(ซ้าย) เรียม เพศยนาวิน นางสาวไทยประจำปี พ.ศ. ๒๔๘๒ พร้อมด้วยรองทั้ง ๔ คน, (ขวา) อาภัสรา หงสกุล นางงามจักรวาล ปี พ.ศ. ๒๕๐๘
พัฒนาการเวทีประกวด “นางงาม(ใน)ไทย” จากยุคใต้อำนาจรัฐ สู่การรับใช้นายทุน
ที่มา ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกุมภาพันธ์ 2553
ผู้เขียน กัญญ์วรา ศิริสมบูรณ์เวช
เผยแพร่ วันพุธที่ 26 ตุลาคม พ.ศ.2565
80 กว่าปีก่อน คนสยามแต่ละท้องถิ่นเริ่มรู้จัก “การประชันความงาม”
ไม่กี่ปีถัดมา รัฐบาลไทยจัดเวทีประกวดใหญ่ระดับประเทศครั้งแรก ปี พ.ศ. 2477
อีก 31 ปีให้หลัง (พ.ศ. 2508) ทั่วโลกร่วมชื่นชม “อาภัสรา หงสกุล” ผู้หญิงสวยที่สุดในจักรวาล
นับแต่อดีตถึงปัจจุบัน นางงามบ้านเราล้วนผ่านวิธีสรรหาด้วยรูปแบบใกล้เคียงกัน ทว่าการประกวดแต่ละสมัยย่อมมีบทบาทต่างกันออกไปตามบริบททางสังคม
การเสวนา “นางงามในความทรงจำ” ที่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรจัดขึ้น เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2552 โดยมีนักวิชาการด้านมานุษยวิทยาอย่าง ดร.เปี่ยมสุข เมนะเศวต ผศ.ดร. จุลนี เทียนไทย คุณประเสริฐ เจิมจุติธรรม แฟนพันธุ์แท้นางงาม และคุณนเรนทร์ ปัญญาภู ผู้เก็บรวบรวมภาพถ่ายเก่า นางงามลำพูน ร่วมถ่ายทอดความรู้ ซึ่งจะช่วยให้เห็นถึงหน้าที่ของเวทีความงามอันเปลี่ยนแปลงได้อย่างชัดเจน
ต้นกำเนิด “นางงามไทย” ในท้องถิ่น
คำบอกเล่าจากคุณนเรนทร์ที่ว่า นางสาวคำแว่น ไชยถวิล เป็นนางงามลำพูนคนแรก พ.ศ. 2472 แสดงให้เห็นถึงจุดเริ่มต้นแห่งการประชันสาวไทยอันถือกำเนิดในท้องถิ่น ก่อนเวทีระดับชาติภายใต้ชื่อ “นางสาวสยาม” จะเปิดฉากขึ้นถึง 5 ปี
ตำแหน่งนางงามประจำถิ่น ส่วนใหญ่ใช้วิธีการค้นหาผู้ประกวดแบบไม่ซับซ้อน เช่น กรณีประกวดแม่หญิงงาม “กุหลาบลำพูน” ที่คัดเลือกสาวทอผ้าจากโรงงานของบรรดาเจ้านายมาเก็บตัวเสริมให้สวยทั้งรูปร่างหน้าตาและกิริยาท่าทางเพื่อส่งเข้าประชันกัน ซึ่งช่วงนี้พี่เลี้ยงผู้ดูแลต่างเร่งสร้างกระแสนิยมในตัวนางงาม โดยเปิดให้ชาวบ้านเข้าชมการฝึกเดินอย่างใกล้ชิด จนรอบลานฝึกซ้อมแน่นขนัดราวกับมีงานวัดขนาดย่อมๆ
เมื่อถึงวันงาน หลังจากผ่านการเก็บตัวมาเป็นอย่างดี บนเวทีก็เต็มไปด้วยสาวสวยที่ไร้เครื่องสำอางปรุงแต่ง ขึ้นอวดโฉมในชุดท้องถิ่น เพื่อให้กรรมการวัดผลจากความงามตามธรรมชาติ ซึ่งการประกวดในแรกเริ่มนี้ได้กระแสตอบรับดีมาก จนกระทั่งบัตรค่าเข้าชมใบละ 25 สตางค์สามารถสร้างรายได้สูงถึง 8,000 บาท ให้แก่ทางกองประกวด
ส่วนรางวัลสำหรับผู้ชนะ นอกจากจะเป็นสิ่งของล้ำค่าขณะนั้น อาทิ ขันน้ำ พานรอง จักรยาน โต๊ะเครื่องแป้ง ฯลฯ ยังได้มีอนาคตที่ดีขึ้น ด้วยการได้นั่งขายผ้าทอในร้านผ้าชื่อดังประจำจังหวัด หรือหากว่างจากงานหลักมักได้รับเกียรติให้เป็นนางแบบขึ้นปกหนังสือคนเมือง สื่อสิ่งพิมพ์ชั้นนำทางภาคเหนือ รวมทั้งยามมีข้าราชการต่างเมืองมาเยือน สาวงามจะทำหน้าที่ต้อนรับขับสู้ และถ้ากิริยามารยาทเรียบร้อยประทับใจอาจได้ครองตำแหน่งคุณนายไม่ยาก
