วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 03, 2565

เมื่อคิดว่าวิจารณ์แปลว่าด่า - เรื่องความคับแคบทางหัวใจของผู้เป็นครูและผู้สร้างสรรค์งานศิลปะที่ฟ้องร้องดำเนินคดีกับนักวิจารณ์ศิลปะที่วิจารณ์ ผลงานของตนผ่านเนื้อหาในบทความ


The Voters
20h

"การฟ้องร้องดำเนินคดีนักวิจารณ์ศิลปะโดยนักวิชาการที่เป็นศิลปินเอง เป็นภาพสะท้อนของ การกระทำที่คับแคบทั้งทางหัวใจของผู้เป็นครูและผู้สร้างสรรค์งานศิลปะ" (บางส่วนเนื้อหาจากแถลงการณ์)
.
สืบเนื่องจากการที่อดีตรองคณบดีสถาบันการศึกษาด้านวิจิตรศิลป์ในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ผู้เป็นนักวิชาการด้านศิลปะและเป็นศิลปินเผยแพร่งานศิลปะอย่างเป็นสาธารณะได้ฟ้องร้องดำเนินคดีต่อนักวิจารณ์ศิลปะที่วิจารณ์ ผลงานของท่านเองผ่านเนื้อหาในบทความ
.
'สมบัติชาติหรือสมบัติใคร ภาษีเรา รัฐเอาไปเปย์งานศิลป์อะไรเนี่ยถามจริ๊ง'
.
อ่านบทความดังกล่าวได้ที่ https://waymagazine.org/my-tax-and-contemporary-art/
.
กลุ่มนักวิชาการ ศิลปิน และผู้ปฏิบัติงานทางวัฒนธรรม ผู้เกี่ยวข้องกับการศึกษาด้านศิลปะและวัฒนธรรมการวิจารณ์ มีความเห็นบางส่วนว่า
.
เป็นการปฏิเสธหนทางแห่งวัฒนธรรม การวิจารณ์ตามเส้นทางของอารยชน และขัดต่อแนวทางแผนพัฒนาการศึกษาของมหาวิทยาลัย ในการสร้างความเป็นเลิศทางด้านการวิจัยและวิชาการ ซึ่งจำเป็นต้องมีรากฐานของวัฒนธรรมการวิจารณ์ที่เข้มแข็ง และนำไปสู่การมีอำนาจทางวัฒนธรรมในแบบซอฟท์พาวเวอร์ (soft power) ของชาติ
.
ท่านที่เห็นด้วย สามารถเข้าไปอ่านเหตุผลเต็มๆ และร่วมลงชื่อสนับสนุน 'แถลงการณ์ : เสรีภาพกับวัฒนธรรมในการวิจารณ์งานศิลปะ และจรรยาบรรณความเป็นครู' ได้ที่ https://chng.it/t7XhbQS9 
.....
ขอเชิญ ' ผู้ทำงานด้านความคิดสร้างสรรค์ ' ร่วมลงชื่อสนับสนุนแถลงการณ์โดยกลุ่มนักปฏิบัติการและนักวิชาการด้านวัฒนธรรมเพื่อประชาธิปไตย (นวป.) อันมีเนื้อหาดังนี้
เรื่อง

" การวิจารณ์งานศิลปะเป็นเสรีภาพขั้นพื้นฐานและเป็นประโยชน์สาธารณะ

ศิลปินต้องน้อมรับวัฒนธรรมการวิจารณ์

อาจารย์มหาวิทยาลัยต้องมีจรรยาบรรณความเป็นครู "

สืบเนื่องจากการที่อดีตรองคณบดีสถาบันการศึกษาด้านวิจิตรศิลป์ในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ผู้เป็นนักวิชาการด้านศิลปะและเป็นศิลปินเผยแพร่งานศิลปะอย่างเป็นสาธารณะได้ฟ้องร้องดำเนินคดีต่อนักวิจารณ์ศิลปะที่วิจารณ์ ผลงานของท่านเองผ่านเนื้อหาในบทความ

" สมบัติชาติหรือสมบัติใคร ภาษีเรา รัฐเอาไปเปย์งานศิลป์อะไรเนี่ยถามจริ๊ง "

