วันศุกร์, พฤศจิกายน 11, 2565

ทัศนัย เศรษฐเสรี : “ผมพร้อมต่อสู้คดีจนถึงที่สุด หรือสามโลก ก็ได้” การต่อสู้ของอาจารย์ศิลปะ มช. "เพื่อเสรีภาพของนักศึกษา"


เมื่อ 8 ชั่วโมงที่แล้ว
นราธร เนตรากูล
ผู้สื่อข่าวพิเศษบีบีซีไทย

ทัศนัย เศรษฐเสรี อาจารย์ภาควิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ ม.เชียงใหม่ พร้อมกลุ่มผู้ถูกตั้งข้อกล่าวหา กรณี “บุกรุกหอศิลป์ตัดโซ่” เมื่อปี 2564 ยื่นหนังสือต่ออธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตำหนิที่มหาวิทยาลัยฟ้องอาจารย์และนักศึกษาของตัวเอง

วันนี้ (10 พ.ย.) ทัศนัย เศรษฐเสรี และศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ อาจารย์คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พร้อมด้วย ยศสุนทร รัตตประดิษฐ์ นักศึกษาคณะวิจิตรศิลป์ เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าว ที่ สภ.ภูพิงคราชนิเวศน์ จ.เชียงใหม่ จากกรณีที่ อัศวิณีย์ หวานจริง อดีตคณบดีคณะวิจิตรศิลป์ แจ้งความว่าทั้ง 3 คน บุกเข้าไ ในคดีร่วมกันบุกรุกเข้าไปในหอนิทรรศการศิลปะวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และคดีร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ เมื่อปี 2564

เวลาประมาณ 13.00 น. ทั้ง 3 คนมารายงานตัวที่สถานีตำรวจ พร้อมกับมีป้ายข้อความของผู้สนับสนุนที่มาแสดงจุดยืน อาทิ “หากไร้ซึ่งเสรีภาพจะมีศิลปะไว้ทำไม” และ “ศิลปะสั้น คดียืดยาว” พร้อมเกิดเหตุชุลมุนระหว่างผู้ร่วมชุมนุมกับตำรวจ ส่งผลให้นักศึกษาได้รับบาดเจ็บ 1 ราย ทั้งนี้ พนักงานสอบสวนได้นัดให้มารับฟังผลการติดตามข้อกล่าวหาในวันที่ 13 ธ.ค. เพื่อรับฟังถึงผลการดำเนินคดีต่อไป

ทัศนัย ได้แสดงถึงความผิดหวังต่อมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยระบุว่า ไม่ควรเกิดเหตุการณ์แจ้งข้อกล่าวหาดังกล่าวขึ้น และรู้สึกผิดหวังที่อาจารย์แจ้งจับนักศึกษาในมหาวิทยาลัย เพื่อเสรีภาพทางวิชาการ และมหาวิทยาลัยไม่ควรฟ้องคดีความที่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอน และเป็นการจัดนิทรรศการของนักศึกษาในมหาวิทยาลัยเอง

“เหมือนกับเราจัดห้องสอบ แล้วมีคนไม่ให้นักศึกษาเข้าไปในห้องสอบ ไม่ให้นักศึกษาส่งเกรด แล้วเราควรทำอย่างไร เรื่องแบบนี้ไม่ควรเกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยไหน ๆ ในโลก เป็นเรื่องที่น่าอายมาก ๆ” ทัศนัย กล่าว

คดีบุกรุกหอศิลป์ตัดโซ่

วันที่ 16 ต.ค. 2564 นักศึกษาสาขาวิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ (Media Arts and Design) คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้จัดผลงานศิลปะนิพนธ์ “Whiplash” ของนักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะวิจิตรศิลป์ มีกำหนดการแสดงในวันที่ 18 ต.ค. และนักศึกษาต้องนำงานผลงานเข้าติดตั้งจัดแสดงในพื้นที่ภายในวันที่16 ต.ค. ตามกำหนดการเดิมที่เคยขออนุญาตใช้พื้นที่

