วันจันทร์, มกราคม 16, 2566

“ไทยไม่ใช่ที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก” คุยกับ ‘พลอย’ ผู้ลี้ภัย ม.112 ที่อายุน้อยที่สุด - The Matter



“ไทยไม่ใช่ที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก” คุยกับ ‘พลอย’ ผู้ลี้ภัย ม.112 ที่อายุน้อยที่สุด

14 January 2023
Chonticha Taksinawet
The Matter

จากนักเรียน ม.4 ที่โดนคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพราะปราศรัย สู่เยาวชนผู้ลี้ภัย ม.112 ที่อายุน้อยที่สุด

ดูเป็นเส้นทางชีวิตที่ไม่ราบรื่นสักเท่าไหร่ สำหรับเยาวชนที่อายุยังไม่พ้น 18 ปี อย่าง พลอย–เบญจมาภรณ์ นิวาส นักกิจกรรมที่เคลื่อนไหวเรื่องสิทธิเด็ก การศึกษา ประชาธิปไตย และสถาบันกษัตริย์ หากยังจำกันได้ พลอยคือนักเรียนที่แสดงออกเชิงสัญลักษณ์เรื่องทรงผมกลางสยาม นักเรียนคนเดียวกันกับที่เคยโกนหัวหน้าเรือนจำเพื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้ผู้ต้องหาคดี ม.112

พลอยเป็นนักกิจกรรมตัวยง ออกมาเคลื่อนไหวตั้งแต่ยังอายุ 15 ด้วยฝันจะเห็นสังคมไทยดีขึ้น ซึ่งรางวัลที่เธอได้รับก็มีมากมาย ไม่ว่าจะคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน คดีดูหมิ่นเจ้าพนักงาน คดี พ.ร.บ.ความสะอาด และรางวัลที่หนักหน่วงที่สุด คือ คดี ม.112 ที่ได้มาจากการทำโพลเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นรางวัลที่ทำให้เธอต้องโบยบินจากบ้านเกิดไปต่างประเทศเป็นครั้งแรก และต้องฉลองวันเกิดวัย 18 ปีที่ต่างแดน

เนื่องในโอกาสวันเด็กแห่งชาติ The MATTER ขอชวนทุกคนรู้จักชีวิตของ พลอย อนาคตของชาติ และผู้ลี้ภัยทางการเมืองที่อายุน้อยที่สุด ไปด้วยกัน


ภาพแรกที่พลอยโพสต์บนโซเชียลมีเดีย หลังลี้ภัยถึงประเทศแคนาดาได้อย่างปลอดภัย

ตอนนี้เป็นยังไงบ้าง ทำอะไรอยู่ที่แคนาดา

ที่นี่อากาศกำลังหนาว แต่เมืองที่อยู่อุ่นที่สุดแล้วนะ ส่วนตอนนี้กำลังเรียนภาษาอังกฤษอยู่ ทางแคนาดาส่งให้ไปทดสอบภาษาอังกฤษ เพื่อเรียนภาษาอังกฤษ จากนั้นเราวางแผนจะทำงานเก็บเงิน เรียนมัธยมปลายต่อให้จบ เพราะตอนที่ออกมายังเรียนไม่จบด้วยซ้ำ และก็จะเข้ามหาวิทยาลัย

ส่วนสภาพความเป็นอยู่ตอนนี้ดีกว่าที่ไทยเยอะมาก เช่น เรื่องค่าแรง เพราะค่าแรงที่นี่มันเป็นค่าแรงที่สมเหตุสมผลกับค่าครองชีพ พอทำงาน เราก็มีเงินที่จะใช้จ่ายในแต่ละเดือนได้อย่างคล่องตัว พอมีเงินเก็บ และพอมีเงินออกไปทำกิจกรรมมากกว่าตอนอยู่ไทย เรามี work permit และเอกสารที่อนุญาตให้ทำงานแล้ว ก็เลยทำงานได้ แต่คิดว่าคงแบ่งเวลามาเรียนด้วย อย่างตอนนี้ก็หางานอยู่ กำลังเขียนเรซูเม่ และที่ผ่านมาเคยไปรับพาร์ทไทม์สั้นๆ บ้าง

