วันอาทิตย์, พฤศจิกายน 06, 2565

ทำไม "ไทย" รั้งท้าย ในการจัดอันดับ "ระบบบำนาญ" ที่ดีที่สุดในโลก?


ทำไม "ไทย" รั้งท้ายการจัดอันดับ "ระบบบำนาญ" ที่ดีที่สุดในโลก?

20 ต.ค. 2565
เวป การเงินธนาคาร
บทความโดย : ชนาภา มานะเพ็ญศิริ Economist, Bnomics

Mercer CFA Institute ได้จัดทำรายงานการจัดอันดับประเทศที่มีระบบบำนาญดีที่สุดและแย่ที่สุดในปี 2022 โดยดูจากดัชนีชี้วัดระบบบำนาญที่จัดทำขึ้นโดย Mercer CFA Institute หรือ Mercer CFA Institute Global Pension Index

ซึ่งผลลัพธ์ก็ไม่พลิกโผ ไอซ์แลนด์ เนเธอร์แลนด์ และเดนมาร์ก ยังคงครองแชมป์ 3 อันดับแรกของประเทศที่มีระบบบำนาญดีที่สุดในโลกเช่นเคย

แต่สิ่งที่น่าตกใจและอาจทำให้ไทยหันกลับมาตระหนักถึงความเปราะบางในระบบบำนาญของเรามากขึ้นคือ ระบบบำนาญของไทย ถูกจัดอยู๋ในอันดับท้ายสุดจากทั้งหมด 44 ประเทศ เนื่องจากระบบยังมีความอ่อนแอและมีหลายจุดที่ต้องแก้ไข

ดัชนีชี้วัดระบบบำนาญคำนวณจากอะไร?

ดัชนีชี้วัดระบบบำนาญนี้ ได้คำนวณมาจากค่าเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักของตัวชี้วัดหลักๆ 3 หัวข้อ คือ

1) ความเพียงพอของบำนาญ (40%) ดูว่าผู้รับบำบาญจะได้ผลตอบแทนในอนาคตในรูปแบบไหน

2) ความยั่งยืนของระบบบำนาญ (35%) ดูว่าระบบที่มีอยู่ตอนนี้จะสามารถดำเนินต่อไปได้หรือไม่ หากมีความท้าทายด้านประชากรและด้านการเงิน

3) ความครบถ้วนของระบบบำนาญ (25%) ดูว่าแผนการบำนาญของเอกชนมีการเข้าไปดูแลในลักษณะที่ช่วยสนับสนุนความเชื่อมั่นต่อระบบในระยะยาวหรือไม่

ซึ่งแต่ละตัวชี้วัดหลักก็จะถูกแบ่งย่อยลงไปอีกรวมแล้วมีกว่า 50 ตัวชี้วัด เพื่อมาใช้เป็นมาตรวัดระบบบำนาญของแต่ละประเทศ

สำหรับปี 2022 ได้มีการคำนวณระบบบำนาญของประเทศทั้งหมด 44 ประเทศ คิดเป็น 65% ของประชากรโลก ผลลัพธ์จากการคำนวณจึงอยู่ระหว่างค่า 0 (แย่ที่สุด) ถึง 100 (ดีที่สุด)

ซึ่งประเทศไอซ์แลนด์ ที่ถูกจัดเป็นประเทศที่มีระบบบำนาญดีที่สุดในปีนี้ ได้ 84.7 คะแนน ในขณะที่ประเทศไทยที่อยู่ในอันดับสุดท้าย ได้ไป 41.7 คะแนน

อันดับ 1 ไอซ์แลนด์, 84.7 คะแนน

อันดับ 2 เนเธอร์แลนด์, 84.6 คะแนน

อันดับ 3 เดนมาร์ก, 82 คะแนน

อันดับ 4 อิสราเอล, 79.8 คะแนน

อันดับ 5 ฟินแลนด์, 77.2 คะแนน

อันดับ 6 ออสเตรเลีย, 76.8 คะแนน

อันดับ 7 นอร์เวย์, 75.3 คะแนน

อันดับ 8 สวีเดน, 74.6 คะแนน

อันดับ 9 สิงคโปร์, 74.1 คะแนน

อันดับ 10 สหราชอาณาจักร, 73.7 คะแนน

Bnomics จะพาไปดูว่า 5 ประเทศที่มีระบบบำนาญดีที่สุดในโลกในปีนี้ มีจุดแข็งอย่างไรบ้าง เผื่อว่าไทยจะสามารถนำมาเป็นแบบอย่างเพื่อปรับปรุงระบบบำนาญให้ดีขึ้นได้ในปีต่อๆ ไป