การปรากฏโฉมของนางงามบนหน้าปกหนังสือ หลังได้รับตำแหน่งชนะเลิศ
คุณนเรนทร์กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า “ผู้หญิงหลายคนพยายามดิ้นรนเข้ามาเป็นนางงามให้ได้ อย่างน้อยได้งาน ได้อนาคต ชื่อเสียง” ดังนั้นบทบาทเวทีนางงามยุคแรกจึงไม่ได้เพียงสร้างความบันเทิงหากยังช่วยขยับฐานะความเป็นอยู่ของผู้ชนะให้ดีขึ้นด้วย
เมื่อ “นางสาวไทย” อยู่ใต้อำนาจรัฐ
เวที “นางสาวสยาม” นางงามประจำชาติไทย เปิดฉากขึ้นครั้งแรกสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ท่ามกลางงานฉลองรัฐธรรมนูญ ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2477 ทิ้งช่วงเวลาจากการประกวดสาวงามระดับท้องถิ่นมาระยะหนึ่ง โดยมีกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้กำกับดูแล
คุณประเสริฐบอกเล่าถึงสาเหตุที่เวทีแห่งสาวงามได้รับการบรรจุอยู่ในงานทางการเมืองว่า เนื่องจากขณะนั้นชาวสยามยังไม่รู้จักการปกครองระบอบใหม่อย่างประชาธิปไตย รัฐจึงจัดงานให้ความรู้ใต้ชื่อ “รัฐธรรมนูญ” แต่ประชาชนยังคงเข้าร่วมงานกันบางตา จนกระทั่งต้องใช้การประชันความงามมาเป็นมาตรการดึงดูดคน ซึ่งให้ผลลัพธ์อันน่าพึงพอใจ
ขณะเวทีสาวงามระดับชาติย่างเข้าปีที่ 6 ประเทศ สยาม ได้เปลี่ยนชื่อนามเป็น ไทย ตามกำหนดในรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขครั้งที่ 1 ส่งผลให้ตำแหน่งนางสาวไทย มาแทนที่ นางสาวสยาม ไปโดยปริยาย แต่ทว่ารูปแบบหรือขั้นตอนต่างๆ ยังคงเดิม
นอกจากเวทีนางสาวไทยยุคแรกทำหน้าที่สร้างสีสันแก่งานรัฐธรรมนูญแล้ว ยังมีส่วนช่วยประชาสัมพันธ์นโยบายสร้างชาติของรัฐบาล เช่น การที่กำหนดให้สาวงามแต่งกายชุดราตรีสโมสรขึ้นประชันความงามในยุค “มาลานำไทย” ยุคแห่งการพัฒนาประเทศสู่สากล หรือบางปีมีคำสั่งให้เข้าประกวดด้วยชุดไทยสไบเฉียงแบบ “ชาตินิยม” ทั้งนี้ก็เพื่อหวังว่านางงามจะเป็นต้นแบบให้ประชาชนได้ปฏิบัติตาม
ดังนั้น แวดวงนางงามภายใต้รัฐบาลเป็นผู้ดูแลจึงมีบทบาทสำคัญต่อการสร้างสรรค์ประเทศ ทั้งทางการเมืองและทางสังคม ดั่งที่คุณประเสริฐกล่าวว่า “หลังการประกวดเสร็จสิ้น ใครมีความสามารถด้านใดก็ให้ไปทำงานด้านนั้น อย่าง สว่างจิตต์ คฤหานนท์ นางสาวไทยปี 2483 ขับรถเป็นก็ไปขับรถช่วยกาชาดหลังจากได้ตำแหน่ง หรือ เรียม เพศยนาวิน นางสาวไทยปี พ.ศ. 2482 นำถ้วยเงินไปขายมาช่วยบ้านเมืองที่กำลังประสบปัญหาขาดแคลนจากภาวะสงครามอินโดจีน ไม่ได้มุ่งเป็นดาราเหมือนในสมัยนี้”
ด้วยภาวะสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งรุกรานความสงบทั่วทุกประเทศ รวมทั้งในไทย ทางการจึงไม่อาจจัดงานประกวดได้อย่างต่อเนื่อง สุดท้ายจำต้องปิดฉากลงพร้อมกับการประกาศยกเลิกงานฉลองรัฐธรรมนูญปี 2497