ปรับตัวได้หรือยัง

พอปรับได้ แต่ว่ายังไม่ได้สุดๆ ยังปรับตัวได้ไม่เท่าคนที่อยู่มาปีนึง เพราะเราเพิ่งเข้ามาใหม่ เรายังไม่รู้ว่าคนที่นี่รวมกันช่องทางไหน ไม่รู้ว่าคนที่นี่เขาใช้ชีวิตกันยังไง หางานกันยังไง แต่ก็มีเรื่องที่กังวลอยู่ คือ เรามาใหม่ การเริ่มต้นใหม่เป็นอะไรที่ยากมากๆ ปรับตัวก็ไม่ง่าย ไม่ว่าจะเรื่องภาษาหรือเรื่องอะไร เราออกมาแบบไม่มีอะไรเลย ไม่มีเงินติดตัวสักบาท ภาษาอังกฤษก็พูดไม่ได้ ออกมาตัวเปล่าจริงๆ ต้องมาเริ่มใหม่ทั้งหมด ทั้งเรียนภาษา หาเพื่อน ตั้งตัว เพื่อที่จะเติบโตไปใช้ชีวิต และมีที่อยู่ที่ปลอดภัยได้ คือก็ยากสำหรับเด็กคนนึงที่ไม่รู้อะไรเลย เหมือนเราต้องโตเลยโดยที่ก็ไม่รู้ว่าควรต้องทำยังไง

แต่สิ่งที่ชอบในแคนาดาก็คือ เรารู้สึกว่าได้ใช้ชีวิตที่นี่ในฐานะมนุษย์คนนึงจริงๆ ไม่เหมือนตอนอยู่ไทยที่เราใช้ชีวิตเป็นตัวอะไรก็ไม่รู้ที่ไม่มีความฝัน ไม่มีอนาคต ไม่มีอะไรเลย ปลายทางมีแต่ติดคุก ติดคุก ติดคุก

เพิ่งมาอยู่ใหม่ๆ เจอ culture shock อะไรบ้างไหม

culture shock อันนึงคือ เราตกใจกับประเทศที่เจริญแล้ว เช่น ทางม้าลายมีสัญญาณให้กดข้าม แล้วรถก็หยุดให้คนข้ามถนน เรื่องเล็กๆ แค่นี้เราตกใจมาก เพราะสิ่งเหล่านี้มันไม่เกิดขึ้นที่ไทย มันแบบ เชี่ย รถที่นี่มันหยุดให้เราข้ามว่ะ ตอนแรกเราก็เผลอไปไหว้ขอบคุณเขา คนขับก็คงงงว่าเราจะไหว้ทำไม คือเราตกใจที่ทุกคนเข้าถึงรถเมล์ได้ รถเมล์เป็นระบบไฟฟ้า บ้านเมืองมีผังเมืองที่ดีและเดินง่าย น้ำดื่มได้จากก็อกน้ำ เพราะไม่เคยสัมผัสชีวิตประเทศที่เจริญแล้วมาก่อน

รู้สึกยังไงกับการได้ตำแหน่ง ‘ผู้ลี้ภัยทางการเมืองที่เด็กที่สุด’

เราเป็นผู้ลี้ภัยคนเดียวที่ยังเป็นเยาวชนอยู่ เราลี้ภัยตั้งแต่อายุ 17 จนมาฉลองวันเกิดอายุ 18 ที่ประเทศที่สาม ถึงจะได้มาแคนาดา เราเลยเป็นผู้ลี้ภัยที่อายุน้อยที่สุดในประเทศไทย มันก็รู้สึกว่า ประเทศนี้มันมาถึงจุดนี้ได้แล้วอะ จุดที่มีเด็กโดนยิงเสียชีวิตในม็อบ เด็กอายุ 14 โดนคดี ม.112 และเด็กอายุ 17 ที่ยังเรียนไม่จบ ม.ปลาย ต้องลี้ภัยออกนอกประเทศ ประเทศนี้ตกต่ำมาก เป็นประเทศเผด็จการที่สมควรถูกทั่วโลกประณาม

