ผ่านกรรมาธิการไปแล้ว ร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการเลือกตั้ง เกิดการพลิกล็อคชนิดที่พรรคร่วมรัฐบาลขนาดใหญ่อย่าง พลังประชารัฐ ประชาธิปัตย์ และภูมิใจไทย พร้อมใจสละโอกาสหาเสียงง่าย จัดการเลือกตั้งสะดวก ไปสู่การสกัดกั้นฝ่ายตรงข้าม
ในการเล่นไพ่ชนิดที่ต้องใช้ความคิด วางแผน และล่อหลอก เช่นโป๊กเกอร์ บริดจ์ และรัมมี่ การ ‘กัน’ หรือสกัดไม่ให้ผู้เล่นอื่นๆ ทำแต้มได้ เป็นหนทางให้ตนเองชนะในที่สุด ผลการลงมติต่อร่าง กม.เลือกตั้ง อย่างท่วมท้น ๓๒ ต่อ ๑๔ บ่งบอกอย่างนั้น
ก่อนการประชุมลงมติ “หลายฝ่ายคาดการณ์ว่าผลจะออกมาเป็น ‘บัตร ๒ ใบ เบอร์เดียวกัน’ เพราะแกนนำหลายพรรคการเมืองออกมาสนับสนุน แม้แต่พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งมีคนของพรรคเป็นประธาน กมธ.เอง” บทวิจารณ์ของ www.nationtv ระบุ
ดร.สติธร ธนานิธิโชติ แห่งสถาบันพระปกเกล้าฯ บอกว่า “พรรคใหญ่ร่วมรัฐบาลเจอผลกระทบอยู่บ้าง” ทั้ง พปชร. ภท. และ ปชป. โดยเฉพาะ ปชป. “คนละเบอร์ก็ยังพอไปได้ แต่อาจต้องทำงานมากขึ้น” ถึงอย่างนั้นเล่นเตะตัดขาพวกคู่แข่งไว้ก่อนดีกว่า
ข้ออ้างแบบนอกหน้าเจาะจงที่รัฐธรรมนูญมาตรา ๙๐ กำหนดให้ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเสียก่อน แล้วจึงมีสิทธิส่งสมัครแบบบัญชีรายชื่อ จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะได้เบอร์เดียวกัน แต่เบื้องลึกนั่นเพื่อป้องกันไม่ให้พรรคเพื่อไทยได้คะแนนเสียง ‘แลนด์สไล้ด์’ ดังโฆษณากัน
เมื่อครั้งที่ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ชนะเลือกตั้งนั้นใช้เวลาหาเสียงเพียง ๔๙ วัน คราวนี้ ‘อุ๊งอิ๊ง’ แพทองธาร ชินวัตร ดูท่าจะมาแรงเนื่องจากประโคมกันมโหฬาร ทั้งที่ยังไม่มีการประกาศตัวเป็นทางการ เจ้าตัวเองก็ยังแบ่งรับแบ่งสู้อยู่ บอกขอผลักรัฐบาลนี้ออกไปก่อน
สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต กกต.ให้ความเห็นถึงข้ออ้างของฝ่ายไม่เอา ‘บัตรใบเดียว’ ว่าจะทำให้เกิดการซื้อเสียงง่าย นัยว่าถ้าแยกเบอร์ระหว่างผู้สมัครแบ่งเขตกับบัญชีรายชื่อแล้ว “จะได้ซื้อยากอีกนิด” กับอีกเหตุว่า ถ้า “กาง่าย ไม่ค่อยได้คิด” จึงอยากให้ “คิดไตร่ตรองเยอะๆ จำเบอร์มาแม่นๆ”