ทางหอศิลป์ฯ แจ้งกลับมาว่า ตารางการจัดกิจกรรมว่างตั้งแต่ต้นเดือน ต.ค. ถึง 25 ต.ค. 2564 แต่ทางผู้บริหารคณะวิจิตรศิลป์กลับยังไม่อนุมัติการใช้พื้นที่ โดยอ้างว่าผลงานของนักศึกษามีประเด็นเกี่ยวข้องกับการเมือง


เหตุการณ์เมื่อปี 2564

คณะอาจารย์ที่เห็นด้วยต่อข้อเสนอของนักศึกษา นำโดย ทัศนัย เศรษฐเสรี อาจารย์คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ นิธิ เอียวศรีวงศ์ อดีตอาจารย์คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตัดสินใจเข้ายึดพื้นที่บริเวณ หอศิลป์ฯ มช. โดยนักศึกษาได้ใช้เครื่องมือตัดโซ่คล้องกุญแจ หลังจากทางมหาวิทยาลัยล็อกประตูหอศิลป์ฯ มช. และไม่อนุญาตให้นำผลงานของนักศึกษาที่เกี่ยวข้องกับการเมืองเข้าจัดแสดงในพื้นที่

นักศึกษาผู้ “ตกใจและผิดหวัง”

ยศสุนทร รัตตประดิษฐ์ นักศึกษาผู้ถูกตั้งข้อกล่าวหา เผยว่า ในครั้งแรก รู้สึกตกใจ พร้อมรู้สึกผิดหวังกับการที่จะต้องมาถูกดำเนินคดี

เขาเผยว่า การกระทำครั้งนั้นเป็นเพียงการส่งงาน อีกทั้งยังเป็นการปิดกั้นถึงการแสดงออกของนักศึกษา และพื้นที่นั้นยังเป็นพื้นที่แสดงผลงานวิทยานิพนธ์ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการสอบและสำเร็จการศึกษา

ขณะที่ วัชรภัทร ธรรมจักร์ อดีตนักศึกษา และนายกสโมสรนักศึกษา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เผยว่า กรณีที่เกิดขึ้น เป็นกรณีที่น่าเศร้า และน่าอาย เนื่องจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่แสดงออกในเชิงปิดกั้นสิทธิการเสนอผลงานของนักศึกษา


ศิลปะสั้น คดียืดยาว

ช่วงบ่ายวันที่ 10 พ.ย. กลุ่มผู้ร่วมชุมนุม พร้อม ทัศนัย ศรยุทธ​ และยศสุนทร กลุ่มบุคคลถูกตั้งข้อกล่าวหา เดินขบวนจาก สภ.ภูพิงคราชนิเวศน์ ไปยังตึกสำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อยื่นหนังสือทวงถามถึงบทบาทของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถึงกรณีการแจ้งข้อกล่าวหา

รายละเอียดของหนังสือที่ทางกลุ่มของทัศนัยยื่นต่ออธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่นั้น มีใจความว่า

เหตุการณ์ที่ทั้ง 3 บุคคลที่ถูกกล่าวหาว่าบุกรุกอาคารหอนิทรรศการศิลปวัฒนธรรม และทำให้เสียทรัพย์นั้น เป็นการการปกป้องสิทธิและผลประโยชน์ของนักศึกษาซึ่งจะต้องจัดแสดงผลงานศิลปะให้ทันกำหนดเวลา เพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้น หากนักศึกษาในสาขาวิชาฯ ไม่สามารถแสดงผลงานได้ และบรรดาอาจารย์ที่รับผิดชอบ จึงจำเป็นต้องเข้าไปเพื่อจัดเตรียมสถานที่และติดตั้งผลงานดังกล่าว


ก่อนเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว มีการยื่นขออนุญาตใช้สถานที่อย่างถูกต้องตามระเบียบของมหาวิทยาลัย และการกระทำดังกล่าวเป็นไปโดยมีสิทธิและมีหน้าที่เพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้น ทั้ง 3 จึงขอให้มหาวิทยาลัยดำเนินการ โดยการขอความเป็นธรรมให้ถอนแจ้งความร้องทุกข์ และสอบสวนความผิดกรณีปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตต่อไป
 