ฉลองวันเกิดอายุ 18 ปีตอนลี้ภัย? เล่าบรรยากาศให้ฟังหน่อย

เหี่ยวเฉามาก มันเหงาสุดๆ ตอนลี้ภัยอยู่กับเมลิญณ์แค่ 2 คน ตอนนั้นเป็นช่วงที่รอกระบวนการจาก UN อยู่ที่ประเทศที่สาม ซึ่งพออายุ 18 ปี กฎหมายประเทศนั้นอนุญาตให้ซื้อเบียร์กินได้แล้ว เราเลยฉลองด้วยการไปซื้อเบียร์มากินในวันเกิด แต่ก็เหงามาก เป็นวันเกิดที่จืดจางที่สุด ไม่มีเค้ก ไม่มีอะไรเลย ต่างจากตอนฉลองวันเกิดในไทยที่จะได้จะกินเค้กกับเพื่อน ฉลองกันในกลุ่มเล็กๆ ตอนนั้นเรารู้สึกเหงาและโดดเดี่ยว คิดแต่ว่า ‘เมื่อไหร่กูจะได้ออกไปจากที่นี่’ ‘เมื่อไหร่กูจะได้ใช้ชีวิตปกติสักที’

อะไรคือฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้ลี้ภัย

ฟางเส้นสุดท้าย คือ วันที่เราโดนออกหมายจับ ม.112 วันนั้นเป็นวันที่กำลังจะไปเที่ยวทะเลกับเพื่อน แต่ยังไม่ทันไปถึงทะเล ตำรวจก็มาดักจับเราตรงทางด่วน มาเคาะกระจกแล้วบอกว่าคนในรถมีหมายจับ จากนั้นทุกอย่างเกิดขึ้นไวมาก เราก็ตกใจ อยู่ในภาวะฟรีซไปเลย เพราะเป็นครั้งแรกที่โดน

พ่อแม่ของเราก็โดนคุกคามด้วย แม่จะโดนหนักหน่อย คือโดนส่งจดหมายไปขู่ถึงบ้าน พอหลังโดนหมายจับ ม.112 พ่อแม่ก็โดนทหารโทรหา โกหกว่ามาจากกระทรวงศึกษาธิการ ชื่ออาจารย์อะไรสักอย่าง บอกว่าอยากให้เรากลับไปเรียนในระบบ แต่พอพ่อถามบัตรเจ้าหน้าที่ เขาก็ไม่แสดงบัตร จนพ่อขอแอดไลน์ เราถึงได้เห็นจากโปร์ไฟล์ในไลน์ของเขา ว่าเขาเป็นทหารคนสนิทของพระองค์อะไรสักอย่าง

และเราก็รู้แน่ๆ ว่า พอพ้นอายุ 18 ไป เราคงติดคุก ซึ่งเราก็ไม่อยากจะติดคุกตั้งแต่อายุ 18-19 เพราะมันเป็นวัยที่ควรจะได้เรียนมหา’ลัย ได้ใช้ชีวิตกับเพื่อน เราไม่อยากเอาตัวเองไปติดคุก ไม่อยากสูญเสียชีวิตวัยรุ่นและช่วงเวลานั้นไป คือเราไม่อยากติดคุก เราอยากจะมีชีวิตที่ดีกว่านี้ ที่ประเทศนี้ให้เราไม่ได้

