วันเสาร์, พฤศจิกายน 12, 2565

“น้ำอุ่น” พิชชาภา เจ้าของผลงานศิลปะ "หญิงสาวที่อยู่ในกล่องใสแคบ" ตั้งคำถามถึงชีวิตคนไทย ที่กำลังถูกกดทับ!?

#BangkokArtBiennale2022 #PerformanceArt #ศิลปะ
คุยกับ “น้ำอุ่น” พิชชาภา เจ้าของผลงานศิลปะ ตั้งคำถามถึงชีวิตคนไทย ที่กำลังถูกกดทับ!?

Silpawattanatham - ศิลปวัฒนธรรม

Nov 11, 2022

“คนที่เป็นแรงงาน ไม่ว่าจะระดับไหนก็ตาม ได้รับค่าแรงขั้นต่ำน้อยมากๆ หรือว่าชั่วโมงการทำงานที่ยาวนาน เราก็มีอีกหลายๆ ที่ที่เขาต้องทำงานหนัก หรือต้องทำงานนานโดยที่ไม่ได้รับสวัสดิการที่เพียงพอ” 

เมื่อ “ความไม่ปกติ” กำลังถูกทำให้เป็น “ปกติ” นี่คือสิ่งที่ผลงานศิลปะของ “น้ำอุ่น” พิชชาภา หวังประเสริฐกุล ที่กำลังสะท้อนถึงสภาพชีวิตของคนไทย และข้อความข้างต้นคือส่วนหนึ่งที่น้ำอุ่นบอกเล่ากับศิลปวัฒนธรรม เผยมุมมองของเจ้าของผลงานศิลปะผ่านแรงงานหรือคนทำงานที่ถูกกดทับด้วยสภาพบางอย่างในสังคม 

ไม่เพียงแต่ประเด็นของแรงงาน แต่สิ่งอะไรที่เคยปกติ กลับกำลังถูกทำให้ไม่ปกติเพื่อให้เป็นสิ่งปกติของสมัยใหม่ ให้เป็นมาตรฐานใหม่ เช่น ยุคหนึ่งห้องหรือคอนโดขนาดมาตรฐานมีขนาดอยู่ที่ 65 ตารางเมตร ปัจจุบันเหลือเพียงแค่ 28 ตารางเมตร ยุคหนึ่งมีวิจัยระบุการนอนหลับที่เหมาะสมระหว่าง 8-10 ชั่วโมง แต่ในปัจจุบันเรากำลังถูกทำให้เชื่อว่าหากสามารถนอนเต็มอิ่มเพียง 4 ชั่วโมงก็เพียงพอแล้ว 

ผลงานที่มีชื่อว่า “The Standard” ชิ้นนี้ เป็นเสมือนการทดลองสร้างสภาพแวดล้อมที่จำกัดให้มีเฉพาะอุปกรณ์ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของน้ำอุ่นในฐานะแรงงานของหนึ่ง สิ่งที่ “Performance Art” ชิ้นนี้กำลังจะสื่อ หรือศิลปินกำลังตั้งคำถาม อาจทำให้ผู้ชมตกตะกอนความคิดได้มากมายกว่าสิ่งที่เห็น 

“The Standard” เป็นผลงานชิ้นหนึ่งในเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ “Bangkok Art Biennale 2022” บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2022 ที่จัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 22 ตุลาคม 2565 ถึงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2566 ทั้งนี้ ผลงานของน้ำอุ่นชิ้นนี้จะแสดงวันอังคารถึงศุกร์ จนถึงวันที่ 25 พฤศจิกายน 2565 นี้ ที่ Bacc หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
.....
งานศิลป์แปลก คนใช้ชีวิตในกล่องแคบ สะท้อนชีวิตอึดอัดยุคใหม่ ที่งาน BAB 2022


28 ต.ค. 2022
NGThai

ชมศิลปะการแสดง The Standard ที่ให้คนหนึ่งคนทำงานและใช้ชีวิตในกล่องใสสุดคับแคบ เพื่อแสดงให้เห็นถึงความอึดอัดและกรอบสังคมในยุคทุนนิยมสุดขีดและการใช้อำนาจแบบสุดขั้ว ในเทศกาล Bangkok Art Biennale 2022

สิ่งที่อยู่ตรงหน้าผมคือกล่องใส ทรงสี่เหลี่ยมจตุรัส กว้างยาวลึกซัก 1 เมตร

ภายในนั้นมีสิ่งที่ชวนตะลึง นั่นคือมนุษย์ที่มีชีวิต เป็นหญิงสาวใส่ชุดเดรสสีขาว นั่งอยู่ท่าเดียวคือพับขา แนบแขนกับลำตัว เพราะความคับแคบของกล่องไม่อาจทำให้เธอยืดเหยียดกาย สีหน้าสีตาไม่ยี่หระโลก อาจจะเพราะความอึดอัดคับแคบที่เธอต้องใช้ชีวิตร่วม แต่แววตาของเธอจะเริ่มเป็นประกายเวลามีคนส่งเสียงพูดคุยกับเธอผ่านช่องว่างในกล่องใสด้านบน

