ความสนใจในเรื่องการปฏิวัติฝรั่งเศสของสังคมไทยมักแสดงออกใน 2 มิติที่ต่างกันโดยสิ้นเชิง มิติแรก สนใจแบบลุ่มหลงและใฝ่ฝันถึง มิติที่ 2 สนใจแบบรังเกียจเดียดฉันท์และหวาดกลัวในฐานะที่เหตุการณ์นี้เป็นตัวอย่างอันเลวร้าย
ความสนใจทั้งสองมิตินี้ยังไม่เพียงพอต่อการศึกษาการปฏิวัติฝรั่งเศสอย่างลึกซึ้ง ฝ่ายหนึ่งทำให้การปฏิวัติโรแมนติก ส่วนอีกฝ่ายก็ทำลายความชอบธรรมของการปฏิวัติ โดยละเลยสาเหตุความเป็นมา ปรัชญาการเมืองเบื้องหลัง ตลอดจนการตีความของนักประวัติศาสตร์
รศ.ดร.ปิยบุตร แสงกนกกุล กล่าวถึงที่มาของหนังสือ “ภูมิปัญญาปฏิวัติฝรั่งเศส” บนเวทีเสวนา “Book Journey” งานสัปดาห์หนังสือครั้งที่ 50 ของสำนักพิมพ์มติชน หัวข้อ “อาวุธทางภูมิปัญญา สู่การปฏิวัติฝรั่งเศส” เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2565 ว่า เวลาเราพูดถึงการปฏิวัติฝรั่งเศสในสังคมไทย แบ่งออกเป็น 2 ฝั่ง ไม่ชอบก็ชัง โดยที่ไม่ได้ดูว่าเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิด และทำให้แตกแยกกันคืออะไร
การปฏิวัติฝรั่งเศสมีเหตุปัจจัยในทางเศรษฐกิจ สังคม จึงมีนักประวัติศาสตร์ที่เขียนประวัติศาสตร์แตกออกเป็นหลายแนว มีรายละเอียดการอภิปรายกันของสมาชิกสภาฝ่ายต่าง ๆ ซึ่งเรื่องเหล่านี้น่าสนใจ เพราะเหตุการณ์ในทางประวัติศาสตร์มีรายละเอียดมากกว่านั้น ยังไม่นับรวมว่านักประวัติศาสตร์ก็ตีความไม่เหมือนกันด้วย
“ผมตั้งใจเขียนงานชิ้นนี้ออกมาเพื่อไปให้ไกลกว่า ใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไหร่ อย่างไร แล้วก็จบ แต่ไปให้ไกลกว่าเดิมตรงที่ว่า เหตุปัจจัยการปฏิวัติเกิดจากอะไร นักปฏิวัติที่อยู่ในนั้นเขาอภิปรายอะไรกันในสภา มากกว่าจะมองเขาเป็นแค่วีรบุรุษ-วีรสตรีเท่านั้น แต่ดูว่าอะไรทำให้เขาเปลี่ยนความคิด แล้วตอนเขาอภิปรายจบเขาพูดอะไร เขามีปรัชญาการเมืองอะไรกำกับอยู่เบื้องหลัง”
ปฏิวัติเพื่อให้คนมีเงินมีบทบาททางการเมือง
ภูมิปัญญาของ ซิแยส (Sieyès) เขาเป็นคนหัวก้าวหน้ามาก แต่เมื่อปฏิวัติสำเร็จและรุดหน้าไปกว่าเดิม เขากลับกลายเป็นอนุรักษนิยม กล่าวคือ ในช่วงที่ฝรั่งเศสปกครองด้วยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซิแยสต้องการปฏิวัติ ทำลายระบบอภิสิทธิ์ชน ระบบขุนนางลง แล้วก็สนับสนุนให้ชนชั้นใหม่ในฝรั่งเศสเวลานั้น ที่เป็นสามัญชนคนธรรมดา แต่สะสมทรัพย์สิน มีความรู้ มีอำนาจในทางเศรษฐกิจมากกว่า ได้ขึ้นมามีบทบาททางการเมือง