ระหว่างลี้ภัยเจออะไรบ้าง

เราออกจากไทยไปอยู่ลาวพักนึง ก็คุยกันว่าจะเอายังไงต่อ เพราะที่ลาวเองก็ไม่ปลอดภัย ระหว่างอยู่ที่ลาวก็โดนข่มขู่ เมลิญณ์ที่ไปด้วยกันโดนใครไม่รู้ส่งข้อความมาหาว่า ‘อยู่ที่ลาวอะ ไม่รอดนะ’ แล้วก็มีคืนนึงที่ระหว่างนอนในบ้านพัก เราได้ยินเสียงเหมือนคนเดินรอบๆ บ้านตอนกลางคืน และได้ยินเสียงหมาเห่า จนคืนนั้นไม่ได้นอนเลยทั้งคืน ก็เลยคุยกันว่าต้องรีบออกจากลาวให้เร็วที่สุด เลยเดินทางออกมาอยู่ประเทศที่สาม แล้วก็ติดต่อสถานทูตแคนาดาและเจ้าหน้าที่ UNHCR ใช้เวลาประมาณ 2 เดือนครึ่งกว่าจะได้มาอยู่แคนาดา

มันเป็น 2 เดือนครึ่งที่ ทรมาน สิ้นหวัง และมองไม่เห็นจุดหมายปลายทาง เป็นช่วงที่เราต้องใช้ชีวิตอยู่กับความกลัวทุกวัน และใช้ชีวิตแบบรอไปเรื่อยๆ ติดต่อเพื่อนก็ทำได้ไม่เต็มที่ ต้องแบกรับความรู้สึก พอแม่รู้แม่ก็เสียใจ เราเองก็เสียใจเหมือนกัน ยังไม่ได้ร่ำลาเพื่อนๆ ที่ไทยเลย เพราะจะออกก็บอกใครไม่ได้ เป็นความรู้สึกที่ยากมากๆ ตอนนั้นทุกอย่างมันแย่ไปหมดเลย สุขภาพจิตก็แย่

พอที่บ้านรู้ เขามีท่าทีอย่างไร


ก่อนหน้านี้ที่ออกมาเคลื่อนไหว เราหนีออกจากบ้าน เพราะว่ามีปัญหากับที่บ้าน ก็คือจบกันไม่ดี แตกหัก มีแค่แม่กับน้องที่ยังติดต่อกันบ้าง …พอแม่กับน้องรู้ เขาก็เสียใจ น้องเราก็ร้องไห้ แต่ตอนนี้ก็ติดต่อกันได้ปกติแล้ว ส่วนญาติคนอื่นก็คือปล่อย เราไม่ได้ติดต่อเลย มีรู้ข่าวบ้างว่าคนที่บ้านยังไม่เข้าใจว่าเราจะไปทำไม จะหนีทำไม จนป่านนี้เขาก็ยังไม่รู้ว่าเราโดนอะไร และสิ่งนี้มันส่งผลกระทบกับเขาหรือตัวเรายังไงบ้าง ทุกวันนี้เขาก็ยังโทษว่ามันเป็นความผิดของเราเองที่ออกไปเรียกร้อง เราถึงต้องหนี

ได้ยินมาว่า การลี้ภัยครั้งนี้คือการไปต่างประเทศครั้งแรก พลอยรู้สึกยังไงบ้าง

คือมันก็อดตื่นเต้นไม่ได้นะ แบบ ‘เย้! ฉันกำลังจะได้ไปต่างประเทศ’ แต่จริงๆ ก็คือ ไม่จ้า ลี้ภัยจ้า กลับประเทศไม่ได้แล้ว กลับบ้านไม่ได้แล้ว มันก็มีความรู้สึกตื่นเต้นและมีความหวังนะ เพราะขึ้นเครื่องบินครั้งแรก แต่ก็รู้สึกโหวงๆ เศร้าๆ เพราะรู้แก่ใจว่าเราไม่ได้ไปเที่ยว เราไปโดยไม่รู้ว่าจะไปตายที่ไหนรึเปล่า เราไปโดยที่เรารู้ว่า เราจะกลับไปเจอเพื่อนและครอบครัวไม่ได้อีกแล้ว