สิ่งที่อยู่ภายในกล่องร่วมกับเธอคืออุปกรณ์ที่เรา, ในฐานะมนุษย์สมัยใหม่, จะมีกัน ทั้งคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก แท็บเล็ต. แบตเตอรี่สำรอง หนังสือหนึ่งเล่ม ดอกกุหลาบ(?) สายชาร์จที่ใช้ร่วมกับอุปกรณ์เหล่านั้น และหูฟังที่ถูกแขวนห้อยระโยงระยาง อาจจะมีสิ่งของมากกว่านั้น แต่ผมคงไม่สังเกตเห็น เธอใช้สิ่งของเหล่านั้นในแบบที่เราๆ ใช้กันอยู่เกือบตลอดเวลา สลับไปมาในกล่องใสสุดคับแคบนั้น

ทุกอย่างวางอยู่บนรถเข็นสีขาว นั่นหมายความว่าเธอสามารถถูกเข็นไปไหนต่อไหนก็ได้ที่ล้อไปถึงในบริเวณหอศิลปะแห่งกรุงเทพมหานคร ชั้น 9 ที่เธออยู่ และในระหว่างที่เธออยู่ในกล่องก็มีคนเข็นเธอไปจริงๆ จากคำเชื้อเชิญของหญิงสาวในกล่องไปยังคนที่มาสนทนาด้วยความสงสัยใคร่รู้ แต่มีคนจำนวนมากกว่าที่เข้ามายืนจ้องเธอผ่านกล่อง บ้างถ่ายรูป แต่สุดท้ายล้วนเดินจากไปเงียบๆ ท่ามกลางงานศิลปะมากมายอื่นๆ ที่อยู่รายรอบ

หญิงสาวที่ใช้ชีวิตอยู่ในกล่องใสนี้ เป็น ‘งานศิลปะ’ ในหมวดศิลปะการแสดง (Performance Art) ที่ชื่อว่า The Standard โดยศิลปิน พิชชาภา หวังประเสริฐกุล ซึ่งก็คือหญิงสาวที่อยู่ในกล่องใสแคบนั้น คำอธิบายในงานศิลปะยาวเยียดสามารถสรุปสั้นๆ ได้ว่า งานศิลปะนี้กล่าวถึง ‘มาตรฐานชีวิตในโลกยุคใหม่’ โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ที่ผู้คนล้วนถูกกดทับ หรือถูกกล่อมเกลาให้มีชีวิตที่คับแคบลงเรื่อยๆ สามารถสังเกตได้แบบเป็นรูปธรรมเช่น ที่อยู่อาศัยที่มีพื้นที่จำกัดลงเรื่อยๆ (แต่มีราคาแพงกระฉูด) ชั่วโมงการพักผ่อนหดสั้น ชั่วโมงการทำงานยาวนานกว่า แต่สิ่งที่หดสั้นมากที่สุดคือการเติบโตของค่าตอบแทน ในขณะที่ทรัพยากรจำนวนมากมายถูกแจกจ่ายให้ผู้มีอำนาจหรือนายทุนใหญ่ไปอย่างเหลือเฝือ สอดคล้องกับชิ้นงานของเธอในอดีต ที่มุ่งเน้นการตั้งคำถามต่อพลวัตของอำนาจ จากความเชื่อที่ว่า การตระหนักถึงอำนาจที่ไม่เท่ากันของมนุษย์ มีผลต่อความคิด ความเชื่อของคน

งานศิลปะนี้เป็นส่วนหนึ่งที่จัดแสดงในงานเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2022 (Bangkok Art Biennale 2022) หรือ BAB 2022 งานเทศกาลศิลปะนานาชาติที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ที่จัดขึ้นทุกๆ 2 ปี ที่ในปีนี้มีการกระจายการแสดงผลงานไปตามสถานที่ต่างๆ ทั่วกรุงเทพ รวมไปถึงที่หอศิลป์ฯ ที่กล่องใสของพิชชาภาตั้งอยู่

ในช่วงเวลาสิ้นสุดการแสดงของวัน พิชชาภาก้าวออกมาจากด้านบนของกล่องใสนั้น ในช่วงรอยต่อระหว่างโลกศิลปะกับโลกชีวิตจริง ผมเข้าไปพูดคุยกับเธอเกี่ยวกับเรื่องงานศิลปะที่ได้มีโอกาสจัดแสดงในเทศกาล BAB นี้ และตัวตน ความคิดของเธอ



