วันอาทิตย์, พฤศจิกายน 06, 2565

ทำไมการศึกษาแบบไทยๆ จึงเน้นการเรียน ภาษาเจ้า ภาษานาย ไม่ต้องรู้ภาษาอังกฤษ?



ภาษาเจ้า ภาษานาย : ไม่ต้องรู้ภาษาอังกฤษ เพราะ “จิตรใจจะเปรี้ยวไปเสียหมด”

IN FOCUS
  • ภาษาเจ้า ภาษานาย เขียนโดย อาวุธ ธีระเอก พาเราย้อนอดีตไปดูว่า เกิดอะไรขึ้นกับการศึกษาภาษาอังกฤษของคนไทยในประวัติศาสตร์
  • เรื่องราวของหนังสือกลับไม่ได้จำกัดเฉพาะเรื่องภาษาอังกฤษ แต่ครอบคลุมให้เห็นกว้างไปถึงอุปสรรคการศึกษาทั้งระบบ ทั้งค่านิยมการเรียน และความเชื่อเกี่ยวกับการศึกษาที่ว่า “มือใครยาว สาวได้สาวเอา” มากกว่าจะมองเป็นเรื่องนโยบายที่รัฐต้องสนับสนุน
ถามกันมาตั้งแต่รุ่นพ่อแม่จนถึงคนรุ่นเราว่า ทำไมภาษาที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตและสื่อสารกับคนทั่วโลก ถึงกลายเป็นยาขม กลายเป็นสิ่งสูงเกินเอื้อมในบางครั้ง และหนักกว่านั้น บางครั้งถูกสงวนไว้ให้เป็นเรื่องของคนมียศมีฐานะ การพูดอังกฤษสำเนียงเป๊ะ เป็นเรื่องที่เข้าปากคนบางกลุ่ม นอกนั้นจัดเป็นสำเนียง ‘เมียฝรั่ง’ คล้ายกับว่าหากใครสักคนสื่อสารภาษาอังกฤษได้ดีแต่หน้าตาดูไม่ใช่กลุ่มชนชั้นที่ ‘ถูกต้อง’ พวกเขาจะถูกมองด้วยสายตาเคลือบแคลง

ภาษาต่างชาติที่เป็นของนำเข้านี้ กลายเป็นมาตรวัดความสูงต่ำของฐานันดรในไทยได้อย่างไร นั่นคือความสงสัยลึกๆ

หนังสือเล่มนี้ไม่ได้ตอบเกินเลยไปไกลถึงคำถามข้อนั้น แต่อย่างน้อย ภาษาเจ้า ภาษานาย ที่เขียนโดย อาวุธ ธีระเอก ก็ได้พาเราย้อนอดีตไปดูว่าเกิดอะไรขึ้นกับการศึกษาภาษาอังกฤษของคนไทย อาจไม่ได้สรุปแบบฟันธง แต่ทำให้เราพอเห็นภาพว่า ความสัมพันธ์ระหว่าง ‘ภาษาอังกฤษ’ กับ ‘ความเป็นเจ้าความเป็นนาย’ สัมพันธ์กันอย่างน้อยถึงสองลักษณะ หนึ่งคือ ลักษณะของการเป็นผู้เข้าถึงความรู้นี้ก่อน สองคือ ลักษณะของการเป็นผู้ควบคุมการเข้าถึงในเวลาต่อมา

จะเห็นได้ว่า แม้หนังสือมีคำอธิบายห้อยท้ายว่า ‘การเมืองเบื้องหลังการศึกษาภาษาอังกฤษ สมัยรัชกาลที่ 5’ เรื่องราวของหนังสือกลับไม่ได้จำกัดเฉพาะเรื่องภาษาอังกฤษ แต่ครอบคลุมให้เห็นกว้างไปถึงอุปสรรคการศึกษาทั้งระบบ (โดยอาศัยภาษาอังกฤษเป็นแกนหลักในการเล่าเรื่อง) ซึ่งยังคงส่งผลตามมาจนถึงปัจจุบัน ทั้งค่านิยมการเรียน และความเชื่อเกี่ยวกับการศึกษาที่ว่า “มือใครยาว สาวได้สาวเอา” มากกว่าจะมองเป็นเรื่องนโยบายที่รัฐต้องสนับสนุนทุกคนทุกชนชั้นให้ได้รับการศึกษาที่ดีที่สุด