พลอยขณะอยู่บนเครื่องบิน

คิดตลอดเลยหรอ ว่าอาจจะตายระหว่างทางก็ได้

คิดอยู่ตลอด ตั้งแต่วันที่ออกมาทางน้ำโขงก็ระลึกเสมอว่าที่นี่เคยมีผู้ลี้ภัยเสียชีวิต เราคิดไปต่างๆ นานา เพราะก็เห็นว่าผู้ลี้ภัยคนก่อนหน้าก็มีทั้งคนที่รอดและไม่รอด เราเห็นมาตลอดว่ารัฐไทยน่ากลัวขนาดไหน และเราก็กำลังเผชิญกับมันอยู่ คือคิดอยู่ตลอดเวลาว่าเราอาจจะตายวันพรุ่งนี้ก็ได้ แต่สุดท้ายก็คือ มันจะตายก็ตายอะ คือพอถึงเวลาที่เราโดนอุ้มจริงๆ มันก็ทำอะไรไม่ได้แล้ว

แต่เราก็ไม่อยากตายที่ไทยไง เราไม่เห็นชีวิตบั้นปลายกับการถูกทำร้ายซ้ำๆ การต้องติดคุก และเสียอนาคตจากสิ่งที่เรารู้ว่ามันไม่ผิด แต่มันเป็นเพราะกฎหมายและสถาบันกษัตริย์ เราไม่อยากตายที่นี่ เราก็อยากจะปกป้องชีวิต ความฝัน และความเป็นเด็กของตัวเองให้ได้มากที่สุด

แปลว่า พลอยไม่เชื่อว่าศาลเยาวชนจะคุ้มครองสิทธิของเรา

โห ศาลเยาวชนนี่แหละตัวละเมิดสิทธิเลย ในการพิจารณาคดีเยาวชน ม.112 ก็ยังมีรูปสถาบันกษัตริย์ตั้งอยู่ด้านหลังผู้พิพากษาอยู่เลย ศาลเยาวชนคือนังตัวดีที่มองคดีการเมืองเป็นเหมือนคดีทั่วไปที่เด็กทำผิด เขาไม่ได้มองว่าคดีทางการเมืองเป็นคดีที่ควรพิจารณาเป็นพิเศษ เขามองว่าเราทำผิดจริงๆ ทั้งที่เรายังไม่ได้ทำผิดเลย และกระบวนการของศาลเยาวชนคือการเอาเด็กที่หลุดออกจากกรงของนักเรียนดี กลับเข้าไปให้เป็นเด็กเชื่องๆ มันพึ่งไม่ได้ และไม่เคยพึ่งพาได้เลย

ระหว่างอยู่ในแคนาดา ยังกลัวโดนคุกคามบ้างรึเปล่า

อยู่ที่นี่เรารู้สึกว่าชีวิตปลอดภัยขึ้นเยอะนะ เพราะต่อให้โดนคุกคามเราก็แจ้งตำรวจได้ และตำรวจเขาก็แสตนบายให้ความช่วยเหลือ 24 ชั่วโมงอยู่แล้ว แต่มันก็มีเรื่องฝังใจอยู่บ้าง เรามีภาวะนอนไม่หลับตอนกลางคืน ทุกๆ 3 ชั่วโมงจะต้องสะดุ้งตื่น เป็นอาการที่เกิดตั้งแต่ตอนโดนบุกจับ แล้วมันก็หนักขึ้นหลังจากช่วงนั้น เวลานอนเราก็กลัว ตอนอยู่ลาวก็นอนไม่หลับ ทุกวันนี้ก็ยังเป็นอยู่บ้าง

มองกลับไปตั้งแต่ออกมาเคลื่อนไหวตอนอายุ 15 จนปัจจุบัน รู้สึกอย่างไรบ้างที่ต้องผ่านอะไรมากมาย

