วันอาทิตย์, เมษายน 10, 2565

‘รวมดาว’ ผู้ที่โดนศาลสั่งให้ติดกำไลข้อเท้า

อ่า เดี๋ยวนี้ต้องมีการเก็บสถิติผู้ที่โดนศาลสั่งให้ติดกำไลข้อเท้ากันแล้ว ใครจะเรียก รวมดาว ก็ได้นะ

เฉพาะคดีการเมืองช่วง ๑ ปี มีนา ๖๔ ถึง ๖๕ ปาเข้าไป ๕๔ คน ถ้าย้อนไปถึงปี ๖๑ เพิ่มอีก ๗ แล้วน่าทึ่งตรงที่ ๒ คนในจำนวนนั้นยังไม่ได้ถอดกำไล อีเอ็ม นี้เลยเป็นเวลา ๓ ปีครึ่ง

ทั้งที่เบื้องต้นของการให้ติดกำไลอีเอ็มเนื่องจากผู้ต้องหาไม่มีกำลังทรัพย์พอจ่ายค่าประกันตัว อีกทั้ง รมว.ยุติธรรมเผยในปี ๖๓ ว่ามีนโยบาย “ลดความแออัดในเรือนจำ” และใช้กำไลเพื่อติดตามคุมประพฤติผู้ที่ได้รับพักโทษ แต่หลังๆ นี่ใช้กับคดีการเมืองตะบัน

ศูนย์ทนายเพื่อสิทธิมนุษยชนเป็นผู้เปิดข้อมูลนี้ จากจำนวนจำเลยที่เป็นลูกความของศูนย์ มากที่สุด ๒๒ คน โดนข้อหา ม.๑๑๒ รองลงไป ๒๑ ราย เป็นคดีเกี่ยวกับการชุมนุมต่างๆ เช่นที่สามเหลี่ยมดินแดง ชุมนุมทะลุแก๊ส ซึ่งถูกกล่าวหากระทำการร้ายแรงด้วย

สำหรับการชุมนุมหนักในช่วงปี ๖๔ เช่น โดยกลุ่มทะลุฟ้า และรีเด็ม เหล่านี้โดนข้อหาฝ่าฝืน พรก.ฉุกเฉินฯ กับข้อหาอาญา มาตรา ๒๑๕, ๒๑๖ มีจำนวน ๑๓ คน นอกนั้นคดีเก่า เช่นชุดคดีสหพันธรัฐไท ตั้งแต่ปี ๖๑ ซึ่งยังต่อสู้ในชั้นฎีกา ๔ คน

แม้แต่คดีความผิดตาม พรบ.คอมพิวเตอร์ มาตรา ๑๔(๕) ที่แชร์เพจ กูต้องได้ ๑๐๐ ล้าน จากทักษิณแน่ๆ ก็มีอีก ๓ คน อย่างไรก็ดี แม้การติดกำไลอีเอ็มได้แลกกับอิสรภาพไม่ถูกคุมขังระหว่างสู้คดี แต่มีวัสดุคล้ายพันธนาการที่ข้อเท้า ไม่ได้สะดวกสบายอะไรนัก

นอกจากไปไหนมาไหนใครๆ มองจ้องแล้ว มีปัญหาทางเทคนิค แบตหมดเนื่องจากช้าร์ตครั้งหนึ่งอยู่ได้แค่ ๔-๕ ชั่วโมง เผลอไผลเมื่อไหร่จะถูกกล่าวหาว่ามีเจตนาหลบหนีก็ได้ ความขัดข้องทางเทคนิคยังมีอีก ได้แก่ สายช้าร์ตไม่สมประกอบ แบตเสื่อม ต้องคอยวิ่งไปเปลี่ยนกับศาล เรื่องมาก

ความยุ่งยากจากการต้องติดกำไลข้อเท้ามีมาก ทางศูนย์ทนายฯ รวบรวมไว้ทั้งหมด ๙ ข้อด้วยกัน ข้อสำคัญหนึ่งเกี่ยวกับภาวะจิตใจก็คือ ติดอีเอ็ม ๑ คน เท่ากับติดทั้งครอบครัว “ทำให้ตารางชีวิตประจำวันหรือแผนการในวันพิเศษของทั้งครอบครัวต้องเปลี่ยนไป”

ดังนั้นการได้ติดกำไลข้อเท้า ไม่ได้ดีไปกว่าการคุมขังระหว่างรอดำเนินคดี หรือที่เป็นเรื่องให้ต้องวิพากษ์และประท้วงกัน นั่นคือปฏิเสธไม่ยอมให้ประกันซะงั้น ศาลอาญากรุงเทพใต้เขาถนัดเรื่องนี้ การติดกำไลอีเอ็มจึงเป็นการลงทัณฑ์เกินกว่าหลักการยุติธรรม

“ควรถูกสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ จนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด” มิฉะนั้นผู้ที่ถูกติดกำไลข้อเท้า ย่อมได้รับความเสียหาย “หากภายหลังผู้ต้องหาหรือจำเลยได้รับการพิพากษายกฟ้องแล้ว” เพราะว่ายังไม่มี “กฎหมายรองรับเกี่ยวกับการได้รับการชดเชยเยียวยา”

(https://tlhr2014.com/archives/42398)