(อ่านบทความดังกล่าวได้ที่ https://waymagazine.org/my-tax-and-contemporary-art/)

ในนามของกลุ่มนักวิชาการ ศิลปิน และผู้ปฏิบัติงานทางวัฒนธรรม ผู้เกี่ยวข้องกับการศึกษาด้านศิลปะและวัฒนธรรมการวิจารณ์ มีความเห็นต่อกรณีนี้ ดังต่อไปนี้

ประการแรก ในทางสากล วัฒนธรรมการวิจารณ์เป็นพื้นฐานของการคิดและการสร้างสรรค์ทางศิลปะ การวิจารณ์ถือเป็นหัวใจสำคัญของการส่งเสริมให้ศิลปะงอกงามอย่างสอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรม การทำงานของนักเขียนทางศิลปะจึงเป็นดั่งการจุดไฟทางปัญญาให้สาธารณะชนได้ขบคิดต่อ ความเปลี่ยนแปลง เป็นการสร้างพลเมืองผู้ตื่นรู้ (active citizen)

ไม่ว่าศิลปินจะมีความชำนาญหรือประสบการณ์ยาวนานเพียงใดก็ยังอาจมีบกพร่องที่มิอาจเห็นความผิดพลาด หรืออ่อนด้อยของตนเอง จึงเป็นหน้าที่ของนักวิจารณ์ศิลปะที่จะเข้ามาเติมเต็มช่องว่างและข้อบกพร่องอันพึงมี ของปุถุชน เพื่อทำให้ศิลปินได้ตระหนักและพัฒนาผลงานของตนเอง การใช้ถ้อยคำและภาษาจึงมุ่งหวังเพื่อให้ ตัวศิลปินได้สำเหนียกในประเด็นนี้ อีกทั้งในการวิจารณ์ย่อมต้องสร้างเสริมอารมณ์ ชักจูงใจให้คล้อยตามถึงข้อดี ข้อด้อย ข้อล้าหลังในตัวผลงานของศิลปิน ซึ่งเป็นธรรมชาติของการวิจารณ์ในระดับสากล ที่อาจมีระดับของ การใช้ถ้อยคำที่ชวนให้ขบคิดหรือท้าทาย หรือกระทั่งทักท้วงถึงบทบาททางสังคม ทางวิชาการ ตลอดจนตัวผลงาน ของศิลปิน ด้วยเหตุนี้ ย่อมเป็นเรื่องปกติธรรมดาของแวดวงศิลปะในระดับสากล หรือกระทั่งในประเทศไทย ที่ผ่านมาซึ่งไม่เคยมีการฟ้องร้องนักวิจารณ์ศิลปะมาก่อนเลย

นอกจากนี้ ในฐานะที่ผู้สร้างสรรค์ผลงานเองยังเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย เป็นนักวิชาการที่ทรงภูมิความรู้ และผ่านการอบรมขัดเกลาด้านศิลปะ ก็ย่อมรู้ว่าเมื่อศิลปินสร้างสรรค์ผลงานแล้ว ย่อมเป็นหน้าที่ของสาธารณชนที่จะเป็นผู้ตัดสินว่าผลงานของศิลปิน ก้าวหน้า ล้าหลัง หรือไม่พัฒนาในประเด็นใด อีกทั้งยังต้องพิจารณาอีกด้วยว่า เมื่อศิลปินรับเอาเงินทุนจากงบประมาณของชาติอันเป็นเงินภาษีของประชาชนแล้ว สังคมยิ่งต้องเข้ามาตรวจสอบ และมีสิทธิท้วงติง ตั้งคำถามต่อศิลปินและตัวผลงานที่ใช้เงินภาษีอากรของรัฐ

ยิ่งไปกว่านั้น ในฐานะของอาจารย์ในสถานศึกษาขั้นอุดมศึกษา ย่อมต้องมีสัญชาตญาณในการให้อภัย มากกว่าทำลายล้าง และไม่ถือโกรธเมื่อถูกวิจารณ์ อันเป็นวิสัยของบัณฑิตผู้ทรงธรรมและมีเมตตา หาใช่การแสดง อาการโกรธเกรี้ยวและกลั่นแกล้งต่อผู้วิจารณ์โดยสุจริต ดังที่เกิดกรณีการฟ้องร้องนักวิจารณ์ศิลปะในขณะนี้