เรื่องราวที่ผ่านมาทำให้เราโตขึ้นกว่าวัยมากๆ แต่นอกจากการโตขึ้น เราสูญเสียอะไรไปเยอะมาก สูญเสียทั้งการเรียน ความฝัน อนาคต และชีวิตวัยรุ่นที่เราควรจะได้ใช้อย่างปกติ ต้องออกมาเคลื่อนไหว มีบาดแผลกับความรุนแรงที่เจอทั้งจากครอบครัวและรัฐ อีกนัยนึงก็ทำให้รู้ว่า เราจะไม่โตไปเป็นผู้ใหญ่แบบที่เราเกลียด เพราะเรารู้ว่าการเป็นเด็กที่ต้องเจออะไรแบบนี้มันเป็นยังไง มันโดดเดี่ยวมากแค่ไหน

พลอยนิยาม ‘บ้าน’ ว่าอย่างไร

สำหรับเรา บ้านไม่จำเป็นต้องเป็นสถานที่ แต่มันคือ space ที่เรารู้สึกว่าอยู่แล้วปลอดภัย เป็นตัวเองจริงๆ เป็นสถานที่ที่เราอยู่แล้วมีคุณค่า เช่น การที่เราได้อยู่กับใครสักคนนึง อยู่กับเพื่อน หรือเซฟโซนของเรา บ้าน คือสถานที่ที่มีช่วงเวลาให้เราได้พัก มีช่วงเวลาให้เราได้เหนื่อย ได้อ่อนแอ ได้เยียวยาตัวเอง

แล้วประเทศไทยถือเป็นบ้านไหม

ไม่ ไม่เลย ประเทศไทยเหมือนขุมนรก ประเทศไทยไม่ใช่ที่ปลอดภัยสำหรับเด็กเลย ไม่ใช่พื้นที่ที่เด็กจะเติบโตขึ้นมาแบบมนุษย์ปกติของสังคมได้

เด็กเกิดมา ก็เลือกครอบครัวและสถานะทางสังคมไม่ได้ บางคนเกิดมาอยู่กับพ่อแม่ที่ไม่พร้อมจะมีลูก ไม่ได้อยากจะมีลูก หรือเป็นพ่อแม่ที่ทำดีกับลูกไม่ได้ นั่นก็คือนรกแล้ว แล้วยังต้องมาเจอระบบที่เฮงซวยอีก ทั้งครูในโรงเรียน การถูกบุลลี่ในโรงเรียน ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ก็คือนรกอีกแล้ว

นรกตั้งแต่พ่อแม่ ครอบครัว ยันระบบการศึกษา แล้วก็พอเขาโตขึ้นมา สังคมก็บีบให้เด็กต้องโตเพื่อเข้าไปเป็นแรงงานในระบบก่อนวัย และไม่ว่าจะเป็นความฝันหรืออะไรก็ตาม รัฐไม่ได้สนับสนุนตรงนั้นเลย เด็กต้องโตมากลายเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่มีรัฐสวัสดิการดูแลความฝัน ต้องโตมาใช้ชีวิตเป็นแรงงานทำงานไปวันๆ นี่คือนรกที่สุดแล้ว เป็นนรกตั้งแต่เกิดจนกระบวนการที่ทำให้เด็กเติบโต มันไม่ใช่พื้นที่ที่เรียกว่าบ้านหรือพื้นที่ปลอดภัยได้เลย

คิดถึงอะไรที่ไทยบ้าง

ไม่คิดถึงครอบครัว คิดถึงเพื่อนมากที่สุด คิดถึงกุ้งเผา อยากกินมันกุ้งคลุกข้าว ถ้าไม่ใช่เพื่อนกับอาหารก็ไม่มีอะไรที่คิดถึงเลย อ้อ คิดถึงแมวด้วย แต่เอามาด้วยไม่ได้ไงก็เลยฝากเพื่อนไว้ ตั้งใจว่าพอตั้งตัวได้แล้วค่อยเอาน้องมาอยู่กับเรา ให้เขามาอยู่ในประเทศที่ดีด้วย เขาจะได้เป็นแมวที่คุณภาพชีวิตดี