บรรยากาศการเสวนา (จากซ้ายไปขวา) ดร.เปี่ยมสุข เมนะเศวต คุณประเสริฐ เจิมจุติธรรม คุณนเรนทร์ ปัญญาภู และ ผศ.ดร.จุลนี เทียนไทย
นางงามร้อยตำแหน่งแห่งยุคทุนนิยม
การปิดตำนานนางสาวไทยที่รัฐบาลเป็นผู้จัด ไม่ได้ทำให้แวดวงนางงามบ้านเราขาดตอน แม้ไม่มีเวทีประชันระดับชาติ แต่การประกวดยังดำเนินไปอย่างต่อเนื่องตามท้องถิ่นหรืองามเฉลิมวาระพิเศษต่างๆ ก่อนสมาคมนักเรียนเก่าวชิราวุธวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์จะรื้อฟื้นการชิงตำแหน่ง “นางสาวไทย” ขึ้นใหม่อีกครั้ง ปี พ.ศ. 2507
การเป็นสัญลักษณ์แห่งงานรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่หน้าที่สำคัญของนางสาวไทยอีกต่อไป เพราะวัตถุประสงค์หลักการจัดประกวดยุคนี้ คือเพื่อคัดเลือกตัวแทนเข้าแข่งขันบนเวทีโลก รวมทั้งรับภารกิจแนะนำความเป็นไทยออกสู่สายตานานาชาติ ซึ่งตัวแทนสาวงามอย่าง อาภัสรา หงสกุล และ ภรณ์ทิพย์ นาคหิรัฐกนก ก็ได้สร้างความภาคภูมิใจให้แก่บ้านเมืองด้วยการคว้าตำแหน่ง “ผู้หญิงสวยที่สุดในจักรวาล” มาครอง
ความสำเร็จของนางงามไทยบนเวทีโลก กอปรกับที่เอกชนได้เข้ามาดูแลการประกวด ส่งผลให้ปัจจุบันเกิดเวทีประชันแห่งใหม่มากมาย เพื่อค้นหาตัวแทนหนุ่มหล่อ สาวสวยประจำสินค้า ทั้งการชิงตำแหน่งนางงามนมเปรี้ยว นางงามน้ำเมา นางงามลิปสติค ฯลฯ หรือแม้แต่เวทีระดับชาติดั้งเดิมเองยังพลอยมีตำแหน่งต่างๆ เพิ่มขึ้น ไม่ว่านางงามผิวสวย นางงามผมสวย นางงามสุขภาพดี โดยตำแหน่งเหล่านี้ล้วนได้มาจากผู้สนับสนุนงานทั้งสิ้น
ดร. เปี่ยมสุขให้เหตุผลถึงกรณีนี้ว่า “ปัจจุบันเวทีนางงามเป็นเรื่องของนายทุน นักการตลาด ที่ต้องการขายของ การประกวดนางงามเกิดขึ้นเพราะเป็นช่องทางหนึ่งที่จะใช้ขายของ เวลาขายเขาจะไม่ขายกันตรงๆ มันพื้นๆ เกินไป จึงจัดการประกวดเพื่อสร้างกระแสนิยมขึ้นมา”
ไม่เพียงแต่บทบาทการประกวดเท่านั้นที่เปลี่ยนแปลงจากอดีต บรรยากาศของงานก็ต่างไปเช่นเดียวกัน เนื่องจากสมัยนี้เวทีส่วนใหญ่ สามงามมักต้องสวมชุดนุ่งน้อยห่มน้อยเดินประกวดเพื่ออวดสรีระอันสวยงามให้กรรมการพิจารณา บางงานผู้ชมปฏิบัติต่อพวกเธออย่างไม่ให้เกียรติ ด้วยการใช้วาจา ท่าทางโลมเลีย ขณะที่ยุคสมัยหนึ่งนางงามเคยมีคุณค่าสูงถึงกับใช้เป็นสัญลักษณ์ประจำงานยิ่งใหญ่อย่าง งานฉลองรัฐธรรมนูญ
กระแสนางงามร้อยมงกุฎจากร้อยเวทีประชาสัมพันธ์สินค้า อาจทำให้หลายคนอดหวนถึงบรรยากาศการประชันในอดีตไม่ได้ ทั้งความใสซื่อแบบหญิงลูกทุ่งยุคเริ่มแรก หรือความเข้มแข็งของนางสาวไทยสมัยดอกไม้ของชาติ
ภาพอันงดงามเหล่านี้คงย้อนกลับมาได้ไม่ยาก ถ้าเพียงแต่นางงาม ผู้จัดและผู้ชมจะไม่ใช้เวทีประกวดเป็นพื้นที่แสวงหาผลประโยชน์ให้แก่ตนจนมากเกินขอบเขตคำว่า “พอดี”
อ่านเพิ่มเติม :รู้จัก พิศมัย โชติวุฒิ “นางสาวสยาม” คนสุดท้ายของประเทศก่อนปรับเป็น “นางสาวไทย”
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 16 ธันวาคม 2561