ประการที่สอง บทความวิจารณ์ในกรณีที่กล่าวถึงนี้ ได้เผยแพร่ผ่านช่องทางออนไลน์ในเว็ปไซต์นิตยสาร www.waymagazine.org ซึ่งมีเนื้อหาหนักแน่น สร้างสรรค์ และมีบรรณาธิการผู้เป็นที่ยอมรับใน สังคมไทยมานานกว่าทศวรรษ ถึงแม้จะไม่ใช่สื่อเผยแพร่ทางวิชาการ แต่ก็เข้าถึงสาธารณชนในวงกว้าง และส่งผลสะเทือนมากกว่าวารสารวิชาการ ในแง่นี้ การฟ้องร้องนักวิจารณ์ศิลปะในสื่อยอดนิยม ที่กลั่นกรองคุณภาพของเนื้อหาและความเหมาะสมของประเด็นนำเสนอเป็นที่เรียบร้อยแล้วจากกองบรรณาธิการ ย่อมไม่เป็นผลดีต่อสถานศึกษาขั้นสูงในภาพรวม ที่มีบุคลากรบางส่วนมีพฤติการณ์ปิดกั้นหรือหลีกเลี่ยง ไม่ยอมรับการวิจารณ์อย่างเป็นสาธารณะในนิตยสารดังกล่าว

การฟ้องในกรณีนี้จึงสมควรถูกตั้งคำถามจากสาธารณชน ถึงความสมเหตุสมผลทั้งในแง่มโนธรรม สำนึกของครูและผู้ปฏิบัติการทางศิลปะหรือศิลปิน เพราะผู้ฟ้องร้องอยู่ในฐานะบุคลากรด้านการศึกษาและ คนทำงานศิลปะ เขาเองย่อมต้องพึงตระหนักว่า การวิจารณ์เป็นหน่อเกิดทางปัญญาและผู้เป็นอาจารย์ย่อม ต้องมีหัวใจอันเปิดกว้างที่จะยอมรับคำวิพากษ์วิจารณ์ ทั้งยังต้องเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ลูกศิษย์ด้าน ความหนักแน่น และสนทนาตอบโต้อย่างสร้างสรรค์ อาทิ การเขียนบทความทางวิชาการชี้แจง การจัดอภิปรายถึงทิศทางของศิลปะ หรือการผลิตงานทางศิลปะชิ้นใหม่ขึ้นมาเพื่อยืนยันสถานะทางความคิดของตน แทนที่จะฟ้องร้องดำเนินคดี

การฟ้องร้องดำเนินคดีนักวิจารณ์ศิลปะโดยนักวิชาการที่เป็นศิลปินเอง จึงเป็นภาพสะท้อนของ การกระทำที่คับแคบทั้งทางหัวใจของผู้เป็นครูและผู้สร้างสรรค์งานศิลปะ ทั้งยังปฏิเสธหนทางแห่งวัฒนธรรม การวิจารณ์ตามเส้นทางของอารยชน และขัดต่อแนวทางแผนพัฒนาการศึกษาของมหาวิทยาลัย ในการสร้างความเป็นเลิศทางด้านการวิจัยและวิชาการ ซึ่งจำเป็นต้องมีรากฐานของวัฒนธรรมการวิจารณ์ที่เข้มแข็ง และนำไปสู่การมีอำนาจทางวัฒนธรรมในแบบซอฟท์พาวเวอร์ (soft power) ของชาติ

ประการที่สาม การฟ้องร้องในกรณีนี้กระทำโดยผู้ที่เคยดำรงตำแหน่งผู้บริหารของคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง การกระทำดังกล่าวมีผลต่อภาพลักษณ์ของสถาบันด้านวิจิตรศิลป์ในฐานะสถาบันทางศิลปะ ซึ่งเป็นที่ยอมรับมาอย่างยาวนาน มีศิษย์เก่าที่มีชื่อเสียงในฐานะศิลปินและนักวิชาการทั้งในระดับชาติ และนานาชาติ ทั้งยังกลายเป็นอุปสรรคสำคัญที่จะทำให้สถาบันแห่งนั้นยกระดับไปสู่มาตรฐาน อันเป็นสากลและเป้าหมายในการพัฒนาอย่างยั่งยืนของมหาวิทยาลัย เนื่องจากปฏิกิริยาต่อการวิจารณ์ โดยสุจริตใจที่มีต่อนักวิชาการท่านนั้น ขัดแย้งกับท่าทีที่เป็นปทัสถานทั้งของวงวิชาการ วงการศิลปะ ไม่เป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่ศิษย์ ไม่เป็นสากล และไม่สะท้อนมาตรฐานของการเป็นนักวิชาการ ในสถานศึกษาชั้นสูงที่พึงปฏิบัติต่อผู้วิจารณ์โดยสุจริตใจ