ภาพของเพื่อนสนิท คือสิ่งที่พลอยพกติดตัวไปด้วย

หากกลับไทยได้แบบไม่โดนคดีใดๆ จะยังกลับมาอยู่ไหม

ก็อยากกลับนะ แต่แค่อยากกลับไปเที่ยว คงจะไม่กลับไปอยู่อาศัยที่ไทยอีกแล้ว เพราะต่อให้กลับไปได้ แค่เดินอยู่บนถนนมันก็เห็นแต่ความเจ็บปวดแล้ว มีแต่ภาพจำที่เจ็บปวด ประเทศไทยกลายเป็นประเทศที่น่าเจ็บปวดสำหรับเราไปแล้ว

เราเคยมีหวังกับไทยนะ ช่วงที่ออกมาเคลื่อนไหวใหม่ๆ ก็คิดว่ามันคงจะเป็นรุ่นเราที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ แต่สุดท้ายก็เห็นว่า กองร้อยน้ำหวาน หรือตำรวจควบคุมฝูงชน (คฝ.) เขาก็อายุพอๆ กับเรา เขาก็เป็นนักเรียนที่เกิดปี 2000 ต้นๆ แก่กว่าเราเพียงไม่กี่ปี มันทำให้รู้ว่าเออ สุดท้ายแล้วกาลเวลาอาจไม่ได้อยู่ข้างเรา ถ้าเราเป็นเด็กที่เป็นสามกีบได้ มันก็มีเด็กที่โตมากลายเป็นตำรวจแย่ๆ และเป็นหนึ่งในเครื่องมือของรัฐได้เหมือนกัน เพราะโครงสร้างทางสังคมและระบบการศึกษามันผลิตให้คนไปเป็นแบบนั้น

พอพลอยประกาศว่าลี้ภัย ก็มีคนตั้งคำถามตามมาอีกมาก พลอยคิดเห็นยังไงบ้าง

รู้สึกดีใจที่ได้ออกมา เพราะถ้าเกิดยังอยู่และต้องใช้ชีวิตอยู่กับคนที่มีความคิดโจมตีผู้ลี้ภัย เราก็คงอยู่ไม่ได้ ขอยืนยันว่าการที่ลี้ภัย เราไม่ได้ทำผิดอะไร แล้วการที่เราออกมามันไม่ใช่ความผิดของเรา

มันไม่ใช่ชีวิตที่เราอยากจะเป็นเหมือนกัน ถ้าเลือกได้เราก็คงไม่อยากออกไป ถ้าเลือกที่จะมีชีวิตปลอดภัยในไทยได้เราก็คงจะอยู่ต่อ แต่นี่เราไม่มีอะไรเลย เรายังยืนยันว่าสิ่งที่เราทำไม่ใช่เรื่องที่ผิด เราไม่ได้ตั้งใจจะเป็นและไม่ได้อยากจะเป็นผู้ลี้ภัย ถ้าใช้ชีวิตปกติได้ เราก็อยากจะนั่งเครื่องบินออกมาอย่างปกติ เพื่อออกมาใช้ชีวิตแบบปกติ

ถ้าเลือกได้ เราก็ไม่ได้อยากจะเสี่ยงตายลี้ภัยออกมาหรอก เราไม่ได้อยากออกอยู่แล้ว เราก็อยากจะอยู่กับเพื่อน แต่ในวันที่เราอาจจะตาย สุดท้ายก็เป็นเราที่โดนฆ่าอยู่คนเดียว

