วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 10, 2565

มหากาพย์ขณะวิจิตรสิ้น เมื่อคณะอาร์ต ๆ ดำเนินคดีอาจารย์และลูกศิษย์

มหากาพย์ขณะวิจิตรสิ้น เมื่อคณะอาร์ต ๆ ดำเนินคดีอาจารย์และลูกศิษย์

เป็นกระแสร้อนแรงในขณะนี้เลยก็ว่าได้ หลังจากเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ และ ทัศนัย เศรษฐเสรี อาจารย์ภาควิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้รับหมายเรียกผู้ต้องหาครั้งที่ 2 จากสถานีตำรวจภูธรภูพิงคราชนิเวศน์ ในคดีที่มี อัศวิณีย์ หวานจริง อดีตคณบดีคณะวิจิตรศิลป์ เป็นผู้กล่าวหาทัศนัย เศรษฐเสรีกับพวก ในข้อกล่าวหาร่วมกันเข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นฯ นอกจากอาจารย์ทั้งสองคนแล้ว ยังมี ยศสุนทร รัตตประดิษฐ์ บัณฑิตคณะวิจิตรศิลป์ ตกเป็นผู้ต้องหาในคดีนี้ร่วมอีกด้วย โดยทั้งสามเตรียมเข้ารับข้อกล่าวหาในวันที่ 10 พ.ย. 2565 เวลา 13.00 น. ณ สถานีตำรวจภูธรภูพิงคราชนิเวศน์

เรามาย้อนรอยกันก่อนว่า มันเกิดมหากาพย์ในครั้งนี้ได้ยังไง เรื่องของเรื่องมันเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564 ที่นักศึกษาคณะวิจิตรศิลป์ ได้มีการยื่นเรื่องขออนุญาตใช้หอศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อจัดแสดงผลงานในรายวิชาเรียนต่อผู้อำนวยการหอศิลป์ฯ ระหว่างวันที่ 16-22 ตุลาคม 2564 จากนั้นได้มีบันทึกข้อความตอบกลับจากทางหอศิลป์ฯ ระบุว่าต้องการรายละเอียดเพิ่มเติมของผลงานที่จะทำการจัดแสดงหลายครั้งด้วยกัน ซึ่งทางนักศึกษาก็ได้พยายามจัดส่งรายละเอียดเพิ่มเติมให้กับทางหอศิลป์แล้ว

จนกระทั่งช่วงเย็นวันที่ 15 ตุลาคม 2564 นักศึกษาสาขาวิชา Media Art and Design คณะวิจิตรศิลป์ กลับยังไม่ได้รับคำตอบ เรื่องที่จะมีคำสั่งอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ใช้พื้นที่ในการจัดแสดงงาน โดยนักศึกษาต้องเริ่มทำการติดตั้งผลงานในวันที่ 16 ตุลาคม 2564 โดยได้มีการเตรียมการ สูญเสียค่าใช้จ่ายในการผลิตชิ้นงาน และการจัดแสดงผลงานดังกล่าวยังจะส่งผลกระทบต่อคะแนนในวิชาเรียน จนอาจทำให้นักศึกษาได้รับผลกระทบเกี่ยวกับการสำเร็จการศึกษาได้

โดยทางหอศิลป์ฯ ได้ทำบันทึกข้อความแจ้งว่าจะประชุมเรื่องการขอใช้สถานที่ดังกล่าว ในวันที่ 19 ตุลาคม 2564 ซึ่งช้ากว่ากำหนดการขอใช้สถานที่ออกไปแล้ว นักศึกษาพร้อมด้วยคณาจารย์จึงได้ตัดสินใจเดินทางไปแจ้งความเพื่อลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐานจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่สถานีตำรวจภูธรภูพิงคราชนิเวศน์ จากนั้นกลุ่มนักศึกษาได้มีการประกาศว่าจะเข้าใช้พื้นที่หอศิลป์ฯ เพื่อจัดแสดงผลงานที่อยู่ในการเรียนการสอน ไม่ว่าคำสั่งเรื่องการขอใช้สถานที่ดังกล่าวจะออกมาหรือไม่

จนวันที่ 16 ตุลาคม 2564 นักศึกษา คณาจารย์ และประชาชนที่ได้ทราบข่าวเกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าว ได้เข้าใช้พื้นที่หอศิลป์ฯ ตามกำหนดการที่ได้มีการขออนุญาตไว้ แต่กลับพบว่าหอศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถูกปิดล็อก ตัดน้ำ และไฟฟ้าไม่ให้สามารถใช้งานได้ จึงต้องดำเนินการแก้ไขเพื่อให้ระบบต่างๆ กลับมาใช้งานได้ และเริ่มการติดตั้งผลงานที่จะจัดแสดงทันที จนในที่สุดก็สามารถจัดแสดงผลงานได้ตามกำหนดการ และอาจารย์ผู้สอนก็ได้เข้าตรวจผลงานพร้อมกับให้คะแนนเป็นที่เรียบร้อย

ระหว่างนั้นเอง ในวันที่ 18 ตุลาคม 2564 หอศิลป์ฯ ก็ยังคงไม่มีคำสั่งเรื่องอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ใช้พื้นที่ได้ นักศึกษาจำนวน 24 ราย จึงได้เดินทางไปที่ศาลปกครองเชียงใหม่ เพื่อยื่นฟ้องผู้อำนวยการหอศิลปวัฒนธรรม, คณบดีคณะวิจิตรศิลป์ และ อธิการบดี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่าเป็นการละเลยการปฎิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย อีกทั้งขอให้ศาลปกครองมีคำสั่งคุ้มครองการใช้พื้นที่หอศิลปวัฒนธรรมของนักศึกษาระหว่างนั้นด้วย

