วันเสาร์, เมษายน 02, 2565
PHOTO STORY: สนามหลวงไม่ใช่สนามเรา? รอบรั้วสนามหญ้าสะอาดตา ชีวิตมวลประชาเป็นอย่างไร (ไม่แคร์?)
BrandThink
12h ·
‘สนามหลวง’ สำหรับคุณคือสนามอะไร?
.
ลานสนามหญ้ากว้างหน้าพระบรมมหาราชวังและวัดพระแก้วแห่งนี้เคยใช้ชื่อว่า ‘ทุ่งพระเมรุ’ ก่อนรัชกาลที่ 4 จะเห็นว่าชื่อนี้ฟังแลดู ‘อวมงคล’ ดังนั้น ตั้งแต่พ.ศ.2398 เป็นต้นมา จึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น ‘ท้องสนามหลวง’ อย่างที่เรารู้จักในทุกวันนี้
.
สนามหลวงมีชีวิตมาหลายร้อยปี เรือนร่างของมันถูกใช้ในหลายวัตถุประสงค์
บ้างเพื่อพระราชพิธี บ้างเพื่อประชาชนทั่วไป บางคนอยู่ทันในยุคสมัยที่มันถูกใช้เป็นสถานที่หย่อนใจ นั่งชมวิว เล่นว่าว บางคนรู้จักมันก็ในวันนี้ — วันที่กลายเป็นสนามหญ้าเขียวโล่งสะอาดตา สวมใส่เสื้อผ้ามิดชิดด้วยรั้วเหล็กสีเขียว
.
ไม่เพียงแค่นั้น สนามหลวงยังกลายเป็นที่ให้คำวิพากษ์วิจารณ์ถกเถียงกระเด้งกระดอนไปมาบนตัวมัน ทั้งคำเรียกร้องให้เรือนร่างสนามหลวงเป็นไปอย่างสะอาดอัดแน่นด้วยระเบียบ ขณะเดียวกันก็มีการเปล่งเสียงขอทวงคืนวันวานเก่าๆ เมื่อครั้งสนามหลวงคือ ‘สนามเรา’
.
ทว่าข้อถกเถียงเหล่านั้นยังไม่สิ้นสุด เช่นเดียวกับชีวิตผู้คนที่หมุนเวียนวนล้อมรอบ ‘ท้องสนามหลวง’
.
เรื่อง: จิราพร จันทะ
ภาพ: StationNo.1-1
วันนี้เป็นอีกวันที่ดวงอาทิตย์ออกฤทธิ์เป็นพิเศษ
.
แสงตะวันสะท้อนไปบนหลังคาอุโบสถกับเจดีย์วัดพระแก้ว คลื่นความร้อนเผาผิว ลมอุ่นเกินสบาย ผู้คนหลากหลายเริ่มเดินบริเวณสนามหลวงกันควั่กไขว้ในช่วงเวลาเลิกงาน
.
‘ข้างนอก’ รั้วเขียวรอบสนามหลวง ผู้คนทำหน้านิ่วคิ้วขมวด ยากที่จะหยั่งรู้แน่ชัดว่าเพราะอะไร? อาจเพราะความร้อนของไอแดด อาจเพราะอารมณ์หงุดหงิดจากฟุตบาทที่มีต้นไม้ขวางจนต้องลงเดินบนถนน หรืออาจเพราะเศรษฐกิจไม่ดีในยุคโควิด อะไรก็เป็นไปได้ทั้งนั้น
.
ตรงกันข้ามกับ ‘ข้างใน’ รั้วเขียวรอบสนามหลวง หญ้าสีเขียวสดทอดกายสงบเงียบขัดกับความวุ่นวายข้างนอกรั้ว มีเพียงชีวิตของฝูงนกกาอยู่บนนั้น ทางเดินรอบๆ มีคนมาวิ่งสู้ร้อนบ้างประปราย ผสมกับชายชุดฟ้าทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยอยู่เป็นจุดๆ
.