1) ไอซ์แลนด์, 84.7 คะแนน

ไอซ์แลนด์เป็นประเทศที่มีระบบบำนาญขั้นพื้นฐานของรัฐ และบำนาญอื่นๆ เสริม เช่น โครงการบำเหน็จบำนาญภาคบังคับซึ่งมาจากเงินสมทบของนายจ้างและลูกจ้าง, และนอกจากนี้ยังมีโครงการบำนาญส่วนบุคคลตามความสมัครใจ
  • คะแนนของไอซ์แลนด์ที่เพิ่มขึ้นในปีนี้ เนื่องมาจากการลดลงของสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP
  • เพิ่มการจัดการที่เข้ามาช่วยปกป้องผลประโยชน์บำนาญในคู่ที่หย่าร้าง
  • การลดลงของหนี้สาธารณะต่อ GDP
2) เนเธอร์แลนด์, 84.6 คะแนน

ระบบบำนาญของเนเธอร์แลนด์ ประกอบด้วยบำนาญแบบคงที่จากรัฐ และโครงการบำนาญกึ่งภาคบังคับตามเงินเดือนของแต่ละอาชีพตามที่ตกลงกันในแต่ละอุตสาหกรรม
  • คะแนนของเนเธอร์แลนด์ที่เพิ่มขึ้นในปีนี้ เนื่องมาจากการลดลงของระดับหนี้ครัวเรือน
  • การเพิ่มขึ้นของแรงงานที่มีอายุมาก
  • มีการให้เครดิตบำนาญเพิ่มเติม สำหรับผู้ที่เลี้ยงลูกเล็ก
3) เดนมาร์ก, 82 คะแนน

ระบบบำนาญของเดนมาร์ก มีทั้งบำนาญของภาครัฐที่จะจ่ายบำนาญขั้นพื้นฐาน และระบบบำนาญแบบสมทบเงินตามลำดับขั้นซึ่งจะจ่ายบำนาญตลอดชีวิต, และยังมีโครงการบำนาญแบบสมทบเงินภาคบังคับของแต่ละอาชีพ
  • คะแนนของเดนมาร์กที่เพิ่มขึ้นในปีนี้ เนื่องมาจากการเพิ่มขึ้นของเงินออมครัวเรือน และการลดลงของหนี้ครัวเรือน
  • เพิ่มการจัดการที่เข้ามาช่วยปกป้องผลประโยชน์บำนาญในคู่ที่หย่าร้าง
  • เพิ่มข้อกำหนดให้ทุกแผนบำนาญต้องจัดทำรายงานประจำปีให้แก่สมาชิกกองทุนบำนาญทุกคน
  • เพิ่มข้อกำหนดให้แสดงประมาณการผลประโยชน์รายปีให้แก่สมาชิกกองทุนบำนาญทุกคน
4) อิสราเอล, 79.8 คะแนน

ระบบบำนาญของอิสราเอล ประกอบด้วยบำนาญแบบทั่วถึง และบำนาญเพิ่มเติมตามระดับรายได้, ตลอดจนบำนาญจากภาคเอกชนที่บังคับให้นายจ้างและลูกจ้างจ่ายเงินสมทบเข้าไปในกองทุน โดยเป็นข้อบังคับตั้งแต่ปี 2008 เป็นต้นมา ว่าจะต้องจ่ายตามอัตราขั้นต่ำทุกปี
  • คะแนนของอิสราเอลที่เพิ่มขึ้นในปีนี้ เนื่องมาจากการเพิ่มขึ้นของระดับสินทรัพย์ที่กองทุนถือไว้เพื่อใช้จัดหาเงินบำนาญ
  • การลดลงของหนี้สาธารณะต่อ GDP
  • ปรับปรุงมาตรการเพื่อปกป้องสมาชิกกองทุนบำนาญเอกชนในกรณีที่มีการบริหารผิดพลาดหรือถูกฉ้อโกง
  • มีการให้เครดิตบำนาญเพิ่มเติม สำหรับผู้ที่เลี้ยงลูกเล็ก
5) ฟินแลนด์, 77.2 คะแนน