แม้แต่ ‘เจ้า’ ก็ไม่นิยมเรียนภาษาต่างประเทศ

ก่อนที่เราจะรีบด่วนตัดสินว่า สาเหตุที่คนไทยระดับชาวบ้านร้านตลาดในอดีต ไม่เก่งภาษาอังกฤษก็เพราะพวกเขาไม่จำเป็นต้องใช้งาน อาวุธก็สะกิดให้เราเห็นความจริงหนึ่ง คือ แม้กระทั่งระดับชนชั้นนำสมัยก่อนรัชกาลที่ 3 เอง ก็ไม่ได้มีค่านิยมหรือกระตือรือร้นเรียนภาษาต่างประเทศเลย ทั้งที่สยามมีความสัมพันธ์กับชาติต่างๆ มาเนิ่นนาน เพราะวิธีการจัดการติดต่อสื่อสารหรือทำกิจการกับต่างชาติ คืออาศัยการแต่งตั้งชาวต่างชาติที่พูดภาษาไทยได้ มาดำรงตำแหน่งสำคัญๆ เองเสียเลย ไม่เว้นกระทั่งการสืบข่าวทางทหาร นี่ยังรวมถึงการแปลด้วย

“กระบวนการแปลภาษาและถ่ายเอาความรู้จากต่างชาติ ยังเห็นได้จากกรณีการแปลพงศาวดารจีนสมัยรัตนโกสินทร์ แม้หนังสือเหล่านี้มีเจ้านายและขุนนางชั้นสูงเป็นผู้อำนวยการแปล [เช่น ไซ่ฮั่นหรือสามก๊ก] แต่การแปลเหล่านี้ก็ต้องแปลกัน 2 ชั้น กล่าวคือในชั้นแรกผู้ชำนาญภาษาจีนแปลความเป็นไทยแล้วจึงให้เสมียนจด จากนั้นผู้อำนวยการแปลไทยจะเรียบเรียงให้เรียบร้อยอีกชั้นหนึ่ง” (หน้า 15)

เพราะฉะนั้น จะว่าไปแล้วในช่วงแรกนี้ ความสามารถทางภาษาต่างประเทศของคนชั้นเจ้านายกับคนธรรมดาก็คงไม่ได้ต่างกันมากนัก

เพิ่งจะเมื่อตอนเข้าสู่รัชสมัยของรัชกาลที่ 4 ภาษาอังกฤษจึงได้รับการยกระดับให้เป็นเรื่องสำคัญ

“เมื่อแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกนั้น ถ้าใครเข้มแข็งในการทัพศึกก็เป็นคนโปรด ถึงแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ใครแต่งกาพย์กลอนก็เป็นคนโปรด ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ใครสร้างวัดวาก็เป็นคนโปรด ครั้นมาถึงแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ถ้าใครรู้ภาษาฝรั่งก็เป็นคนโปรด”

คิดแบบบนลงล่าง ราษฎรควรรู้หรือไม่ควรรู้อะไร

หนังสือพาเราเดินทางไปต่อ ว่าแม้ในยุคที่ภาษาอังกฤษกลายเป็นเรื่องสำคัญ แต่ศาสตร์ความรู้เกี่ยวกับภาษาที่สองนี้กลับยังจำกัดอยู่ในกลุ่มชนชั้นเจ้าคนนายคน ที่จัดให้คนในตระกูลตัวเองได้เล่าเรียนกันเองเพื่อความก้าวหน้าในงานราชการ แต่ไม่ได้เผยแพร่ให้ราษฎรทั่วไปได้เรียน

ซึ่งนั่นก็เป็นเรื่องที่พอเข้าใจได้ เพราะทรัพยากรที่มีก็คงจะจำกัดอยู่ในตระกูลตัวเองก่อน