พิชชาภาเล่าให้ฟังว่าข้องแวะกับงานศิลปะตั้งแต่เป็นเด็กชั้นประถม เธอสร้างสรรค์ภาพวาดจากงานศิลปะชิ้นแล้วชิ้นเล่า ภายใต้การชี้แนะของอาจารย์ การเป็นเด็กที่ว่าง่ายต่อคำชี้แนะเหล่านั้นทำให้ผลงานของเธอได้รับรางวัลมากมาย รวมถึงโอกาสได้เดินทางไปต่างประเทศ พอเริ่มเติบโตก็ยังคงเป็นเช่นนั้น แต่เธอกลับพ่วงความรู้สึกใหม่ที่มีต่องานศิลปะของตัวเอง

“เราเริ่มหลอนภาพวาดของตัวเอง” เธอเล่า “ตอนอยู่มัธยม พอเราวาดงานไปเรื่อยๆ ก็รู้สึกว่านี่มันเป็นลายเส้นของอาจารย์ ไม่ใช่ลายเส้นของเรา พอย้อนกลับไปดูงานเก่าๆ ก็รู้สึกว่าเป็นเหมือนกัน วาดงานใหม่ออกมากี่ครั้งๆ ก็ยังเป็นลายเส้นอาจารย์แบบเดิม เรารู้สึกเจ็บปวดมากๆ เลยต้องทำอะไรซักอย่าง ก็เริ่มจากทดลองทำงานศิลปะแบบอื่นๆ ให้พ้นจากความรู้สึกนั้น”



เธอทดลองทั้งการวาดเส้นแขนงต่างๆ ไปจนถึงงานด้านออกแบบกราฟิก แต่สุดท้ายเธอก็มาพบกับ ‘ศิลปะการแสดง’ ที่คิดได้ว่าเหมาะสมกับสิ่งที่เธอจะสื่อสารในฐานะศิลปินมากที่สุด

ตอนอายุ 19 ปี เรียนอยู่มหาวิทยาลัย ปี 2 ก็สมัครเข้ามาช่วยงานในเทศกาล BAB เริ่มจากการเป็นผู้นำชมและดูแลชิ้นงาน (Docent) และมีโอกาสได้เป็นผู้ช่วยงานแสดงศิลปะให้กับมารีน่า อบราโมวิช (ศิลปินด้านศิลปะการแสดงระดับโลกชาวจอร์เจีย มีผลงานการจัดแสดงในเทศกาล BAB ในทุกครั้ง)

พิชชาภา ขณะทำหน้าที่ผู้นำชมงานศิลปะ ในเทศกาลศิลปะ Bangkok Art Biennale 2018 อนุเคราะห์ภาพ พิชชาภา หวังประเสริฐกุล

“วิธีแสดงของมารีน่าที่เราต้องช่วยทำในตอนนั้นมีหลายอย่างมาก ทั้งนับเม็ดถั่วเขียว จ้องสี ยืนนิ่งๆ ไปนอน หลักๆ ก็คือทำให้ผู้ชมทำตามวิธีการของเขา” โดยเธอได้เห็นวิธีการใหม่ๆ ของศิลปะการแสดงจากการช่วยงานมารีน่าในเทศกาล BAB และเป็นแรงบันดาลใจการสร้างสรรค์ศิลปะการแสดงของเธอเองตามงานแสดงศิลปะต่างๆ หลังจากนั้น


การแสดง THE BARRICADE (2021) สะท้อนถึงสิ่งกีดกั้นมนุษย์ที่เกิดจากอารมณ์ความรู้สึกของตัวเอง อนุเคราะห์ภาพ พิชชาภา หวังประเสริฐกุล


การแสดง 1245 – 1167 (2021) สะท้อนกฎระเบียบของโรงเรียนที่สะท้อนถึงสภาวะทางการเมือง อนุคราะห์ภาพ พิชชาภา หวังประเสริฐกุล


การแสดง Be a good girl (2022) อนุเคราะห์ภาพ พิชชาภา หวังประเสริฐกุล

จนเมื่องาน BAB 2022 ประกาศรับสมัครคัดเลือกศิลปินเข้าร่วมภายในงาน พิชชาภาก็ได้ร่วมสมัครด้วย “ช่วงสัมภาษณ์ ตอนที่อาจารย์อภินันท์ (ศ.ดร.อภินันท์ โปษยานนท์ – ประธานอำนวยการ และผู้อำนวยการศิลป์ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2022) ถามว่าอยากทำงานแบบไหน ก็ตอบไปว่าอยากลอยคออยู่ในแทงก์น้ำ (หัวเราะ) ซึ่งก็คงไม่ได้ทำเพราะเรื่องของความปลอดภัย แต่ไปๆ มาๆ ก็ได้พัฒนาไอเดียงานของเราว่าจะพูดถึงเรื่องของการทำงานหนัก เพราะว่าชีวิตจริงเราทำงานเป็นครีเอทีฟในบริษัทโฆษณา เป็นงานที่หนักมาก แทบไม่มีเวลาได้เจอใคร เป็นแบบนั้นมาตลอด”