ตอนนั้นเองที่เราตะโกนเรียกเจ้าหน้าที่รปภ.วัยรุ่นสองคนมาพูดคุยด้วย
บริเวณป้ายรถเมล์ริมรั้วสนามหลวง บางคนก็ต่อสู้อาการเมื่อยขาเพราะไร้เก้าอี้รอนั่งรถเมล์ ด้วยการ ‘นั่งดะ’ ตรงไหนก็ได้ที่นั่งได้ อาจเป็นนั่งบนเก้าอี้พลาสติกผุพังสีขาวสองตัว นั่งบนตอเสาสั้น ไม่ก็นั่งบนขอบริมฟุตบาทท้ารถเมล์ที่ขับเฉียดไปมา
.
เราเรียกรปภ. สองคนที่ซ้อนกันอยู่บนมอเตอร์ไซค์ขับเอื่อยๆ หวังจะขอสอบถามข้อมูลเรื่องการจัดระเบียบสนามหลวง เมื่อทั้งสองขับเข้ามาใกล้ๆ จึงได้รู้ว่าทั้งคู่ยังเป็นวัยรุ่น สองคนไม่ขอเปิดเผยชื่อ เพราะเพิ่งมาทำงานได้ไม่นาน มีบ้านอยู่แถวจรัญสนิทวงศ์ไม่ไกลจากที่นี่ พวกเขารับงานนี้ตามคำแนะนำของญาติ
.
คนหนึ่งกล้าพูดกว่าอีกคน และเป็นผู้อธิบายให้ฟังคร่าวๆ ว่าตอนนี้สนามหลวงทำอะไรได้บ้าง ไม่ได้บ้าง
.
ที่ทำได้ คือ มีวิ่ง เดินเล่นหย่อนใจ และจริงๆ สนามหญ้าก็พอมานั่งเล่นได้ แต่ต้องรักษาความสะอาด และขอให้สถานะคนนอนไม่ใช่ ‘คนไร้บ้าน’ ก็เพียงพอ ส่วนที่ทำไม่ได้ คือ จัดกิจกรรมใหญ่ๆ ปั่นจักรยาน เล่นสเกตบอร์ด
.
รปภ.สองคนนี้ ดูภูมิใจกับงานที่ตนเองทำ เขากล่าวว่าชอบความเป็นระเบียบเรียบร้อย ส่วนตัวชอบให้มีการจัดการ ดีกว่าปล่อยปละละเลยเหมือนอดีต ที่บางทีก็จะมีคนไร้บ้านเข้ามาอยู่อาศัย นอนอยู่ทั่วไปหมด บางทีก็ปัสสาวะรดต้นไม้ส่งกลิ่นเหม็นหึ่ง สำหรับเขาสนามหลวงในตอนนี้จึงดีกว่าเมื่อก่อน
.
“พี่ชอบไหมล่ะกลิ่นเหม็นๆ อ่ะ” เขาย้อนถามเราหนหนึ่ง
“สะอาดขึ้น สง่า เป็นเกียรติของประเทศไทย”
.
นี่คือสิ่งที่ ทองจันทร์ มาโนช แม่ค้าวัย 60 ปี คิดเห็นเกี่ยวกับสนามหลวงในตอนนี้
.
ทองจันทร์ไม่มีปัญหากับรั้วเขียวกั้นสนามหลวง แต่เธอมีปัญหากับความไร้ระเบียบในสมัยก่อนมากกว่า
“พวกที่ไม่มารอรถก็เป็นคนเร่ร่อน ทำให้เป็นแหล่งอันตราย ล้อมไว้แบบนี้ถูกต้องแล้ว คือไม่ให้มีมิจฉาชีพไง ถ้าเปิดรั้ว ถ้ามีต้นไม้ ยังไงพวกเร่ร่อนจรจัดก็ต้องมาซุกหัวนอนเหมือนเดิม
.
ทองจันทร์เล่าว่าเธอสัญจรไปมาแถวนี้เป็นสิบปีแล้ว ตั้งแต่สมัยจำลอง ศรีเมือง เป็นผู้ว่าฯ กทม.
.