แต่เมื่อมองในแง่ทรัพยากรบุคคล หากมีคนรู้ภาษาเยอะขึ้นก็คงดีกว่า และแม้จะเล็งเห็นว่าความรู้นี้สำคัญในยุคที่สยามเชื่อมกับสังคมโลกและชาติตะวันตกอย่างปฏิเสธไม่ได้ และการลงทุนสร้างตึกไว้สำหรับสอนหนังสือนั้นลงทุนน้อยกว่าสร้างวัดสักหลังเสียอีก บรรดาเศรษฐีสามารถเรี่ยไรกันมาสร้างได้ไม่ยาก แต่ดูเหมือนว่าปัญหาจะไม่ใช่แค่เรื่องเงินทุน

อาวุธยกข้อความที่น่าสนใจจากหนังสือจดหมายเหตุ บางกอก รีคอร์เดอร์ (The Bangkok Recorder) พ.ศ. 2408 ที่หมอบรัดเลย์ได้ลงข้อเขียนจากผู้อ่าน แสดงความเห็นมาว่า ที่ทำแบบนั้นไม่ได้ก็เพราะ “เขารังเกียดกันอยู่ว่าทุกวันนี้พวกชาวสยาม, ได้ยินได้ฟังการต่างประเทศหนาหูเข้าจิตรใจก็จะเปรี้ยวไปเสียหมด … ครูนั้นก็จะไม่สอนแต่หนังสือแลวิชาอย่างเดียว, ก็คงจะสอนทางสาศนาที่ครูนับถือนั้นด้วย.” และว่ากลัวเด็กๆ โตขึ้นแล้วจะห่างไกลพุทธศาสนาไป ซึ่งสำหรับพวกเขา ดูเหมือนว่า (หรือใช้ข้ออ้างที่ทำให้ดูเหมือนว่า) เรื่องศาสนาต้องมาก่อนความรู้ ถ้าจะได้สักอย่าง ก็ต้องเสียสักอย่างไป (หน้า 38)

หรือความเห็นของชนชั้นนำเกี่ยวกับการศึกษาที่จัดไว้สำหรับราษฎร มองว่า ไม่ได้คาดหวังให้มีความรู้สูง แต่เป็นการศึกษาเพื่อให้ “ไพร่บ้านพลเมืองมีความรู้แลความประพฤติดี” ก็เท่านั้น และ “การจำกัดการเข้าถึงความรู้และวิทยาการตะวันตกแต่เฉพาะชนชั้นนำที่รู้จักแยกแยะถูกผิดดีชั่วเป็นอย่างดีแล้ว จึงเป็นสิ่งที่ถูกที่ควร”

เหลื่อมล้ำนำไปสู่รูโหว่

ความสนุกเริ่มขึ้น เมื่อผู้เกี่ยวข้องกับการศึกษาบางส่วนเริ่มคิดที่จะสร้างโรงเรียนสำหรับคนทุกชนชั้น โดยเฉพาะบรรดาครูที่นำเข้ามาจากสหรัฐอเมริกา เช่น จอห์น เอ. เอกิ้น (John A. Eakin) ที่แสดงความเห็นไว้ว่า “ระบบการศึกษาที่ไม่เปิดโอกาสให้กับบุตรสามัญชนนั้นเป็นความผิดพลาด” เมื่อคราวที่เขาได้รับเชิญมาเป็นครูใหญ่ให้โรงเรียนซึ่งจัดตั้งขึ้นมาเพื่อเจ้านายและบุตรขุนนางโดยเฉพาะ นอกจากจะปฏิเสธแล้วเขายังเดินทางกลับประเทศด้วย

อย่างไรก็ตาม คงไม่ใช่แค่ระบบโรงเรียนที่เซ็ตตัวเองขึ้นมาแบบนั้น แต่เพราะโครงสร้างสังคมที่มีสูงมีต่ำนี้เอง ก็ทำให้โรงเรียนอันเสมอภาคไม่อาจเกิดขึ้นได้ อย่างกรณีที่นักเรียนจำพวกเจ้านายทะเลาะวิวาทกับนักเรียนสามัญชน นำไปสู่การไล่นักเรียนสามัญชนออกอย่างเลือกไม่ได้ ทำให้เห็นว่าฐานันดรยังเป็นอุปสรรคต่อเอกภาพในหมู่นักเรียนอยู่ดี