“แล้วก็คิดถึง Space (พื้นที่) ว่าต้องเป็นกล่องสี่เหลี่ยม นึกถึงชีวิตในกรุงเทพที่ถูกจำกัด คุณภาพชีวิตที่หดหาย ก็เลยออกมาเป็นกล่องแคบๆ ห้ามมี Movement (การเคลื่อนไหว)” ส่วนของที่อยู่ในกล่องทดลองไปเรื่อยๆ ว่าจะใส่อะไรบ้าง จนสุดท้ายเธอตกผลึกว่าเป็นสิ่งของจำเป็นที่ ‘เพียงพอต่อการทำงาน’ ในอาชีพ ‘พนักงานออฟฟิศ’ ของเธอ และให้กล่องของเธอตั้งอยู่บนรถเข็น เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ชมมีโอกาสปฏิสัมพันธ์กับเธอได้

“ถ้าเป็นกล่องของคนทำอาชีพแม่ค้า คนขับรถ นักธุรกิจ สิ่งของที่อยู่ในกล่องก็จะแตกต่างกันออกไป” เธอขยายความ


“พอแสดงจริงก็มีคนเอาของอื่นๆ หย่อนมาให้เราเพิ่ม เช่นดอกกุหลาบ หนังสือ บางคนมาจ้องเรา ดูเรา ก็ทำท่าลังเล ว่าจะมาคุยกับเราดีมั้ย ก็มีทั้งมาคุยกับเรา มาเข็นกล่องเราไปที่โน่นที่นี่ คุยเรื่องงานศิลปะอื่นๆ ที่อยู่ในงานไปด้วยเลย (หัวเราะ)” สิ่งเหล่านี้พิชชาภาถือว่าเป็นการปฏิสัมพันธ์จากคนดู ซึ่งเธอมองว่าเป็นส่วนสำคัญ เพราะ “การที่ผู้ชมตัดสินใจว่าจะเข้ามาทำอะไรกับเรา หรือไม่เข้ามาทำอะไร จะทำให้ผู้ชมได้รู้ตัวเองว่าเป็นคนอย่างไร แต่ถ้าแค่ดูแล้วผ่านไปก็จะไม่มีอะไรเกิดขึ้น ไม่ได้ค้นพบอะไรใหม่ๆ เกี่ยวกับตัวของพวกเขาเอง หรือแม้กระทั่งตัวเรา ผ่านผลงานของเรา”


เมื่อผมถามว่า อยากให้ผู้ชมได้อะไรจากการชมงาน The Standard ของตัวเอง เป็นเรื่องสังคมแห่งคับแคบ ทั้งการใช้ชีวิต ค่าครองชีพ การทำงาน และการกดขี่จากผู้มีอำนาจ ตามที่เขียนเอาไว้ในป้ายบรรยายข้างๆ ผลงานหรือเปล่า เธอตอบว่า “จริงๆ อยากให้งานของเราพาให้ผู้ชมตัดสินใจบางอย่างกับตัวเอง ถ้าเขาเห็นภาพสะท้อนของสาร The Standard ในตัวเอง เขาอาจจะรู้สึกได้ว่า ‘ฉันไม่อยากอยู่สภาพชีวิตแบบนี้อีกต่อไป’ ต้องทำอะไรสักอย่างกับชีวิต หรืออาจจะรู้สึกว่า ‘ฉันก็สามารถมีชีวิตอยู่สภาพแห่งความคับแคบนี้ได้เหมือนกันนี่น่า’ หรือความคิดแบบอื่นๆ ซึ่งก็เป็นไปได้หมด ถ้าเขาได้รู้คำตอบและตัวตนของตัวเองผ่านการชมงานของเราได้ก็คงดีมากค่ะ”



งานศิลปะการแสดง The Standard จัดแสดงในเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2022 (Bangkok Art Biennale 2022) หรือ BAB 2022 ทุกวันอังคาร-ศุกร์ ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่วันที่ 22 ตุลาคม 2565 ถึง 23 กุมภาพันธ์ 2566 ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.bkkartbiennale.com หรือ Facebook Fanpage BkkArtBiennale

เรื่อง เกียรติศักดิ์ หมื่นเอ
ภาพ ณัฏฐพล เพลิดโฉม