ทัศนัย เศรษฐเสรี โพสต์ตั้งคำถามทางเพจของตัวเอง "ปั้มลายมือเดี๋ยวนี้ต้อง 10 นิ้วเลยเหรอ"

จากกรณีที่กล่าวมาในเบื้องต้น จึงขอเรียกร้องให้ผู้บริหาร และอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ดำเนินการดังนี้

1) ถอนคำแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน สภ.ภูพิงค์ฯ และให้ปากคำเพิ่มเติมตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏต่อศาลปกครองจังหวัดเชียงใหม่ดังที่อ้างถึง

2) ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงผู้บริหารของคณะวิจิตรศิลป์ที่เกี่ยวข้องกับคำสั่งในเหตุการณ์ครั้งนี้ว่ามีความผิดเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและแจ้งความเท็จต่อพนักงานสอบสวนหรือไม่อย่างไรโดยเร็ว และหากปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีบุคคลที่เกี่ยวข้องกับกรณีนี้ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ขอให้ท่านดำเนินคดีและเอาผิดทางวินัยให้ถึงที่สุด

“มหาวิทยาลัยต้องหยุดคุกคามนักศึกษา”

กรรมาธิการสามัญคุ้มครองนักศึกษาจากการถูกคุกคามโดยรัฐในกรณีทางการเมือง สภานักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ออกแถลงการณ์เพื่อเรียกร้องและตั้งคำถามต่อมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 3 ข้อ ดังนี้

1. มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จะต้องแสดงจุดยืนเพื่อรักษาเสรีภาพทางวิชาการไว้โดยต้องมีคำสั่งถอนฟ้อง

2. มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จะต้องเรียกสอบวินัย อัศวิณีย์ หวานจริง ในฐานะบุคลากรในปกครองของมหาวิทยาลัย เนื่องจากมีเหตุให้เชื่อว่าการกระทำดังกล่าวไม่ได้เป็นไปเพื่อประโยชน์ของมหาวิทยาลัยต่อการศึกษาแต่เป็นไปด้วยความอาฆาตมาดร้ายต่อนักศึกษาที่เป็นคู่กรณีในหลายกรรมหลายวาระ

3. มหาวิทยาลัยต้องออกมาชี้แจงสื่อสารต่อสาธารณะว่าการแจ้งความดำเนินคดีครั้งนี้เป็นความประสงค์ของผู้บริหารมหาวิทยาลัยเชียงใหม่หรือไม่ และมหาวิทยาลัยมีจุดยืนอย่างไรต่อเสรีภาพทางวิชาการและบริการที่เป็นคุณต่อนักศึกษาในการใช้พื้นที่มหาวิทยาลัยในการศึกษา และมหาวิทยาลัยจะรับประกันอย่างไรเพื่อไม่ให้บุคลากรฝ่ายบริหารของมหาวิทยาลัยกระทำการคุกคาม หรือใช้คดีความเป็นเครื่องมือเพื่อข่มขู่นักศึกษา บุคลากร และประชาคมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่อีก

ทั้งนี้ หลังจากมีตัวแทนจากสำนักงานอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ออกมารับหนังสือเรียกร้องดังกล่าว และลงนามรับทราบในหนังสือเรียกร้อง กลุ่มขบวนผู้ประท้วงจึงเดินทางแยกย้ายกลับในที่สุด

อาจารย์ทัศนัย เศรษฐเสรี คือใคร

หลังเหตุการณ์เมื่อปี 2564 ผศ.ทัศนัย ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า "'ศิลปะ' และ "เสรีภาพ" นั้น ความจริงสะกดออกเสียงต่างกัน แต่มีความหมายเดียวกัน ยิ่งปราบ ก็ยิ่งระเบิด ยิ่งมีอำนาจมาก ก็ยิ่งถูกต่อต้านมาก โรงเรียนศิลปะต่างจากบ่อเลี้ยงลูกน้ำยุงลาย ด้วยประการเช่นนี้"

ในเวลาต่อมาเขาก็ได้โพสต์ข้อความอีกครั้ง โดยแสดงความขอบคุณทุกคำชื่นชม มีตอนหนึ่งยังกล่าวถึงเยาวชนของชาติที่ถูกตั้งข้อหา และคุมขัง จึงหวังว่าทุกคนจะสามารถช่วยเหลือบุคคลเหล่านั้น ด้วยเสรีภาพและความนับถือ

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้คำว่า "ทัศนัย" ถูกค้นทางกูเกิลเป็นจำนวนมาก จากผู้ใช้ในเชียงใหม่ และ กทม.