และในวันที่ความฝันของเราไม่เหลือใครคอยปกป้องแล้ว เราก็อยากที่จะออกมาปกป้องมันเอง

ใน 1 ปีข้างหน้า และในอีก 10 ปีข้างหน้า พลอย–เบญจมาภรณ์ จะเป็นคนแบบไหน

ปีหน้าคิดว่า คงมีที่อยู่ที่เป็นหลักแหล่งมากขึ้น ได้เรียนมหาวิทยาลัย เข้าเรียนคณะที่อยากเข้า และได้ทำอาชีพที่อยากทำ เช่น เราอยากเป็นบาร์เทนเดอร์ด้วย ปีหน้าก็อายุถึงที่น่าจะทำได้แล้ว

ส่วนอีก 10 ปีข้างหน้า เราอยากทำสำนักพิมพ์ อยากทำ 2 งาน คืออยากเป็น art-director และอยากทำสำนักพิมพ์ เราอยากเป็นคนที่ผลักดันวงการนิยายและวงการสร้างสรรค์ของไทย เช่น เราทำสำนักพิมพ์แล้วนำเข้านิยายไทยมาแปลแล้วพิมพ์ขาย อย่างน้อยคือจะได้มีคนเห็นงานของคนไทยเยอะขึ้น อยากสนับสนุนวงการนิยายไทยให้มันดีขึ้น

ความฝันพวกนี้ไม่มีวันทำในไทยได้ เพราะรัฐไทยไม่ได้สนับสนุนวงการสื่อสิ่งพิมพ์ คนไทยเขาอยากอ่านหนังสือกันนะ แต่ค่าหนังสือมันแพงมาก สวนกับค่าแรง เช่น ค่าแรง 300 แต่ค่าหนังสือ 450 และการเป็นนักเขียนในไทยก็โดนปิดกั้นโดยรัฐอีกอะ คือคุณจะเขียนวิจารณ์เจ้าก็โดนจับ หรือว่าเขียนหนังสือกระแสรอง ก็ไม่มีคนอ่าน

คิดยังไงกับประโยคที่บอกว่า ‘เด็กคืออนาคตของชาติ’

ส่วนตัวเราคิดว่าเป็นประโยคที่ผู้ใหญ่ผลักภาระความคาดหวังมาให้กับเด็ก เราไม่เห็นด้วยกับประโยคนี้เท่าไหร่ เคยล้อตอนปราศรัยด้วยว่า ‘ชาติจะไม่มีอนาคต ถ้าเกิดว่ารัฐยังไม่หยุดทำลายอนาคตของชาติ’

ประโยคนี้มันคือการตั้งความคาดหวังให้กับเด็ก ว่าเด็กจะต้องไปเป็นแรงงานที่ดีในอนาคต ทำให้ประเทศชาติมีอนาคต ทั้งที่จริงๆ แล้วคือ เด็กก็ควรจะได้รับการสนับสนุนและใช้ชีวิตในเส้นทางของเขาเอง ไม่ต้องมีความฝันที่ยิ่งใหญ่ก็ได้ แต่ได้ใช้ชีวิตในแบบที่เขาต้องการและออกแบบเอง มันควรจะเป็นแบบนั้น

อยากให้สังคมไทยเคารพสิทธิเด็ก เด็กมีสิทธิที่จะได้ใช้ชีวิตอย่างปลอดภัย ได้รับการศึกษาที่ดี ได้มีส่วนร่วมในการแสดงออกโดยไม่โดนปิดกั้น อยากให้คนตระหนักเรื่องสิทธิเด็กมากกว่านี้ อยากให้เด็กเกิดมาจากความตั้งใจจริงๆ มีครอบครัวที่พร้อม ได้รับการศึกษาดีๆ มีชีวิตที่ปลอดภัย และมีคุณภาพชีวิตที่ดี ไม่อยากให้สังคมตัดสิน สั่งสอน และตีตราตัวตนของเด็ก

อยากให้ช่วยมองว่าเด็กก็คือมนุษย์ ไม่ใช่ความคาดหวัง และไม่ใช่เครื่องจักรที่จะใช้ทำงานให้ใคร