“ตอนนั้นโจรชุมมาก เพราะว่ากรุงเทพฯ มีคนจนเยอะ เดี๋ยวนี้คนจนไม่ได้มาสนามหลวงแล้ว คนจนไปอยู่ไหนไม่รู้ เขาไล่หนีหมดแล้ว เหลือแต่พวกที่มีธุระจะมาต่อรถไปนู่นไปนี่ ทำแบบนี้ก็ดูดี เป็นระเบียบ ทำให้ประเทศไทยดูมีศักดิ์ศรี มีวิวทิวทัศน์สวยงาม” เธอกล่าว
.
รถเมล์สายที่เธอรอมาเทียบท่า เธอเร่งยกถุงพะรุงพะรังขึ้น บทสนทนาจึงต้องถูกตัดจบ
“สนามหลวงเปลี่ยนไปเยอะ”
.
สุนทรีย์ ขำทวี วัย 70 ปี เล่าชีวิตของเธอที่วนเวียนอยู่กับที่แห่งนี้มานานหลายสิบปี ด้วยเพราะทำงานอยู่แถวนี้ จึงได้มารอรถเมล์บริเวณนี้เป็นประจำ
.
“สนามหลวงเปลี่ยนไปเยอะ สะอาดขึ้น เรียบร้อยขึ้น ทำให้มันสะอาดมันก็ดีนะ แต่ว่า ความลำบากในการสัญจรไปมามันก็ไม่เปลี่ยนแปลง” เธอกล่าว
.
สุนทรีย์เล่าว่าสายรถเมล์ที่เปลี่ยนเส้นทางก็เป็นส่วนหนึ่งของปัญหา เส้นทางเปลี่ยนที่จอด ต้องเสียค่าเดินทางเพิ่ม เธอเป็นคนมีรายได้น้อยอยู่แล้ว ต้องพึ่งพาสวัสดิการรัฐใช้ลดราคาตั๋วรถเมล์ลงครึ่งหนึ่ง ซึ่งบางคันก็ให้ใช้ บางคันก็ไม่ให้ใช้
.
เราถามเธอว่า สนามหลวงควรปรับปรุง สร้างประโยชน์อะไรเพิ่มเติมไหม?
.
“อ๋อ สร้างประโยชน์น่ะเหรอ” เธอพูดเสียงเบาลง ดูลังเลก่อนกล่าวต่อ “ป้าคงออกความเห็นไม่ได้ เพราะป้าเป็นแค่คนธรรมดา”
.
แต่สุดท้ายในฐานะคนธรรมดา เธอแอบหวังให้การเดินทาง รถราดีขึ้น เข้าถึงง่ายขึ้น คนเฒ่าคนแก่จะได้ไม่ลำบาก และอยากให้มีที่นั่งรอรถโดยสาร เพราะอย่างเธออายุเยอะ เวลารอรถ ถ้าโชคดีก็รอไม่นานสิบนาที แต่วันดีคืนดีก็ต้องทนฝืนยืนเมื่อยอยู่ครึ่งค่อนชั่วโมง
.
ส่วนเรื่องอากาศร้อนไม่มีที่บัง เธอบอกว่า “ก็ต้องทนเอา ไม่รู้จะไปฟ้องร้องเอากับใคร”
สุนทรีย์เล่าให้ฟังถึงวันวานในอดีตของสนามหลวงว่า
.
“สมัยก่อน สนามหลวงไม่ได้เป็นแบบนี้ ตั้งแต่ป้าสมัยเด็กๆ อ่ะ มันเป็นที่รื่นเริง เล่นว่าว มานั่งพักผ่อน ซื้ออะไรมากิน ตอนนี้ไม่มีแล้ว เขาไม่ให้ทำแล้ว มันก็ยุคใครยุคมัน”
.
“ยุคป้า ป้าก็ว่าดี เวลาเหงาๆ มานั่งเล่น ถึงเวลาก็กลับ แต่ยุคนี้เขาทำความสะอาด ไม่รู้ว่าดีหรือไม่ดี เขาคงคิดว่าดี แต่บางครั้งเราก็คิดว่ามัน…เปล่าประโยชน์ บางครั้งก็คิดว่า เพื่ออะไร ทำเพื่ออะไร เราก็ไม่รู้ว่าเขาทำเพื่ออะไรเหมือนกัน คนก็นั่งเล่นไม่ได้ อะไรแบบเนี้ย”
.
