วันพุธ, มกราคม 18, 2566
ความยุติธรรม คนละโลก
อานนท์ นำภา
14h
ถ้ารูป = คน
เผารูป = ฆ่าคนสิ
อะไรคือตรรกกะ อะไรคือเหตุผล ?
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
15h ·
17 ม.ค. 2566 เวลา 9.00 น. ศาลอาญานัดฟังคำพิพากษาในคดีของสิทธิโชค เศรษฐเศวต ไรเดอร์ส่งอาหารวัย 26 ปี ซึ่งถูกฟ้องในข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ, วางเพลิงเผาทรัพย์ผู้อื่น และทำให้เสียทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, 217 และ 358 พร้อมกับข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการถูกกล่าวหานำของเหลวคล้ายว่าเป็นน้ำมันไปฉีดพ่นใส่กองเพลิงที่ลุกไหม้อยู่บริเวณฐานพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 และพระราชินี บริเวณเกาะกลางถนนราชดำเนินนอก แยกผ่านฟ้าลีลาศ ระหว่างการชุมนุม #ม็อบ18กรกฎา2564
.
ในช่วงเช้าก่อนเริ่มการพิจารณา ที่ห้องพิจารณา 703 “สิทธิโชค” และญาติผู้มาให้กำลังใจ ได้เข้ามานั่งรอหน้าห้องพิจารณาคดี โดยมีทนายความ ผู้สังเกตการณ์คดีจาก iLaw และศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เข้าร่วมฟังคำพิพากษาด้วย
.
เวลา 09.45 น. ศาลออกนั่งพิจารณา และเริ่มอ่านคำพิพากษาโดยสรุปว่า คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยว่าจำเลยกระทำความผิดจริงหรือไม่ พิเคราะห์จากพยานหลักฐานแล้วเห็นว่า
.
ในความผิดฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทางพยานโจทก์ คือเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้เป็นประจักษ์พยาน เบิกความในทำนองเดียวกันว่า เห็นจำเลยอยู่ในที่เกิดเหตุจริง รวมถึงมีภาพกับคลิปวิดีโอเป็นหลักฐานยืนยัน พยานไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลย ศาลจึงเชื่อว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจเบิกความตามความเป็นจริง การที่จำเลยอยู่ในที่ชุมนุมขณะที่มีการประกาศบังคับใช้ข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จึงถือว่าเป็นความผิด
.
แม้จำเลยจะอ้างว่า ขณะนั้นตนกำลังทำหน้าที่รับส่งอาหารหน้าร้านแมคโดนัลด์ และแวะหยุดดูการชุมนุมของกลุ่มเยาวชนปลดแอก ไม่ได้เข้าร่วมการชุมนุมดังกล่าวแต่อย่างใด ศาลเห็นว่าคำเบิกความของจำเลย เป็นเพียงการเบิกความลอยๆ ไม่ปรากฎหลักฐานว่าจำเลยกำลังทำงานรับส่งอาหารตามที่กล่าวอ้าง
.
กรณีความผิดฐานวางเพลิงเผาทรัพย์ และมาตรา 112 พยานโจทก์ผู้เป็นประจักษ์พยาน เบิกความในทำนองเดียวกันว่า เห็นจำเลยบีบของเหลวสีม่วงใส่ผ้าประดับซุ้มฯ และไฟก็ลุกพรึบขึ้นมา รวมถึงมีภาพและคลิปวิดีโอเป็นหลักฐานยืนยันว่าจำเลยได้กระทำการดังกล่าวจริง
.
ตามข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์ที่โจทก์นำสืบรับฟังได้ว่า หากของเหลวดังกล่าวเป็นน้ำจริง ไฟจะไม่ลุกไหม้ขึ้นมา ศาลจึงเชื่อว่าของเหลวดังกล่าวเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงหรือวัตถุไวไฟบางชนิด แม้ผลจากกองตรวจพิสูจน์หลักฐานจะไม่ปรากฎว่าผ้าประดับซุ้มฯ มีคราบน้ำมันเชื้อเพลิงหรือวัตถุไวไฟ ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะการส่งตรวจพิสูจน์ล่าช้า ทำให้สารดังกล่าวระเหยออกไปหมด
.