เขาปรามาสว่า “อย่าหวัง การเมืองไทยจะพูดคุยด้วยเหตุผล เพราะทุกอย่างเป็นผลประโยชน์ทั้งสิ้น” และ “ประเทศไทยไม่มีเหตุผลในการเปลี่ยนแปลงกฎหมาย ไม่ได้มีเหตุผลจากประโยชน์ประชาชน แต่เป็นเหตุผลที่มาจากฝ่ายการเมืองเป็นหลัก” มาตรา ๙๐ จึงเป็นชนักปักอกอยู่
พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย อจ.นิติศาสตร์ จุฬาฯ อธิบายถึงมาตรา ๙๐ ที่เสียงข้างมาก กมธ.อ้าง ว่า “เป็นผลพวงจากการที่ไปออกแบบระบบรัฐธรรมนูญการจัดสรรปันส่วน ผสมในการเลือกตั้งแบบเดิม จึงต้องเขียนมาตรา ๙๐ ขึ้นมา”
แต่เมื่อมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเอา บัตรเลือกตั้งสองใบเข้ามาใช้ แต่ยังไม่แก้ไขมาตรา ๙๐ ให้สอดคล้องไปด้วย “จึงเป็นการผิดฝาผิดตัว ย้อนแย้งในตัวเอง” เพราะในการเลือกตั้งแบบเดิม “มันมีการผูกโยงระหว่างการคำนวณการลงคะแนนแบบแบ่งเขต”
คือเอาคะแนนแบ่งเขตตรงนั้นมาเป็นฐานคิดสำหรับการกำหนดบัญชีรายชื่อ ซึ่งมันต้องเปลี่ยนไปแล้วสำหรับรัฐธรรมนูญที่ได้แก้ไขใหม่ “การคิดคะแนน ส.ส.แบ่งเขต กับ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ มัน Parallel มันแยกขาดออกจากกัน” เอามาอ้างทำเบอร์เลือกตั้งให้สับสน
ในประเด็นที่ว่าแยกเบอร์แล้วทำให้การซื้อเสียงยากขึ้น พรสันต์ชี้ว่า “เหตุผลนี้ไม่มีน้ำหนักทางรัฐธรรมนูญ” เพราะ “ไปทำลายโครงสร้างของระบบการเลือกตั้งทั้งหมด แบบใหม่ที่แก้ไขไป...แล้วการแก้ปัญหาซื้อเสียงเป็นระบบการบริหารจัดการ มีองค์กรอิสระ เราจะมี กกต.ไว้ทำไม”
ถ้างั้น ‘บัตรสองใบคนละเบอร์’ ได้ประโยชน์อะไร ตอบได้ว่าประโยชน์อยู่ที่ทำให้ฝ่ายค้านเดี๋ยวนี้ไม่ได้ประโยชน์จากการแยกบัตรสองใบ ต้องย้อนไปที่ สติธร สถาบันปกเกล้าฯ ว่าไว้ “พรรคที่ได้รับผลกระทบมากสุด คือก้าวไกล
เพราะกระแสพรรคเด่น แต่ตัวบุคคลในแบบแบ่งเขตยังเป็นรอง เนื่องจากเป็นผู้สมัครหน้าใหม่” ในพื้นที่แข็งสู้พรรคการเมืองเก่าๆ ไม่ได้ “สะท้อนได้ชัดสมัยตอนพรรคอนาคตใหม่ที่ได้คะแนนมาจากกระแสพรรคล้วนๆ” นอกนั้นยังมีผลพลอยได้
“อีกมุม เป็นอานิสงส์ให้เพื่อไทยแข่งกับก้าวไกลได้ง่ายขึ้น สามารถชิงคะแนนกลับมาได้ง่าย” อ้า อย่างนี้นี่เอง ผลงานกรรมาธิการ กม.เลือกตั้ง ๓๒ คน นี่อาจไม่เด่นชัดนักว่าออกแบบให้ ‘พวกเรา’ ได้เปรียบ แต่แน่ๆ ทำให้ ‘พวกเขา’ เสียเปรียบ
(https://www.nationtv.tv/news/378868599dwX8, https://www.facebook.com/thestandardth/posts/3005550156404523 และ https://www.facebook.com/workpointTODAY/posts/1882151635487439)