ผศ.ทัศนัย เกิดเมื่อปี 2511 จบการศึกษาปริญญาโทสาขา Visual Arts จากมหาวิทยาลัยชิคาโก สหรัฐอเมริกา ก่อนที่ในปี พ.ศ. 2547 ได้เข้าทำงานเป็นอาจารย์ ภาควิชาสื่อศิลปะ และการออกแบบสื่อ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จนถึงปัจจุบัน

นอกจากบทบาทของความเป็นครู ในบทบาทของศิลปิน เขาก็ได้รับความสนใจจากเทคนิคการใช้สี โดยมีการแสดงผลงานออกมาหลายครั้ง เช่น ปี 2561 ได้แสดงนิทรรศการเดี่ยวที่ประเทศสิงคโปร์ ในผลงานชุด "Some Deaths Can't Be Buried" สะท้อนความคิดเรื่องการเมืองไทย รวมถึงผลงาน "What You Don't See Will Hurt You" ที่แสดงในไทย ถ่ายทอดประวัติศาสตร์การเมืองและการสร้างสังคมไทย

ผศ. ทัศนัยแสดงออกทางการเมืองอย่างชัดเจนมาตลอด โดยเมื่อปี 2554 ผศ.ทัศนัยเคยร่วม "ปฏิบัติการอดอาหารท้วงประเทียด 112 ชั่วโมง" (112 Hunger Strike) กับกลุ่มศิลปินอิสระเพื่อคัดค้านกฎหมายอาญามาตรา 112 และแสดงออกทางการเมืองหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 ด้วยการร่วมลงชื่อเรียกร้องให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติหยุดจำกัดเสรีภาพนักวิชาการ และนักศึกษา


ผศ.ทัศนัยเคยร่วม "ปฏิบัติการอดอาหารท้วงประเทียด 112 ชั่วโมง"

เมื่อปี 2559 บทความเรื่อง "สัจนิยมเหนือจริง ของกายภาพแห่งมหรสพ ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย" ในมติชนสุดสัปดาห์กล่าวถึง อ.ทัศนัยว่า เป็นศิลปินที่มีบทบาทในการแสดงทัศนคติทางสังคมและการเมืองผ่านการทำงานศิลปะในรูปแบบต่าง ๆ มาอย่างต่อเนื่องยาวนาน เพราะเชื่อว่า งานศิลปะเป็นมากกว่าการสะท้อนตัวตนของศิลปิน และยังต้องเป็นปรอทวัดอุณหภูมิของสังคมด้วย ซึ่งเสรีภาพมีความสำคัญยิ่งในการสร้างผลงานทางศิลปะ และประชาธิปไตย คือหนทางเดียวที่จะบรรลุเป้าหมายนั้นได้

ผศ.ทัศนัย ก็เป็นกลุ่มนักวิชาการอีกกว่า 60 คน ใช้ตำแหน่งเป็นนายประกันแก่ผู้ที่ถูกจับกุมดำเนินคดีจากการชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเมื่อ 18 ก.ค. 2563 และ ล่าสุดเมื่อ 15 ก.พ. ที่ผ่านมา เขาเป็นหนึ่งในคณาจารย์ 255 คน จาก 31 สถาบัน ที่ร่วมลงชื่อขอให้ศาลได้พึงพิจารณาทบทวนคำสั่งไม่ให้ประกันตัวนายอานนท์ นำภา, นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ (เพนกวิน), นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข, และนายปฏิวัฒน์ สาหร่ายแย้ม (หมอลำแบงค์)