การที่จำเลยเบิกความว่าต้องการช่วยดับไฟนั้น เป็นการเบิกความลอยๆ ไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานโจทก์ แม้ไฟจะไม่ได้ไหม้ลามไปถึงพระบรมฉายาลักษณ์ แต่การที่จำเลยบีบของเหลวใส่ฐานประดับที่มีไฟลุกไหม้อยู่แล้วนั้น ถือว่าจำเลยได้เล็งเห็นผลของการกระทำแล้วว่าไฟจะลุกลามไปถึงพระบรมฉายาลักษณ์ จึงถือว่าจำเลยเจตนาต้องการเผาพระบรมฉายาลักษณ์
.
ศาลวินิจฉัยต่อว่า พยานผู้เชี่ยวชาญของโจทก์ยังเบิกความว่าในทรรศนะของสังคมไทย พระบรมฉายาลักษณ์มีค่าเท่าตัวบุคคล มีไว้กราบไหว้และเป็นที่เคารพสักการะ ต้องเก็บรักษาและดูแลไม่ให้เสื่อมเสียเกียรติ ไม่ควรแสดงเสรีภาพที่เป็นปฎิปักษ์กับสถาบันพระมหากษัตริย์ เนื่องจากประเทศไทยปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิด
.
พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, มาตรา 217, มาตรา 358 และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ให้ลงโทษบทหนักสุด โดยลงโทษจำคุก 3 ปี ในความผิดตามมาตรา 112 และจำคุกอีก 6 เดือน ในฐานความผิดฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เนื่องจากให้การเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา จึงลดโทษให้ 1 ใน 3 คงเหลือโทษจำคุกรวม 2 ปี 4 เดือน
.
หลังฟังคำพิพากษาเสร็จสิ้นแล้ว ตำรวจศาลได้ใส่กุญแจมือสิทธิโชค และพาเขาลงไปรอที่ห้องเวรชี้ ขณะที่ทนายความยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว พร้อมขอวางเงินประกันตัวเพิ่มเติมจำนวน 100,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์
.
อย่างไรก็ตาม เวลา 12.27 น. ศาลอาญามีคำสั่งให้ส่งคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณา โดยศาลอุทธรณ์จะมีคำสั่งออกมาในอีก 2-3 วันข้างหน้า ในระหว่างนี้ สิทธิโชคจะถูกนำตัวไปคุมขังไว้ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ก่อน
.
สำหรับ “สิทธิโชค” เป็นไรเดอร์ประกอบอาชีพส่งอาหาร อายุ 26 ปี เขาต่อสู้คดีนี้ว่าเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2564 ระหว่างทำงานรับส่งอาหาร ได้ผ่านเข้าไปสังเกตการณ์ในการชุมนุมของ #เยาวชนปลดแอก บริเวณถนนราชดำเนินนอก เมื่อพบเห็นเหตุเพลิงไหม้ใต้ฐานซุ้มพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 และตนเองมีประสบการณ์ทำอาสาหน่วยกู้ภัยมาก่อน จึงเข้าไปช่วยดับเพลิงไหม้ดังกล่าว โดยใช้น้ำเปล่าที่ผสมกับน้ำโคล่าสีม่วง ไม่ได้เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงแต่อย่างใด โดยตัวเขาเองก็ไม่ทราบเช่นกันว่าบุคคลใดเป็นผู้ทำให้เกิดไฟลุกไหม้ โดยหลังเกิดเหตุพระบรมฉายาลักษณ์ไม่ได้รับความเสียหายแต่อย่างใด มีเพียงผ้าประดับซุ้มเฉลิมพระเกียรติที่ได้รับความเสียหาย
.
อ่านบนเว็บไซต์: https://tlhr2014.com/archives/52392