ประการที่สี่ การฟ้องร้องคดีนี้เสมือนจงใจก่อให้เกิดภาระแก่ผู้ถูกฟ้องร้อง เนื่องจากเป็น การฟ้องร้องในพื้นที่ห่างไกลจากสถาบันการศึกษาที่ผู้ฟ้องร้องสังกัดอยู่ และยังห่างไกลจากกรุงเทพมหานคร นับเป็นการสร้างภาระให้กับผู้ถูกฟ้องโดยไม่จำเป็น ส่อให้เห็นเจตนาที่จะกดดันให้ผู้ถูกฟ้อง ร้องยอมจำนนต่อเงื่อนไขการเดินทาง ต้นทุนการเดินทาง และภาระทางกฎหมายอื่นๆ ทำให้ผู้ถูกฟ้องได้รับ ผลกระทบทางจิตใจอย่างแสนสาหัส และมีค่าใช้จ่ายในการรับภาระทางกฎหมายอย่างมาก ซึ่งผิดวิสัยครูบาอาจารย์ที่พึงมีใจเป็นธรรมและมีใจกว้าง พฤติการณ์ของผู้ฟ้องร้องตรงข้าม กับจรรยาบรรณาครูและจริยธรรมที่พึงมี ที่พึงเมตตาต่อผู้อื่น ส่งผลต่อภาพลักษณ์ของ คณาจารย์ใน สถาบันอุดมศึกษา ทั้งของสถาบันที่ผู้ฟ้องร้องสังกัดโดยตรงและสถาบันอุดมศึกษาโดยรวม

ข้าพเจ้าผู้มีนามข้างท้ายจดหมายนี้ (ในที่นี้หมายถึงชื่อของท่านจะถูกรวมอยู่ในรายชื่อผู้ลงชื่อสนับสนุนแถลงการณ์ฉบับนี้) ขอเรียกร้องให้สาธารณชนยืนยันในเสรีภาพการแสดงความเห็นต่อ ผลงานศิลปะและผลงานวิชาการที่นำเสนอต่อสาธารณะ ผลงานศิลปะและผลงานวิชาการที่เผยแพร่ต่อสาธารณะ ย่อมเป็นผลงานที่สามารถถูกตรวจสอบ ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ติชมได้เสมอ เพื่อประโยชน์สาธารณะและ เพื่อการเพิ่มพูนสติปัญญาแก่สาธารณชน

นอกจากนั้น พวกเรายังมีความเคลือบแคลงสงสัยต่อจรรยาบรรณทางวิชาชีพทั้งในฐานะ นักวิชาการและผู้ปฏิบัติงานด้านศิลปะ อีกทั้งเรียกร้องให้ผู้บริหารสถาบันการศึกษาที่ผู้ฟ้องร้องในกรณีนี้สังกัดอยู่ ได้ตรวจสอบไต่สวนข้อเท็จจริง และลงโทษว่ากล่าวตักเตือนในการกระทำที่ไม่เหมาะสมในฐานะอาจารย์ และผู้ผลิตงานทางศิลปะของมหาวิทยาลัย ทั้งนี้ก็เพื่อการส่งเสริมบรรยากาศของการเรียนรู้และการวิพากษ์วิจารณ์ อย่างสร้างสรรค์ในสถาบันอุดมศึกษาทั้งแห่งนั้นเองและของประเทศไทยโดยรวม รวมไปถึงการรักษาไว้ซึ่ง ความร่วมมือที่เกื้อกูลหนุนเสริมกันระหว่างสถาบันอุดมศึกษากับสาธารณะต่อไปในอนาคต

ขอแสดงความนับถือ