แต่ปัญหาจากความเหลื่อมไม่ใช่แค่เรื่องขำๆ ที่ทำให้ราษฎรแค่ปวดใจ ภาวะอึกอักทำตัวไม่ถูก เกิดขึ้นเมื่อชนชั้นนำต้องหาคนมาทำหน้าที่เป็นฟันเฟืองในโลกยุคใหม่ คนแบบที่จะสามารถรับมือกับเทคโนโลยีและศาสตร์ใหม่ๆ อย่างการสร้างแผนที่และดำเนินงานโทรเลข ซึ่งมีบทบาทสำหรับการพัฒนาประเทศในจังหวะสำคัญๆ แต่ชนชั้นนำกลับหาสามัญชนมาทำหน้าที่นี้ไม่ได้ทันท่วงที เพราะไม่มีใครรู้ภาษาอังกฤษเลย (ซึ่งสำคัญทั้งในแง่การเป็นเครื่องมือเพื่อเข้าไปแสวงหาความรู้เพิ่มเติม และใช้ในการปฏิบัติหน้าที่)

พร้อมๆ กับการที่หน้าที่เหล่านี้ก็ดูเล็กเกินไป ไม่สลักสำคัญ และไม่มีโอกาสก้าวหน้าในวงราชการ ทำให้ไม่มีชนชั้นนำที่มีความรู้และ ‘เลือกได้’ ที่ไหนอยากจะมาฝังตัวเข้าทำงาน

ทรัพยากรบุคคลที่ถูกเบื้องบนเร่งรัดให้ต้องจัดหา จึงดูเหมือนความว่างเปล่าที่ไขว่คว้าเอามาไม่ได้เลยสักคน

แต่ดูเหมือนจะกี่ยุคๆ เราก็ไม่ค่อยได้บทเรียนกันสักเท่าไร เรื่องราวการจำกัดการศึกษายังดำเนินต่อไป ทั้งการลดเงินอุดหนุนนักเรียนในปี พ.ศ. 2432 ซึ่งให้เหตุผลเหวอๆ ว่า การเก็บค่าใช้จ่ายต่างๆ เป็นไปเพื่อกระตุ้นให้นักเรียนหมั่นเรียนมากขึ้น และเพื่อ “มิให้มีคนเลวมาปะปนเป็นนักเรียน” ชวนให้คิดว่าคนเลวในที่นี้หมายถึงคนจนไม่มีสตางค์จะเรียนหรือเปล่า

หนังสือเล่มนี้ ทำให้เราเห็นภาพอดีตการศึกษาอันล้มเหลวที่ผ่านมา ว่าไม่ใช่แค่เรื่องคนแต่ละคนไม่ใส่ใจจะศึกษาเล่าเรียน แต่บางครั้ง ต่อให้ใฝ่เรียนแค่ไหน ก็มีอุปสรรคการโดนขัดขามาตลอดทาง

และที่สำคัญ ข้ออ้างที่ใช้เพื่อจำกัดการศึกษาของคนบางกลุ่มของสังคม ก็ยังเป็นข้ออ้างเดิมๆ ที่ไม่ได้มีพัฒนาการเท่าไร และยังใช้ซ้ำมาจวบจนปัจจุบัน

FACT BOX

ภาษาเจ้า ภาษานาย การเมืองเบื้องหลังการศึกษาภาษาอังกฤษ สมัยรัชกาลที่ ๕ เป็นหนังสือที่ปรับปรุงจากวิทยานิพนธ์อักษรศาสตรดุษฎีบัณฑิต เรื่อง “การจัดการศึกษาภาษาอังกฤษของรัฐสยาม ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” โดย อาวุธ ธีระเอก ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปีการศึกษา 2557 และนำมาตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มติชน