรษฐกิจตกต่ำ แล้ว “ความต้องการใช้ไฟฟ้าลดต่ำลงอย่างรวดเร็ว การผลิตไฟฟ้าที่สูงเกินปริมาณความต้องการใช้ย่อมเป็นต้นทุนค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้น แต่ต้องยอมรับ” อ้าว จะให้ยอมรับได้อย่างไร ในเมื่อ

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตไปทำธุรกิจซื้อขายไฟฟ้าจากลาว “ซึ่งค่าใช้จ่ายจากสัญญานี้จะถูกผลักภาระให้ผู้บริโภคผ่านค่า FT” นิตยสาร เวย์มีคำถามว่า “กฟผ. มีอำนาจไปทำสัญญาลักษณะนี้โดยที่ประชาชนไม่รู้เรื่องได้อย่างไร”

(https://waymagazine.org/10-years-of-xayaburi-dam/ และ https://greennews.agency/?p=32362)