ศาลปกครองได้รับคำฟ้องของนักศึกษาทั้ง 24 ราย ไว้พิจารณา พร้อมกับเห็นว่าคดีดังกล่าวเป็นคดีที่ต้องมีการพิจารณาโดยเร่งด่วน จึงได้นัดหมายไต่สวนเร่งด่วนเพื่อรวบรวมข้อเท็จจริงทางคดีไปเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2564 โดยในวันดังกล่าวผู้ฟ้องคดีและผู้ถูกฟ้องคดีได้เข้าให้การในข้อเท็จจริงต่างๆ ต่อศาลปกครองจนเสร็จสิ้น

แต่เนื่องจากช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงที่พ้นกำหนดระยะเวลาที่นักศึกษาได้มีการขอใช้หอศิลป์ฯ ไปแล้ว ประกอบกับข้อเท็จจริงที่นักศึกษาได้มีการเข้าใช้หอศิลป์ฯ เพื่อจัดแสดงงานตามจุดประสงค์ และอาจารย์ผู้สอนก็ได้มีการให้คะแนนต่างๆ เป็นที่เรียบร้อย ศาลจึงไม่ได้พิจารณาคำขอคุ้มครองชั่วคราวเรื่องการใช้หอศิลป์ฯ เหลือแต่เพียงประเด็นที่ว่าการไม่มีคำสั่งใดๆ เรื่องการใช้หอศิลป์ฯ ของผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 3 รายนั้น เป็นการละเลยการปฎิบัติหน้าที่หรือปฎิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควรหรือไม่เพียงเท่านั้น จากนั้นศาลปกครองได้นัดหมายนั่งพิจารณาคดีครั้งแรกในวันที่ 3 พฤศจิกายน และนัดอ่านคำพิพากษาในวันที่ 4 พฤศจิกายน

สำหรับนัดหมายนั่งพิจารณานัดแรก ได้มีการยื่นคำแถลงปิดคดีของฝ่ายผู้ฟ้อง และตุลาการผู้แถลงคดีสรุปข้อเท็จจริงในคดีและระบุประเด็นที่ศาลปกครองยังคงต้องพิจารณาให้ทราบเป็นที่เรียบร้อย

ในวันที่ 4 พฤศจิกายน 2564 เวลา 10.15 น. ศาลปกครองเชียงใหม่ได้อ่านคำพิพากษา โดยสรุปว่า

จากข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น การกระทำของผู้อำนวยการหอศิลปวัฒนธรรม และคณบดีคณะวิจิตรศิลป์ เรื่องที่ไม่มีคำสั่งอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ใช้หอศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทั้งที่ได้รับคำขอไว้เป็นเวลาตามสมควรและได้รับเอกสารเพิ่มเติมจำนวนหลายครั้ง เป็นการปฎิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร

แต่เนื่องจากปรากฎข้อเท็จจริงว่านักศึกษาผู้ฟ้องคดีทั้ง 24 ราย ได้ทำการอารยะขัดขืนเข้าใช้หอศิลป์จัดแสดงผลงานการเรียนและได้มีอาจารย์ตรวจให้คะแนนผลงานแสดงเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จึงเป็นกรณีที่ศาลไม่จำต้องกำหนดคำบังคับให้ผู้อำนวยการหอศิลปวัฒนธรรมและคณบดีคณะวิจิตรศิลป์พิจารณาเรื่องการขอใช้หอศิลปวัฒนธรรมอีกต่อไป เนื่องจากไม่มีผลเป็นการเยียวยาความเดือดร้อนหรือเสียหายของนักศึกษาทั้ง 24 รายในคดีนี้

ส่วนผู้ถูกฟ้องที่ 3 อธิการบดี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่นั้น ได้มอบอำนาจให้ผู้อำนวยการหอศิลปวัฒนธรรมและคณบดีคณะวิจิตรศิลป์ ดูแลรับผิดชอบแล้ว ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกระทำการหรืองดเว้นกระทำการในกรณีนี้ ผู้ฟ้องจึงไม่มีสิทธิฟ้องอธิการบดี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้

สุดท้ายศาลปกครองเชียงใหม่จึงมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีออกจากศาล

จนเวลาล่วงเลยมาแล้วร่วมกว่า 1 ปีเต็ม ก็ดูเหมือนว่าทางคณะวิจิตรศิลป์จะไม่ยอมจบไปอย่างง่ายๆและผู้ถูกกล่าวหาก็ยังคงยืนยันว่าทำผิดอะไร และจะไปทวงถามต่อมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ด้วย ถึงพันธกิจและความหมายที่สำคัญของการศึกษา พร้อมกันทั้งนี้อยากเชิญชวนทุกคนร่วมติดตามและเป็นสักขีพยานพร้อมกันในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2565 เวลา 13.00 น. ที่ สถานีตำรวจภูธรภูพิงคราชนิเวศน์

เราพูดย้ำอีกสักครั้งว่า “หากไร้ซึ่งเสรี จะมีศิลปะไว้ทำไม”

ขอขอบคุณข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน https://tlhr2014.com/archives/37444?fbclid=IwAR1AKdc4fzhcB-7OjADZbN_nDImqiJF8Ms4xRjU-sQ-c4ที่มAKMF35k3pm14gw

ที่มา https://www.lannernews.com/index.php/2022/11/09/09112565-3/
11/09/2022