ระบบบำนาญของฟินแลนด์ ประกอบด้วยบำนาญพื้นฐานของรัฐตามระดับรายได้ และโครงการบำนาญต่างๆ ที่ขึ้นกับรายได้

  • คะแนนของฟินแลนด์ที่เพิ่มขึ้นในปีนี้ เนื่องมาจากการเพิ่มขึ้นของระดับเงินบำนาญขั้นต่ำที่จ่ายให้แก่ผู้สูงอายุที่ยากจนที่สุด
  • การเพิ่มขึ้นของเงินออมครัวเรือน และการลดลงของระดับหนี้ครัวเรือน
  • มีการวางแผนเพิ่มระดับการส่งเงินสมทบภาคบังคับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคต
  • เพิ่มการจัดการที่เข้ามาช่วยปกป้องผลประโยชน์บำนาญในคู่ที่หย่าร้าง
ทีนี้เมื่อดู 5 อันดับแรกที่ถูกจัดว่ามีระบบบำนาญดีที่สุดกันไปแล้ว เรามาดูระบบบำนาญของประเทศไทยกันบ้างว่ามีความเสี่ยงที่น่ากังวลใจแค่ไหน ถึงได้อันดับท้ายสุด

โดยทั่วไปแล้วประเทศไทยมีระบบบำนาญชราภาพ, กองทุนประกันสังคมสำหรับพนักงานเอกชนที่ทำงานในระบบ, และการสมทบเงินเข้ากองทุนโดยสมัครใจโดยมีนายจ้างช่วยจ่ายสมทบให้ ตลอดจนผลิตภัณฑ์การออมต่างๆ ก็จริง

อย่างไรก็ตาม เงินบำนาญขั้นต่ำของไทยในปัจจุบันที่ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ได้รับ จะอยู่ที่เดือนละ 600 บาท ถือว่าอยู่ในระดับที่น้อยมาก คือน้อยกว่า 5% ของค่าจ้างโดยเฉลี่ย และแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะสามารถยังชีพได้ด้วยเงินก้อนนี้เพียงอย่างเดียว ในขณะที่เงินบำนาญของประเทศบราซิล, เดนมาร์ก, และนิวซีแลนด์ จะอยู่ที่ 35% ของค่าจ้างโดยเฉลี่ย

ในขณะเดียวกัน เมื่อพิจารณาสินทรัพย์ในกองทุนบำนาญ ซึ่งเป็นเครื่องชี้วัดที่ดีถึงความสามารถของระบบในการจ่ายเงินบำนาญในอนาคต

พบว่าของไทยอยู่ที่ระดับน้อยกว่า 10% ของ GDP ในขณะที่ไอซ์แลนด์, เนเธอร์แลนด์ และเดนมาร์ก อยู่ที่ 175% ของ GDP นั่นแปลว่าสินทรัพย์ของกองทุน อาจไม่ได้มีเพียงพอสำหรับการจ่ายบำนาญในอนาคตอย่างยั่งยืน

อีกทั้งอัตราการเจริญพันธุ์ของไทยยังอยู่ที่เพียง 1.5 จึงถือเป็นข้อกังวลใจที่สำคัญในเรื่องโครงสร้างอายุประชากร และจะกลายเป็นปัญหาที่กระทบต่อโครงสร้างระบบบำนาญในอนาคต

แน่นอนว่าทุกคนย่อมอยากได้บำนาญที่สามารถยังชีพได้จริงอย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ในขณะที่เงินที่ส่งสมทบเข้ากองทุนก็อาจจะน้อยลงเรื่อยๆ ตามโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนแปลงไป

ทาง Mercer CFA Institute เองได้แนะนำทางแก้ปัญหาว่าควรจะมีการสนับสนุนการจ้างงานผู้สูงอายุให้มากขึ้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มเงินออมของผู้สูงอายุ และอาจจะต้องมีมาตรการสนับสนุนในภาพกว้างด้านอื่น

ดังนั้นหากยังไม่สามารถแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ ระบบบำนาญของไทยก็ยังคงเต็มไปด้วยความเปราะบาง ก่อให้เกิดคำถามสำคัญในด้านประสิทธิภาพและความยั่งยืน ว่าในอนาคตที่ไทยเต็มไปด้วยคนสูงวัย ระบบบำนาญที่มีจะสามารถจ่ายเบี้ยให้ผู้สูงอายุได้มากพอ และยั่งยืนได้จริงหรือไม่?
.....
เรื่องเกี่ยวข้อง