ขณะเดียวกัน เมื่อการปฏิวัติรุดหน้ามากขึ้น ชนชั้นล่างก็ออกมาเรียกร้องสิทธิ และอำนาจของตัวเองเช่นกัน ชนชั้นล่างไม่เพียงต้องการปฏิวัติในทางการเมืองเท่านั้น แต่ต้องการปฏิวัติทางเศรษฐกิจ ต้องการเรื่องความเสมอภาค ต้องการการรับประกันว่าชีวิตของเขาจะอยู่ดีกินดีด้วย ดังนั้น ชนชั้นล่างจึงเรียกร้องให้ไปไกลกว่าเดิม
ปี 1789 ซิแยสเขียนหนังสือ “อะไรคือฐานันดรที่ 3” เพื่อปลุกเร้าให้ฐานันดรที่ 3 ปฏิวัติ แต่ปี ค.ศ. 1799 เขากลับเป็นคนยุแยงนโปเลียน โบนาปาร์ต ทำรัฐประหาร เพื่อรักษาความสงบ ดังนั้น การปฏิวัติในความคิดของซิแยสคือปฏิวัติเพื่อสามัญชนที่มีทรัพย์สิน ไม่ได้คิดต่อถึงการปฏิวัติเพื่อสร้างความเสมอภาคด้วย
ทำบางสิ่งแทนสมบูรณาญาสิทธิราชย์
อีกหนึ่งคนที่มีความสำคัญต่อการปฏิวัติฝรั่งเศสคือ ต็อกเกอวิลล์ (Tocqueville) ซึ่งเป็นคนเขียนหนังสือ “ระบอบเก่าและการปฏิวัติ” โดยอธิบายว่าการปฏิวัติฝรั่งเศสไม่ใช่ ค.ศ. 1789 แต่มีเหตุการณ์ก่อนหน้านั้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 1770 เกิดขึ้นเรื่อยมากระทั่งถึงปี 1789
เรื่องที่น่าสนใจคือ การปฏิวัติฝรั่งเศสทำในสิ่งที่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์อยากทำแต่ทำไม่สำเร็จ อย่างเช่น ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ต้องการรวมประเทศ สร้างรัฐเดี่ยวที่มีเอกภาพ ไม่อยากให้เป็นแว่นแคว้นกระจายไปในถิ่นต่าง ๆ แต่เมื่อพอเกิดการปฏิวัติฝรั่งเศสเกิดขึ้น ในสมัยนโปเลียน โบนาปาร์ต มีการทำกฎหมายฉบับเดียวใช้ได้ทั้งประเทศ สร้างการปกครองที่แบ่งเป็นจังหวัดจังหวัดแล้วส่งผู้ว่าฯไปกินเมือง นี่คือประเด็นที่หนึ่งที่ต็อกเกอวิลล์ ตั้งข้อสังเกต
“ผมจึงนึกไปถึงบทความ ‘มรดกสมบูรณาญาสิทธิราชย์’ ของอาจารย์ธงชัย วินิจจะกูล ที่ท่านกล่าวว่า ภายหลังปี 2475 มีหลายเรื่องที่นำวิธีคิดแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาทำ ผมจึงคิดว่าอย่าตัดสินการปฏิวัติเป็นสีดำ-ขาว มีหลายเรื่องที่การปฏิวัติทำให้ความต้องการของระบอบเก่านั้นสำเร็จ”
การปฏิวัติคือวัฏจักร
นอกจากนี้ ต็อกเกอวิลล์ได้ศึกษาว่าทำไมสหรัฐอเมริกาสามารถเซตระบบต่าง ๆ ได้สำเร็จหลังการปฏิวัติในขณะที่ฝรั่งเศสยังคงวุ่นวายและยังเปลี่ยนระบอบหลายครั้ง
“เมื่อเราพูดถึงประชาธิปไตยในความเห็นของต็อกเกอวิลล์ ไม่ใช่เป็นเหตุการณ์ที่เราอยากให้เกิดมันก็เกิดหรอก แต่เป็นวัฏจักร โลกหมุนไปทุกวัน เพราะฉะนั้นมันต้องเกิด เมื่อเกิดขึ้นแล้วปัญหาคือชนชั้นนำที่ปกครองอยู่ มีสติปัญญา วิสัยทัศน์เพียงพอที่จะควบคุมการเปลี่ยนแปลงได้หรือไม่ หากรู้สึกว่าถ้าเปลี่ยนไปแล้วตัวเองจะไม่ปลอดภัย แทนที่จะไปขัดขวาง ต้องเข้าไปควบคุมการเปลี่ยนแปลง”