สุนทรีย์คิดถึงเมื่อครั้งสมัยสนามหลวงยังพอเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจได้
.
“อยากให้มีการละเล่นเหมือนสมัยก่อน เอาแค่ว่าวอ่ะ พาลูกหลานมานั่งเล่น ปู่ย่าตายายก็นั่งดูกันไป น่าจะดีกว่า”
.
เราถามว่า ชอบสนามหลวงในตอนนี้ไหม?
.
“ส่วนตัวก็เฉยๆ อย่างงั้นๆ แหละ ถ้าปรับปรุงได้ดีกว่านี้ก็ดี ให้มันน่ามาเที่ยว”
.
เธอเหลียวมองสนามหลวงซึ่งไร้ผู้คนอีกครั้ง เงียบคิดเพียงครู่ ก่อนจะกล่าวอีกครั้งว่า
.
“ไอ้นี่ ดูแล้วมัน ‘แห้งแล้ง’ อ่ะ มันไม่สดใส เห็นแต่หญ้าเขียวชอุ่ม”
.
คำคุณศัพท์ซึ่งย้อนแย้งกับคำนามทำให้เราฉุกคิด และนึกสงสัยว่าจะมีอีกกี่คนที่คิดแบบเธอ ผู้ซึ่งตีความเขียวชอุ่มไร้คนของสนามหลวงให้เป็นความแห้งแล้ง
.
วันนี้เป็นอีกวันที่สุนทรีย์ต้องรอรถอยู่นานกว่าจะได้ก้าวเท้าขึ้นรถเมล์สาย 203
มีอีกหลายคนที่คับข้องใจต่อบทบาทของสนามหลวงในปัจจุบัน และต้องการทวงคืนสนามหลวงให้กลับมาเป็น ‘สนามเรา’ หนึ่งในนั้นคือ ‘วิโรจน์ ลักขณาอดิศร’ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. พรรคก้าวไกล
.
สำหรับ ส.ส.วิโรจน์ การทวงคืนสนามหลวง คือการคืนชีวิตผู้คน คืนย่าน พื้นที่พักผ่อนหย่อนใจ และคืนการเดินที่สะดวกสบาย เพราะการจัดระเบียบที่แล้วมาละเลยชีวิตของคนกทม.
.
เขาชี้นิ้วโป้งไปทางด้านหลังของเขาซึ่งเป็นสนามหลวงเงียบสงบไร้ผู้คน
.
“ที่สำคัญที่สุดคือคุณเห็น ‘รั้ว’ นั้นไหม ที่คุณขึงมาถึงขนาดนี้ ผมถามว่าคนเดินเท้าจะเดินอย่างไร อย่าว่าคนตาบอดเลย อย่าว่าคนที่ใช้วีลแชร์เลย คนปกติทั่วไปก็เดินไม่ได้ เพราะจะเจอต้นไม้สีเขียวๆ ขวางทางเดินอยู่ ป้ายรถเมล์ตรงนี้มีรถเมล์ผ่านถึง 15 สาย คุณไม่เผื่อที่คนยืนรอรถเมล์เลยเหรอ”
.
“สนามหลวงก็คือ สนามหรือลาน ที่ดูแลโดยใช้ภาษีของประชาชนเพื่อประโยชน์ของสาธารณะ ณ วันนี้ เราต้องมาดูนะครับว่า ประโยชน์สาธารณะที่เกิดขึ้นจากสนามหลวงมันถูกจำกัดตัวลงมากนะ ไม่ได้บอกว่าใช้ไม่ได้นะ แต่การใช้งานของสนามหลวงมีข้อจำกัดอย่างมาก และเบียดบังประชาชนอย่างมาก”
.
ส.ส. วิโรจน์แถลงในวันลงพื้นที่สนามหลวงเมื่อ 24 มีนาคมที่ผ่านมา
แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะเห็นพ้องกับ ส.ส. วิโรจน์ ถ้อยคำทวงคืนวันวานสนามหลวงในฐานะที่สาธารณะเพื่อกิจกรรมของประชาชน สร้างความไม่สบายใจให้กับ ‘พนิต วิกิตเศรษฐ์’ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์
.
พนิตโพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊กส่วนตัว Panich Vikitsreth - พินิต วิกิตเศรษฐ์ กล่าวว่า ถ้อยแถลงของส.ส. วิโรจน์ เป็นการให้ข้อมูลและสร้างความเข้าใจผิดให้กับประชาชนที่รับข่าวสารเรื่องนี้
.
พนิตแถลงว่า เมื่อเดือนกันยายนปี 2563 กทม. สำนักงานเขตพระนคร ได้มีการนำป้ายอนุญาตการเข้าใช้พื้นที่ของประชาชน ตั้งแต่เวลา 05.00-22.00น. ซึ่งเป็นการดำเนินการตามประกาศ กทม.เมื่อปี 2555 ที่อนุญาตให้ประชาชนสามารถเข้าไปออกกำลังกาย พักผ่อนหย่อนใจ หรือมีกิจกรรมสันทนาการได้ตามเวลาที่กำหนด เพียงแต่กิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มคนจำนวนมาก ยังจำเป็นต้องขออนุญาตจากกทม.
.
“ผมเห็นว่า คุณวิโรจน์เป็นนักการเมืองรุ่นใหม่ แต่อยากขอแนะนำว่า การประกาศนโยบายอะไรควรต้องศึกษาสิ่งเหล่านั้นให้ตกผลึกก่อน ต้องรู้ลึก รู้จริง โดยเฉพาะ ‘สนามหลวง’ สถานที่สำคัญของกรุงเทพฯ เพราะหากจะแก้ปัญหาให้คนกรุงได้เราจำเป็นต้องรู้ดีในเรื่องนั้น อย่าให้ใครมาว่าได้ว่า ยังไม่รู้จักกรุงเทพฯ ดีพอ แล้วจะมาอาสาแก้ปัญหาให้คนกรุงเทพฯ ได้อย่างไร”
.
พนิตตั้งข้อสงสัยด้วยว่าส.ส. หวังผลอะไรแอบแฝงหรือไม่ พร้อมขึ้นแฮชแท็ก #หยุดเล่นการเมืองหมิ่นเหม่ พร้อมสนับสนุนให้ชูนโยบายสร้างสรรค์เพื่อคนกรุงเทพฯ
ในวันอากาศร้อน ชายคนหนึ่งเดินเลียบมาตามทางเดินแคบ เขายกมือขึ้นสะบัดแสดงอารมณ์ซึ่งซ่อนอยู่ใต้หน้ากากอนามัย
เมื่อหลายประเทศเริ่มเปิดพรมแดน จึงไม่แปลกที่บางทีจะเห็นนักท่องเที่ยวมาเดินรอบสนามหลวงซึ่งรอบล้อมด้วยสถานที่ท่องเที่ยวดังๆ หลายแห่ง เช่น วัดพระแก้ว
.
แต่เพราะต้นไม้เบียดกับฟุตบาธจนเหลือพื้นที่ให้เดินนิดเดียว นักท่องเที่ยวหลายคนจึงไม่มีทางเลือกให้ต้องลงเดินบนถนน ไม่ก็พยายามเลียบๆ เคียงๆ ไปกับพื้นที่เดินซึ่งเหลืออยู่น้อยนิด
.
น่าสนใจทีเดียวว่านักท่องเที่ยวเหล่านี้จะคิดเช่นไร หรือคำตอบนั้นอาจเฉลยไว้อยู่แล้วบนสีหน้าพวกเขา?
แม่จูงลูกสาวซึ่งกำลังใส่ชุดคอสเพลย์จากซีรี่ย์ดัง ‘สควิดเกม’ เลียบเคียงไปตามฟุตบาธเพื่อหลบหลีกพุ่มไม้
ที่บริเวณป้ายรถเมล์นอกรั้วสนามหลวง เก้าอี้นั่งรอสีขาวเป็นของผู้โชคดีมาถึงก่อน ส่วนตอเสาสั้นสีเขียวรับบทที่นั่งจำเป็นของคนไม่อยากทนเมื่อย
.
ภาพเช่นนี้มีให้เห็นทุกวัน…
.
เรื่อง: จิราพร จันทะ
ภาพ: StationNo.1-1