“ฉะนั้นที่ผมเขียนบทความนี้ ไม่ใช่เพื่อเปรียบเทียบการปฏิวัติฝรั่งเศสกับของไทย แต่เป็นเรื่องสากลในลักษณะที่ว่าการปกครองที่ใดก็ตาม หากชนชั้นผู้อยู่ใต้ปกครองรู้สึกว่าเขาจะไม่ทนกับสิ่งที่เป็นอยู่ ต้องการเปลี่ยนแปลง เมื่อนั้นชนชั้นปกครองต้องคิดว่าจะปรับอย่างไร หรือยังคงยืนยันที่จะอยู่อย่างเดิมไม่เปลี่ยนแปลง แล้วสุดท้ายก็จะเกิดการปะทะ”
การปฏิวัติในศตวรรษที่ 21
แม้ปิยบุตรรู้ว่ามีคนไม่ชอบและถูกมองว่าหัวรุนแรงเมื่อพูดเรื่องการปฏิวัติ แต่ก็ต้องพูด เพราะระบบที่เป็นอยู่กดขี่คน สร้างความเหลื่อมล้ำ ซึ่งนี่ก็คือความรุนแรงอีกแบบหนึ่ง ที่เราไม่เห็นเป็นเลือด เป็นความรุนแรงเชิงโครงสร้างที่ปล่อยให้คนไม่กี่คนมากดขี่คนส่วนใหญ่ จึงจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลง
ในความคิดของปิยบุตร ไม่เชื่อว่าในศตวรรษที่ 21 นี้ จะเกิดการปฏิวัติในลักษณะเดียวกันกับศตวรรษที่ 18 เป็นการรวมกำลังบุกเข้าไปยึดอำนาจ บางประเทศนายทหารที่เป็นฝ่ายก้าวหน้าไปกระทำการรัฐประหารล้มระบอบเดิมแล้วสร้างระบบใหม่
“ในศตวรรษที่ 21 หากเกิดการปฏิวัติ ผมเรียกว่าปฏิวัติพลเมือง citizen revolution คือไม่ได้ติดอาวุธ ไม่ได้มีกองกำลัง ไม่ใช่กองทัพบุกไปยึดสถานที่ราชการ แต่เป็นการอาศัยพลเมืองจำนวนมหาศาล และเป็นพลเมืองที่มีเป้าหมายใหญ่เหมือนกัน แล้วลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงพร้อมกัน”
ผนึก 2 พรรคฝ่ายค้านเพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศ
การเปลี่ยนแปลงนี้ แน่นอนที่สุดต้องรวมพลังกัน เราไม่ได้คิดแค่ว่ารัฐบาลพลเอกประยุทธ์เท่านั้น แต่ปัญหามันไปไกลกว่าแค่ว่าจะเปลี่ยนรัฐบาลเป็นอีกฝ่ายหนึ่ง ขณะนี้ 2 พรรคใหญ่ของฝ่ายค้านล้วนมีจุดเด่นและจุดด้อยแตกต่างกันจึงน่าคิดว่าจะมีวิธีใดที่จะนำจุดเด่นของทั้งคู่มารวมกัน แต่การจะนำจุดเด่นของทั้ง 2 พรรคมารวมกัน
“สิ่งหนึ่งที่ยากลำบากมากที่สุดคือ ต้องมีในใจก่อนว่าถ้าคิดเอาชนะกันก็จะไม่ได้อยากเอาจุดเด่นของทั้งคู่มารวมกัน แต่ถ้าเมื่อไหร่คิดว่าเราต้องการเอาชนะเพื่อไปเปลี่ยนสิ่งที่ใหญ่กว่านั้น ไม่ได้คิดแค่จะไปเป็นนายกรัฐมนตรี เป็นรัฐบาล เราต้องผนึกกำลังกัน เป้าหมายระยะสั้นอาจจะตรงกันคือเปลี่ยนรัฐบาล แต่เป้าหมายระยะยาวคือการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง”
“ผมไม่แน่ใจว่าทั้ง 2 พรรคจะตรงกันหรือไม่ หากมีเป้าหมายระยะยาวตรงกัน ผมคาดเดาว่าครั้งหน้า 2 พรรคนี้จะเกินร้อยละ 60” ปิยบุตรกล่าวทิ้งทายให้เป็นความท้าทายของ 2 พรรคการเมือง
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